เมนู

อรรถกถาปัณฑรกชาดก



พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภ
การที่พระเทวทัตทำมุสาวาทแล้วถูกแผ่นดินสูบ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำ
เริ่มต้นว่า วิกิณฺณวาจํ ดังนี้.
ความย่อว่า เมื่อพวกภิกษุพากันกล่าวโทษพระเทวทัต ในคราวนั้น
พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้
ในชาติก่อน พระเทวทัตก็กระทำมุสาวาท ถูกแผ่นดินสูบแล้วเหมือนกันดังนี้
แล้วทรงนำอดีตนิทานมาตรัส ดังต่อไปนี้
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต เสวยราชสมบัติในพระนครพา
ราณสี
พ่อค้า 500 คน แล่นสำเภาไปยังมหาสมุทร ในวันคำรบเจ็ด สำเภาอัน
อยู่ในที่ซึ่งแลไม่เห็นฝั่ง ได้แตกลงในหลังมหาสมุทร ผู้คนได้เป็นเหยื่อแห่งปลา
และเต่าหมด มีเหลือเพียงคนเดียว ก็บุรุษที่เหลือคนเดียวนั้น ด้วยกำลังลมพัด
ลอยไปถึงท่าชื่อกทัมพิยะ เขาขึ้นจากทะเลได้แล้ว เปลือยกายล่อนจ้อน เที่ยว
ขอทานตามท่านั้น. มนุษย์ทั้งหลายเห็นเขาเข้า ก็พากันสรรเสริญว่า ท่านผู้นี้
เป็นสมณะ มักน้อยสันโดษ แล้วทำสักการะบูชา. เขาคิดว่า เราได้ช่องทาง
หาเลี้ยงชีพแล้ว แม้เมื่อชนเหล่านั้นให้เครื่องนุ่งห่ม ก็มิได้ปรารถนา ชน-
เหล่านั้นเข้าใจว่า สมณะผู้มักน้อยยิ่งกว่าท่านผู้นี้ไม่มี ดังนี้แล้วพากันเลื่อมใส
ยิ่งขึ้น ช่วยกันสร้างอาศรมบทให้ชีเปลือยนั้นพำนักอยู่ที่นั้น. เขามีชื่อปรากฏว่า
กทัมพิยอเจลก เมื่อเขาอยู่ ณ ที่นั้น ลาภสักการะเกิดขึ้นมากมาย.
พญานาคราชตนหนึ่ง กับพญาครุฑตนหนึ่ง พากันมายังที่บำรุงของ
ชีเปลือยนั้น ในพญาสัตว์ทั้งสองนั้น พญานาคชื่อว่า ปัณฑรกนาคราช. อยู่มา

วันหนึ่ง พญาครุฑไปยังสำนักชีเปลือยนั้น ไหว้แล้วจับอยู่ ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง
กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านขอรับ ญาติของกระผม เมื่อจับพวกนาคย่อมพินาศไป
เสียมากมาย เพราะพวกกระผมไม่รู้วิธีที่จะจับนาค ได้ยินว่า เหตุที่ซ่อนเร้น
ของพวกนาคเหล่านั้นมีอยู่ ท่านจะสามารถหรือหนอ เพื่อประเล้าประโลม
ถามเหตุนั้นกะพวกนาค. ชีเปลือยรับคำแล้ว ครั้นพญาครุฑไหว้แล้วลากลับไป
ในเวลาที่พญานาคมาหา จึงถามพญานาคผู้ไหว้แล้วนั่งพักอยู่ว่า พญานาคเอ๋ย
เขาว่า เมื่อพวกครุฑจับพวกท่าน ต้องพินาศไปมากมาย ทำไมเมื่อมันจะจับ
พวกท่าน จึงไม่สามารถจะจับได้ ? พญานาคตอบว่า ท่านขอรับ ข้อนี้เป็น
เหตุซ่อนเร้นลึกลับของพวกกระผม เมื่อกระผมบอกเหตุนี้แล้ว ย่อมได้ชื่อว่า
นำความตายมาให้แก่หมู่ญาติ. ชีเปลือยจึงพูดว่า อาวุโส ก็ท่านเข้าใจว่า คน
อย่างเรานี้ จักบอกแก่คนอื่นอย่างนี้หรือ เราจักไม่บอกแก่คนอื่นเลย ก็เราถาม
เนื่องด้วยตนอยากจะรู้ ท่านเชื่อเราแล้วต้องปลอดภัย จงบอกเถิด. พญานาค
ตอบว่า ท่านขอรับ กระผมบอกไม่ได้ ไหว้แล้วก็ลาหลีกไป. แม้ในวันรุ่งขึ้น
ชีเปลือยก็ถามอีก. แม้ถึงอย่างนั้น พญานาคก็ไม่ยอมบอกดุจเดิม ครั้นต่อมา
ในวันที่ 3 ชีเปลือยจึงถามพญานาคผู้มานั่งอยู่ว่า วันนี้เป็นวันที่ 3 เมื่อเราถาม
ทำไมท่านจึงไม่บอก ? พญานาคตอบว่า ท่านขอรับ เพราะกระผมกลัวว่า
ท่านจักบอกแก่คนอื่น. ชีเปลือยย้ำว่า เราจักไม่บอกใคร ท่านปลอดภัยแน่
จงบอกเถิด. พญานาคจึงกล่าวว่า ท่านขอรับ ถ้าเช่นนั้น ท่านโปรดอย่าบอก
คนอื่นเลย รับปฏิญญาแล้ว จึงบอกว่า ท่านขอรับ พวกกระผมกลืนกิน
ก้อนหินใหญ่เข้าไว้ ทำตัวให้หนักนอนอยู่ ในเวลาพวกครุฑมา ก็ยื่นหน้าออก
แยกเขี้ยวคอยจะขบครุฑ พวกครุฑมาถึงก็จับศีรษะของพวกกระผมไว้ เมื่อมัน
พยายามจะฉุดพวกกระผม ซึ่งเป็นเหมือนภาระหนักอึ้งนอนอยู่ขึ้น น้ำก็ท่วม
ทับมัน พวกมันก็ตายภายในน้ำนั้นเอง ด้วยเหตุนี้ พวกครุฑจึงพินาศไปเป็น

