เมนู

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระราชาเวสสันดรทรงอุ้มพระกุมารชาลี พระ-
มัทรีราชบุตรีทรงอุ้มพระกุมารกัณหาชินา ต่างทรง
บรรเทิงตรัสปิยวาจากะกันและกันเสด็จไป.

จบทานกัณฑ์

วนปเวสนกัณฑ์


กษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์ มีพระเวสสันดรเป็นต้นทอดพระเนตรเห็นคน
ทั้งหลายที่เดินสวนทางมา จึงตรัสถามว่า เขาวงกตอยู่ที่ไหน คนทั้งหลายทูล
ตอบว่ายังไกล
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
ถ้ามนุษย์บางพวกเดินมาตามทาง หรือเดินสวน
ทางมา เราจะถามมรรคากะพวกนั้นว่า เขาวงกตอยู่ที่
ไหน คนพวกนั้น เห็นเราทั้งหลายในป่านั้น จะพากัน
คร่ำครวญน่าสงสาร พวกเขาแจ้งให้ทราบอย่างเป็น
ทุกข์ว่า เขาวงกตยังอยู่อีกไกล.

พระชาลีและพระกัณหาชินาได้ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ทรงผลต่าง ๆ
สองข้างทางก็ทรงกันแสง ด้วยบุญญานุภาพแห่งพระมหาสัตว์ ต้นไม้ที่ทรงผลก็
น้อมลงมาสัมผัสพระหัตถ์ แต่นั้นพระเวสสันดรก็ทรงเลือกเก็บผลาผลที่สุกดี
ประทานแก่สองกุมารกุมารีนั้น พระนางมัทรีทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ทรง
ทราบว่าเป็นเหตุอัศจรรย์.

เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า
พระราชกุมารกุมารีทอดพระเนตรเห็นพฤกษชาติ
เผล็ดผลในป่าใหญ่ ก็ทรงกันแสงเพราะเหตุอยากเสวย
ผลไม้เหล่านั้น ต้นไม้ทั้งหลายเต็มไปในป่า ประหนึ่ง
เห็นพระราชกุมารกุมารีทรงกันแสง ก็ร้อนใจน้อม
กิ่งลงมาถึงพระราชกุมารกุมารีเอง พระนางมัทรีราช-
เทวีผู้งามทั่วองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นอัศจรรย์นี้อันไม่
เคยมีมา ทำให้ขนพองสยองเกล้า ก็ยังสาธุการให้เป็น
ไป ความอัศจรรย์ไม่เคยมีทำให้ขนพองสยองเกล้ามี
ในโลก พฤกษชาติทั้งหลายน้อมลงมาเอง ด้วยเดชา
นุภาพแห่งพระเวสสันดร.

ตั้งแต่เชตุดรราชธานีถึงภูเขาชื่อสุวรรณคิรีตาละ 5 โยชน์ ตั้งแต่สุวรรณ
คิรีตาละถึงแม่น้ำชื่อโกนติมารา 5 โยชน์ ตั้งแต่แม่น้ำโกนติมาราถึงภูเขาชื่อ
อัญชนคิรี 5 โยชน์ ตั้งแต่ภูเขาอัญชนคิรีถึงบ้านพราหมณ์ชื่อตุณณวิถนาลิทัณฑ์
5 โยชน์ ตั้งแต่บ้านพราหมณ์ตุณณวิถนาลิทัณฑ์ถึงมาตุลนคร 10 โยชน์ รวม
ตั้งแต่เชตุดรนครถึงแคว้นนั้นเป็น 30 โยชน์ เทวดาย่นมรรคานั้น กษัตริย์
ทั้ง 4 พระองค์จึงเสด็จถึงมาตุลนครในวันเดียวเท่านั้น.
เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า
เทวดาทั้งหลายย่นมรรคาด้วยอนุเคราะห์แก่พระ-
ราชกุมารกุมารี กษัตริย์ทั้ง 4 ถึงเจตรัฐโดยวันที่เสด็จ
ออกนั้นเอง.

ก็แลกษัตริย์ทั้ง 4 เมื่อเสด็จไป ได้เสด็จดำเนินตั้งแต่เวลาเสวยเช้า
แล้ว ลุถึงมาตุลนครในเจตรัฐเวลาเย็น

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
กษัตริย์ 4 พระองค์เสด็จไปสิ้นทางไกลถึงเจตรัฐ
ซึ่งเป็นชนบทมั่งคั่ง มีความสุข มีมังสะ สุรา และ
ข้าวมาก.

