เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 5. พรหมยาจนกถา
เรื่องทรงพิจารณาเวไนยสัตว์เปรียบด้วยดอกบัว1
[9] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงรับคำทูลอาราธนาของพรหม และเพราะ
อาศัยพระกรุณาในหมู่สัตว์ ทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ2 เมื่อทรงตรวจดูโลก
ด้วยพุทธจักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในตาน้อย มีธุลีในตามาก3 มีอินทรีย์แก่กล้า
มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก บางพวก
มักเห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัวก็มี บางพวกมักไม่เห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัวก็มี
มีอุปมาเหมือนในกออุบล ในกอปทุม หรือในกอบุณฑริก ดอกอุบล ดอกปทุม
ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ ดอกอุบล
ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำอยู่เสมอน้ำ ดอกอุบล
ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ขึ้นพ้นน้ำ ไม่แตะน้ำ ฉันใด
พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีธุลีใน
ตาน้อย มีธุลีในตามาก มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการ
ทราม สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก บางพวกมักเห็นปรโลกและโทษว่าเป็น
สิ่งน่ากลัวก็มี บางพวกมักไม่เห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งน่ากลัวก็มี ฉันนั้น4

เชิงอรรถ :
1 ที.ม. 10/69/33, ม.มู. 12/283/244, อภิ.ก. 37/856/490, ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. 21/133/153
2 พุทธจักษุ หมายถึง (1) อินทริยปโรปริยัตติญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งและความหย่อนแห่ง
อินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย คือ รู้ว่า สัตว์นั้น ๆ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แค่ไหน เพียงใด
มีกิเลสมาก กิเลสน้อย มีความพร้อม ที่จะตรัสรู้หรือไม่ (2) อาสยานุสยญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้อัธยาศัย
ความมุ่งหมาย สภาพจิตที่นอนอยู่ (ขุ.ป. 31/111/124,113/126)
3 ตา ในที่นี้หมายถึงปัญญาจักษุ (วิ.อ. 3/9/15, ดู ขุ.ป. 31/111-115/124-128)
4 นอกจากบัวจมอยู่ในน้ำ บัวอยู่เสมอน้ำ บัวพ้นน้ำ 3 เหล่านี้ อรรถกถาได้กล่าวถึงบัวเหล่าที่ 4
คือ บัวที่มีโรคยังไม่พ้นน้ำเป็นภักษาของปลาและเต่า ซึ่งมิได้ยกขึ้นสู่บาลี แล้วแบ่งบุคคลเป็น 4 เหล่า
(ตามที่ปรากฏใน องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/133/202, อภิ.ปุ. (แปล) 36/10/142,148-151/186-187)
คือ (1) อุคฆฏิตัญญู (2) วิปจิตัญญู (3) เนยยะ (4) ปทปรมะ แล้วเปรียบอุคฆฏิตัญญู เป็น
เหมือนบัวพ้นน้ำ ที่พอต้องแสงอาทิตย์แล้วก็บานในวันนี้ เปรียบวิปจิตัญญู เป็นเหมือนบัวอยู่เสมอน้ำ
ที่จะบานในวันรุ่งขึ้น เปรียบเนยยะ เป็นเหมือนบัวจมอยู่ในน้ำที่จะขึ้นมาบานในวันที่ 3 ส่วนปทปรมะ
เปรียบเหมือนบัวที่มีโรค ยังไม่พ้นน้ำ ไม่มีโอกาสขึ้นมาบาน เป็นภักษาของปลาและเต่า
พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุอันเป็นเหมือนกออุบลเป็นต้น ได้ทรงเห็นโดยอาการทั้งปวงว่า
หมู่ประชาผู้มีธุลีในตาน้อยมีประมาณเท่านี้ หมู่ประชาผู้มีธุลีในตามากมีประมาณเท่านี้ และในหมู่ประชา
ทั้ง 2 นั้น อุคฆฏิตัญญูบุคคลมีประมาณเท่านี้ (ที.ม.อ. 66/64-65, สารตฺถ.ฏีกา 3/9/192-193)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :14 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 6.ปัญจวัคคิยกถา
ครั้นทรงเห็นแล้ว ได้ตรัสคาถาตอบท้าวสหัมบดีพรหมว่า
สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดจะฟัง จงปล่อยศรัทธามาเถิด
เราได้เปิดประตูอมตธรรมแก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว
ท่านพรหม เพราะเราสำคัญว่าจะลำบาก
จึงมิได้แสดงธรรมที่ประณีตคล่องแคล่ว ในหมู่มนุษย์
ขณะนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมได้ทราบว่า “พระพุทธองค์ได้ทรงประทานโอกาส
เพื่อจะแสดงธรรมแล้ว” จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้ว
อันตรธานไป ณ ที่นั้นแล

พรหมยาจนกถา จบ

6. ปัญจวัคคิยกถา
ว่าด้วยภิกษุปัญจวัคคีย์

เรื่องอาฬารดาบสกาลามโคตร
[10] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริว่า “เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อน
หนอ ใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน” แล้วทรงดำริต่อไปว่า “อาฬารดาบส กาลามโคตร
นี้ เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในตาน้อยมานาน ถ้ากระไร เราจะพึง
แสดงธรรมแก่อาฬารดาบส กาลามโคตรก่อน เธอจักรู้ธรรมนี้ได้ ฉับพลัน”

ลำดับนั้น เทวดาผู้ไม่ปรากฏกายมาทูลพระผู้มีพระภาคว่า “พระองค์ผู้เจริญ
อาฬารดาบส กาลามโคตร ได้ทำกาละ 7 วันแล้ว”

แม้พระผู้มีพระภาคก็ได้เกิดญาณขึ้นว่า “อาฬารดาบส กาลามโคตร ได้ทำ
กาละ 7 วันแล้ว” จึงทรงดำริว่า “อาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นผู้มีความเสื่อม
นานหนอ1 เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ได้ฉับพลัน”

เชิงอรรถ :
1 มีความเสื่อมนานหนอ หมายถึงมีความเสื่อมมาก เพราะเสื่อมจากมรรคและผลที่จะพึงบรรลุ เพราะ
เกิดในอักขณะ คือ อาฬารดาบสตายไปเกิดในอากิญจัญญายตนภพ ส่วนอุททกดาบสตายไปเกิดใน
เนวสัญญานาสัญญายตนภาพ (วิ.อ. 3/10/16)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :15 }