จำนวนมาก เมื่อพวกมันจะจับพวกกระผม ทำไมจะต้องจับที่ศีรษะ พวกครุฑ
โง่ ๆ จะต้องจับที่ขนดหาง ทำให้พวกกระผมมีศีรษะห้อยลงเบื้องต่ำ ให้สำรอก
อาหารที่กลืนไว้ออกทางปาก ทำตัวให้เบาแล้วอาจจะจับไปได้ พญานาค
บอกเหตุเร้นลับของตนแก่ชีเปลือยผู้ทุศีล ด้วยประการฉะนี้.
ครั้นเมื่อพญานาค ลากลับไปแล้ว ต่อมาพญาครุฑมาไหว้กทัมพิย-
อเจลกแล้วถามว่า ท่านขอรับ ท่านถามเหตุซ่อนเร้นของพญานาคแล้วหรือ ?
ชีเปลือยตอบว่า เอออาวุโส แล้วบอกความตามที่พญานาคบอกแก่ตนนั้น
ทุกประการ. พญาครุฑได้ฟังเช่นนั้นจึงคิดว่า พญานาคทำกรรมที่ไม่สมควร
เสียแล้ว ธรรมดาลู่ทางที่จะให้มวลญาติฉิบหาย ไม่ควรบอกแก่คนอื่นเลย
ถึงทีเราแล้ว วันนี้ควรที่เราจะต้องทำลมกำลังสุบรรณ จับปัณฑรกนาคราชนี้
ก่อนทีเดียว. พญาครุฑนั้นก็กระทำลมกำลังสุบรรณ จับปัณฑรกนาคราชทาง
ขนดหางทำให้มีศีรษะห้อยลง ทำให้สำรอกอาหารที่กลืนเข้าไป แล้วโผขึ้นบินไป
ในอากาศ. ปัณฑรกนาคราช เมื่อต้องห้อยศีรษะลงในอากาศ ก็ปริเทวนาการว่า
เรานำทุกข์มาให้แก่ตัวเองแท้ ๆ กล่าวคาถา ความว่า
ภัยเกิดจากตนเอง ย่อมตามถึงบุคคลผู้ไร้ปัญญา
พูดพล่อย ๆ ไม่ปิดบังความรู้ ขาดความระมัดระวัง
ขาดความพินิจพิจารณา เหมือนครุฑตามถึงเราผู้ปัณ-
ฑรกนาคราช ฉะนั้น.
นรชนใดยินดีบอกมนต์ลึกลับที่ตนควรจะรักษา
แก่คนชั่ว เพราะความหลง ภัยย่อมตามถึงนรชนนั้นผู้มี
มนต์อันแพร่งพรายแล้วโดยพลัน เหมือนครุฑตามถึง
เราผู้ปัณฑรกนาคราช ฉะนั้น.