กาลนั้น มีเจ้าครองอยู่ในมาตุลนคร 6 หมื่นองค์. พระมหาสัตว์ไม่
เสด็จเข้าภายในนคร ประทับพักอยู่ที่ศาลาใกล้ประตูเมือง ครั้งนั้นพระนางมัทรี
ชำระเช็ดธุลีที่พระบาทของพระมหาสัตว์ แล้วถวายอยู่งานนวดพระบาท ทรง
คิดว่า เราจักยังประชาชนให้รู้ความที่พระเวสสันดรเสด็จมา จึงเสด็จออกจาก
ศาลา ประทับยืนอยู่ที่ประตูศาลาตรงทางประตูเมือง เพราะเหตุนั้น หญิงทั้ง
หลายผู้เข้าสู่เมืองและออกจากเมือง ก็ได้เห็นพระนางมัทรี ต่างเข้าห้อมล้อม
พระองค์.
พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
สตรีชาวเจตรัฐเห็นพระนางมัทรีผู้มีลักษณะเสด็จ
มา ก็ปริวิตกว่า พระแม่เจ้าผู้สุขุมาลชาตินี้เสด็จมาด้วย
พระบาท พระนางเคยเสด็จไปไหน ๆ ด้วยยานที่หาม
หรือพระวอและรถที่นั่ง วันนี้พระนางมัทรีเสด็จดำเนิน
ไปในป่าด้วยพระบาท.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลกฺขณมาคตํ ความว่า พระนางมัทรี
ผู้ถึงพร้อมด้วยลักษณะทั้งปวงเสด็จมา. บทว่า ปริธาวติ ความว่า พระนาง
เป็นเจ้าหญิงสุขุมาลชาติอย่างนี้หนอ ต้องเสด็จด้วยพระบาทเที่ยวไป. บทว่า
ปริยายิตฺวา ความว่า เสด็จเที่ยวไปในนครเชตุดรในกาลก่อน. บทว่า สิวิกาย
ได้แก่ ด้วยวอทอง.

มหาชนเห็นพระนางมัทรี พระเวสสันดร และพระโอรสทั้งสอง
พระองค์ เสด็จมาด้วยความเป็นผู้น่าอนาถ จึงไปแจ้งแก่พระยาเจตราชทั้งหลาย
พระยาเจตราชทั้ง 6 หมื่นก็กันแสงร่ำพิไรมาเฝ้าพระเวสสันดร
พระศาสดาเมื่อทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระยาเจตราทั้งหลายเห็นพระเวสสันดร ก็ร้อง
ให้เข้าไปเฝ้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ
พระองค์ทรงพระสำราญ ไม่มีพระโรคาพาธแลหรือ
พระราชบิดาของพระองค์หาพระโรคาพาธมิได้แลหรือ
ชาวนครสีพีก็ไม่มีทุกข์หรือ.
ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พลนิกายของพระองค์อยู่
ที่ไหน รถพระที่นั่งของพระองค์อยู่ที่ไหน พระองค์
ไม่มีม้าทรง ไม่มีรถทรง เสด็จดำเนินมาทางไกลถูก
ข้าศึกย่ำยีกระมัง จึงเสด็จมาถึงประเทศนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิสฺวา ได้แก่ เห็นแต่ไกลทีเดียว.
บทว่า เจตปาโมกฺขา ได้แก่ กษัตริย์เจ ราชทั้งหลาย. บทว่า อุปาคมุํ
ได้แก่ เข้าไปเฝ้า. บทว่า กุสลํ ความไม่มีโรค. บทว่า อนามยํ
ได้แก่ ความไม่มีทุกข์. บทว่า โก เต พลํ ความว่า กองทหารของพระ-
องค์อยู่ที่ไหน. บทว่า รถมณฺฑลํ ความว่า เหล่ากษัตริย์เจตราชทูลถามว่า
รถซึ่งประดับแล้วที่พระองค์เสด็จมานั้น อยู่ที่ไหน. บทว่า อนสฺสโก ได้
แก่ ไม่มีม้าทรงเลย. บทว่า อรถโก ได้แก่ ไม่มีรถทรง. บทว่า ทีฆมทฺ-
ธานมาคโต
ความว่า พระองค์เสด็จมาทางไกล. บทว่า ปกโต ได้แก่
ถูกข้าศึกครอบงำย่ำยี.

