เมนู

มตฺถกาสินํ ได้แก่ จับอยู่ที่ยอดบรรพตเป็นนิจ. ปาฐะว่า มตฺตกาสินํ ก็
มี ความว่า เป็นผู้เมาด้วยความเมาในกามจับอยู่. บทว่า พิมฺพชาลํ ได้แก่
ใบอ่อนแดง. บทว่า โอปุปฺผานิ ได้แก่ มีดอกห้อยลง คือมีดอกร่วงหล่น.
พระนางมัทรีทรงพรรณนาถึงหิมวันตประเทศ. ด้วยคาถามีประมาณ
เท่านี้ ประหนึ่งพระองค์เคยเสด็จประทับอยู่ ณ หิมวันตประเทศแล้วฉะนั้น
ด้วยประการฉะนี้.
จบหิมวันตวรรณนา

ทานกัณฑ์


แม้พระนางผุสดีราชเทวีมีพระดำริว่า ข่าวเดือดร้อนมาถึงลูกของเรา
ลูกของเราจะทำอย่างไรหนอ เราจักไปให้รู้ความ จึงเสด็จไปด้วยสิวิกากาญจน์
ม่านปกปิดประทับที่ทวารห้องบรรทมอันมีสิริ ได้ทรงสดับเสียงสนทนาแห่ง
กษัตริย์ทั้งสองคือพระเวสสันดรและพระนางมัทรี ก็พลอยทรงกันแสงคร่ำครวญ
อย่างน่าสงสาร
พระศาสดาเมื่อทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระผุสดีราชบุตรีพระเจ้ามัททราช ผู้ทรงยศได้
ทรงสดับพระราชโอรสและพระสุณิสาทั้งสองปริเทวนา
การ ก็ทรงพลอยคร่ำครวญละห้อยไห้ว่า เรากินยาพิษ
เสียดีกว่า เราโดดเหวเสียดีกว่า เอาเชือกผูกคอตาย
เสียดีกว่า เหตุไฉนชาวสีพีจึงให้ขับไล่ลูกเวสสันดรผู้
ไม่มีความผิด เหตุไฉนชาวนครสีพีจึงจะให้ขับไล่เจ้า
เวสสันดรลูกรักผู้ไม่มีโทษไม่ผิด ผู้รู้ไตรเพทเป็นทาน
บดี ควรแก่การขอ ไม่ตระหนี่ เหตุไฉนชาวนครสีพี
จึงจะให้ขับไล่เจ้าเวสสันดรลูกรักผู้ไม่มีโทษผิด อัน
พระราชาต่างด้าวทั้งหลายบูชา มีเกียรติยศ เหตุไฉน

ชาวสีวีจึงให้ขับไล่ลูกเวสสันดรผู้ไม่มีความผิด ผู้เลี้ยง
ดูบิดามารดา ประพฤติถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ในราชสกุล
เหตุไฉนชาวสีวีจึงให้ขับไล่ลูกเวสสันดรผู้ไม่มีความผิด
ผู้เกื้อกูลแก่พระเจ้าแผ่นดิน แก่เทพเจ้า แก่พระประยูร
ญาติ แก่พระสหาย เกื้อกูลทั่วแว่นแคว้น เหตุไฉนจึง
ให้ขับไล่ลูกเวสสันดรผู้ไม่มีความผิดเสีย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ราชปุตฺตี ได้แก่ พระนางผุสดีราชธิดา
ของพระเจ้ามัททราช. บทว่า ปปเตยฺยหํ ความว่า เราพึงโดด. บทว่า
รชฺชุยา พชฺฌมิยาหํ ความว่า เราพึงเอาเชือกผูกคอตายเสีย. บทว่า กสฺมา
ความว่า เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่อย่างนี้ เหตุไฉนชาวสีวีจึงให้ขับไล่ลูกของเราผู้ไม่
มีความผิดเสีย. บทว่า อชฺฌายิกํ ความว่า ผู้ถึงฝั่งแห่งไตรเพท คือถึง
ความสำเร็จในศิลปะต่าง ๆ.
พระนางผุสดีทรงคร่ำครวญอย่างน่าสงสารฉะนั้นแล้ว ทรงปลอบพระ-
โอรสและพระศรีสะใภ้ให้อุ่นพระหฤทัย แล้วเสด็จไปเฝ้าพระเจ้าสญชัย กราบ
ทูลว่า
ชาวสีวีให้ขับไล่พระราชโอรสผู้ไม่มีความผิด
รัฐมณฑลของพระองค์ ก็จักเป็นเหมือนรังผึ้งร้าง
เหมือนผลมะม่วงหล่นลงบนดิน ฉะนั้น พระองค์อัน
หมู่เสวกามาตย์ละทิ้งแล้ว จักต้องลำบากอยู่พระองค์
เดียว เหมือนหงส์มีขนปีกหลุดร่วงแล้ว ก็ลำบากอยู่
ในเปียกตมอันไม่มีน้ำ ฉะนั้น ข้าแต่พระมหาราชเจ้า
เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันจึงขอกราบทูลพระองค์ว่า
ประโยชน์อย่าได้ล่วงเลยพระองค์ไปเสียเลย ขอพระ-

องค์อย่าทรงขับไล่พระราชโอรสผู้ไม่มีความผิดนั้น
ตามคำของชาวสีพีเลย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปลิตานิ ได้แก่ เหมือนรวงผึ้งที่ตัวผึ้ง
หนีไปแล้ว. บทว่า ปติตา ฉมา ได้แก่ ผมมะม่วงสุกที่หล่นลงพื้นดิน.
พระนางผุสดีทรงแสดงว่า ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อขับไล่ลูกของเราไปอย่างนี้แล้ว
แว่นแคว้นของพระองค์ก็จักสาธารณ์แก่คนทั่วไป. บทว่า นิกฺขีณปตฺโต ได้
แก่ มีขนปีกหลุดร่วงแล้ว. บทว่า อปวิฏฺโฐ อมจฺเจหิ ความว่า เหล่า
อำมาตย์ประมาณหกหมื่นผู้เป็นสหชาติกับลูกของเราละทิ้งแล้ว. บทว่า วิหญฺญสิ
แปลว่า จักลำบาก. บทว่า สีวีนํ วจนา ความว่า ขอพระองค์อย่าทรงขับ
ไล่ลูกของเราผู้ไม่มีความผิดนั้น ตามคำของชาวสีวีเลย.
พระเจ้าสญชัยได้ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า
เมื่อเราขับไล่ลูกที่รักผู้เป็นดุจธงชัยของชาวสีพี
ก็ทำโดยเคารพต่อขัตติยราชประเพณีธรรมของโบราณ
เพราะฉะนั้น ถึงลูกจะเป็นที่รักกว่าชีวิตของเรา เราก็
ต้องขับไล่.

เนื้อความของคาถานั้นว่า แน่ะพระน้องผุสดีผู้เจริญ เมื่อฉันขับไล่ คือ
เนรเทศลูกเวสสันดร ซึ่งเป็นธงชัยของชาวสีพี ก็ทำโดยเคารพยำเกรงต่อ
ขัตติยราชประเพณีธรรมของโบราณในสีพีรัฐ เพราะเหตุนั้น ถึงแม้ลูกเวสสันดร
นั้นเป็นที่รักกว่าชีวิตของฉัน ถึงอย่างนั้นฉันก็ต้องขับไล่.
พระนางผุสดีราชเทวีได้ทรงสดับดังนั้นก็ทรงครวญคร่ำรำพันว่า
แต่กาลก่อน ๆ เหล่าทหารถือธง และเหล่าทหาร
ม้าเป็นอาทิ ราวกะดอกกรรณิการ์อันบานแล้ว และ
ราวกะราวป่าดอกกรรณิการ์ ไปตามเสด็จพ่อเวสสันดร