มิตรเทียมไม่ควรจะให้รู้เหตุสำคัญอันลึกลับ ถึง
มิตรแท้แต่เป็นคนโง่ หรือมีปัญญาแต่ประพฤติสิ่งที่
ไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่ควรจะให้รู้ความลับเหมือนกัน.
เราได้ถึงความคุ้นเคยกับชีเปลือย ด้วยเข้าใจว่า
สมณะนี้โลกเขานับถือ มีตนอบรมดีแล้ว ได้บอก
เปิดเผยความลับแก่มัน จึงได้ล่วงเลยประโยชน์ร้องไห้
อยู่ดุจคนกำพร้า ฉะนั้น.
ดูก่อนพญาครุฑที่ประเสริฐ เมื่อก่อนเรามีวาจา
ปกปิด ไม่บอกความลับแก่มัน แต่ก็ไม่อาจระมัดระวัง
ได้ แท้จริง ภัยได้มาถึงเราจากทางชีเปลือยนั้น เราจึง
ได้ล่วงเลยประโยชน์ร้องไห้อยู่ดุจคนกำพร้า ฉะนั้น.
นรชนใดสำคัญว่า ผู้นี้มีใจดี บอกความลับกะ
คนสกุลทราม นรชนนั้นเป็นคนโง่เขลา ทรุดโทรมลง
โดยไม่ต้องสงสัย เพราะโทสาคติ ภยาคติ หรือเพราะ
ฉันทาคติ.
ผู้ใดปากบอนนับเข้าในพวกอสัตบุรุษ ชอบกล่าว
ถ้อยคำในที่ประชุมชน นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกผู้นั้น
ว่า ผู้มีปากชั่วร้าย คล้ายอสรพิษ ควรระมัดระวังคน
เช่นนั้นเสียให้ห่างไกล.
เราได้ละทิ้ง ข้าว น้ำ ผ้าแคว้นกาสี และจุรณ-
จันทน์ สตรีที่เจริญใจดอกไม้และเครื่องชโลมทาซึ่ง
เป็นส่วนกามารมณ์ทั้งปวงไปหมดแล้ว ดูก่อนพญาครุฑ
เราขอถึงท่านเป็นสรณะด้วยชีวิต.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิกิณฺณวาจํ ได้แก่ ผู้มีวาจาแผ่ไปแล้ว.
บทว่า อนิคุยฺหมนฺตํ ได้แก่ ผู้มีความรู้ไม่ปกปิด. บทว่า อสญฺญตํ ได้แก่
ผู้ไม่สามารถเพื่อจะรักษากายทวารเป็นต้นได้. บทว่า อปริจกฺขิตารํ ความว่า
ผู้ไม่สามารถที่จะตรวจตราใคร่ครวญดูว่า ผู้นี้จักสามารถ หรือจักไม่สามารถ
ที่จะรักษามนต์ที่เราบอกแล้ว. บทว่า ภยํ ตมนฺเวติ ความว่า ผู้ประกอบด้วย
องค์ 4 เหล่านี้. บทว่า อโพธํ ความว่า ภัยอันตนเองนั่นแหละกระทำ
ย่อมตามถึงบุคคลผู้ไร้ปัญญา เหมือนพญาครุฑตามถึงเรา ผู้ชื่อปัณฑรกนาคราช
ฉะนั้น. บทว่า สํสติ หาสมาโน ความว่า ผู้ใดยินดีบอกมนต์ลึกลับที่ตน
ควรจะรักษา แก่คนชั่วผู้ไม่สามารถจะรักษาได้. บทว่า นานุมิตฺโต ความว่า
พญาปัณฑรกนาคราช ปริเทวนาการว่า ผู้ใดเป็นมิตรเพียงแต่คอยคล้อยตาม
มิใช่เป็นมิตรด้วยหทัย ผู้นั้นไม่ควรบอกเนื้อความอันเร้นลับ.
บทว่า อสมฺพุทฺธํ ความว่า เป็นคนโง่ คือไม่รู้ อธิบายว่า ไม่มี
ปัญญา. บทว่า สมฺพุทฺธํ ความว่า เป็นคนฉลาด คือรู้ อธิบายว่า มีปัญญา.
มีคำอธิบายดังนี้ แม้ผู้ใดเป็นมิตรมีใจดี แม้ไม่มีปัญญาก็ตาม และผู้ใดแม้จะ
มีปัญญา แต่มีความประพฤติสิ่งไม่เป็นประโยชน์ คือมีความประพฤติที่โน้ม
เอียงไปในอนัตถะ แม้ผู้นั้นย่อมไม่ควรจะให้รู้ความลับ. บทว่า สมโณ อยํ
ความว่า พญานาคนั้นปริเทวนาการอยู่ว่า เราสำคัญว่า ผู้นี้เป็นสมณะด้วย
โลกเขายกย่องนับถือด้วย มีตนอันอบรมแล้วด้วย จึงถึงความคุ้นเคยในมัน.
บทว่า อกฺขึ แปลว่า บอกแล้ว. บทว่า อตีตมตฺโถ ความว่า บัดนี้เรา
ขาดประโยชน์แล้ว คือ เป็นผู้ล่วงเลยประโยชน์แล้ว ต้องร้องไห้ดุจคนกำพร้า.
บทว่า ตสฺส ความว่า แก่อเจลกนั้น.
พญานาคราชเรียกพญาครุฑว่า พรหม พญาครุฑที่ประเสริฐ.

บทว่า สํยเมตุํ ความว่า เราไม่สามารถจะรักษาวาจาอันเร้นลับ คือ
เหตุอันลึกลับนี้ได้. บทว่า ตปฺปกฺขโต หิ ความว่า พญานาคปริเทวนาการ
ว่า บัดนี้ภัยมาถึงเราแล้ว จากทางฝ่ายคือจากสำนักของชีเปลือยนั้น เราขาด
ประโยชน์แล้ว ต้องร้องไห้ดุจคนกำพร้าอยู่อย่างนี้. บทว่า สุหทํ ความว่า
คนใดสำคัญว่า ผู้นี้มีใจประสงค์ดีต่อเรา. บทว่า ทุกฺกุลีเน ได้แก่ผู้เกิดในสกุลชั่ว
คือสกุลต่ำ. บทว่า โทสา ความว่า ผู้ใดบอกความลับ เห็นปานนี้ ด้วยเหตุ
มีโทสาคติเป็นต้นเหล่านี้ ผู้นั้นเป็นคนโง่ ตกต่ำ หมุนไปถึงความเลวทราม
ชื่อว่าเสื่อมแล้วแน่นอน โดยไม่ต้องสงสัย. บทว่า ติโรกฺขวาโจ ผู้ใดชื่อว่า
มีวาจาไม่ปกปิด เพราะทำถ้อยคำที่ตนประสงค์จะพูดไว้ในภายนอก. บทว่า
อสตํ ปวิฏฺโฐ ความว่า นับเข้าในจำนวนอสัตบุรุษ คือนับเนื่องในพวก
อสัตบุรุษ.
บทว่า สงฺคตีสุ มุทิเร ความว่า ผู้ใดมีลักษณะอย่างนี้ คือ ได้ยิน
ความลับของคนอื่นแล้ว แพร่งพรายในท่ามกลางประชุมชนว่า สิ่งโน้นคนโน้นทำ
คำนี้คนโน้นพูด ดังนี้ นักปราชญ์เรียกคนเช่นนั้นว่า มีปากชั่ว มีปากเหม็น
คล้ายอสรพิษ ควรระมัดระวังคนเช่นนั้นแต่ไกล ๆ คือควรงด ควรเว้น
คนนั้นเสียแต่ไกล ๆ ทีเดียว. บทว่า มาลุจฺฉาทนญฺจ ความว่า เราทอดทิ้ง
ทิพยมาลา จตุคันธชาติและเครื่องชโลมทา. บทว่า โอหาย ความว่า
วันนี้เราละ คือ ทอดทิ้งกามารมณ์ทั้งหมด มีข้าวทิพย์เป็นต้นเหล่านี้ไปแล้ว.
บทว่า สุปณฺณ ปาณูปคตาว ตยมฺหา ความว่า ท่านพญาครุฑที่เจริญ
เราเข้าถึงท่านด้วยชีวิต. โปรดเป็นที่พึ่งแก่พวกเราเถิด.
ปัณฑรกนาคราช มีศีรษะห้อยลงในอากาศ ปริเทวนาการด้วยคาถา
ทั้ง 8 อยู่อย่างนี้. พญาครุฑได้ยินเสียงปริเทวนาการ ของพญานาคราชนั้น