ครั้งนั้น พระมหาสัตว์เมื่อจะตรัสถึงเหตุการณ์ที่พระองค์เสด็จมา แก่
พระยาเจตราชหกหมื่นเหล่านั้น จึงตรัสว่า
แน่ะสหายทั้งหลาย เราไม่มีโรคาพาธ เรามี
ความสำราญ อนึ่ง พระราชบิดาของเราก็ทรงปราศ-
จากพระโรคาพาธ และชาวสีพีก็สุขสำราญดี แต่เพราะ
เราให้ช่างซึ่งมีงาดุจงอนไถ เป็นราชพาหนะรู้ชัยภูมิ
แห่งการยุทธ์ทุกอย่าง ขาวทั่วสรรพางค์ เป็นช้างสูงสุด
คลุมด้วยผ้ากัมพลเหลือง ซับมัน อาจย่ำยีศัตรูได้ มี
งางาม พร้อมด้วยพัดวาลวีชนี มีกายสีขาวเช่นกับเขา
ไกรลาส พร้อมด้วยเศวตฉัตร ทั้งเครื่องลาดอันงาม
ทั้งหมด ทั้งคนเลี้ยง เป็นราชยานอันประเสริฐ เป็น
ช้างพระที่นั่ง ให้เป็นทรัพย์แก่พราหมณ์ทั้ง 8 คน
เพราะเหตุนั้น ชาวสีพีพากันขัดเคืองเรา และพระราช
บิดาก็กริ้วขับไล่เรา เราจะไปเขาวงกต แน่ะสหาย
ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายรู้โอกาสแห่งที่อยู่ของพวกเราที่
จะอยู่ในป่า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺมึ เม ความว่า ชาวสีพีทั้งหลาย
โกรธเราในเพราะเหตุนั้น . บทว่า อุปหรโตมโน ความว่า พระราชบิดาก็
กริ้ว คือทรงขัดเคืองด้วย จึงทรงขับไล่เราจากแว่นแคว้น . บทว่า ยตฺถ
ความว่า พระเวสสันดรตรัสว่า พวกเราควรอยู่ในป่าใด ท่านทั้งหลายรู้โอกาส
เป็นที่อยู่ของพวกเราในป่านั้น.
ลำดับนั้น พระยาเจตราชทั้งหลายทูลพระเวสสันดรว่า
ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว เสด็จ
มาแต่ไกลก็เหมือนใกล้พระองค์ผู้เป็นอิสระเสด็จมา

ถึงแล้ว สิ่งใดมีอยู่ในประเทศนี้ โปรดรับสั่งให้ทราบ
เถิด ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์เสวยข้าวสุกแห่ง
ข้าวสาลีอันบริสุทธิ์ ทั้งผัก เหง้าบัว น้ำผึ้ง เนื้อ
พระองค์เสด็จมาเป็นแขกของข้าพระบาททั้งหลาย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปเวทย ความว่า ข้าพระบาททั้งหลาย
ขอมอบถวายทุกสิ่งที่พระองค์ตรัส. บทว่า ภึสํ ได้แก่ เหง้าบัว คือเหง้า
อย่างใดอย่างหนึ่ง.
ลำดับนั้น พระเวสสันดรตรัสว่า
สิ่งใดอันท่านทั้งหลายให้แล้ว สิ่งนั้นเป็นอันเรา
รับแล้ว บรรณาการเป็นอันท่านทั้งหลายกระทำแล้ว
ทุกอย่าง พระราชบิดาทรงขับไล่เรา เราจะไปเขาวงกต
พวกท่านรู้โอกาสแห่งที่อยู่ของพวกเราที่จะอยู่ในป่า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฏิคฺคหิตํ ความว่า ทุกสิ่งนั้นทีท่าน
ทั้งหลายให้แล้ว ก็เป็นอันเรารับไว้แล้วเทียว. บทว่า สพฺพสฺส อคฺฆิยํ
กตํ
ความว่า บรรณาการคือของมอบให้เป็นอันท่านทั้งหลายการทำแล้วแก่เรา.
บทว่า อวรุทฺธสิ มํ ราชา ความว่า ก็พระราชบิดาทรงลับไล่คือเนรเทศ
เราจากแว่นแคว้น เพราะฉะนั้น เราจักไปเขาวงกตเท่านั้น ท่านทั้งหลายจงรู้
สถานที่อยู่ในป่าของเรานั้น.
พระยาเจตราชทั้งหลายเหล่านั้นทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอเชิญเสด็จประทับ
อยู่ ณ เจตรัฐนี้ จนกว่าพระยาเจตราชทั้งหลายไปเฝ้า
พระราชบิดาทูลขอโทษ. ให้พระราชบิดาทรงเป็นผู้ยัง