ผู้เสด็จไปไหน ๆ วันนี้พ่อจะเสด็จไปแต่องค์เดียว.
เหล่าราชบุรุษผู้ห่มผ้ากัมพลเหลืองมาแต่คันธาร-
รัฐ มีแสงสีดุจแมลงค่อมทองตามเสด็จไปไหน ๆ วัน
นี้พ่อจะเสด็จไปแต่องค์เดียว แต่ก่อนพ่อเคยเสด็จด้วย
ช้างที่นั่ง พระวอหรือรถที่นั่ง วันนี้พ่อจะต้องเสด็จไป
ด้วยพระบาทอย่างไรได้.
พ่อมีพระกายลูบไล้ด้วยแก่นจันทน์ อันเจ้าพนัก-
งานปลุกให้ตื่นบรรทมด้วยฟ้อนรำขับร้อง จะต้องทรง
หนังเสืออันหยาบขุรขระ และถือเสียมหาบคานอัน
คอนเครื่องบริขารแห่งดาบสทุกอย่างไปเองอย่างไรได้
ไม่มีใครนำผ้ากาสาวะและหนังเสือไป เมื่อพ่อเสด็จ
เข้าสู่ป่าใหญ่ ใครจะช่วยแต่งองค์ด้วยผ้าเปลือกไม้ ก็
ไม่มี เพราะเหตุไรขัตติยบรรพชิตทั้งหลาย จะทรงผ้า
เปลือกไม้ได้อย่างไรหนอ แม่มัทรีจักนุ่งห่มผ้าคากรอง
กะไรได้ แม่มัทรีเคยทรงภูษามาแต่แคว้นกาสี และ
โขมพัสตร์และโกทุมพรพัสตร์ บัดนี้จะทรงผ้าคากรอง
จักทำอย่างไร.
แม้มัทรีเคยเสด็จไปไหน ๆ ด้วยสิวิกากาญจน์
คานหามและรถที่นั่ง วันนี้แม่ผู้มีวรกายหาที่มิได้ จะ
ต้องดำเนินไปตามวิถีด้วยพระบาท แม่มัทรีผู้มีฝ่าพระ-
หัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อน มักมีพระหฤทัยหวั่นขวัญ
อ่อนสถิตอยู่ในความสุข เสด็จไปข้างไหนก็ต้องสวม
ฉลองพระบาททอง วันนี้แม้ผู้มีอวัยวะงาม จะต้อง

ดำเนินสู่วิถีด้วยพระบาทเปล่า แม่จะเสด็จไปไหนเคย
มีสตรีนับด้วยพันนางนำเป็นแถวไปข้างหน้า วันนี้แม่
ผู้โฉมงามจะต้องเสด็จไปสู่ราวไพรแต่องค์เดียว.
แม่มัทรีได้ยินเสียงสุนัขป่า ก็จะสะดุ้งตกพระ-
หฤทัยก่อนทันทีหรือได้ยินเสียงนกเค้าอินทสโคตรผู้
ร้องอยู่ก็จะสะดุ้งกลัวองค์สั่น ดุจแม่มดสั่นอยู่ฉะนั้น
วันนี้แม่ผู้มีรูปงามเป็นผู้ขลาดไปสู่แนวป่า ตัวแม่เอง
จักหมกไหม้ด้วยความทุกข์นาน เพราะอาศัยวังนี้เปล่า
จากลูกรัก ตัวแม่แลไม่เห็นลูกรัก จักผอมผิวเหลือง
จักแล่นไปในที่นั้น ๆ เหมือนนางนกมีลูกถูกเบียดเบียน
เห็นแต่รังเปล่าฉะนั้น ตัวแม่จักหมกไหม้ด้วยความ
ทุกข์นาน เพราะอาศัยวังนี้ว่างจากพระลูกรัก ตัวแม่
แลไม่เห็นลูกรัก ก็จักผอมผิวเหลือง จักแล่นไปในที่
นั้น ๆ เปรียบดังนางนกเขามีลูกถูกเบียดเบียนแล้ว
เห็นแต่รังเปล่า หรือเปรียบเหมือนนางนกจากพราก
ตกในเปือกตมไม่มีน้ำฉะนั้น เมื่อหม่อมฉันพิลาปอยู่
อย่างนี้ ถ้าพระองค์ยังจะขับไล่พระราชโอรสผู้ไม่มี
ความผิดนั้นเสียจากแว่นแคว้น หม่อมฉัน เห็นจะต้อง
สละชีวิตเสียเป็นแน่.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กณิการาว ความว่า เป็นราวกะดอก
กรรณิการ์ที่บานดีแล้ว เพราะประดับด้วยเครื่องอลังการอันเป็นสุวรรณ
วัตถาภรณ์. บทว่า ยายนฺตมนุยายนฺติ ความว่า ตามเสด็จพระเวสสันดร

ผู้เสด็จเพื่อต้องการประพาสสวนอุทยานเป็นต้น. บทว่า สฺวาชฺเชโกว ความ
ว่า วันนี้พระเวสสันดรจักเสด็จไปพระองค์เดียวเท่านั้น. บทว่า อนีกานิ ได้
แก่ มีกองช้างเป็นต้น. บทว่า คนฺธารา ปณฺฑุกมฺพลา ความว่า ผ้า
กัมพลแดงที่เสนานุ่งห่มมีค่าแสนหนึ่ง เกิดที่คันธารรัฐ. บทว่า หาริติ ความ
ว่า แบกไป. บทว่า ปวิสนฺตํ ได้แก่ เมื่อพระเวสสันดรเสด็จเข้าไปอยู่.
บทว่า กสฺมา จีรํ น พชฺฌเร ความว่า ใคร ๆ ที่แต่งตัวได้ จะช่วย
แต่งองค์ด้วยผ้าเปลือกไม้ก็ไม่มี เพราะอะไร. บทว่า ราชปพฺพชิตา ได้แก่
พวกกษัตริย์บวช. บทว่า โขมโกทุมฺพรานิ ได้แก่ ผ้าสาฎกที่เกิดในโขม-
รัฐและในโกทุมพรรัฐ. บทว่า สา กถชฺช ตัดบทเป็น สา กลํ อชฺช.
บทว่า อนุจฺจงฺคี ได้แก่ ผู้มีพระวรกายไม่มีที่ตำหนิคือหาที่ติมิได้. บทว่า
ปีฬมานาว ความว่า หวั่นไหวเสด็จไปเหมือนเหน็ดเหนื่อย. บทว่า อสฺสุ
ในบทเป็นต้นว่า ยสฺสุ อิตฺถรสหสฺส เป็นนิบาต ความว่า ใด ปาฐะว่า ยาสา
ก็มี. บทว่า สิวาย ได้แก่ สุนัขจิ้งจอก. บทว่า ปุเร ความว่า อยู่ใน
พระนครในกาลก่อน. บทว่า อินฺทสโคตฺตสฺส ได้แก่ โกสิยโคตร. บทว่า
วาริณีว ได้แก่ เหมือนยักษทาสีที่เทวดาสิง. บทว่า ทุกฺเขน ได้แก่ ทุกข์
คือความโศกเพราะความพลัดพรากจากบุตร. บทว่า อาคมฺมิมํ ปุรํ ความ
ว่า เมื่อลูกไปแล้ว แม่มาวังนี้ คือวังของลูก. บทว่า ปิเย ปุตฺเต ท่าน
กล่าวหมายพระเวสสันดรและพระนางมัทรี. บทว่า หตจฺฉวปา ได้แก่ มีลูก
คือลูกน้อยถูกเบียดเบียนแล้ว. บทว่า ปพฺพาเชสิ จ นํ รฏฺฐา ความว่า
ถ้าพระองค์ยังจะขับไล่ลูกเวสสันดรนั้นจากแว่นแคว้น .
เหล่าสีพีกัญญาของพระเจ้ากรุงสญชัยทั้งปวงได้ยินเสียงคร่ำครวญของ
พระนางผุสดีเทวี ก็ประชุมกันร้องไห้ ส่วนราชบริจาริกานารีทั้งหลายในพระราช-
นิเวศน์ของพระเวสสันดร ได้ยินเสียงเหล่าราชบริจาริกาของพระเจ้ากรุงสญชัย

ร้องไห้ ต่างก็ร้องไห้ไปตามกัน คนหนึ่งในราชสกุลทั้งสองที่สามารถระทรงตน
ไว้ได้ไม่มีเลย ต่างทอดกายาพิไรรำพัน ดุจหมู่ไม้รังต้องลมย่ำยีก็ล้มลงตามกัน
ฉะนั้น.
พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
เหล่าสีพีกัญญาทั้งปวงในพระราชวัง ได้ฟังสุร-
เสียงของพระนางผุสดีทรงกันแสง ประชุมกันประ-
คองแขนทั้งสองร้องไห้ เหล่าราชบุตรราชบุตรี ชายา
พระสนม พระกุมาร พ่อค้า พราหมณ์ กองช้าง กอง
ม้า กองรถ กองราบ ฝ่ายข้างวังพระเวสสันดร ก็
พากันลงนอนยกแขนทั้งสองร้องไห้ ประหนึ่งหมู่ไม้
รังต้องลมประหารย่ำยีก็ล้มลงตามกันฉะนั้น แต่นั้น
เมื่อราตรีสว่าง ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว พระเวสสันดรก็
เสด็จมาสู่โรงทาน ทรงบำเพ็ญทาน โดยพระโองการ
ว่า เจ้าทั้งหลายจงให้ผ้าห่มแก่เหล่าผู้ต้องการผ้านุ่งห่ม
น้ำเมาแก่พวกนักเลงสุรา โภชนาหารแก่เหล่าผู้ต้อง
การโภชนาหารโดยชอบทีเดียว อย่าเบียดเบียนเหล่า
วนิพก ผู้มาในที่นี้แม้แต่คนหนึ่ง จงให้อิ่มหนำด้วย
ข้าวและน้ำ พวกนี้เราบูชาแล้ว จงให้ยินดีกลับไป
ในเมื่อพระเวสสันดรมหาราชผู้ยังแคว้นแห่งชาวสีพีให้
เจริญเสด็จออกแล้ว ดุจคนเมาสุราหรือคนเหน็ดเหนื่อย
ชาวสีพีเหมือนตัดเสีย ซึ่งต้นไม้ที่ให้ผลต่าง ๆ ที่ทรง
ผลต่าง ๆ ที่ให้ความใคร่ทั้งปวง ที่นำมาซึ่งรสคือ
ความใคร่ทั้งปวง เพราะพวกเขาขับไล่พระเวสสันดร

