เมนู

พุทธธรรม
หรือ
กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต

ความนำ
สิ่งที่ควรเข้าใจก่อน
พระพุทธศาสนานั้น เมื่อมองในทัศนะของคนสมัยใหม่ มักเกิดปัญหาขึ้นบ่อยๆ ว่า
เป็นศาสนา (religion) หรือเป็นปรัชญา (philosophy) หรือว่าเป็นเพียงวิธีครองชีวิต
แบบหนึ่ง (a way of life) เมื่อปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นเหตุให้ต้องถกเถียงหรือ
แสดงเหตุผล ทำให้เรื่องยืดยาวออกไป อีกทั้งมติในเรื่องนี้ ก็แตกต่างไม่ลงเป็นแบบ
เดียวกัน ทำให้เป็นเรื่องฟั่นเฝือ ไม่มีที่สิ้นสุด ในที่นี้ แม้จะเขียนเรื่องพุทธธรรมไว้ใน
[1หมวดปรัชญา] ก็จะไม่พิจารณาปัญหานี้เลย มุ่งแสดงแต่ในขอบเขตว่า พุทธธรรม
สอนว่าอย่างไร มีเนื้อหาอย่างไรเท่านั้น ส่วนที่ว่าพุทธธรรมจะเป็นปรัชญาหรือไม่ ให้
เป็นเรื่องของปรัชญาเองที่จะมีขอบเขตครอบคลุมหรือสามารถตีความให้ครอบคลุมถึง
พุทธธรรมได้หรือไม่ โดยที่ว่า พุทธธรรม ก็คือพุทธธรรม และยังคงเป็นพุทธธรรม
อยู่นั่นเอง มีข้อจำกัดเพียงอย่างเดียวว่า หลักการหรือคำสอนใดก็ตาม ที่เป็นเพียง
การคิดค้นหาเหตุผลในเรื่องความจริงเพื่อสนองความต้องการทางปัญญา โดยมิได้
มุ่งหมายและมิได้แสดงแนวทางสำหรับประพฤติปฏิบัติในชีวิตจริง อันนั้น ให้ถือว่า
ไม่ใช่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างที่ถือว่า เป็นคำสอนเดิมแท้ของพระพุทธเจ้า
ซึ่งในที่นี้เรียกว่าพุทธธรรม
การประมวลคำสอนในพระพุทธศาสนามาวางเป็นข้อสรุปลงว่า พุทธธรรมที่
พระพุทธเจ้าทรงสอนและทรงมุ่งหมายแท้จริง เป็นอย่างไรนั้น เป็นเรื่องยาก แม้จะ
ยกข้อความในคัมภีร์ซึ่งถือกันว่า เป็นพุทธพจน์มาอ้าง เพราะคำสอนในคัมภีร์มี
ปริมาณมากมาย มีแง่ด้านระดับความลึกซึ้งต่างๆ กัน และขึ้นต่อการตีความของ
บุคคล โดยใช้สติปัญญาและความสุจริตใจหรือไม่เพียงไรด้วย ในบางกรณี ผู้ถือ
ความเห็นต่างกันสองฝ่าย อาจยกข้อความในคัมภีร์มาสนับสนุนความคิดเห็น
ของตนได้ด้วยกันทั้งคู่ การวินิจฉัยความจริงขึ้นต่อความแม่นยำในการจับสาระ
สำคัญ และความกลมกลืนสอดคล้องแห่งหลักการและหลักฐานที่แสดงทั้งหมด
โดยหน่วยรวมเป็นข้อสำคัญ แม้กระนั้น เรื่องที่แสดงและหลักฐานต่างๆ ก็มักไม่
กว้างขวางครอบคลุมพอ จึงหนีไม่พ้นจากอิทธิพลความเห็นและความเข้าใจพื้นฐาน
ต่อพุทธธรรมของบุคคลผู้แสดงนั้น ในเรื่องนี้ เห็นว่ายังมีองค์ประกอบอีกอย่างหนึ่ง
ที่ควรนำมาเป็นเครื่องวินิจฉัยด้วย คือความเป็นไปในพระชนมชีพ และพระปฏิปทา
ขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา ผู้เป็นแหล่งหรือที่มาของคำสอนเอง บุคลิกและ
สิ่งที่ผู้สอนได้กระทำ อาจช่วยแสดงความประสงค์ที่แท้จริงของผู้สอนได้ดีกว่า
คำสอนที่ปรากฏในคัมภีร์ หรืออย่างน้อยก็เป็นเครื่องประกอบความเข้าใจให้
ชัดเจนยิ่งขึ้น ถึงหากจะมีผู้ติง
{1 เมื่อแรกเขียน ได้รับอาราธนาให้เรียบเรียงพุทธธรรมเป็นบทความร่วมในหมวดปรัชญา}