แคว้นแห่งชาวสีพีให้เจริญ ทรงทราบว่า พระองค์หา
ความผิดมิได้ เพราะเหตุนั้น พระยาเจตราชทั้งหลาย
จะเป็นผู้อิ่มใจได้ที่พึ่งแล้ว รักษาพระองค์แวดล้อมไป
ข้าแต่บรมกษัตริย์ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รญฺโญ สนฺติก ยาจิตุํ ความว่า จัก
ไปเฝ้าพระราชบิดาเพื่อทูลขอโทษ. บทว่า นิชฺฌาเปตุํ ได้แก่ เพื่อให้ทรง
ทราบว่าพระองค์หาความผิดมิได้. บทว่า ลทฺธปจฺจยา ได้แก่ ได้ที่พึ่งแล้ว.
บทว่า คจฺฉนฺติ ได้แก่ จักไป.
พระหาสัตว์ตรัสว่า
ท่านทั้งหลายอย่าชอบใจไปเฝ้าพระราชบิดาเพื่อ
ทูลขอโทษ และเพื่อให้พระองค์ทรงทราบว่าเราไม่มี
ความผิดเลย เพราะว่าพระองค์มิได้เป็นอิสระในเรื่อง
นั้น แต่จริงชาวสีพี กองพล และชาวนิคมเหล่าใด
ขัดเคืองแล้ว พวกเขาเหล่านั้นก็ปรารถนาจะกำจัด
พระราชบิดาเพราะเหตุแห่งเรา.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตตฺถ ความว่า แม้พระราชบิดาก็มิได้
เป็นใหญ่ในการที่จะให้ว่าเรามิได้มีความผิด. บทว่า อจฺจุคฺคตา ได้แก่ ขัด
เคืองยิ่ง. บทว่า พลคฺคา ได้แก่ พลนิกาย คือแม่ทัพ. บทว่า ปธํเสตุํ
ได้แก่ เพื่อนำออกจากราชสมบัติ. บทว่า ราชานํ ได้แก่ แม้พระราชบิดา.
พระยาเจตราชเหล่านั้นทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ยังแคว้นให้เจริญ ถ้าพฤติการณ์
นั้นเป็นไปในรัฐนี้ ชาวเจตรัฐขอถวายตัวเป็นบริวาร

เชิญเสด็จครองราชสมบัติในเจตรัฐนี้ทีเดียว รัฐนี้ก็มั่ง
คั่งสมบูรณ์ ชนบทก็เพียบพูนกว้างใหญ่ ขอพระองค์

ทรงปลงพระหฤทัยปกครองราชสมบัติเถิด พระเจ้าข้า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สเจ เอสา ปวตฺเตตฺถ ความว่า
ถ้าในรัฐนี้มีพฤติการณ์อย่างนี้. บทว่า รชฺชสฺสมนุสาสิตุํ ได้แก่ เพื่อครอบ
ครองราชสมบัติ อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะก็อย่างนี้แหละ.
ลำดับนั้น พระเวสสันดรตรัสว่า
ดูก่อนพระยาเจตบุตรทั้งหลาย ความพอใจหรือ
ความคิดเพื่อครองราชสมบัติ ไม่มีแก่เราผู้อันพระ-
ชนกนาถ เนรเทศจากแว่นแคว้น ท่านทั้งหลายจงฟัง
เรา ชาวสีพี กองพล และชาวนิคมทั้งหลายคงจะไม่
ยินดีว่า พระยาเจตราชทั้งหลาย อภิเษกเราผู้ถูก
เนรเทศจากแว่นแคว้น.
ความไม่ปรองดอง จะพึงมีแก่พวกท่าน เพราะ
เราเป็นตัวการสำคัญ อนึ่งความบาดหมางและการ
ทะเลาะกับชาวสีพี เราไม่ชอบใจ ใช่แต่เท่านั้น ความ
บาดหมางพึงรุนแรงขึ้น สงครามอันร้ายกาจก็อาจมีได้.
คนเป็นอันมากพึงฆ่าฟันกันเอง เพราะเหตุแห่ง
เราผู้เดียว สิ่งใดอันท่านทั้งหลายให้แล้ว สิ่งนั้น
ทั้งหมดเป็นอันเรารับไว้แล้ว บรรณาการเป็นอันท่าน
ทั้งหลายกระทำแล้วทุกอย่าง พระราชบิดาทรงขับไล่
เรา เราจักไปเขาวงกต ท่านทั้งหลายรู้โอกาสแห่งที่อยู่
ของพวกเราที่จะอยู่ในป่า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เจตา รชฺเชภิเสจยุํ ความว่า พวก
ชาวสีพีเหล่านั้นรู้ว่า ชาวเจตรัฐอภิเษกพระเวสสันดรในราชสมบัติ คงจะไม่
ชอบพวกท่าน. บทว่า อสมฺโมทิยํ ได้แก่ ความไม่ปรองดอง. บทว่า
อสฺส ได้แก่ ภเวยฺย ความว่า จักเป็น. บทว่า อถสฺส ความว่า คราว
นั้นพวกท่านจักทะเลาะกันเพราะเราคนเดียวเป็นเหตุ.
ก็และครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์แม้พวกพระยาเจตราชทูลวิง
วอนโดยอเนกปริยาย ก็ไม่ทรงปรารถนาราชสมบัติ ครั้งนั้นพระยาเจตราชทั้ง
หลายได้ทำสักการะใหญ่แด่พระมหาสัตว์ พระมหาสัตว์ไม่ปรารถนาจะเสด็จเข้า
ภายในพระนคร ครั้งนั้นพวกพระยาเจตราชจึงตกแต่งศาลานั้น กั้นพระวิสูตร
ตั้งพระแท่นบรรทม ทั้งหมดช่วยกันแวดล้อมรักษา พระเวสสันดรพักแรมอยู่
1 ราตรี เหล่าพระยาเจตราชเหล่านั้นสงเคราะห์รักษา บรรทมที่ศาลา รุ่งขึ้น
สรงน้ำแต่เช้า เสวยโภชนาหารมีรสเลิศต่าง ๆ พระยาเจตราชเหล่านั้นแวดล้อม
เสด็จออกจากศาลา พระยาเจตราชหกหมื่นเหล่านั้นโดยเสด็จด้วยพระเวสสันดร
สิ้นระยะทาง 15 โยชน์ หยุดอยู่ที่ประตูป่า เมื่อจะทูลระยะทางข้างหน้าอีก 15
โยชน์ จึงกล่าวว่า
เชิญเสด็จเถิด ข้าพระองค์ทั้งหลายจักกราบทูล
พระองค์ให้ทรงทราบ อย่างที่คนฉลาดจะกราบทูล
เสลบรรพตซึ่งเป็นที่สงบของปวงราชฤาษีผู้มีการบูชา
เพลิงเป็นวัตร มีจิตตั้งมั่น โน่น ชื่อว่า คันธมาทน์
พระองค์จะประทับกับพระโอรสทั้งสองและพระมเหสี.
พระยาเจตราชทั้งหลายร้องไห้น้ำตาไหลอาบหน้า
พร่ำทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์บ่ายพระพักตร์

