เมนู

มนสิการโดยไม่รีบด่วน


อนึ่ง แม้เมื่อมนสิการไปโดยลำดับ ก็ไม่พึงมนสิการโดยรีบด่วน
เพราะว่าเมื่อมนสิการโดยรีบด่วนเกินไป กรรมฐานย่อมถึงที่สุดอย่างเดียว แต่
ไม่แจ่มแจ้ง ทั้งไม่นำมาซึ่งคุณวิเศษ เปรียบเหมือนเมื่อบุรุษเดินทาง 3 โยชน์
ไม่ได้กำหนดทางเบี่ยง และทางแยกไว้ เดินไปเดินมา โดยรวดเร็วแม้ทั้ง 7
ครั้ง ทางย่อมจะสิ้นไปเร็วแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ต้องถามคนอื่นทุกครั้งจึง
จะเดินทางไปได้ เพราะฉะนั้นพระโยคาวจรไม่พึงมนสิการโดยรีบด่วนเกินไป.

มนสิการโดยไม่ช้าเกินไป


ก็พระโยคาวจร มนสิการโดยไม่รีบด่วน ฉันใด พึงมนสิการโดยไม่
ชักช้าเกินไป ฉันนั้น. เพราะว่า เมื่อมนสิการโดยชักช้าเกินไป กรรมฐาน
ย่อมจะไม่ถึงที่สุด ทังไม่เป็นปัจจัยแก่การบรรลุคุณวิเศษ เปรียบเหมือนบุรุษ
ผู้ต้องการเดินทางไกล 3 โยชน์นั่นแหละ มัวแต่ชักช้าหยุดพักตามโคนไม้
เชิงเขา เป็นต้นในระหว่างทาง ทางก็ย่อมไม่ถึงการสิ้นไป ต้องเดินไป 2 - 3วัน
จึงจะถึงสุดทางได้.

มนสิการโดยห้ามความฟุ้งซ่าน


ข้อว่า วิกฺเขปปฏิพาหนโต ความว่า พึงห้ามจิตที่สละกรรมฐาน
ฟุ้งไปในอารมณ์ภายนอกมากมายเสีย เพราะเมื่อไม่ห้ามจิตไว้ เมื่อจิตฟุ้งไป
ภายนอก กรรมฐานย่อมเสื่อมสลายไป เปรียบเหมือนเมื่อบุคคลเดินทางข้าม
เหว อันเป็นทางเดินได้คนเดียว ไม่กำหนดทางที่เหยียบ มัวเหลียวดูทางโน้น
ทางนี้ย่อมก้าวพลาด ทีนั้นเขาจะตกลงไปในเหวลึกชั่วร้อยบุรุษ เพราะฉะนั้น
พึงมนสิการ โดยการห้ามความฟุ้งซ่านเสีย.