ผู้หาความผิดมิได้จากรัฐมณฑล ในเมื่อพระเวสสันดร
มหาราชผู้ยังแคว้นแห่งชาวสีพีให้เจริญเสด็จออกแล้ว
เหล่าคนแก่ คนหนุ่ม และคนกลางคนทั้งหมด ภูต
แม่มด ขันที สตรีของพระราชา สตรีในพระนคร
พราหมณ์ สมณะ และเหล่าวนิพกอื่น ๆ ประคอง
แขนทั้งสองร้องไห้ว่า ดูเถอะ พระราชาเป็นอธรรม.
พระเวสสันดรเป็นผู้อันมหาชนในเมืองของตน
บูชาแล้ว ต้องเสด็จออกจากเมืองของพระองค์ โดย
ต้องการตามคำของชาวสีวี พระเวสสันดรมหาสัตว์นั้น
พระราชทานช้าง 700 เชือก ล้วนประดับด้วยคชาลัง-
การ มีเครื่องรัดกลางตัวแล้วไปด้วยทอง คลุมด้วย
เครื่องประดับทอง มีนายหัตถาจารย์ขี่ประจำ ถือโตมร
และขอม้า 700 ตัว สรรพไปด้วยอัศวาภรณ์เป็นชาติ
ม้าอาชาไนยสินธพ เป็นพาหนะว่องไว มีนายอัศวา-
จารย์ขี่ประจำ ห่มเกราะถือธนู รถ 700 คัน อันมั่น
คงมีธงปักแล้ว หุ้มหนังเสือเหลืองเสือโคร่งประดับ
สรรพาลังการ มีคนขับประจำถือธนูห่มเกราะ สตรี
700 คน คนหนึ่ง ๆ อยู่ในรถ สวมสร้อยทองคำประดับ
กายแล้วไปด้วยทองคำ มีอลังการสีเหลือง นุ่งห่มผ้า
สีเหลือง ประดับอาภรณ์สีเหลือง มีดวงตาใหญ่ ยิ้ม
แย้มก่อนจึงพูด มีตะโพกงามบั้นเอวบาง โคนม 700
ตัว ล้วนแต่งเครื่องเงินทาสี 700 คน ทาส 700 คน


(พระองค์ทรงบำเพ็ญทานเห็นปานนี้) ต้องเสด็จออก
จากแคว้นของพระองค์.
พระราชาเวสสันดรพระราชทานช้างม้ารถ และ
สตรีอันตกแต่งแล้ว ต้องนิราศจากแคว้นของพระองค์
ในเมื่อมหาทาน อันพระเวสสันดรพระราชทานแล้ว
พสุธาดลก็กัมปนาทหวาดหวั่นไหว และพระราชา-
เวสสันดรทรงกระทำอัญชลี นิราศจากแคว้นของ
พระองค์ นั่นเป็นมหัศจรรย์อันน่าสยดสยอง. ให้ขน
พองสยองเกล้า ได้เกิดมีแล้วในกาลนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สิวิกญฺญา ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
สตรีทั้งหลายของพระเจ้าสญชัยราชาแห่งชาวสีวีแม้ทั้งปวง ได้ฟังเสียงคร่ำ-
ครวญของพระนางผุสดีแล้ว ประชุมกันคร่ำครวญร้องไห้. บทว่า เวสฺสนฺตร-
นิเวสเน
ความว่า เหล่าชนฝ่ายช้างวังแม้ของพระเวสสันดร ได้ฟังเสียงคร่ำ
ครวญของสตรีทั้งหลายในวังของพระเจ้าสญชัยนั้น ก็คร่ำครวญไปตามกัน ใน
ราชสกุลทั้งสอง ไม่มีใคร ๆ ที่สามารถจะดำรงอยู่ได้ตามภาวะของตน ต่างล้ม
ลงเกลือกกลิ้งไปมาคร่ำครวญดุจหมู่ไม้รังโค่นลงด้วยกำลังลมฉะนั้น. บทว่า
ตโต รตฺยา วิวสเน ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อราตรีนั้นล่วงไป
ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว พวกขวนขวายในทานได้กราบทูลแด่พระเวสสันดรว่า ทาน
ได้จัดเสร็จแล้ว. ลำดับนั้น พระราชาเวสสันดรทรงสรงสนานแต่เช้าทีเดียว
ประดับด้วยสรรพาลังการ เสวยโภชนาหารรสอร่อย แวดล้อมไปด้วยมหาชน
เสด็จเข้าสู่โรงทานเพื่อพระราชทานสัตตสดกมหาทาน. บทว่า เทถ ความว่า
พระเวสสันดรเสด็จไปในที่นั้นแล้ว เมื่อตรัสสั่งเหล่าอำมาตย์หกหมื่น ได้ตรัส
อย่างนี้. บทว่า วารุณึ ความว่า พระเวสสันดรทรงทราบว่า การให้น้ำเมา

เป็นทานไร้ผล แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็ทรงดำริว่า พวกนักเลงสุรามาถึงโรง
ทานแล้ว อย่าได้กล่าวว่า ไม่ได้ดื่มสุราในโรงทานของพระเวสสันดร ดังนี้จึง
ให้พระราชทาน. บทว่า วนิพฺพเก ความว่า บรรดาเหล่าชนวนิพกผู้ขอ
พวกท่านอย่าได้เบียดเบียนใคร ๆ แม้คนหนึ่ง. บทว่า ปฏิปูชิตา ความว่า
พระเวสสันดรตรัสว่า ท่านทั้งหลายเป็นผู้ที่เราบูชาแล้ว จงกระทำอย่างที่เขา
ไปสรรเสริญเรา พระเวสสันดรได้พระราชทานสัตตสดกมหาทาน คือ ช้าง
700 เชือก มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง ม้า 700 ตัว ก็
เหมือนอย่างนั้นแล รถ 700 คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์เป็นต้น วิจิตรด้วยรัตนะ
ต่าง ๆ มีธงทอง สตรีมีขัตติยกัญญาเป็นต้น 700 คน ประดับด้วยสรรพาลังการ
ทรงรูปอันอุดม แม่โคนม 700 ตัว ซึ่งเป็นหัวหน้าโคผู้ประเสริฐ รีดน้ำนม
ได้วันละหม้อ ทาสี 700 คนผู้ได้รับการฝึกหัดศึกษาดีแล้ว ทาส 700 คนก็
เหมือนอย่างนั้น พร้อมเครื่องดื่มและโภชนาหารหาประมาณมิได้ ด้วยประการ
ฉะนี้.
เมื่อพระมหาสัตว์ทรงบริจาคทานอยู่อย่างนี้ ชาวนครมีกษัตริย์
พราหมณ์ แพศย์ ศูทร เป็นต้น ต่างร่ำพิไรรำพันว่า ข้าแต่พระเวสสันดรผู้
เป็นเจ้า ชาวสีพีรัฐขับพระองค์ผู้ทรงบริจาคทานเสียจากรรัฐมณฑล พระองค์ก็
ยังทรงบริจาคทานอีก.
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
ครั้งนั้นเสียงกึกก้องโกลาหลน่าหวาดเสียว เป็น
ไปในพระนครนั้นว่า ชาวพระนครสีพีจะขับไล่พระ-
เวสสันดรเพราะทรงบริจาคทาน ขอให้พระองค์ทรงได้
บริจาคทานอีกเถิด.