ตรงต่อทิศอุดรเสด็จไปจากที่นี้โดยบรรดาใด ถัดนั้น
พระองค์จักทอดพระเนตรเห็นวิปุลบรรพตอันเกลื่อน
ไปด้วยหมู่ไม้ต่าง ๆ มีเงาเย็นน่ารื่นรมย์โดยบรรดานั้น.
ถัดนั้น พระองค์เสด็จพ้นวิปุลบรรพตนั้นแล้ว
จักทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำเกตุมดี ลึกเป็นน้ำไหลมา
แต่ซอกเขา ดาดาษไปด้วยมัจฉาชาติ แลมีท่าอันดี น้ำ
มากจงสรงเสวยที่แม่น้ำนั้น ให้พระโอรสพระธิดาและ
พระมเหสีทรงยินดี.
ถัดนั้น พระองค์จะได้ทอดพระเนตรเห็นไม้ไทร
มีผลพิเศษรสหวาน ซึ่งเกิดอยู่ที่ภูเขาน่ารื่นรมย์ มีเงา
เย็นน่ายินดี.
ถัดนั้น พระองค์จะได้ทอดพระเนตรเห็นบรรพต
ชื่อนาลิกะ เกลื่อนไปด้วยหมู่นกต่างๆ แล้วไปด้วยศิลา
เกลื่อนไปด้วยหมู่กินนร มีสระชื่อมุจลินท์อยู่ด้านทิศ
อีสานแห่งนาลิกบรรพต ปกคลุมด้วยบุณฑริกและ
อุบลขาวมีประการต่างๆ และดอกไม่มีกลิ่นหอมหวล.
ถัดนั้น พระองค์จะเสด็จถึงวนประเทศคล้าย
หมอ มีหญ้าแพรกเขียวอยู่เป็นนิตย์ แล้วเสด็จหยั่ง
ลงสู่ไพรสณฑ์ ซึ่งปกคลุมด้วยไม้ดอกและไม้ผลทั้ง
สอง ดังราชสีห์เพ่งเหยื่อหยั่งลงสู่ไพรสณฑ์ฉะนั้น ฝูง
นกในหมู่ไม้ซึ่งมีดอกบานแล้วตามฤดูกาลนั้นมีมากมีสี
ต่าง ๆ ร้องกลมกล่อมอื้ออึง ต่างร้องประสานเสียงกัน.