จึงติเตียนพญานาคราชนั้นว่า ท่านนาคราช ท่านบอกความลับของตนแก่
ชีเปลือยแล้ว ทำไมบัดนี้จึงปริเทวนาการอยู่เล่า แล้วกล่าวคาถา ความว่า
ดูก่อนปัณฑรกนาคราช บรรดาสัตว์ทั้ง 3 จำพวก
คือ สมณะ ครุฑ และนาค ใครหนอควรจะได้รับ
คำติเตียนในโลกนี้ ที่จริง ตัวท่านนั่นแหละควรจะได้รับ
ท่านถูกครุฑจับเพราะเหตุไร.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกนีธ ความว่า ในพวกเราทั้ง 3
มีอยู่ ณ ที่นี้ ใครเล่า. บทว่า อิธ ในบทว่า อสฺมีธ นี้ เป็นเพียงนิบาต
ความก็ว่าในโลกนี้. บทว่า ปาณภู ได้แก่ สัตว์มีชีวิต. บทว่า อถวา ตเวว
ความว่า หรือท่านผู้เดียว.
ในคาถานี้มีอธิบายดังนี้ ในพวกเราทั้ง 3 อย่าติเตียนชีเปลือยก่อน
เพื่อชีเปลือยนั้นถามความลับด้วยอุบาย ท่านอย่าติเตียนแม้สุบรรณ เพราะ
เราก็เป็นข้าศึกของท่านโดยตรง.
บทว่า ปณฺฑรก คหิโต ความว่า สหายปัณฑรกนาคราชเอ๋ย
ท่านลองคิดดูเถิดว่า เราถูกครุฑจับเพราะอะไร แล้วก็ติเตียนตนแต่เพียงผู้เดียว
เพราะเมื่อท่านบอกความลับ นับว่าตนเอง ทำความฉิบหายแก่ตนเอง.
ปัณฑรกนาคราช ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถา ความว่า
ชีเปลือยนั้น เป็นผู้มีอัตภาพอันเรายกย่องว่า
เป็นสมณะ เป็นที่รักของเรา ทั้งเป็นผู้อันเรายกย่อง
ด้วยใจจริง เราจึงบอกเปิดเผยความลับแก่มัน เราเป็น
คนขาดประโยชน์แล้ว ต้องร้องไห้อยู่ ดุจคนกำพร้า
ฉะนั้น.

ลำดับนั้น พญาครุฑได้กล่าวคาถา 4 คาถา ความว่า
แท้จริง สัตว์ที่จะไม่ตายไม่มีเลยในแผ่นดิน
ธรรมชาติเช่นกับปัญญาไม่ควรติเตียน คนในโลกนี้
ย่อมบรรลุคุณวิเศษที่ยังไม่ได้ เพราะสัจจธรรม ปัญญา
และทมะ.
มารดาบิดา เป็นยอดเยี่ยมแห่งเผ่าพันธุ์ คนที่
สามชื่อว่ามีความอนุเคราะห์แก่บุตรนั้น ไม่มีเลย เมื่อ
รังเกียจว่ามนต์จะแตก ก็ไม่ควรบอกความลับสำคัญ
แม้แก่มารดาบิดานั้น.
เมื่อบุคคลรังเกียจว่ามนต์จะแตก ก็ไม่ควรแพร่ง
พรายความลับที่สำคัญ แม้แก่บิดามารดา พี่สาว น้อง
สาว พี่ชาย น้องชาย หรือแก่สหาย แก่ญาติฝ่ายเดียว
กับตน.
ถ้าภรรยาสาวพูดไพเราะ ถึงพร้อมด้วยบุตรธิดา
รูปและยศ ห้อมล้อมด้วยหมู่ญาติ จะพึงกล่าวอ้อน
วอนสามี ให้บอกความลับ เมื่อรังเกียจว่ามนต์จะแตก
ไม่ควรแพร่งพรายความลับสำคัญ แม้แก่ภรรยานั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมโร ความว่า ขึ้นชื่อว่าสัตว์ที่จะไม่
ตาย ไม่มีเลย. อักษรในบทว่า ปญฺญาวิธา นตฺถิ ทำการเชื่อมบท
อธิบายว่า ชนิดของปัญญามีอยู่. ท่านกล่าวอธิบายไว้ดังนี้ ดูก่อนนาคราช
แม้สัตว์ผู้จะไม่ตาย ไม่มีในโลกเลย ชนิดแห่งปัญญามีอยู่แท้ ชนิดแห่งปัญญา
กล่าวคือ ส่วนแห่งปัญญา ของผู้อื่นนั้น ไม่ควรนินทา เพราะเหตุชีวิตของตน.