ฝ่ายเหล่าผู้รับทานได้รับทานแล้วก็พากันรำพึงว่า ได้ยินว่า บัดนี้
พระราชาเวสสันดรจักเสด็จเข้าสู่ป่า ทำพวกเราให้หมดที่พึ่ง จำเดิมแต่นี้พวกเรา

จักไปหาใคร รำพึงฉะนี้ก็นอนกลิ้งเกลือกไปมา ประหนึ่งว่ามีเท้าขาดคร่ำครวญ
ด้วยเสียงอันดัง.
พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
เมื่อพระมหาราชาผู้ผดุงสีพีรัฐให้เจริญจะเสด็จ
ออก วนิพกเหล่านั้นก็ล้มลงกลิ้งเกลือกไปมา ดุจคน
เมาหรือคนเหน็ดเหนื่อยฉะนั้น
ดังนี้เป็นต้น.
บรรดาบทเหล่านั้น สุ อักษรในบทว่า เต สุ มตฺตา นี้เป็นเพียง
นิบาต ความว่า วนิพกเหล่านั้น . บทว่า มตฺตา กิลนฺตาว ความว่า เป็น
ผู้ราวกะคนเมาและราวกะคนเหน็ดเหนื่อย. บทว่า สมฺปตนฺติ ความว่า ล้ม
ลงบนพื้นดินกลิ้งเกลือกไปมา. บทว่า อจฺเฉจฺฉุํ วต แปลว่า ตัดแล้วหนอ.
บทว่า ยถา แปลว่า ด้วยเหตุใด. บทว่า อติยกฺขา ได้แก่ หมอผีบ้าง
แม่มดบ้าง. บทว่า เวสฺสวรา ได้แก่ พวกขันทีผู้ดูแลฝ่ายใน. บทว่า วจนตฺ-
เถน
ได้แก่ เพราะเหตุแห่งถ้อยคำ. บทว่า สมฺหา รฏฺฐา นิรชฺชติ
ความว่า ออกไปจากแคว้นของพระองค์. บทว่า คามณีเยภิ ได้แก่ อาจารย์
ฝึกช้าง. บทว่า ชาติเย ได้แก่ สมบูรณ์ด้วยชาติ. บทว่า คามณีเยภิ
ได้แก่ อาจารย์ฝึกม้า. บทว่า อินฺทิยาจาปธาริภิ ได้แก่ ผู้ทรงไว้ซึ่งเกราะ
และธนู. บทว่า ทีเป อโถปิ เวยฺยคฺเฆ ได้แก่ หุ้มด้วยหนังเสือเหลือง
และหนังเสือโคร่ง. บทว่า เอกเมกา รเถ ฐิตา ความว่า ได้ยินว่า พระ-
เวสสันดรได้พระราชทานนางแก้วคนหนึ่ง ๆ ยืนอยู่บนรถ มีทาสี 8 คน แวด
ล้อม. บทว่า นิกฺขรชฺชูหิ ได้แก่ สร้อยที่สำเร็จด้วยเส้นทองคำ. บทว่า
อาฬารปฺปมุขา ได้แก่ มีดวงตาใหญ่ บทว่า หสุลา ได้แก่ ยิ้มแย้ม
ก่อนจึงพูด. บทว่า สุสญฺญา ได้แก่ มีตะโพกผึ่งผาย. บทว่า ตนุมชฺฌิมา

ได้แก่ มีเอวบาง. บทว่า กํส ในบทว่า กํสุปาธาริโน นี้เป็นชื่อของเงิน
ความว่า ได้พระราชทานพร้อมด้วยภาชนะใส่น้ำนมที่สำเร็จด้วยเงิน. บทว่า
ปทินฺนมฺหิ ได้แก่ ให้อยู่. บทว่า สมกมฺปถ ความว่า หวั่นไหวด้วย
อานุภาพแห่งทาน. บทว่า ยํ ปญฺชลีกโต ความว่า พระราชาเวสสันดร
พระราชทานมหาทานแล้วประคองอัญชลีนมัสการทานของพระองค์ ได้ทรงกระ
ทำอัญชลีอธิษฐานว่า ขอทานนี้จงเป็นปัจจัยแห่งพระสัพพัญญุตญาณของเราที
เดียว แม้ข้อนั้นก็ได้เป็นมหัศจรรย์น่าสยดสยองนั่นแล อธิบายว่า แผ่นดินได้
หวั่นไหวในขณะนั้น. บทว่า นิรชฺชติ ความว่า แม้พระเวสสันดรได้พระ-
ราชทานถึงอย่างนี้แล้ว ก็ยังต้องเสด็จนิราศไป ไม่มีใคร ๆ จะห้ามพระองค์ได้.
ก็ในกาลนั้น เทวดาทั้งหลายแจ้งแก่พระราชาในพื้นชมพูทวีปว่า
พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญมหาทาน มีพระราชทานนางขัตติยกัญญาเป็นต้น
เพราะเหตุนั้นกษัตริย์ทั้งหลายจึงเสด็จมาด้วยเทวานุภาพ รับนางขัตติยกัญญา
เหล่านั้นแล้วหลีกไป.
กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร เป็นต้น รับพระราชทานบริจาค
ของพระเวสสันดรแล้วหลีกไป ด้วยประการฉะนี้ พระเวสสันดรทรงบริจาค
ทานอยู่จนถึงเวลาเย็น พระองค์จึงเสด็จกลับพระราชนิเวศน์ของพระองค์ ทรง
ดำริว่า เราจักถวายบังคมลาพระชนกพระชนนีไปในวันพรุ่งนี้ จึงเสด็จไปสู่ที่
ประทับของพระชนกพระชนนีด้วยรถที่นั่งอันตกแต่งแล้ว ฝ่ายพระนางมัทรีก็
ทรงคิดว่า แม้เราก็จักโดยเสด็จพระสวามี จักยังพระสัสสุและพระสสุระให้ทรง
อนุญาตเสียด้วย จึงเสด็จไปพร้อมพระเวสสันดร พระมหาสัตว์ถวายบังคม
พระราชบิดาแล้วกราบทูลความที่พระองค์จะเสด็จไป.

พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระเวสสันดรกราบทูลพระเจ้าสญชัย ผู้วรธรร-
มิกราชว่า พระองค์โปรดให้หม่อมฉันออกจากเชตุดร
ราชธานี หม่อมฉันขอทูลลาไปเขาวงกต ชนทั้งหลาย
เหล่าใดเหล่าหนึ่งมีแล้วในอดีต หรือจักมีในอนาคต
และเกิดในปัจจุบัน เป็นผู้ไม่อิ่มด้วยกามทั้งหลาย ย่อม
ไปสู่ยมโลก หม่อมฉันได้บริจาคทานในวังของตนยัง
ชื่อว่าเบียดเบียนตนและคนอื่น จึงนิราศจากแคว้นของ
ตนโดยความประสงค์ตามคำของชาวสีพี หม่อมฉันจัก
เสวยความทุกข์นั้นในป่าที่เกลื่อนด้วยพาลมฤค มีแรด
และเสือเหลืองอยู่อาศัยแล้ว หม่อมฉันบำเพ็ญบุญ
ทั้งหลาย เชิญพระองค์จมอยู่ในเปือกตม คือกามเถิด
พระเจ้าข้า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมิกํ วรํ ได้แก่ ผู้สูงสุดในระหว่าง
พระราชาผู้ทรงธรรมทั้งหลาย. บทว่า อวรุทฺธสิ ความว่า นำออกจากแว่น
แคว้น. บทว่า ภูตา ได้แก่ อดีตกาล. บทว่า ภวิสฺสเร ความว่า ชน
เหล่าใดจักมีในอนาคต และเกิดในปัจจุบัน. บทว่า โสหํ สเก อภิสสึ
ความว่า หม่อมฉันนั้นชื่อว่าเบียดเบียนชาวเมืองของตน ทำอะไร. บทว่า
ยชมาโน ได้แก่ บริจาคทาน. บทว่า สเก ปุเร ได้แก่ ในปราสาทของ
ตน แต่ในบาลีเขียนไว้ว่า เมื่อหม่อมฉันนั้นบริจาคทาน. บทว่า นิรชฺชหํ
ได้แก่ เมื่อหม่อมฉันออก. บทว่า อฆนฺตํ ความว่า หม่อมฉันจักเสวยทุกข์
ที่ผู้อยู่ในป่าพึงเสวยนั้น. บทว่า ปงฺกมฺหิ ความว่า พระเวสสันดรทูลว่า
แต่พระองค์จะจมอยู่ในเปือกตม คือกาม.