ถัดนั้น พระองค์จักเสด็จลงซอกเขาอันเป็นทาง
กันดารเดินลำบาก เป็นแดนเกิดแห่งแม่น้ำทั้งหลาย
จะได้ทอดพระเนตรเห็นสระโบกขรณีอันดาดาษด้วย
สลอดน้ำและกุ่มบก มีหมู่ปลาหลากหลายเกลื่อนกล่น
มีท่าเรียบราบ มีน้ำมากเปี่ยมอยู่เสมอ เป็นสระสี่เหลี่ยม
มีน้ำจืดดีไม่มีกลิ่นเหม็น พระองค์จงสร้างบรรณศาลา
ด้านทิศอีสานแห่งสระโบกขรณีนั้น ครั้นทรงสร้าง
บรรณศาลาสำเร็จแล้ว ประทับสำราญพระอิริยาบถ
ประพฤติแสวงหามูลผลาหาร.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ราชิสิ ได้แก่ ผู้ที่เป็นพระราชาแล้ว
บวช. บทว่า สมาหิตา ได้แก่ เป็นผู้มีจิตแน่วแน่ พระยาเจตราชทั้งหลาย
เมื่อยกหัตถ์ขวาขึ้นทูลบอกว่า เชิญพระองค์เสด็จทางเชิงบรรพตนี้ กราบทูล
ด้วยบทว่า เอส นี้. บทว่า อจฺฉสิ ได้แก่ จักประทับอยู่. บทว่า อาปกํ
ได้แก่ แม่น้ำเป็นทางน้ำไหล คือนำน้ำมา. บทว่า คิริคพฺภรํ ได้แก่ ไหล
มาแต่ช่องเขาทั้งหลาย. บทว่า มธุวิปฺผลํ ได้แก่ มีผลอร่อย. บทว่า
รมฺมเก ได้แก่ น่ารื่นรมย์. บทว่า ปุริสายุตํ ได้แก่ ประกอบ คือ
เกลื่อนไปด้วยกินนรทั้งหลาย. บทว่า เสตโสคนฺธิเยหิ จ ความว่า ประกอบ
ด้วยอุบลชาวและดอกไม้มีกลิ่นหอมมีประการต่างๆ. บทว่า สีโหวามิสเปกฺขีว
ความว่า ดุจราชสีห์ต้องการเหยื่อ. บทว่า พินฺทุสฺสรา ได้แก่ มีเสียงกลม
กล่อม. บทว่า วคฺคู ได้แก่ มีเสียงไพเราะ. บทว่า กูชนฺตมุปกูชนฺติ
ความว่า เข้าไปร้องภายหลังร่วมกะนกที่ร้องอยู่ก่อน. บทว่า อุตุสมฺปุปฺผิเต
ทุเม ความว่า แอบที่ต้นไม้มีดอกบานตามฤดูกาล ส่งเสียงร้องพร้อมกะนกที

ส่งเสียงร้องอยู่. บทว่า โส อทฺทส ความว่า พระองค์นั้นจักได้ทอดพระเนตร.
บทว่า กรญฺชกกุธายุตํ ความว่า เกลื่อนไปด้วยต้นสลอดน้ำและต้นกุ่ม
ทั้งหลาย. บทว่า อปฺปฏิคนฺธิยํ ได้แก่ ปราศจากกลิ่นเหม็น เต็มเปี่ยม
ด้วยน้ำหวานดาดาษด้วยปทุมและอุบลเป็นต้นมีประการต่าง ๆ บทว่า ปณฺณ
สาลํ อมาปย
ความว่า พึงสร้างบรรณศาลา. บทว่า อมาเปตฺวา ได้แก่ ครั้น
สร้างแล้ว. บทว่า อุญฺฉาจริยาย อีหถ ความว่า ข้าแต่สมมติเทพ ลำดับ
นั้นพระองค์พึงดำรงพระชนมชีพ ด้วยการเที่ยวแสวงหา เป็นผู้ไม่ประมาทอยู่
เถิด คือพึงเป็นผู้ปรารภความเพียรอยู่เถิด.
พระยาเจตราชทั้งหลายกราบทูลบรรดา 15 โยชน์ แด่พระเวสสันดร
อย่างนี้แล้วส่งเสด็จ คิดว่าปัจจามิตรคนใดคนหนึ่งอย่าพึงได้โอกาสประทุษร้าย
เลย เพื่อจะบรรเทาภยันตรายแห่งพระเวสสันดรเสีย จึงให้เรียกพรานป่าคน
หนึ่งชื่อเจตบุตร เป็นคนฉลาดศึกษาดีแล้วมาสั่งว่า เจ้าจงกำหนดตรวจตราคน
ทั้งหลายที่ไป ๆ มา ๆ สั่งฉะนี้แล้วให้อยู่รักษาประตูป่า แล้วกลับไปสู่นคร
ของตน.
ฝ่ายพระเวสสันดรพร้อมด้วยพระราชโอรสพระราชธิดาและพระราช
เทวี เสด็จถึงเขาคันธมาทน์ประทับยับยั้งอยู่ ณ ที่นั่นตลอดวัน แต่นั่นบ่ายพระ
พักตร์ทิศอุดร เสด็จลุถึงเชิงเขาวิปุลบรรพต ประทับนั่งที่ฝั่งเกตุมดีนที เสวย
เนื้อมีรสอร่อยซึ่งนายพรานป่าผู้หนึ่งถวาย พระราชทานเข็มทองคำแก่นาย
พรานนั้น ทรงสรงสนานที่แม่น้ำนั้น มีความกระวนกระวายสงบ เสด็จขึ้นจาก
แม่น้ำ ประทับนั่งณร่มไม้นิโครธที่ตั้งอยู่ยอดสานุบรรพตหน่อยหนึ่ง เสวยผล
นิโครธ ทรงลุกขึ้นเสด็จไปถึงนาลิกบรรพต เมื่อเสด็จต่อไปก็ถึงสระมุจลินท์
เสด็จไปตามฝั่งสระถึงมุมด้านทิศอีสาน เสด็จเข้าสู่ชัฎไพรโดยทางเดินได้คน

