สมถกัมมัฏฐาน
ของ
พระธรรมไตรโลกาจารย์ (เดช) วัดเทพศิรินทราวาส
ศุภมัตถุ ขอความงามความดีจงมีแก่กุลบุตรผู้มีศรัทธาบำเพ็ญเพียร
จะเจริญสมถภาวนานี้. เมื่อท่านจะเจริญ พึงศึกษาเนื้อความแห่งสมถ-
ภาวนานี้ ให้รู้ด้วยดีก่อนดังนี้ว่า ธรรมเป็นเครื่องสงบระงับของจิต ชื่อ
ว่าสมถะ อนึ่ง ว่าธรรมอันให้จิตสงบระงับไปจากนิวรณูปกิเลส ชื่อว่า
สมถะ อนึ่ง ความสงบระงับของจิตในภายใน ชื่อว่าสมถะ กุลบุตร
ผู้มีศรัทธามาเจริญสมถะ ทำให้เกิดขึ้นด้วยเจตนาอันใด เจตนาอันนั้น
ชื่อว่าสมถภาวนา อนึ่ง ยังสมถะเป็นอุบายเครื่องสงบระงับของจิตให้
เกิดขึ้น ชื่อว่าสมถภาวนา.
เมื่อกล่าวโดยเนื้อความแล้ว เจตนาอันเป็นไปในสมถกัมมัฏฐาน
หมดทั้งสิ้น ชื่อว่าสมถภาวนา สมถภาวนานี้เป็นอุบายเครื่องสำรวมปิด
กั้นนีวรณูปกิเลส มิให้เกิดขึ้นครอบงำจิตสันดานได้ ดังบุคคลปิด
ทำนบกั้นน้ำไว้มิให้ไหลไปได้ฉะนั้น อนึ่ง ว่าเป็นอุบายข่มสะกดจิตไว้
มิให้ดิ้นรนฟุ้งซ่านไปได้ ดังนายสารถีฝึกม้าให้เรียบร้อย ควรเป็นราช-
พาหนะได้ฉะนั้น. ก็ธรรมซึ่งเป็นอารมณ์เครื่องสงบระงับของจิตให้
สำเร็จเป็นสมถภาวนานี้ ในพระบาลีซึ่งเป็นพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้า
ตรัสเทศนา มีมากหลายอย่างหลายประการ เหมือนอย่างอภิณหปัจจ-
เวกขณวิธี ให้พิจารณาที่ทั้ง 5 สถาน คือกำหนดว่าตนและสัตว์อื่นมี