พระมหาสัตว์ทูลกับพระชนกด้วย 4 คาถานี้ อย่างนี้แล้ว เสด็จไป
เฝ้าพระชนนี ถวายบังคมแล้ว เมื่อจะทรงขออนุญาตบรรพชา จึงตรัสว่า
ข้าแต่เสด็จแม่ ขอพระองค์ทรงอนุญาตแก่หม่อม
ฉัน หม่อมฉันขอบวช หม่อนฉันบริจาคทานในวัง
ของตนยังชื่อว่าเบียดเบียนตนและคนอื่น หม่อมฉัน
จะออกไปจากแคว้นของตนโดยประสงค์ตามคำของ
ชาวสีพี หม่อมฉันจะเสวยทุกข์นั้นในป่าที่เกลื่อนด้วย
พาลมฤค มีแรดและเสือเหลืองอยู่อาศัยแล้ว หม่อมฉัน
บำเพ็ญบุญทั้งหลาย จะไปเขาวงกต

พระนางผุสดีได้ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า
ลูกรัก แม่อนุญาตลูก บรรพชาจงสำเร็จแก่ลูก
ก็แต่แม่มัทรีกัลยาณีผู้มีตะโพกงามเอวบาง จงอยู่กับ
บุตรธิดา แม่จะทำอะไรในป่าได้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมิชฺฌตุ ความว่า จงมีความสำเร็จด้วย
ฌาน. บทว่า อจฺฉตํ ความว่า พระนางผุสดีตรัสว่า จงอยู่ คือจงมีในที่นี้
แหละ.
พระเวสสันดรตรัสว่า
หม่อมฉันไม่อาจจะพาแม่ทาสีไปสู่ป่าโดยที่เขา
ไม่ปรารถนา ถ้าเขาปรารถนาจะตามหม่อมฉันไป ก็
จงไป ถ้าไม่ปรารถนาก็จงอยู่.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อกามา ความว่า ข้าแต่เสด็จแม่ เสด็จ
แม่ตรัสอะไรอย่างนั้น แม้ทาสีหม่อมฉันก็ไม่อาจจะพาไป โดยที่เขาไม่ปรารถนา.

ลำดับนั้น พระเจ้ากรุงสญชัยได้ทรงสดับพระดำรัสแห่งพระราชโอรส
ก็ทรงคล้อยตามเพื่อทรงวิงวอนพระสุณิสา
พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
ต่อแต่นั้น พระเจ้ากรุงสญชัยมหาราชทรงคล้อย
ตามเพื่อทรงวิงวอนพระสุณิสาว่า แน่ะแม่ผู้มีสรีระอัน
ประพรมด้วยแก่นจันทน์ แม่อย่าได้ทรงธุลีละอองและ
ของเปรอะเปื้อนเลย แม่เคยทรงภูษาของชาวกาสีแล้ว
จะมาทรงผ้าคากรอง การอยู่ในป่าเป็นทุกข์ แน่ะแม่
มีลักษณะงาม แม่อย่าไปเลย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฏิปชฺชถ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้ง
หลาย พระเจ้ากรุงสญชัยได้ทรงสดับถ้อยดำรัสของพระราชโอรสแล้ว ได้ทรง
คล้อยตามเพื่อทรงวิงวอนพระสุณิสา. บทว่า มา จนฺทนสมาจเร ความว่า
แน่ะแม่ผู้มีสรีระที่ประพรมด้วยจันทน์แดง. บทว่า มา หิ ตฺวํ ลกฺขเณ
คมิ
ความว่า แน่ะแม่ผู้ประกอบด้วยลักษณะอันงาม แม่อย่าไปป่าเลย.
พระนางมัทรีราชบุตรผู้งามทั่วองค์ได้กราบทูล
พระสุสระว่า หม่อมฉันไม่ปรารถนาความสุข ที่ต้อง
พรากจากพระเวสสันดรของหม่อมฉัน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตมพฺรวิ ความว่า ได้กราบทูล คือได้
กราบเรียนพระสสุระนั้น.
พระเจ้าสญชัยมหาราชผู้ยังแคว้นแห่งชาวสีพีให้
เจริญ ได้ตรัสกะพระมัทรีว่า แน่ะแม่มัทรี แม่จง
พิจารณา สัตว์เหล่าใดมีอยู่ในป่าที่บุคคลทนได้ยากคือ

ตั๊กแตน บุ้ง เหลือบ ยุง แมลง ผึ้ง มีมาก สัตว์
แม้เหล่านั้นพึงเบียดเบียนแม่ในป่านั้น ความเบียด
เบียนนั้นเป็นความทุกข์ยิ่งจะพึงมีแก่แม่ แม่จงดูสัตว์
เหล่าอื่นอีกที่น่ากลัว อาศัยอยู่ที่แม่น้ำ คืองู ชื่อว่างู
เหลือมไม่มีพิษแต่มันมีกำลังมาก มันรัดคนหรือมฤค
ที่มาใกล้มันด้วยขนดให้อยู่ในอำนาจของมัน ยังสัตว์
เหล่าอื่น ดำดังผมที่เกล้าชื่อว่าหมี เป็นมฤคนำความ
ทุกข์มา คนที่มันเห็นแล้วขึ้นต้นไม่ก็ไม่พ้นมัน ฝูง
กระบือมักขวิดชนเอาด้วยเขามีปลายแหลม เที่ยวอยู่
ราวป่าริมฝั่งแม่น้ำชื่อโสตุมพระ แม่มัทรีเป็นเหมือนแม่
โคนมอยากได้ลูก เห็นโคไปตามฝูงมฤคในไพรสณฑ์
จักทำอย่างไร เมื่อแม่มัทรีไม่รู้จักเขตไพรสณฑ์ ภัย
ให้จักมีแก่แม่ เพราะเห็นฝูงลิง น่ากลัวพิลึก มันลง
มาในทางที่เดินยาก แม่มัทรีครั้งยังอยู่ในวัง แม่ไปถึง
เขาวงกตจักทำอย่างไร ฝูงสกุณชาติจับอยู่ในเวลากลาง
วัน ป่าใหญ่ก็จักเหมือนบันลือขึ้น แม่จะอยากไปใน
ราวไพรนั้นทำไม.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตมพฺรวิ ความว่า ได้ตรัสกะพระสุณิสา
นั้น. บทว่า อปเร ปสฺส สนฺตาเส ความว่า จงดู คือจงเห็นเหตุที่ให้
เกิดภัยที่น่าหวาดสะดุ้ง. บทว่า นทีนูปนิเสวิตา ความว่า อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำ
โดยสถานที่ใกล้. บทว่า อวิสา ได้แก่ ปราศจากพิษ. บทว่า อปิจาสนฺนํ
ความว่า ใกล้ คือมาสัมผัสสรีระของตน. บทว่า อฆมฺมิคา ได้แก่ มฤคที่

ทำความลำบาก อธิบายว่า มฤคที่นำความทุกข์มาให้. บทว่า นทึ โสตุมฺพรํ
ปติ
ได้แก่ ที่ริมฝั่งแม่น้ำชื่อโสตุมพระ. บทว่า ยูถานํ ได้แก่ ซึ่งฝูงปาฐะ
อย่างนี้แหละ. บทว่า เธนุว วจฺฉคิทฺธาว ความว่า เธอเป็นเหมือนแม่
โคนมอยากได้ลูก เมื่อไม่เห็นลูกๆ ของเธอ จักทำอย่างไร ก็ ว อักษรใน
บทว่า วจฺฉคิทฺธาว นี้เป็นเพียงนิบาตเท่านั้น. บทว่า สมฺปติเต ได้แก่
ลงมา บทว่า โฆเร ได้แก่ มีรูปแปลกน่าสะพึงกลัว บทว่า ปลฺวงฺคเม
ได้แก่ ฝูงลิง บทว่า อเขตฺตญฺญาย ได้แก่ ไม่ฉลาดในภูมิประเทศในป่า.
บทว่า ภวิตนฺเต ความว่า จักมีแก่เธอ. บทว่า ยา ตฺวํ สิวาย สุตฺวาน
ความว่า ได้ยินเสียงของสุนัขจิ้งจอก. บทว่า มหุํ ความว่า แม้เมื่ออยู่ใน
เมืองก็ตกใจบ่อยๆ. บทว่า สุณเตว ได้แก่ เหมือนบันลือ คือส่งเสียง.
พระนางมัทรีราชบุตรี ผู้งามทั่วองค์ได้กราบทูล
พระเจ้ากรุงสญชัยว่า หม่อมฉันทราบภยันตรายเหล่า
นั้น ว่าเป็นภัยเฉพาะหม่อมฉันในพรสณฑ์ แต่หม่อม
ฉันจะสู้ทนต่อภัยทั้งปวงนั้นไป คือจักบรรเทาแหวกต้น
เป้ง หญ้าคา หญ้าคมบาง แฝก หญ้ามุงกระต่าย และ
หญ้าปล้องไปด้วยอุระ จักนำเสด็จพระภัสดาไปมิให้
ยาก กุมารีได้สามีด้วยการประพฤติวัตรเป็นอันมาก
เช่นด้วยตรากตรำท้อง มิให้ใหญ่ด้วยวิธีกินอาหารแต่
น้อย รู้ว่าสตรีมีบั้นเอวกว้างสีข้างผายได้สามี จึงเอาไม้
สัณฐานเหมือนคางโคค่อย ๆ บุบทุบบั้นเอว เอาผ้ารีด
สีข้างทั้งสองให้ผึ่งผายออก หรือด้วยทนผิงไฟแม้ใน
ฤดูร้อน ขัดสีกายด้วยน้ำในฤดูหนาว ความเป็นหม้าย

