เมนู

ว่าด้วยได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มโดยธรรม


[964] ชื่อว่า อาหาร ในคำว่า ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่ม
ในกาล
คือข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ. ชื่อว่า เครื่องนุ่งห่ม
ได้แก่จีวร 6 ชนิด คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน
ผ้าด้ายเจือไหม. คำว่า ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาล ความว่า
ภิกษุนั้นได้จีวรและบิณฑบาต มิใช่ได้ด้วยการหลอกลวง มิใช่ได้ด้วย
การพูดเลียบเคียง มิใช่ได้ด้วยการบอกใบ้ มิใช่ได้ด้วยความกำจัดคุณเขา
มิใช่ได้ด้วยการแสวงหาลาภด้วยลาภ มิใช่ได้ด้วยการให้ฟืน มิใช่ได้ด้วย
การให้ไม้ไผ่ มิใช่ได้ด้วยการให้ใบไม้ มิใช่ได้ด้วยการให้ดอกไม้ มิใช่
ได้ด้วยการให้ผลไม้ มิใช่ได้ด้วยการให้เครื่องอาบน้ำ มิใช่ได้ด้วยการ
ให้จุรณ มิใช่ได้ด้วยการให้ดินเหนียว มิใช่ได้ด้วยการให้ไม้สีฟัน มิใช่
ได้ด้วยการให้น้ำบ้วนปาก มิใช่ได้ด้วยคำพูดมุ่งให้เขารักตน มิใช่ได้ด้วย
ถ้อยคำเหลวไหลดังแกงถั่ว มิใช่ได้ด้วยกิริยาประจบเขา มิใช่ได้ด้วยความ
เป็นผู้นั่งบนตั่ง (ด้วยความตีสนิทเขา) มิใช่ได้ด้วยวิชาดูพื้นที่ มิใช่ได้ด้วย
ติรัจฉานวิชา มิใช่ได้ด้วยอังควิชา (รู้จักลักษณะดีร้ายของหญิงชาย) มิใช่
ได้ด้วยนักขัตวิชา (รู้จักฤกษ์ยาม) มิใช่ได้ด้วยการเดินเป็นทูต มิใช่ได้
ด้วยความเป็นผู้รับใช้ มิใช่ได้ด้วยความเป็นผู้เดินสาสน์ มิใช่ได้ด้วย
เวชกรรม มิใช่ได้ด้วยนวกรรม มิใช่ได้ด้วยการให้ก้อนข้าวและก้อนข้าว
ตอบแทน มิใช่ได้ด้วยการให้และการเพิ่มให้ ได้รับได้เฉพาะ โดยธรรม
สม่ำเสมอ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาล.

ความรู้จักประมาณ 2 อย่าง


[965] คำว่า ภิกษุนั้นพึงรู้จักประมาณ ในคำว่า ภิกษุนั้นใน
ธรรมวินัยนี้... พึงรู้จักประมาณเพื่อสันโดษ
ความว่า รู้จักประมาณโดย
เหตุ 2 อย่าง คือรู้จักประมาณโดยการรับ 1 รู้จักประมาณโดยการ
บริโภค 1.
ภิกษุรู้จักประมาณโดยการรับอย่างไร เมื่อทายกถวายสิ่งของแม้
น้อย ภิกษุก็รับเพื่อความเอ็นดูแก่สกุล เพื่อความรักษาสกุล เพื่อ
อนุเคราะห์แก่สกุล เมื่อทายกถวายสิ่งของแม้มาก ภิกษุรับจีวรพอบริหาร
กาย รับบิณฑบาตพอบริหารท้อง ภิกษุรู้จักประมาณโดยการรับ
อย่างนี้.

ภิกษุรู้จักประมาณโดยการบริโภคอย่างไร ภิกษุพิจารณาโดย
อุบายอันแยบคายแล้วจึงใช้จีวร เพื่อบำบัดความหนาว เพื่อบำบัดความ
ร้อน เพื่อบำบัดสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดดและสัตว์เสือกคลาน
เพื่อจะปกปิดอวัยวะที่ให้ความละอายกำเริบ เป็นกำหนดเท่านั้น ภิกษุ
พิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว จึงฉันบิณฑบาต ไม่ฉันเพื่อเล่น ไม่ฉัน
เพื่อเมา ไม่ฉันเพื่อประดับ ไม่ฉันเพื่อตกแต่ง ฉันเพื่อความดำรงกายนี้
เพื่อให้กายนี้เป็นไป เพื่อเว้นความลำบากแห่งกายนี้ เพื่ออนุเคราะห์แก่
พรหมจรรย์ ด้วยมนสิการว่า เราจะบำบัดเวทนาเก่า จักไม่ให้เวทนา
ใหม่เกิดขึ้น ความเป็นไปสะดวก ความไม่มีโทษ ความผาสุกจักมีแก่เรา
ดังนี้ เป็นกำหนดเท่านั้น ภิกษุพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย แล้วจึง
เสพเสนาสนะ เพื่อบำบัดความหนาว เพื่อบำบัดความร้อน เพื่อบำบัด
สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดดและสัตว์เสือกคลาน เพื่อความบรรเทา