เมนู

เอกจินติเถราปทานที่ 7 (187)


ว่าด้วยผลแห่งการที่กุศลตักเตือน


[189] ในกาลใด เทวดาจะจุติจากหมู่เทพเพราะสิ้นอายุ ใน
กาลนั้น เทวดาผู้พลอยยินดีย่อมเปล่งเสียงออก 3 ประการว่า

ดูก่อนท่านผู้เจริญ ท่านจากที่นี่จงไปสู่สุคติ จงได้ความ
เป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์แล้ว จงได้ศรัทธาชั้นเยี่ยมในสัทธรรม.

ศรัทธาของท่านผู้ตั้งมั่นแล้วนั้นจงมั่นคงเป็นมูลไว้ อย่า
คลอนแคลนในสัทธรรมที่พระอริยเจ้าประกาศดีแล้ว ตลอด
ชีวิต.

ท่านจงกระทำกุศลอันไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีอุปธิ
ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ให้มาก.

แต่นั้นท่านก่อสร้างบุญ ทำบุญนั้นด้วยทานให้มาก จง
แนะนำแม้สัตว์อื่น ๆ ให้ตั้งอยู่ในพรหมจรรย์ในสัทธรรม.

สัตว์อื่น ๆ ผู้รู้ตามเป็นจริง พลอยยินดีตามท่าน ผู้เป็น
เทวดาล่วงเทวดา เพราะความอนุเคราะห์นี้ ขอท่านจงกลับมา
บ่อย ๆ นะ.

ในกาลนั้น เราเป็นผู้สลดใจอยู่ในหมู่เทวดาที่มาประชุมกัน
ด้วยคิดว่า เราเป็นอะไรเล่า จุติจากที่นี่แล้วจึงจักไปยังกำเนิด
มนุษย์ได้.

ในกาลนั้น พระสมณะสาวกของพระพุทธเจ้าพระนามว่า
ปทุมุตตระ ผู้อบรมอินทรีย์แล้ว มีนามชื่อว่าสุมนะ รู้ความ
สลดใจของเรา ปรารถนาจะช่วยเหลือเรา.

ท่านจึงมาในสำนักของเรา พร่ำสอนอรรถธรรมแล้ว ยัง
เราให้สลดใจ.

เราได้ฟังคำของท่านแล้ว ทำให้จิตเลื่อมใสในพระพุทธ-
เจ้า เราเพียงแต่ได้ถวายบังคมพระสัมพุทธเจ้าแล้ว ทำกาล-
กิริยา ณ ที่นั้น.

เรานั้นอันกุศลมูลตักเตือนแล้ว ได้อุบัติในเทวโลกนั้นเอง
ไม่เข้าถึงทุคติเลยตลอดแสนกัป.

คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 และ
อภิญญา 6 เราทำให้แจ้งชัดแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า
เราได้ทำเสร็จแล้ว
ดังนี้.
ทราบว่า ท่านพระเอกจินติกเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้แล.
จบเอกจินติกเถราปทาน

ติกัณณิปุปผิยเถราปทานที่ 8 (188)


ว่าด้วยผลแห่งการบูชาด้วยดอกเจตพังคี


[190] เราเป็นเทวดาแวดล้อมด้วยหมู่นางอัปสร ระลึกถึงบุพ-
กรรมได้ จึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด.

เรายังจิตของตนให้เลื่อมใส ถือดอกเจตพังคี 3 ดอก ไป
บูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ผู้ประเสริฐกว่านรชน.

เพราะเราได้เอาดอกไม้บูชา ในกัปที่ 91 แต่กัปนี้ เรา
จึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา.

ในกัปที่ 73 แต่กัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 4 ครั้ง
เป็นผู้อุดม ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการ มีพละมาก.

คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 และ
อภิญญา 6 เราทำได้แจ้งชัดแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า
เราได้ทำเสร็จแล้ว
ดังนี้.
ทราบว่า ท่านพระติกัณณิปุปผิยเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วย
ประการฉะนี้แล.
จบติกัณณิปุปผิยเถราปทาน