อาการเตรียมตรมในโลก หม่อมฉันจักต้องไปอย่าง
แน่นอน.
อนึ่งบุรุษไม่สมควรอยู่ร่วมกับสตรีหม้ายที่เขาทิ้ง
แล้ว บุรุษไรเล่าจะจับมือถือแขนสตรีหม้ายที่เขาไม่
ต้องการคร่ามา เหล่าบุรุษจิกหย่อมผมของสตรีหม้าย
มาแล้วเอาเท้าเขี่ยให้ล้มลง ณ พื้น ให้ทุกข์เป็นอันมาก
ไม่ใช่น้อยแล้วไม่หลีกไป เหล่าบุรุษต้องการสตรีหม้าย
ผู้มีผิวขาว ถือตัวว่ารูปงามเลิศ ให้ทรัพย์เล็กน้อยฉุด
คร่าสตรีหม้ายผู้ไม่ปรารถนาไป ดุจฝูงกาตอมจิกคร่า
นกเค้าไปฉะนั้น.
อีกอย่างหนึ่ง สตรีหม้ายเมื่ออยู่ในสกุลญาติอัน
มั่งคั่ง รุ่งเรืองด้วยภาชนะทองคำ ไม่พึงได้ซึ่งคำกล่าว
ล่วงเกิน แต่หมู่พี่น้องและเหล่าสหายว่า หญิงผู้หาผัว
มิได้นี้ ต้องตกหนักแก่พวกเราตลอดชีวิต ฉะนี้ไม่มี
เลย. I
แม่น้ำไม่มีน้ำก็เปล่าดาย แว่นแคว้นไม่มีพระ-
ราชาปกครองก็สูญเปล่า สตรีแม้มีพี่น้องตั้ง 10 คน
ถ้าเป็นหม้ายก็สูญหาย ธงเป็นเครื่องปรากฏแห่งราชรถ
ควันเป็นเครื่องปรากฏแห่งไฟ พระราชาเป็นเครื่อง
ปรากฏแห่งแว่นแคว้น ภัสดาเป็นเครื่องปรากฏแห่ง
สตรี ความเป็นหม้ายเป็นอาการเตรียมตรมในโลก
หม่อมฉันจักต้องไปอย่างแน่นอน.

สตรีใดเข็ญใจก็ร่วมทุกข์กับสามีผู้เข็ญใจในคราว
ถึงทุกข์ สตรีใดมั่งมี มีเกียรติ ก็ร่วมสุขด้วยสามีผู้
มั่งมีในคราวถึงสุข เทวดาและมนุษย์ย่อมสรรเสริญ
สตรีนั้น เพราะสตรีนั้นทำกรรมที่ทำได้โดยยาก.
หม่อมฉันจะนุ่งห่มผ้ากาสายะตามเสด็จพระภัส-
ดาทุกเมื่อ ความเป็นหม้ายแห่งสตรีผู้มีแผ่นดินไม่แยก
ไม่เป็นที่ยินดี อีกประการหนึ่งหม่อมฉันไม่ปรารถนา
แผ่นดินที่ทรงไว้ซึ่งทรัพย์เป็นอันมาก มีสาครเป็นที่สุด
เต็มไปด้วยรัตนะต่าง ๆ แต่พรากจากพระเวสสันดรผู้
ภัสดา สตรีใดในเมื่อสามีทุกข์ร้อน ย่อมอยากได้
ความสุขเพื่อตน สตรีนั้นเด็ดจริง ใจของเขาจะเป็น
อย่างไรหนอ เมื่อพระเวสสันดรมหาราชเจ้าผู้ยังสีพีรัฐ
ให้เจริญเสด็จออกพระนคร หม่อมฉันจักโดยเสด็จ
พระองค์ เพราะพระองค์เป็นผู้พระราชทานความใคร่
ทั้งปวงของหม่อมฉัน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตมพฺรวิ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
พระนางมัทรีได้สดับพระดำรัสของพระเจ้ากรุงสญชัยแล้วได้ทูลตอบพระเจ้ากรุง
สญชัยนั้น. บทว่า อภิสมฺโภสฺสํ ได้แก่ จักสู้ทน คือจักอดกลั้น. บทว่า
โปตกิลํ ได้แก่ หญ้าคมบาง. บทว่า ปนูเหสฺสามิ ความว่า หม่อมฉัน
จักแหวกไปทางข้างหน้าพระเวสสันดร. บทว่า อุทรสฺสุปโรเธน ได้แก่
การงด คือกินอาหารแต่น้อย. บทว่า โคหนุเวฏฺฐเนน ความว่า เหล่า
กุมาริการู้ว่าสตรีที่มีบั้นเอวกว้างและสีข้างผายย่อมได้สามี จึงเอาไม้มีสัณฐาน

เหมือนคางโคค่อยๆ ทุบบั้นเอว เอาผ้ารัดสีข้างทั้งสองให้ผึ่งผายออก ย่อมได้
สามี. บทว่า กฏุกํ ได้แก่ ไม่น่ายินดี. บทว่า คจฺฉญฺเญว ได้แก่ จัก
ไปแน่นอน. บทว่า อปฺปตฺโต ความว่า ไม่สมควรจะบริโภคของที่เป็นเดน
ของหญิงหม้ายนั้นทีเดียว. บทว่า โย นํ ความว่า บุรุษใดมีชาติต่ำจับมือ
ทั้งสองฉุดคร่าหญิงหม้ายนั้นผู้ไม่ปรารถนาเลย. บทว่า เกสคฺคหณมุกฺเขปา
ภูมฺยา จ ปริสุมฺภนา
ความว่า เหล่าบุรุษจิกหย่อมผมหญิงไม่มีสามี เขี่ย
ให้ล้มลง ณ พื้น ดูหมิ่นล่วงเกินหญิงเหล่านั้น. บทว่า ทตฺวา จ ความว่า
บุรุษอื่นยังให้ความทุกข์เป็นอันมาก คือมิใช่น้อยเห็นปานนี้แก่หญิงไม่มีสามี
บทว่า โน ปกฺกมติ ความว่า เป็นผู้ปราศจากความรังเกียจยืนแลดูหญิงนั้น.
บทว่า สุกฺกจฺฉวี ได้แก่ มีผิวพรรณที่ถูด้วยจุรณสำหรับอาบ. บทว่า
เวธเวรา แปลว่า ผู้มีความต้องการหญิงหม้าย บทว่า ทตฺวา ได้แก่ ให้
ทรัพย์มีประมาณน้อยอะไร ๆ ก็ตาม. บทว่า สุภคฺคมานิโน ได้แก่ เข้าใจ
ตัวว่าพวกเรางามเลิศ. บทว่า อกามํ ได้แก่ หญิงหม้าย คือหญิงไม่มีสามี
ผู้ไม่ปรารถนานั้น. บทว่า อุลูกญฺเญว วายสา ความว่า เหมือนฝูงกาจิก
คร่านกเค้า. บทว่า กํสปฺปชฺโชตเน ได้แก่ รุ่งเรืองด้วยภาชนะทอง.
บทว่า วสํ ได้แก่ อยู่ในสกุลญาติแม้เห็นปานนั้น. บทว่า เนวาติวากฺยํ
น ลเภ ความว่า ไม่พึงได้ คือย่อมไม่ได้เลยทีเดียวซึ่งคำอันเป็นคำล่วงเกิน
คือเป็นคำติเตียนนี้จากพี่น้องก็ตาม จากสหายก็ตาม ผู้กล่าวคำเป็นต้นว่า หญิง
คนนี้ไม่มีสามี ตกหนักแก่พวกเราไปตลอดชีวิตทีเดียว. บทว่า ปญฺญาณํ
ได้แก่ กระทำภาวะให้ปรากฏ. บทว่า ยา ทลิทฺที ทลิทฺทสฺส ความว่า
ข้าแต่พระองค์ หญิงที่มีเกียรติ คือหญิงที่ในเวลาสามีผู้ยากจนของตนมีความ
ทุกข์ แม้ตนเองยากจนก็ร่วมทุกข์ด้วย ในเวลาที่สามีนั้นมั่งคั่งมีความสุข ตน

