เมนู

วรรณนาปัญหาปุจฉกะ


ในปัญหาปุจฉกะ บัณฑิตพึงทราบความที่อิทธิบาททั้งหลายเป็นกุศล
เป็นต้น โดยทำนองแห่งพระบาลีนั่นแหละ. แต่ในอารัมมณติกะทั้งหลาย
อิทธิบาทเหล่านี้แม้ทั้งหมด เป็นอัปปมาณารัมมณะเท่านั้น เพราะปรารภพระ-
นิพพานอันเป็นอัปปมาณธรรมเป็นไปไม่เป็นมัคคารัมมณะ. แต่เป็นมัคคเหตุกะ
ด้วยสามารถแห่งสหชาตเหตุ ไม่เป็นมัคคาธิปติ. เพราะว่า อธิปติ 4 ย่อมไม่
กระทำซึ่งกันและกันให้เป็นใหญ่. ถามว่า เพราะเหตุไร. ตอบว่า เพราะความ
ที่ตนเองเป็นใหญ่ที่สุด.
เหมือนอย่างว่า พระราชบุตร 4 องค์ ผู้มีพระชาติเสมอกัน มีวัย
เสมอกัน มีกำลังเสมอกัน มีศิลปะเสมอกัน ย่อมไม่ให้ความเป็นใหญ่แก่กัน
เพราะความที่พระราชบุตรทั้ง 4 พระองค์เป็นผู้สูงสุด ฉันใด อธิปติทั้ง 4
แม้เหล่านี้ ก็ฉันนั้น ย่อมไม่กระทำซึ่งกันและกันให้เป็นใหญ่ เพราะความที่
ธรรมเหล่านั้น แต่ละข้อต่างก็เป็นใหญ่ที่สุดด้วยกัน เพราะฉะนั้น อธิปติเหล่านั้น
จึงไม่เป็นมัคคาธิปติ โดยส่วนเดียวเท่านั้น. ในอดีตเป็นต้นก็ไม่พึงกล่าวแม้
ในความเป็นเอการัมมณะ. ก็อธิปติเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นพหิทธารัมมณะ เพราะ
ความที่พระนิพพานเป็นธรรมภายนอก ดังนี้แล. ในปัญหาปุจฉกะนี้ ท่าน
กล่าวว่า อิทธิบาททั้งหลายเป็นโลกุตตระที่เกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ทีเดียว. จริงอยู่
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอิทธิบาททั้งหลายอันเป็นโลกิยะและโลกุตตระปนกัน
ไว้ในสุตตันตภาชนีย์นั่นแหละ แต่ในอภิธรรมภาชนีย์ และในปัญหาปุจฉกะ
ตรัสว่าเป็นโลกุตตระอย่างเดียว. แม้อิทธิปาทวิภังค์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็
ทรงนำออกจำแนกแสดงแล้ว 3 ปริวัฏอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
วรรณนาปัญหาปุจฉกะ จบ
อรรถกถาอิทธิปาทวิภังค์ จบ

10. โพชฌังควิภังค์


สุตตันตภาชนีย์


โพชฌงค์ 7 นัยที่ 1


[542] โพชฌงค์ 7 คือ
1. สติสัมโพชฌงค์
2. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
3. วิริยสัมโพชฌงค์
4. ปีติสัมโพชฌงค์
5. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
6. สมาธิสัมโพชฌงค์
7. อุเบกขาสัมโพชฌงค์
[543] ในโพชฌงค์ 7 นั้น สติสัมโพชฌงค์ เป็นไฉน ?
ภิกษุในศาสนานี้ เป็นผู้มีสติประกอบด้วยสติและปัญญาอันยิ่ง ระลึก
ได้ ระลึกได้บ่อย ๆ ซึ่งกิจที่ทำไว้นาน ๆ หรือวาจาที่กล่าวไว้นาน ๆ นี้เรียกว่า
สติสัมโพชฌงค์.
ภิกษุนั้น มีสติอย่างนั้นอยู่ วิจัย เลือกสรร พิจารณา ซึ่งธรรมนั้น
ด้วยปัญญา นี้เรียกว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์.
ความเพียร ความไม่ย่อหย่อน อันภิกษุนั้นผู้วิจัย เลือกสรร พิจารณา
ซึ่งธรรมนั้น ด้วยปัญญา ปรารภแล้ว นี้เรียกว่า วิริยสัมโพชฌงค์.
ปีติ อันปราศจากอามิส เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว
นี้เรียกว่า ปีติสัมโพชฌงค์.