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปญฺญาวิธา ความว่า ธรรมชาติอื่นที่ ชื่อว่า
ไม่ควรนินทา เช่นกับปัญญาไม่มี เหตุไรท่านจึงนินทาชนิดแห่งปัญญานั้น.
ปาฐะว่า เยสํ ปน ปญฺญาวิธํปิ น นินฺทิตพฺพํ ดังนี้ก็มี ความก็ว่า
อนึ่ง แม้ชนิดแห่งปัญญาของคนเหล่าใด ไม่ควรนินทาชนิดแห่งปัญญา ของ
คนเหล่านั้นโดยตรงทีเดียว.
ในบททั้งหลาย มีอาทิว่า สจฺเจน นี้ มีอธิบายว่า คนในโลกนี้ย่อม
ประมวลมา คือนำมา ซึ่งคุณวิเศษ กล่าวคือสมาบัติ 8 มรรคผลและนิพพาน
ที่ตนยังไม่ได้ คือได้ด้วยยาก ได้แก่ยังคุณวิเศษนั้นให้สำเร็จ ด้วยวจีสัจจะ 1
สุจริตธรรม 1 ธิติกล่าวคือปัญญา 1 อินทริยทมะ การทรมานอินทรีย์ 1
เพราะฉะนั้น ท่านไม่ควรติเตียนชีเปลือย จงติเตียนตัวเองผู้เดียวเถิด เพราะ
ชีเปลือยเป็นคนมีปัญญา เป็นคนฉลาดในอุบาย จึงหลอกถามความลับ คือ
มนต์อันลึกลับ ท่านได้.
บทว่า ปรมา ความว่า มารดาบิดาทั้งสองนี้ ชื่อว่า เป็นพงศ์พันธุ์
อันสูงสุดของเผ่าพันธุ์. บทว่า นาสฺส ตติโย ความว่า คนที่สามอื่นจาก
มารดาบิดา จะชื่อว่าเอื้อเอ็นดู ย่อมไม่มีสำหรับบุคคลนั้น อธิบายว่า คน
ฉลาดเมื่อรังเกียจว่า มนต์จะแตก ไม่ควรบอกความลับอันสำคัญ แม้แก่มารดา
บิดาทั้งสอง ตัวท่านเองกลับบอกความลับที่ตนมิได้บอกแก่มารดาบิดา แก่ชี
เปลือย. บทว่า สหายา วา ได้แก่ มิตรผู้มีใจดี. บทว่า สปกฺขา ได้แก่
ญาติข้างฝ่ายมารดาบิดา ลุง อา น้าหญิงเป็นต้น. ด้วยบทว่า เตสํปิ
นี้ พญาครุฑ แสดงความว่า คนฉลาดไม่ควรบอกความลับ แก่ญาติและมิตร
แม้เหล่านี้ ท่านสิกลับบอกแก่ชีเปลือย ท่านจงโกรธตนของตนเองเถิด. บทว่า
ภริยา เจ ความว่า ภรรยาสาวเจรจาน่ารัก ถึงพร้อมด้วยบุตรธิดา ถึงพร้อม

ด้วยรูปสมบัติ และยศศักดิ์ เห็นปานนี้ หากพูดว่า ท่านจงบอกความลับของ
ท่านแก่เรา ดังนี้ คนฉลาดก็ไม่ควรบอกแม้แก่ภรรยานั้น.
พญาครุฑ กล่าวคำเป็นคาถาต่อไปอีก ความว่า
บุคคลไม่ควรเปิดเผยความลับเลย ควรรักษา
ความลับนั้นไว้ เหมือนรักษาขุมทรัพย์ ความลับอัน
บุคคลอื่นรู้เข้าทำให้แพร่งพราย ไม่ดีเลย.
คนฉลาดไม่ควรขยายความลับแก่สตรี ศัตรู คน
มุ่งอามิส และแก่คนผู้หมายล้วงดวงใจ.
คนใดให้ผู้ไม่มีความคิดล่วงรู้ความลับ ถึงแม้เขา
จะเป็นคนใช้ของตน ก็จำต้องอดกลั้นไว้ เพราะกลัว
ความคิดจะแตก.
คนมีประมาณเท่าใด รู้ความลับที่ปรึกษากันของ
บุรุษ คนประมาณเท่านั้น ย่อมขู่ให้บุรุษนั้นหวาด
กลัวได้ เพราะเหตุนั้น จึงไม่ควรขยายความลับ.
ในกลางวันก็ดี กลางคืนก็ดี ควรพูดเปิดเผย
ความลับในที่สงัด ไม่ควรเปล่งวาจาให้เกินเวลา
เพราะคนที่คอยแอบฟัง ก็จะได้ยินข้อความที่ปรึกษา
กัน เพราะเหตุนั้น ข้อความที่ปรึกษากัน ก็จะถึง
ความแพร่งพรายทันที.

