เมนู

เนมิตติกตานิทเทส


อธิบาย การแสดงนิมิต


คำว่า นิมิตฺตํ ได้แก่ กายกรรม วจีกรรม อันประกอบพร้อมด้วย
การให้ปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ชนเหล่าอื่น. คำว่า นิมิตฺตกมฺมํ ได้แก่
ความเป็นผู้ฉลาดในการทำนิมิต. ในข้อนี้ มีเรื่องดังนี้
ได้ยินว่า ภิกษุรูปหนึ่ง ถือบิณฑบาตเป็นวัตรไปถึงประตูบ้านนาย
ช่างทองผู้อุปัฏฐาก ผู้อันช่างทองถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านต้องการอะไร
ดังนี้ เธอจึงนำมือออกจากภายในระหว่างจีวร แล้วได้แสดงอาการ คือการนำ
มีดไป. ช่างทอง ทราบลักษณะอาการนั้น แล้วเรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ
นั่นมีดของกระผม ดังนี้ แล้วได้ถวายมีดไป. คำว่า โอภาโส ได้แก่ กล่าว
ถ้อยคำอันเกี่ยวด้วยปัจจัย. คำว่า โอภาสกมฺมํ อธิบายว่า ภิกษุเห็นบุคคล
ผู้เลี้ยงลูกโค จึงถามว่า ลูกโคเหล่านี้ เป็นลูกโคนม หรือเป็นลูกโคเปรียง
(ตักกโควัจฉา) เมื่อเด็กเหล่านั้นกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เป็นลูกโคนม ดังนี้
เธอก็จะพูดเป็นนัย อันยังมารดาบิดาของเด็กเลี้ยงโคนั้นให้ทราบ อันเป็นเหตุ
ให้เขาถวายนมเป็นต้น โดยนัยว่า ผิว่า พึงเป็นลูกโคนม แม้ภิกษุทั้งหลาย
ก็พึงได้น้ำนม ดังนี้. คำว่า สามนฺตชปฺปา ได้แก่ การกระซิบ คือพูด
ใกล้. ในข้อนี้ บัณฑิตพึงกล่าวถึงเรื่อง พระเถระผู้เรียนชาดก.
ได้ยินว่า พระเถระผู้เรียนชาดกรูปหนึ่ง เป็นผู้ใคร่จะฉันอาหาร เข้า
ไปสู่บ้านอุปัฏฐายิกา แล้วนั่งอยู่. อุปัฏฐายิกานั้น ไม่ประสงค์จะถวายอะไร
จึงกล่าวว่า ข้าวสารไม่มี ดังนี้ แล้วไปสู่บ้านของเพื่อนบ้าน เป็นราวกะว่า
ต้องการจะนำข้าวสารมา. ทีนั้นภิกษุก็เข้าไปภายในห้อง แลดูอยู่ เห็นอ้อยพิง

อยู่ที่มุมประตูหน้าต่าง เห็นน้ำอ้อยงบที่ภาชนะ เห็นปลาเค็มในกระจาด เห็น
ข้าวสารในหม้อใหญ่ เห็นจอกน้ำในหม้อน้ำ แล้วก็ออกมานั่ง.
หญิงแม่เรือนมาแล้วก็กล่าวว่า เราไม่ได้ข้าวสาร ดังนี้. พระเถระ
กล่าวว่า ดูก่อนอุบาสิกา วันนี้ ภิกษาเห็นจักไม่ถึงพร้อม แล้วกล่าวว่า อาตมา
ได้เห็นนิมิตก่อนนั่นแหละ. หญิงนั้นถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิมิตเป็น
อย่างไร ดังนี้.
พระเถระกล่าวว่า อาตมาแลดูอยู่ด้วยคิดว่า เราจักประหารงูอันเห็น
แล้วนั้น ซึ่งเป็นราวกะว่าอ้อยที่วางไว้ที่มุมใกล้หน้าต่าง เห็นแผ่นหิน ราวกะ
ก้อนน้ำอ้อยงบที่วางไว้ในภาชนะ เห็นพังพานงูแผ่ออกแล้ว เพราะถูกขว้าง
ปาด้วยก้อนดิน เช่นกับการผ่าปลาใส่เกลือวางไว้ในกระจาด เห็นฟันของงูนั้นผู้
ไล่กัดก้อนดินนั้น เช่นกับข้าวสารในหม้อ ลำดับนั้น เห็นเขฬะอันเจือด้วย
พิษออกไปจากปากงูผู้โกรธแล้วนั้น เช่นกับจอกน้ำที่ในหม้อน้ำ ดังนี้.
หญิงแม่บ้านนั้น ถวายอ้อยแล้ว ด้วยคิดว่า เราไม่อาจเพื่อลวงสมณะโล้นได้
ดังนี้ แล้วหุงข้าวถวายพร้อมกับน้ำอ้อยงบในหม้อและปลา ดังนี้
บัณฑิตพึงทราบการพูดด้วยอาการอย่างนี้ว่า เป็นการพูดใกล้ ๆ ดังนี้.
คำว่า การพูดแวดล้อม หว่านล้อมโดยประการที่ตนจะได้ อย่างนั้นแล.

นิปเปสิกตานิทเทส


อธิบาย การพูดติเตียน


คำว่า การด่า ได้แก่ การด่าด้วยอักโกสวัตถุ 10 ประการ. คำว่า
การข่ม ได้แก่การกล่าวเย้ยหยัน. คำว่า การนินทา ได้แก่ การพูดยกโทษขึ้น