เมนู

นั้นเป็นฝักฝ่ายแห่งอกุศล เป็นทางยังสัตว์ให้ถึงนรก. แต่ว่า ว่าด้วยสามารถ
แห่งฝักฝ่ายในกุศล เมื่อบุคคลถวายสลากภัตเพียงหนึ่งอย่าง บุคคลอื่นควรให้
เพิ่มเป็นสอง เมื่อบุคคลถวายสองอย่าง บุคคลอื่นควรถวายเพิ่มเป็นสี่อย่าง
อย่างนี้สมควร. ก็ครั้นเมื่อภิกษุเรียนพระพุทธพจน์นิกายหนึ่ง ภิกษุอื่นเรียนเอา
สองนิกายด้วยคิดว่า เมื่อเราสาธยายพระพุทธพจน์อยู่ ความผาสุกย่อมมี ดังนี้
ก็ควร ฉะนั้น การเรียนพุทธพจน์ให้ยิ่งกว่านั้น เพราะมั่นอยู่ในฝักฝ่ายแห่ง
กุศลอันเป็นวิวัฏฏะ ก็ควร.

อัตริจฉตานิทเทส


อธิบายความอยากได้เกินประมาณ


อรรถแห่งความชั่วช้าลามกที่กล่าวไว้ใน อริยวังสสูตร ฉันใด อรรถ
แห่งความเป็นผู้อยากได้เกินประมาณ ก็ฉันนั้น. ในบรรดาปัจจัยทั้งหลายมี
จีวรเป็นต้น ภิกษุได้สิ่งใด ๆ มา ก็ไม่ยินดีสิ่งนั้น ๆ ก็หรือว่า เป็นคฤหัสถ์
ย่อมได้สิ่งใด ๆ ในบรรดารูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ก็ไม่ยินดี
ด้วยสิ่งนั้น ๆ. คำว่า ภิยฺโยกมฺยตา (ความปรารถนาให้วิเศษขึ้นไป.) ชื่อว่า
ความอยาก เพราะอำนาจแห่งความปรารถนา. หรือว่า อาการแห่งความอยาก
นั่นแหละ ชื่อว่า กิริยาที่ปรารถนา. สภาพแห่งความอยากเกินการได้ของ
ตน ชื่อว่า ความมักมาก. คำว่า ราคะ เป็นต้น มีอรรถตามที่กล่าว
แล้วในหนหลัง แล. คำว่า อยํ วุจฺจติ ได้แก่ ผู้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า
ตรัสเรียกชื่อว่า ความมักมาก แม้ความอยากเกินประมาณนี้ ก็เป็นชื่อของ
ความมักมากนั่นแหละ. แต่เมื่อว่าโดยลักษณะ ความอยากได้เกินประมาณ
นี้ ได้แก่ ความไม่สันโดษในลาภของตน และความปรารถนาในลาภของผู้อื่น

ข้อนี้ มีการอยากได้เกินประมาณเป็นลักษณะ (เป็นเครื่องกำหนด). จริงอยู่
แม้วัตถุอันประณีต อันบุคคลผู้มีความอยากเกินประมาณนั้น ได้แล้ว ย่อม
ปรากฏเป็นราวกะว่าของลามก (ต่ำช้า). แม้วัตถุอันลามกอันบุคคลอื่นได้แล้ว
ย่อมปรากฏราวกะว่าเป็นของประณีต. ข้าวยาคูอันสุกแล้วในภาชนะหนึ่ง หรือ
ว่าภัต หรือว่าขนมที่เขาใส่ไว้ในบาตรของตน เป็นราวกะว่าเป็นของลามก.
ในบาตรของผู้อื่น ย่อมปรากฏราวกะว่า เป็นของประณีต. อนึ่งความอยาก
เกินประมาณนี้ ย่อมมีแม้แก่บรรพชิตทั้งหลาย ย่อมมีแม้แก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย
ย่อมมีแม้แก่สัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย. ในข้อนี้พึงทราบเรื่องทั้งหลายเหล่านั้นเป็น
อุทาหรณ์ต่อไป.

เรื่องของผู้มีความโลภเกินประมาณ


ได้ยินว่า กฏุมพีคนหนึ่ง นิมนต์ภิกษุณี 30 รูป ได้ถวายภัต กับ
ขนม พระสังฆเถรียังขนมในบาตรของภิกษุณีทั้งปวงให้เปลี่ยนแปลงแล้ว
(เข้าใจว่าแบ่งขนมในบาตรอื่น) แล้วจึงได้เคี้ยวกินขนมนั้นอันตนได้แล้วใน
ภายหลัง.
แม้พระเจ้าพาราณสี ก็ทรงพระดำริว่า เราจักเสวยเนื้อสุกด้วยถ่านไฟ
ดังนี้จึงทรงพาพระเทวีเสด็จเข้าไปประพาสป่า ทอดพระเนตรเห็นกินนรีนาง
หนึ่ง ทรงทิ้งพระเทวีเสด็จตามนางกินนรีนั้นไป. พระเทวีจึงเสด็จไปสู่อาศรม
บท (บวชเป็นตาปสินี) แล้วกระทำกสิณบริกรรม บรรลุสมาบัติ 8 และ
อภิญญา 5 นั่งอยู่ เห็นพระราชากำลังเสด็จมา จึงเหาะขึ้นไปในอากาศได้เสด็จ
ไปแล้ว. เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ ทราบเหตุการณ์นั้นแล้ว ได้กล่าวคาถา
นี้ ว่า