เมนู

ในกาลวิบัติ มีภิกษาหาได้โดยยาก แม้แต่ผลตาล เผือกมันและ
ใบไม้ แต่ในกาลสมบัติ มหาลาภเห็นปานนี้เกิดขึ้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงทราบว่า กัลยาณกรรมทั้งหลาย
ไม่อาจเพื่อให้ผล เพราะกาลวิบัติห้ามไว้อย่างนี้ แต่ย่อมให้ผลใน
กาลสมบัติ ดังนี้.

กัลยาณกรรมจำนวนมาก มีอยู่แก่บุคคลแม้อื่นอีก กรรมนั้นไม่พึง
ให้ผลแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในปโยควิบัติ. แต่บุคคลนั้น ตั้งอยู่เฉพาะในสัมมาปโยคะ
(ความเพียรโดยชอบ) ด้วยกัลยาณกรรมอย่างหนึ่ง คือ ย่อมบำเพ็ญสุจริต 3 ย่อม
รักษาศีล 5 ศีล 10 เมื่อบุคคลเกิดในกาลสมบัติ เป็นพระราชาทั้งหลายผู้ประ-
กอบด้วยเครื่องประดับทั้งปวง กรรมนั้นย่อมส่งราชกัญญาทั้งหลายอันสมควร
แก่พระราชานั้น ย่อมส่งซึ่งบรรณาการนั้น ๆ อันต่างด้วยสิ่งมีค่า มียานพาหนะ
แก้วมณี ทองคำ และเงิน เป็นต้น ให้. แม้เขาถึงการบรรพชา ย่อมมียศ
ใหญ่ มีอานุภาพใหญ่. ในข้อนั้นมีเรื่องนี้ เป็นอุทาหรณ์

เรื่องพระเจ้ากูฏกัณณราช


ได้ยินว่า พระเจ้ากูฏกัณณราช ทรงรักใคร่ พระจูฬสุธัมมเถระ
ผู้อาศัยอยู่ในกัณณคาม ใกล้ภูเขา. พระราชานั้น เมื่อประทับอยู่ใกล้หนองน้ำ
มีดอกอุบล (ในอุปปลวาปี) รับส่งให้นิมนต์พระเถระมา. พระเถระมาแล้ว
อาศัยอยู่ในวิหารชื่อว่ามาลาราม. พระราชาตรัสถามมารดาของพระเถระว่า
พระเถระย่อมพอใจในอาหารประเภทไหน ดังนี้. มารดาของพระเถระ ทูลว่า
ข้าแต่มหาราช พระเถระพอใจในเผือก ดังนี้. พระราชารับสั่งให้ราชบุรุษถือ
เผือกไปสู่วิหาร เมื่อถวาย ไม่อาจเพื่อจะทอดพระเนตรดูหน้าของพระเถระ

ครั้นเสด็จออกจากวิหารแล้ว ตรัสถามพระเทวี ณ ภายนอกบริเวณวิหารว่า
พระเถระเป็นเช่นไร ดังนี้. พระเทวีทูลว่า พระองค์เป็นชายไม่อาจเพื่อจะ
ทอดพระเนตร หม่อมฉันจักอาจอย่างไร ทั้งหม่อมฉันก็ไม่ทราบว่าท่านเป็น
เช่นไร ดังนี้. พระราชาไม่อาจเพื่อทอดพระเนตรแม้แต่บุตรของคหบดีผู้ถวาย
เครื่องสังเวยในแว่นแคว้นของพระองค์ การนับถือศาสนาของพระองค์ เป็น
เพียงดีดพระหัตถ์ ตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชื่อว่าพระศาสนาเป็น
ของใหญ่หนอ ดังนี้. พระราชาย่อมทรงพอพระทัยแม้พระเถระ ชื่อว่า
จูฬนาคผู้ทรงพระไตรปิฎก.
ครั้งหนึ่งต่อมา ฝีตั้งขึ้นที่นิ้วของพระเถระนั้น พระราชาเสด็จไปสู่
วิหาร ด้วยตั้งพระทัยว่า เราจักเยี่ยมพระเถระ ดังนี้. ด้วยความรักที่มีกำลัง
จึงใช้พระโอษฐ์ดูดหัวฝีที่นิ้วของพระเถระ ฝีแตกแล้วในพระโอษฐ์นั่นแหละ
ไม่ทรงบ้วนบุพโพโลหิต (น้ำเลือดน้ำหนอง) ออก ได้ทรงกลืนเข้าไปแล้ว
ราวกะว่าน้ำอมฤต ด้วยความรักในพระเถระ. ในกาลอื่นอีก พระเถระนั้น
นั่นแหละ อาพาธหนักนอนบนเตียงมรณะ พระราชาเสด็จไปแล้วทรงเอาศีรษะ
ซบลงที่เตียงมรณะอันไม่สะอาด ทรงร้องคร่ำครวญอยู่ว่า เพลาเกวียน คือ
พระธรรม ย่อมแตก ดังนี้ แล้วเสด็จไป.
ชื่อว่า การยกศีรษะซบลงที่เตียงอันไม่สะอาด แล้วร้องคร่ำครวญ
เที่ยวไปตามทาง ทางนั้นจะเป็นทางไปของใคร. ตอบว่าเป็นทางไปของผู้
ประกอบโดยชอบ.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงทราบว่า กัลยาณกรรมไม่อาจ
เพื่อให้ผล ด้วยอาการอย่างนี้ เพราะปโยควิบัติห้ามไว้ แต่ย่อมให้
ผลเพราะอาศัยปโยคสมบัติ ดังนี้.