เองก็มั่งคั่งมีความสุขกับสามีนั้นเหมือนกัน. บทว่า ตํ เว เทวา ปสํสนฺติ
ความว่า แม้เทวดาทั้งหลายก็สรรเสริญหญิงนั้นคือเห็นปานนั้น. บทว่า อภิชฺ-
ชนฺตฺยา
ได้แก่ ไม่แตก อธิบายว่า ก็แม้ถ้าแผ่นดินทั้งสิ้นของหญิงไม่
แตก หญิงนั้นก็จะเป็นใหญ่ในแผ่นดินทั้งสิ้น ความเป็นหญิงหม้ายเป็นอาการ
เตรียมตรมแม้ถึงอย่างนั้นทีเดียว. บทว่า สุขรา วต อิตฺถิโย ได้แก่ เป็น
หญิงเด็ดแท้หนอ.
พระเจ้าสญชัยมหาราชได้ตรัสกะพระนางมัทรี
ผู้งามทั่วองค์นั้นว่า แน่ะแม่มัทรีผู้มีลักษณะงาม บุตร
ทั้งสองของแม่เหล่านี้คือพ่อชาลีและแม่กัญหาชินา ยัง
เด็กอยู่ แม่จงละไว้ไปแต่ตัว เราทั้งหลายจะเลี้ยง
ดูหลานทั้งสองนั้นเอง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชาลี กณฺหาชินา จุโภ ได้แก่ บุตร
ทั้งสองคือพ่อชาลีและแม่กัณหาชินา. บทว่า นิกฺขิป ความว่า แม่จงละ
หลานทั้งสองนี้ไว้ไปแต่ตัวเถิด.
พระนางมัทรีราชบุตรีผู้งามทั่วองค์ได้กราบทูล
พระเจ้ากรุงสญชัยว่า ข้าแต่พระองค์ พ่อชาลีและแม่
กัณหาชินาทั้งสองเป็นลูกรักของหม่อมฉัน ลูกทั้งสอง
นั้นจักยังหฤทัยของหม่อมฉันทั้งสองผู้มีชีวิตเศร้าโศก
ให้รื่นรมย์ในป่านั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตฺยมฺหํ ความว่า พวกเหล่านั้นจักยัง
หฤทัยของเราทั้งหลายให้รื่นรมย์ในป่านั้น. บทว่า ชีวิโสกินํ ความว่า จัก
ยังหฤทัยของพวกเราผู้ยังไม่หายเศร้าโศก ให้รื่นรมย์.

พระเจ้าสญชัยมหาราชผู้ยังสีพีรัฐให้เจริญได้ตรัส
พระนางมัทรีนั้นว่า เด็กทั้งสองเคยเสวยข้าวสาลีที่
ปรุงด้วยเนื้ออันสะอาด เมื่อต้องเสวยผลไม้ จักทำ
อย่างไร.
เด็กทั้งสองเคยเสวยในถาดทองหนักร้อยปละซึ่ง
เป็นของประจำราชสกุล เมื่อต้องเสวยในใบไม้ จัก
ทำอย่างไร.
เด็กทั้งสองเคยทรงภูษากาสีรัฐโขมรัฐและโกทุม
พรรัฐ เมื่อต้องทรงผ้าคากรอง จักทำอย่าไร.
เด็กทั้งสองเคยเสด็จไปด้วยคานหาม วอและรถ
เมื่อต้องเสด็จไปด้วยพระบาทจักทำอย่างไร.
เด็กทั้งสองเคยบรรทมในตำหนักยอดไม่มีลม ลง
ลิ่มชิดแล้ว เมื่อต้องบรรทมที่โคนไม้ จักทำอย่างไร.
เด็กทั้งสองเคยบรรทมบนพรมทำด้วยขนแกะ ที่
ลาดไว้อย่างวิจิตรบนบัลลังก์ เมื่อต้องบรรทมบนเครื่อง
ลาดหญ้า จักทำอย่างไร.
เด็กทั้งสองเคยไล้ทาด้วยของหอม ทั้งกฤษณา
และแก่นจันทน์ เมื่อต้องทรงธุลีละอองและโสโครก
จักทำอย่างไร เด็กทั้งสองเคยมีผู้อยู่งานพัดด้วยจามรี
และแพนหางนกยูง ดำรงอยู่ในความสุขต้องสัมผัส
เหลือบและยุง จักทำอย่างไร.

บรรดาเหล่านั้น บทว่า สตปเล กํเส ได้แก่ ในถาดทองที่ทำ
ด้วยทองหนักหนึ่งร้อยปละ. บทว่า โคนเกน จิตฺรสนฺถเต ได้แก่ ที่ปูลาด
ด้วยผ้าโกเชาว์ดำและเครื่องลาดอันวิจิตรบนตั่งใหญ่. บทว่า จามรโมรหตฺ-
เถหิ
ความว่า มีตนอยู่งานพัดด้วยจามรทั้งหลายและด้วยแพนหางนกยูง.
เมื่อกษัตริย์เหล่านั้นเจรจากันอยู่อย่างนี้แลราตรีก็สว่าง ดวงอาทิตย์ขึ้น
เจ้าพนักงานทั้งหลายนำรถที่นั่งอันตกแต่งแล้ว เทียมม้าสินธพ 4 ตัวมาเทียบ
ไว้แทบประตูวัง เพื่อพระมหาสัตว์ พระนางมัทรีเทวีถวายบังคมพระสัสสุและ
พระสสุระแล้ว อำลาสตรีที่เหลือทั้งหลาย พาพระชาลีพระกัณหาชินาเสด็จไป
ก่อนพระเวสสันดรประทับอยู่บนรถที่นั่ง.
พระศาสดาเมื่อจะประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระนางมัทรีราชบุตรีผู้งามทั่วองค์ ได้กราบทูล
พระเจ้ากรุงสญชัยว่า ข้าแต่เทพเจ้าขอพระองค์อย่าทรง
คร่ำครวญเลย และอย่าเสียพระหฤทัยเลย หม่อมฉัน
ทั้งสองยังมีชีวิตเพียงใด ทารกทั้งสองก็จักเป็นสุข
เพียงนั้น พระนางมัทรีผู้งามทั่วองค์ ครั้นกราบทูลคำ
นี้แล้วเสด็จหลีกไป พระนางผู้ทรงศุภลักษณ์ ทรงพา
พระโอรสพระธิดาเสด็จไปตามบรรดาที่พระเจ้าสีวีราช
เสด็จ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สิวิมคฺเคน ได้แก่ ตามมรรคาที่
พระเจ้าสีพีราชเสด็จนั่นแล. บทว่า อเนฺวสิ ได้แก่ เสด็จไปสู่ทางนั้น คือ
เสด็จลงจากปราสาทขึ้นประทับรถที่นั่ง.

ลำดับนั้นพระราชาเวสสันดรบรมกษัตริย์ทรง
บำเพ็ญทานแล้ว ถวายบังคมพระชนกและพระชนนี
และทรงทำประทักษิณเสด็จขึ้นสู่รถที่นั่งเทียมม้าสินธพ
4 ตัว วิ่งเร็ว ทรงพาพระโอรสพระธิดาและพระมเหสี
เสด็จไปสู่เขาวงกต.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตโต ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใน
กาลที่พระนางมัทรีนั้นเสด็จขึ้นรถทันทีนั่นประทับอยู่ บทว่า ทตฺวาน ได้แก่
ทรงบำเพ็ญทานวันวาน. บทว่า กตฺวา จ นํ ปทกฺขิณํ ได้แก่ และทรง
ทำประทักษิณ. บทว่า นํ เป็นเพียงนิบาต.
แต่นั้นพระราชาเวสสันดรเสด็จไปโดยตรงที่
มหาชนคอยเฝ้า ตรัสว่า เราทั้ง 4 ขอลาไปละนะ ขอ
ท่านทั้งหลายผู้เป็นญาติจงปราศจากโรคเถิด.

เนื้อความของคาถานั้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นพระราชา
เวสสันดรทรงขับรถที่นั่งไปในที่ที่มหาชนยืนอยู่ด้วยหวังว่าจักเห็นพระราชาเวส-
สันดร เมื่อทรงลามหาชน ตรัสว่า พวกเราขอลาไปละนะ ขอญาติทั้งหลาย
จงไม่มีโรคเถิด. บทว่า ตํ ในคาถานั้นเป็นเพียงนิบาต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
พระราชาเวสสันดรตรัสกะญาติทั้งหลาย ตรัสเรียกญาติทั้งหลายว่า ท่านทั้ง
หลาย คือว่า เราทั้งหลายไปละ ขอท่านทั้งหลายจงมีความสุขปราศจากความ
ทุกข์เถิด.
เมื่อพระมหาสัตว์ตรัสเรียกมหาชนมาประทานโอวาทแก่เขาเหล่านั้นว่า
ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทจงบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น ดังนี้อย่างนี้แล้ว
เสด็จไป พระนางผุสดีราชมารดาแห่งพระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า ลูกของเรามีจิต
น้อมไปในทาน จงบำเพ็ญทาน จึงให้ส่งเกวียนทั้งหลายเต็มด้วยรัตนะ 7

ประการ พร้อมด้วยอาภรณ์ทั้งหลายไปสองข้างทางเสด็จ ฝ่ายพระเวสสันดรก็
ทรงเปลื้องเครื่องประดับที่มีอยู่ในพระวรกาย พระราชทานแก่เหล่ายาจกผู้มาถึง
แล้ว 18 ครั้ง ได้พระราชทานสิ่งที่เหลืออยู่ทั้งหมด พระองค์เสด็จออกจาก
พระนครมีพระประสงค์จะกลับทอดพระเนตรราชธานี ครั้งนั้นอาศัยพระมนัส
ของพระองค์ ปฐพีในที่มีประมาณเท่ารถที่นั่งก็แยกออกหมุนเหมือนจักรของ
ช่างหม้อ ทำรถที่นั่งให้มีหน้าเฉพาะเชตุดรราชธานี พระองค์ได้ทอดพระเนตร
สถานที่ประทับของพระชนกพระชนนี เหตุอัศจรรย์ทั้งหลายมีแผ่นดินไหว
เป็นต้นได้มีแล้วด้วยการุญภาพนั้น.
ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวไว้ว่า
เมื่อพระเวสสันดรเสด็จออกจากพระนคร ทรง
กลับเหลียวมาทอดพระเนตร แม้ในกาลนั้นแผ่นดิน
อันมีขุนเขาสิเนรุและหมู่ไม้เป็นเครื่องประดับก็กัมป-
นาทหวาดหวั่นไหว.