คาถาทั้ง 5 คาถา จักมีแจ้งในบัณฑิตปัญหา 5 ข้อ
ในอุมมังคชาดก.

พญาครุฑได้กล่าวคาถา 2 คาถา ถัดนั้นไป ความว่า
ผู้มีความคิดอันลี้ลับในโลกนี้ ย่อมปรากฏแก่เรา
เปรียบเหมือนนครอันล้วนแล้ว ด้วยเหล็กใหญ่โต
ไม่มีประตู เจริญด้วยเรือนโรง ล้วนแต่เหล็กประกอบ
ด้วยคูอันขุดไว้โดยรอบ ฉะนั้น.
ดูก่อนปัณฑรกนาคราช ผู้มีลิ้นชั่ว คนจำพวกใด
มีความคิดลี้ลับ ต้องไม่พูดแพร่งพราย มั่นคงใน
ประโยชน์ของตน อมิตรทั้งหลายย่อมเว้นไกลจากคน
จำพวกนั้น ดุจคนผู้รักชีวิต เว้นไกลจากหมู่อสรพิษ
ฉะนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภณฺฑสาลํ ความว่า ถึงพร้อมด้วย
เรือนโรง มีร้านตลาดเป็นต้น. บทว่า สมนฺตขาตาปริขาอุเปตํ ความว่า
ประกอบด้วยคูอันขุดรายไว้โดยรอบ. บทว่า เอวมฺปิ เม ความว่า บุรุษ
เหล่านั้น คือทุกจำพวกทีเดียว ผู้มีความลับในที่นี้ ย่อมปรากฏแก่เราแม้ฉัน
นั้น. ท่านอธิบายความไว้ว่า เครื่องอุปโภคของประชาชน ย่อมอยู่ภายในนคร
เหล็ก อันไม่มีประตูเข้าออกเท่านั้น คนที่อยู่ภายใน ก็ไม่ออกไปข้างนอก คน
ที่อยู่ข้างนอก ก็ไม่เข้าไปข้างใน ขาดการสัญจรไปมาติดต่อกันฉันใด บุรุษ
ทั้งหลายผู้มีความคิดลี้ลับ ต้องเป็นฉันนั้น คือให้ความลับของตนจางหายไป
ภายในใจของตนผู้เดียว ไม่ต้องบอกแก่คนอื่น.
บทว่า ทฬฺหา สทตฺเถสุ ความว่า เป็นผู้มั่งคั่งในประโยชน์ของ
ตน. พญาครุฑเรียก ปัณฑรกนาคราชว่า ทุชิวฺหา ผู้มีลิ้นชั่ว. บทว่า
พฺยวชนฺติ แปลว่า ย่อมหลีกห่างไกล. บทว่า วา ในบาทคาถาว่า อาสีวิสา

วาริว สตฺตสงฺฆา นี้ เป็นเพียงนิบาต อธิบายว่า ดุจชุมชนผู้มุ่งจะมีชีวิต
อยู่ เว้นไกลจากหมู่สัตว์ร้าย เหล่าอสรพิษฉะนั้น. ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ว่า
ศัตรูย่อมหลีกห่างไกลจากคน ผู้มีความคิดลี้ลับเหล่านั้น ดุจเหล่ามนุษย์ ผู้มุ่ง
จะมีชีวิตอยู่ ย่อมเว้นไกลจากหมู่สัตว์ร้าย เหล่าอสรพิษฉะนั้น คือไม่ได้โอกาส
ที่จะเข้าใกล้.
เมื่อพญาครุฑกล่าวธรรมอย่างนี้แล้ว ปัณฑรกนาคราชจึงกล่าวคาถา
ความว่า
อเจลกชีเปลือย ละเรือนออกบวช มีศีรษะโล้น
เที่ยวไปเพราะเหตุแห่งอาหาร เราได้ขยายความลับ
แก่มันซิหนอ เราจึงเป็นผู้ปราศจากประโยชน์และ
ธรรม.
ดูก่อนพญาครุฑ บุคคลผู้ละสิ่งที่ยึดถือว่าเป็น
ของเราแล้ว มาประพฤติเป็นนักบวช มีการทำอย่างไร
มีศีลอย่างไร ประพฤติพรตอย่างไร จึงจะชื่อว่าเป็น
สมณะ สมณะนั้นมีการทำอย่างไร จึงจะเข้าถึงแดน
สวรรค์.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฆาสเหตุ ความว่า ชีเปลือยนั้นไม่มี
สิริ เที่ยวแสวงหาของเคี้ยว ของฉัน เพื่อให้เต็มท้อง. บทว่า อปคตฺมหา
ความว่า เราปราศจาก คือเป็นผู้เสื่อมจากอรรถและธรรมแล้ว. ครั้นพญา-
นาคราชรู้อุบายวิธีเป็นสมณะของชีเปลือยแล้ว เมื่อจะถามข้อปฏิบัติของสมณะ
จึงกล่าวคำนี้ว่า กถํกโร ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กิสีโล ความว่า
ประกอบด้วยศีลอย่างไร ?