เดียว ล่วงที่นั้นก็บรรลุถึงสระโบกขรณีสี่เหลี่ยม ข้างหน้าของภูเขาทางกันดาร
เป็นแดนเกิดแห่งแม่น้ำทั้งหลาย.
ขณะนั้นพิภพของท้าวสักกเทวราชสำแดงอาการเร่าร้อน ท้าวสักกะ
ทรงพิจารณาก็ทรงทราบเหตุการณ์นั้น จึงทรงดำริว่า พระมหาสัตว์เสด็จเข้าสู่
หิมวันตประเทศ พระองค์ควรได้ที่เป็นที่ประทับ จึงตรัสเรียก พระวิสสุกรรม
เทพบุตรมาสั่งว่า ดูก่อนพ่อ ท่านจงไปสร้างอาศรมบทในสถานที่อันเป็นรมณีย์
ณ เวิ้งเขาวงกตแล้วกลับมา สั่งฉะนี้แล้วทรงส่งพระวิสสุกรรมไป พระวิสสุ-
กรรมรับเทวบัญชาว่า สาธุ แล้วลงจากเทวโลกไป ณ ที่นั้น เนรมิตบรรณศาลา
2 หลัง ที่จงกรม 2 แห่ง และที่อยู่กลางคืน ที่อยู่กลางวัน แล้วให้มีกอไม้อัน
วิจิตรด้วยดอกต่างๆ และดงกล้วย ในสถานที่นั้น ๆ แล้วตกแต่งบรรพชิต
บริขารทั้งปวง จารึกอักษรไว้ว่าท่านผู้หนึ่งผู้ใดใคร่จะบวช ก็จงใช้บริขาร
เหล่านั้น. แล้วห้ามกันเสียซึ่งเหล่าอมนุษย์และหมู่เนื้อหมู่นกที่มีเสียงน่ากลัว แล้ว
กลับที่อยู่ของตน.
ฝ่ายพระมหาสัตว์ทอดพระเนตรเห็นทางเดินคนเดียว ทรงกำหนดว่า
จักมีสถานที่อยู่ของพวกบรรพชิต จึงให้พระนางมัทรีและพระราชโอรสธิดาพัก
อยู่ที่ทวารอาศรมบท พระองค์เองเสด็จเข้าสู่อาศรมบททอดพระเนตรเห็นอักษร
ทั้งหลาย ก็ทรงทราบความที่ท้าวสักกะประทาน ด้วยเข้าพระทัยว่า ท้าวสักกะ
ทอดพระเนตรเห็นเราแล้ว จึงเปิดทวารบรรณศาลาเสด็จเข้าไป ทรงเปลื้อง
พระแสงขรรค์และพระแสงศรที่พระภูษา ทรงนุ่งผ้าเปลือกไม้สีแดง พาด
หนังเสือบนพระอังสา เกล้ามณฑลชฎาทรงถือเพศฤาษี ทรงจับธารพระกร
เสด็จออกจากบรรณศาลา ยังสิริแห่งบรรพชิตให้ตั้งขึ้นพร้อม ทรงเปล่งอุทาน
ว่า โอเป็นสุข เป็นสุขอย่างยิ่ง เราได้ถึงบรรพชาแล้ว เสด็จขึ้นสู่ที่จงกรม
เสด็จจงกรมไปมา แล้วเสด็จไปสำนักพระราชโอรสธิดาและพระราชเทวีด้วย
ความสงบเช่นกับพระปัจเจกพุทธเจ้า ฝ่ายพระนางมัทรีเทวีเมื่อทอดพระเนตร