ก็เมื่อพระมหาสัตว์ทอดพระเนตรเองแล้ว ตรัสพระคาถาเพื่อให้พระ-
นางมัทรีทอดพระเนตรด้วยว่า
แน่ะพระน้องมัทรี เชิญเธอทอดพระเนตร นั่น
พระราชนิเวศน์ของพระเจ้าสีพีราชผู้ประเสริฐ นั่นวัง
ของฉันซึ่งพระราชธิดาประทาน ย่อมปรากฏเป็นภาพ
ที่น่ารื่นรมย์ทีเดียว.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิสาเมหิ ได้แก่ จงทอดพระเนตร.
ครั้งนั้น พระเวสสันดรมหาสัตว์ยังอำมาตย์ 6 หมื่น ผู้สหชาติและ
เหล่าชนอื่น ๆ ให้กลับแล้ว ขับรถที่นั่งไปตรัสกะพระนางมัทรีว่า แน่ะพระน้อง

ผู้เจริญ ถ้ายาจกมาข้างหลัง แม่พึงคอยดูไว้ พระนางก็นั่งทอดพระเนตรดูอยู่.
ครั้งนั้นมีพราหมณ์ 4 คนมาไม่ทันรับสัตตสดกมหาทานของพระเวสสันดร จึง
ไปสู่พระนคร ถามว่า พระเวสสันดรราชเสด็จไปไหน ครั้นได้ทราบว่า ทรง
บริจาคทานเสด็จไปแล้ว จึงถามว่า พระองค์เสด็จไปเอาอะไรไปบ้าง ได้ทราบว่า
เสด็จทรงรถไป จึงติดตามไปด้วยคิดว่า พวกเราจักทูลขอม้า 4 ตัวกะพระองค์
ครั้งนั้น พระนางมัทรีทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์ทั้ง 4 ตามมา จึงกราบทูล
พระภัสดาว่า ข้าแต่สมมติเทพ ยาจกทั้งหลายกำลังมา พระมหาสัตว์ก็ทรง
หยุดรถพระที่นั่ง พราหมณ์ทั้ง 4 คนเหล่านั้นมาทูลขอม้าทั้งหลายที่เทียนรถ
พระมหาสัตว์ได้พระราชทานม้าทั้ง 4 ตัวแก่พราหมณ์ 4 คนเหล่านั้น.
พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
พราหมณ์ทั้งหลายได้ตามพระเวสสันดรมา ได้
ทูลขอม้าทั้ง 4 นั้นต่อพระองค์ พระองค์อันเหล่า
พราหมณ์ขอแล้ว ก็พระราชทานม้า 4 ตัว แก่พราหมณ์
4 คน.
ก็เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานม้า 4 ตัวไปแล้ว งอนรถพระที่นั่งได้ตั้ง
อยู่ในอากาศนั่นเอง ครั้งนั้น พอพวกพราหมณ์ไปแล้วเท่านั้น เทวบุตร 4
องค์ จำแลงกายเป็นละมั่งทองมารองรับงอนรถที่นั่งลากไป พระมหาสัตว์ทรง
ทราบว่าละมั่งทั้ง 4 นั้น เป็นเทพบุตร จึงตรัสคาถานี้ว่า
แน่ะพระน้องมัทรี เชิญเธอทอดพระเนตรมฤค
ทั้ง 4 มีเพศเป็นละมั่ง เป็นเหมือนม้าที่ฝึกมาดีแล้วนำ
เราไป ย่อมปรากฏเป็นภาพที่งดงามทีเดียว.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทกฺขิณสฺสา วหนฺติ มํ ความว่า
เป็นราวกะม้าที่ศึกษาดีแล้วนำเราไป.

ครั้งนั้น ยังมีพราหมณ์อีกคนหนึ่งมาทูลขอรถที่นั่งต่อพระเวสสันดร
ผู้กำลังเสด็จไปอยู่อย่างนี้ พระมหาสัตว์จึงยังพระโอรสลพระธิดาและพระราชเทวี
ให้เสด็จลงแล้ว พระราชทานรถแก่พราหมณ์ ก็ครั้นเมื่อพระมหาสัตว์พระราช
ทานรถที่นั่งแล้ว เทวบุตรทั้งหลายได้อันตรธานหายไป.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความที่พระโพธิสัตว์ทรงบริจาครถไป
แล้ว จึงตรัสว่า
ครั้งนั้น พราหมณ์นั้นนับเป็นที่ 5 ที่มาทูลขอ
รถที่นั่งต่อพระโพธิสัตว์ในป่านี้ พระองค์ก็ประทาน
มอบรถนั้นแก่พราหมณ์นั้น และพระหฤทัยของพระ-
องค์มิได้ย่อหย่อนเลย ต่อนั้น พระราชาเวสสันดรก็
ยังคนของพระองค์ให้เสด็จลงจากรถ ทรงยินดีมอบรถ
ม้าให้แก้พราหมณ์ผู้แสวงหาทรัพย์.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อเถตฺถ ได้แก่ ครั้งนั้น ในป่านี้.
บทว่า น จสฺส ปหโค มโน ความว่า และพระหฤทัยของพระเวสสันดร
นั้นก็มิได้ย่อหย่อนเลย. บทว่า อสฺสาสยิ ความว่า ทรงยินดีมอบให้.
จำเดิมแต่นั้น กษัตริย์เหล่านั้นทั้งหมดก็เสด็จดำเนินด้วยพระบาท.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ได้มีพระดำรัสแก่พระนางมัทรีว่า
แน่ะแม่มัทรี แม่จงอุ้มกัณหาชินา เพราะเธอเป็น
น้อง เบา พี่จักอุ้มพ่อชาลี เพราะเธอเป็นพี่ หนัก.

ก็แลครั้นตรัสฉะนี้แล้ว กษัตริย์ทั้งสองก็อุ้มพระโอรสพระธิดาเสด็จไป

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระราชาเวสสันดรทรงอุ้มพระกุมารชาลี พระ-
มัทรีราชบุตรีทรงอุ้มพระกุมารกัณหาชินา ต่างทรง
บรรเทิงตรัสปิยวาจากะกันและกันเสด็จไป.

จบทานกัณฑ์

วนปเวสนกัณฑ์


กษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์ มีพระเวสสันดรเป็นต้นทอดพระเนตรเห็นคน
ทั้งหลายที่เดินสวนทางมา จึงตรัสถามว่า เขาวงกตอยู่ที่ไหน คนทั้งหลายทูล
ตอบว่ายังไกล
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
ถ้ามนุษย์บางพวกเดินมาตามทาง หรือเดินสวน
ทางมา เราจะถามมรรคากะพวกนั้นว่า เขาวงกตอยู่ที่
ไหน คนพวกนั้น เห็นเราทั้งหลายในป่านั้น จะพากัน
คร่ำครวญน่าสงสาร พวกเขาแจ้งให้ทราบอย่างเป็น
ทุกข์ว่า เขาวงกตยังอยู่อีกไกล.

พระชาลีและพระกัณหาชินาได้ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ทรงผลต่าง ๆ
สองข้างทางก็ทรงกันแสง ด้วยบุญญานุภาพแห่งพระมหาสัตว์ ต้นไม้ที่ทรงผลก็
น้อมลงมาสัมผัสพระหัตถ์ แต่นั้นพระเวสสันดรก็ทรงเลือกเก็บผลาผลที่สุกดี
ประทานแก่สองกุมารกุมารีนั้น พระนางมัทรีทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ทรง
ทราบว่าเป็นเหตุอัศจรรย์.