เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 17. ปณามิตกถา
กรรมวาจาให้อุปสมบท
[72] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะ
ของท่านผู้มีชื่อนี้ ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงให้ผู้มีชื่อนี้
อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่าน
ผู้มีชื่อนี้ ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้
อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ผู้มีชื่อนี้
อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย
ท่านรูปนั้น พึงทักท้วง
แม้ครั้งที่ 2 ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ 3 ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ ฯลฯ
ผู้มีชื่อนี้สงฆ์ให้อุปสมบทแล้ว มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ สงฆ์เห็นด้วย
เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

เรื่องพราหมณ์บวชเพราะเห็นแก่ปากท้อง
[73] สมัยนั้น ประชาชนในกรุงราชคฤห์ได้จัดลำดับภัตตาหารอันประณีตไว้
พราหมณ์คนหนึ่งมีความคิดว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้มีลักษณะ
นิสัยดี ประพฤติเรียบร้อย บริโภคอาหารดี นอนในห้องมิดชิด ถ้ากระไร เราพึง
บวชในพวกสมณะเชื้อสายศากยบุตร” ต่อมา จึงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอบรรพชา
ภิกษุทั้งหลายได้ให้บรรพชาอุปสมบท ครั้นเขาบวชแล้ว ลำดับภัตตาหารได้ล้มเลิกไป
ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า “ท่าน มาเถิด บัดนี้ พวกเราจักไปบิณฑบาตกัน”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ผมไม่ได้บวชเพราะเหตุนี้ว่า จักเที่ยวบิณฑบาต
ถ้าท่านทั้งหลายถวายผม ผมจักฉัน ถ้าไม่ถวายผม ผมจักสึก ขอรับ”
ภิกษุทั้งหลายจึงถามว่า “อาวุโส ก็ท่านบวชเพราะเหตุแห่งปากท้องหรือ”
ท่านตอบว่า “ใช่ ขอรับ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :100 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 17. ปณามิตกถา
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุจึงได้บวชในพระธรรมวินัยอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้ เพราะเหตุแห่ง
ปากท้องเล่า” แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่าเธอบวชเพราะเหตุ
แห่งปากท้อง จริงหรือ”
ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้บวชใน
ธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ดีอย่างนี้ เพราะเหตุแห่งปากท้องเล่า โมฆบุรุษ การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้ว ทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลาย
ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ให้อุปสมบทบอกนิสสัย 4 คือ

นิสสัย 4
1. บรรพชาอาศัยโภชนะคือคำข้าวที่พึงได้ด้วยปลีแข้งเธอพึงทำอุตสาหะ
ในโภชนะคือคำข้าวที่พึงได้ด้วยปลีแข้งนั้นจนตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ สังฆภัต
อุทเทสภัต นิมันตนภัต สลากภัต ปักขิกภัต อุโปสถิกภัต ปาฏิปทิกภัต1
2. บรรพชาอาศัยผ้าบังสุกุล เธอพึงทำอุตสาหะในผ้าบังสุกุลนั้นจน
ตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน
ผ้าเจือกัน

เชิงอรรถ :
1 สังฆภัต คือ ภัตตาหารถวายสงฆ์ทั้งหมด
อุทเทสภัต คือ ภัตตาหารถวายภิกษุ 2 - 3 รูป
นิมันตนภัต คือ ภัตตาหารที่นิมนต์แล้วถวาย
สลากภัต คือ ภัตตาหารที่นิมนต์ให้จับสลากแล้วถวาย(ตามสลาก)
ปักขิกภัต คือ ภัตตาหารถวายปักษ์(15 วัน)ละ 1 ครั้ง
อุโปสถิกภัต คือ ภัตตาหารถวายในวันอุโบสถ
ปาฏิปทิกภัต คือ ภัตตาหารถวายในวันแรม 1 ค่ำ (สารตฺถ.ฏีกา 3/71-73/285)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :101 }