เห็นก็ทรงจำได้ ทรงหมอบลงที่พระบาทแห่งพระมหาสัตว์ ทรงกราบแล้วทรง
กันแสงเข้าสู่อาศรมบทกับด้วยพระมหาสัตว์ แล้วไปสู่บรรณศาลาของพระนาง
ทรงนุ่งผ้าเปลือกไม้สีแดง พาดหนังเสือบนพระอังสา เกล้ามณฑลชฎา ทรงถือ
เพศเป็นดาบสินี ภายหลังให้พระโอรสพระธิดาเป็นดาบสกุมารดาบสินีกุมารี
กษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์ประทับอยู่ที่เวิ้งแห่งคีรีวงกต ครั้งนั้นพระนางมัทรีทูล
ขอพรแต่พระเวสสันดรว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ไม่ต้องเสด็จไปสู่ป่า
เพื่อแสวงหาผลไม้ จงเสด็จอยู่ ณ บรรณศาลากับพระราชโอรสและพระราชธิดา
หม่อมฉันจะนำผลาผลมาถวาย.
จำเดิมแต่นั้นมา พระนางนำผลาผลมาแต่ป่าบำรุงปฏิบัติพระราชสวามี
และพระราชโอรสพระราชธิดา ฝ่ายพระเวสสันดรบรมโพธิสัตว์ก็ทรงขอพรกะ
พระนางมัทรีว่า แน่ะพระน้องมัทรีผู้เจริญ จำเดิมแต่นี้เราทั้งสองชื่อว่าเป็น
บรรพชิตแล้ว ขึ้นชื่อว่าหญิงเป็นมลทินแก่พรหมจรรย์ ตั้งแต่นี้ไป เธออย่ามาสู่
สำนักฉันในเวลาไม่สมควร พระนางทรงรับว่าสาธุ แม้เหล่าสัตว์ดิรัจฉานทั้งปวง
ในที่ 3 โยชน์โดยรอบ ได้เฉพาะซึ่งเมตตาจิตต่อกันและกัน ด้วยอานุภาพแห่ง
เมตตาของพระมหาสัตว์ พระนางมัทรีเทวีเสด็จอุฏฐาการแต่เช้าตั้งน้ำดื่มน้ำใช้
แล้วนำน้ำบ้วนพระโอฐ น้ำสรงพระพักตร์มา ถวายไม้ชำระพระทนต์ กวาด
อาศรมบท ให้พระโอรสพระธิดาทั้งสองอยู่ในสำนักพระชนก แล้วทรงถือ
กระเช้า เสียมขอเสด็จเข้าไปสู่ป่า หามูลผลาผลในป่าให้เต็มกระเช้า เสด็จกลับ
จากป่าในเวลาเย็น เก็บงำผลาผลไว้ในบรรณศาลาแล้วสรงน้ำ และให้พระ-
โอรสพระธิดาสรง ครั้งนั้นกษัตริย์ทั้ง 4 องค์ ประทับนั่งเสวยผลาผลแทบ
ทวารบรรณศาลา แต่นั้นพระนางมัทรีพระชาลีและพระกัณหาชินาไปสู่
บรรณศาลา กษัตริย์ทั้ง 4 ประทับอยู่ ณ เวิ้งเขาวงกตสิ้น 7 เดือน โดย
ทำนองนี้แล ด้วยประการฉะนี้.
จบวนปเวสนกัณฑ์

ชูชกบรรพ


กาลนั้นมีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อว่า ชูชก เป็นชาวบ้านพราหมณ์ชื่อ
ทุนนวิฏฐะ ใน กาลิงครัฐ เที่ยวภิกขาจารได้ทรัพย์ 100 กหาปณะ ฝากไว้
ที่สกุลพราหมณ์แห่งหนึ่งแล้วไปเพื่อประโยชน์แสวงหาทรัพย์อีก เมื่อชูชกไป
ช้านาน สกุลพราหมณ์นั้นก็ใช้กหาปณะเสียหมด ภายหลังชูชกกลับมาทวง ก็
ไม่สามารถจะให้ทรัพย์นั้นจึงยกธิดาชื่อนางอมิตตตาปนาให้ชูชก ชูชกจึงพานาง
อมิตตตาปนาไปอยู่บ้านทุนนวิฏฐพราหมณ์คามในกาลิงครัฐ นางอมิตตตาปนา
ได้ปฏิบัติพราหมณ์โดยชอบ.
ครั้งนั้น พวกพราหมณ์หนุ่ม ๆ เหล่าอื่นเห็นอาจารสมบัติของนาง
จึงคุกคามภรรยาของตน ๆ ว่า นางอมิตตตาปนานี้ปฏิบัติพราหมณ์ชราโดยชอบ
พวกเจ้าทำไมประมาทต่อเราทั้งหลาย ภรรยาพราหมณ์เหล่านั้นจึงคิดว่า พวก
เราจักยังนางอมิตตตาปนานี้ให้หนีไปเสียจากบ้านนี้ คิดฉะนี้แล้วจึงไปประชุม
กันด่านางอมิตตตาปนาที่ท่าน้ำเป็นต้น.
พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อชูชกมีปกติอยู่ในกาลิงครัฐ
ภรรยาสาวของพราหมณ์นั้นชื่ออมิตตตาปนา.
นางพราหมณ์เหล่านั้นในหมู่บ้านนั้น ไปตักน้ำที่
ท่าน้ำ เป็นประหนึ่งแตกตื่นกันมาประชุมกันกล่าว
บริภาษนางอมิตตตาปนาว่า แน่ะนางอมิตตตาปนา
บิดามารดาของเจ้า เมื่อเจ้ายังเป็นสาวอยู่อย่างนี้ ยัง
มอบตัวเจ้าให้แก่ชูชกพราหมณ์แก่ได้ พวกญาติของ
เจ้าผู้มอบตัวเจ้าแก่พราหมณ์แก่ ทั้งที่เจ้ายังเป็นสาวอยู่