กัลยาณกรรมอันวิบัติ 4 ห้ามไว้ไม่ให้ผล แต่ย่อมให้ผล เพราะ
อาศัยสมบัติ 4 ประการฉะนี้ ในข้อนี้ บัณฑิตพึงทำอุปมาให้แจ่มแจ้ง ใน
เรื่องต่อไปนี้.


อุปมาด้วยอำมาตย์


ได้ยินว่า มหาราชาพระองค์หนึ่ง ทรงกริ้วอำมาตย์คนหนึ่ง ด้วย
เหตุอย่างใดอย่างหนึ่งมีประมาณเล็กน้อย จึงให้จองจำอำมาตย์นั้นในเรือนจำ
ญาติทั้งหลายของอำมาตย์นั้นทราบความที่พระราชาทรงพิโรธแล้ว พวกเขาไม่
กล่าวคำอะไรๆ ครั้นพระราชาทรงปราศจากความพิโรธแล้ว จึงขอให้พระราชา
ทรงทราบถึงความที่อำมาตย์นั้นไม่มีความผิด พระราชาทรงให้ปล่อยแล้ว ทั้ง
ให้พระราชทานตำแหน่งแก่อำมาตย์นั้นให้กลับเป็นปกติ. ทีนั้น ประมาณแห่ง
เครื่องบรรณาการทั้งหลายก็มาสู่อำมาตย์นั้นนับไม่ได้ จนไม่อาจเพื่อจะรับ.
ในข้อนั้น กาลที่ปุถุชนเกิดในนรก พึงทราบว่า เปรียบ
เหมือนกาลที่อำมาตย์นั้นถูกพระราชาทรงกริ้วด้วยเหตุสักว่าเล็กน้อย
แล้วให้จองจำในเรือนจำ. ต่อมา กาลที่ปุถุชนนั้นเกิดในสวรรค์ พึง
ทราบว่า เปรียบเหมือนกาลที่ญาติทั้งหลายของอำมาตย์นั้นให้พระ-
ราชาทรงทราบความที่อำมาตย์นั้น ไม่ผิด ให้ปล่อยจากเรือนจำ และ
กระทำฐานันดรให้กลับเป็นปกติ. การที่กัลยาณกรรมทั้งหลายอาศัย
สมบัติทั้ง 4 แล้วให้ผลอันเป็นสุข แม้ตั้งแสนแห่งกัป อันนำไป
สู่ที่อันเป็นสุข แต่ที่นี้ไปสู่ที่โน้น คือ นำมาสู่มนุษยโลกจากเทวโลก
นำไปสู่เทวโลกจากมนุษยโลก แล้วให้ถึงพระนิพพาน บัณฑิตพึง
ทราบว่า เปรียบเหมือนกาลที่อำมาตย์นั้นไม่สามารถเพื่อจะรับเครื่อง
บรรณาการอันมากมาย.