เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 5.พรหมยาจนกถา
5. พรหมยาจนกถา
ว่าด้วยพรหมอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม

เรื่องทรงพิจารณาความลึกซึ้งแห่งปฏิจสมุปบาท
[7] ครั้นล่วง 7 วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธิ แล้วเสด็จจาก
ควงต้นราชายตนะไปยังต้นอชปาลนิโครธ ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ ควงต้น
อชปาลนิโครธนั้น ขณะเมื่อทรงหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงเกิดความดำริขึ้นในพระ
ทัยว่า1 “ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต
ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรก ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ สำหรับหมู่ประชาผู้รื่นรมย์ด้วย
อาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย2 ฐานะอันนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าว
คือหลักอิทัปปัจจยตา หลักปฏิจจสมุปบาท ถึงแม้ฐานะอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากนัก
กล่าวคือความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ
นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรม และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้นก็จะ
พึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา”
อนึ่งเล่า อนัจฉริยคาถาเหล่านี้ที่ไม่เคยทรงสดับมาก่อน ได้ปรากฏแจ่มแจ้ง
แก่พระผู้มีพระภาคว่า

อนัจฉริยคาถา
บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรมที่เราได้บรรลุด้วยความลำบาก
เพราะธรรมนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกราคะและโทสะครอบงำ จะรู้ได้ง่าย
แต่เป็นสิ่งพาทวนกระแส3 ละเอียด ลึกซึ้ง รู้เห็นได้ยาก ประณีต
ผู้กำหนัดด้วยราคะ ถูกกองโมหะหุ้มห่อไว้ จักรู้เห็นไม่ได้

เชิงอรรถ :
1 ม.มู. 12/281/242, ม.ม. 13/337/319
2 อาลัย คือกามคุณ 5 ที่สัตว์พัวพัน ยินดี เพลิดเพลิน (วิ.อ. 3/7/13) เป็นชื่อเรียกกิเลส 2 อย่างคือ กามคุณ
5 และตัณหาวิจริต 108 (สารตฺถ.ฏีกา 3/7/184) ดู อภิ.วิ. (แปล)35/973-976/622-634
3 พาทวนกระแส ในที่นี้หมายถึงพาเข้าถึงนิพพาน (วิ.อ. 3/7/14)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :11 }