บทว่า เกน วเตน ความว่า สมณะชื่อว่ามีพรต เพราะสมาทาน
พรตอย่างไร. บทว่า สมโณ จรํ ความว่า ผู้ที่ประพฤติบรรพชาอยู่ ต้อง
ละตัณหาที่ยึดถือว่าเป็นของเราแล้ว อย่างไร จึงจะชื่อว่าเป็นสมณะผู้ลอยบาป
แล้ว. บทว่า สคฺคํ ความว่า สมณะนั้นต้องทำอย่างไร จึงจะเข้าถึงเทพนคร
อันเลิศด้วยดี.
พญาครุฑกล่าวตอบเป็นคาถา ความว่า
บุคคลผู้ละสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นของเราแล้ว มา
ประพฤติเป็นนักบวช ต้องประกอบด้วยความละอาย
ความอดกลั้น ความฝึกตน ความอดทน ไม่โกรธง่าย
วาจาส่อเสียด จึงจะชื่อว่าเป็นสมณะ สมณะนั้น
มีการกระทำอย่างนี้ จึงจะเข้าถึงแดนสวรรค์.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หิริยา ความว่า แน่ะสหายนาคราช
บุคคลผู้ประกอบด้วยหิริโอตตัปปะ อันเป็นสมุฐานทั้งภายในภายนอก ด้วย
อธิวาสนขันดี กล่าวคือความอดกลั้น และประกอบด้วยการฝึกฝนทรมาน
อินทรีย์ มีปกติไม่โกรธ ละวาจาส่อเสียด และละตัณหากามารมณ์ได้แล้ว
ประพฤติบรรพชาอยู่ ย่อมชื่อว่าเป็นสมณะ สมณะผู้กระทำอย่างนี้แหละ เมื่อ
กระทำกุศล มีหิริเป็นต้นเหล่านี้ ย่อมเข้าถึงสุคติสถานได้.
ปัณฑรกนาคราช ได้ฟังธรรมกถาของพญาครุฑนี้แล้ว เมื่อจะ
อ้อนวอนขอชีวิต จึงกล่าวคาถา ความว่า
ข้าแต่พญาครุฑ ขอท่านจงปรากฏแก่ข้าพเจ้า
เหมือนมารดาที่กกกอดลูกอ่อนที่เกิดแต่ตน แผ่ร่างกาย
ทุกส่วนสัดปกป้อง หรือดุจมารดาผู้เอ็นดูบุตรฉะนั้น
เถิด.

คาถานั้น มีอธิบายดังนี้ มารดาเห็นบุตรอ่อนที่เกิดแต่ตัว เกิดแล้ว
ในสรีระของตน แล้วให้นอนในอ้อมอกให้ดื่มน้ำนม แผ่เรือนร่างทุกส่วนเพื่อ
ปกป้องบุตรไว้ คือมารดาไม่ไปจากบุตร บุตรก็ไม่ไปจากมารดาฉันใด ท่าน
จงปรากฏแก่เรา เหมือนฉันนั้นเถิด. บทว่า ทิชินฺท ความว่า ข้าแต่ราชา
แห่งทิชชาติ แม้ท่านก็จงโปรดเห็นแก่เรา โปรดให้ชีวิตแก่เรา ดุจมารดา
เอื้อเอ็นดูบุตร ด้วยดวงหทัยอันอ่อนโยนฉะนั้นเถิด.
ลำดับนั้น พญาครุฑเมื่อจะให้ชีวิตแก่พญานาค จึงกล่าวคาถานอกนี้
ความว่า
ดูก่อนพญานาคราชผู้มีลิ้นชั่ว เอาเถอะ ท่าน
จงพ้นจากการถูกฆ่าในวันนี้ ก็บุตรมี 3 จำพวก คือ
ศิษย์ 1 บุตรบุญธรรม 1 บุตรตัว 1 บุตรอื่นหามีไม่
ท่านยินดีจะเป็นบุตรจำพวกไหนของเรา.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มุจฺจ แปลว่า จงพ้น. อีกอย่างหนึ่ง
ปาฐะพระบาลีก็เป็นอย่างนี้แหละ. บทว่า ทุชิวฺหา ความว่า พญาครุฑเรียก
พญานาคราชนั้นว่า ทุชิวฺหา ผู้มีลิ้นชั่ว. อธิบายว่า ขึ้นชื่อบุตรที่ 4 อื่นไม่มี.
บทว่า อนฺเตวาสี ทินฺนโก อตฺรโช จ ได้แก่ บุตรผู้เล่าเรียนศิลปะ
หรือฟังปัญหาอยู่ในสำนัก.
บทว่า ทินฺนโก ได้แก่ บุตรที่คนอื่นยกให้ว่า เด็กนี้จงเป็นลูก
ของท่าน. บทว่า รชสฺสุ แปลว่า จงยินดี ด้วยบทว่า อญฺญตโร นี้
พญาครุฑแสดงความว่า ในบุตร 3 จำพวกนั้น ท่านจงเถิดเป็นอันเตวาสี
บุตรอย่างหนึ่งของเรา. ก็แหละครั้นพญาครุฑกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ลงจากอากาศ
วางพญานาคราชลงที่แผ่นดิน.

พระบรมศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ได้ตรัสพระคาถา
2 คาถา ความว่า
พญาครุฑจอมทิชชาติ กล่าวอย่างนี้แล้ว ก็โผ
ลงจับที่แผ่นดิน แล้วปล่อยพญานาคไปด้วยกล่าวว่า
วันนี้ ท่านรอดพ้นล่วงสรรพภัยแล้ว จงเป็นผู้อันเรา
คุ้มครองแล้ว ทั้งทางบกทั้งน้ำ.
หมอผู้ฉลาดเป็นที่พึ่งของคนไข้ได้ฉันใด ห้วงน้ำ
อันเย็น เป็นที่พึ่งของคนหิวระหายได้ฉันใด สถาน
ที่พักเป็นที่พึ่งของคนเดินทางได้ฉันใด เราก็จะเป็น
ที่พึ่งของท่าน ฉันนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิจฺเจวํ วากฺยํ ความว่า พญาครุฑ
ครั้นกล่าวคำอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้แล้ว ก็ปลดปล่อยนาคราชนั้น. บทว่า
ภุมฺยํ ความว่า พญาครุฑนั้น ก็ประดิษฐานบนพื้นภูมิภาค แม้ด้วยตนเอง
ปลอบโยนพญานาคราชผู้มีลิ้นชั่ว พลางกล่าวว่า วันนี้ท่านรอดพ้นแล้ว นับ
แต่วันนี้ไป ท่านล่วงพ้นภัยทั้งปวง จงเป็นผู้ที่เราคุ้มครองรักษา ทั้งทางบก
ทางน้ำเถิด. บทว่า อาตงฺกินํ แปลว่า ของคนไข้. บทว่า เอวมฺปิ เต
ความว่า เราจะเป็นที่พึ่งของท่าน (ดุจหมอผู้ฉลาด เป็นที่พึ่งของคนไข้เป็นต้น)
ฉะนั้น.
พญาครุฑปล่อยนาคราชไปว่า ท่านจงไปเถิด. นาคราชนั้นก็เข้าไปสู่
นาคพิภพ. ฝ่ายพญาครุฑกลับไปสู่บรรณพิภพ แล้วคิดว่า ปัณฑรกนาคราช
เราได้ทำการสบถ ให้เชื่อปล่อยไปแล้ว จะมีดวงใจต่อเราเช่นไรหนอ เราจัก
ทดลองดู แล้วไปยังนาคพิภพ ได้ทำลมแห่งครุฑ. พญานาคราชเห็นเช่นนั้น

สำคัญว่า พญาครุฑจักมาจับเรา จึงเนรมิตอัตภาพยาวประมาณพันวา กลืน
ก้อนหินและทรายเข้าไว้ในตัวหนัก นอนแผ่พังพานไว้ยอดขนดจดหางลง
เบื้องต่ำ ทำอาการประหนึ่งว่า มุ่งจะขบพญาครุฑ. พญาครุฑเห็นอาการเช่น
นั้น จึงกล่าวคาถานอกนี้ ความว่า
แน่ะท่านผู้ชลามพุชชาติ ท่านแยกเขี้ยวจะขบ
มองดูดังจะทำกับศัตรูผู้อัณฑชชาติ ภัยของท่านมีมา
จากไหนกัน.

พญานาคราชได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถา 3 คาถา ความว่า
บุคคลพึงรังเกียจในศัตรูทีเดียว แม้ในมิตรก็ไม่
ควรไว้วางใจ ภัยเกิดขึ้นได้จากที่ที่ไม่มีภัย มิตรย่อม
ตัดโค่นรากได้แท้จริง.
จะพึงไว้วางใจในบุคคล ที่ทำการทะเลาะกันมา
แล้วอย่างไรได้เล่า ผู้ใดดำรงอยู่ได้ด้วยการเตรียมตัว
เป็นนิตย์ ผู้นั้นย่อมไม่ยินดีกับศัตรูของตน.
บุคคลพึงทำให้เป็นที่ไว้วางใจของคนอื่น แต่ไม่
ควรจะวางใจคนอื่นจนเกินไป ตนเองอย่าให้คนอื่น
รังเกียจได้ แต่ควรรังเกียจเขา วิญญูชนพึงพากเพียร
ไปด้วยอาการที่ฝ่ายปรปักษ์จะรู้ไม่ได้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภยา ความว่า ภัยบังเกิดขึ้นจากมิตร
อันน่าจะเป็นที่ตั้งแห่งความปลอดภัย ย่อมตัดก่นโค่นราก กล่าวคือชีวิตได้
แท้จริง. บทว่า ตฺยมฺหิ เท่ากับ ตสฺมึ ได้แก่ ในบุคคลนั้น. บทว่า เยนาสิ
ได้แก่ บุคคลที่เคยกระทำการทะเลาะกันมาแล้ว. บทว่า นิจฺจยตฺเตน แปลว่า

ด้วยการเตรียมตัวเป็นนิตย์. บทว่า โส ทิสพฺภิ น รชฺชติ ความว่า ผู้ใด
ตั้งมั่น ด้วยการระมัดระวังเป็นนิตย์ ผู้นั้นย่อมไม่ยินดี ด้วยอำนาจความคุ้นเคย
กับศัตรูของตน แต่นัน กิจที่ควรทำตามประสงค์ของศัตรูเหล่านั้น ก็มีไม่ได้.
บทว่า วิสฺสาสเย ความว่า บุคคลควรให้ผูอื่นวางใจได้ในตน แต่ตนเอง
ไม่ควรวางใจเขา ตนอันผู้อื่นเขาไม่ระแวงแล้ว ตนต้องระแวงเขา. บทว่า
ภาวํ ปโร ความว่า บัณฑิตจะพยายามด้วยวิธีใด ๆ ก็หาทราบภาวะ (ความ
ประสงค์) ของฝ่ายปรปักษ์ได้ด้วยวิธีนั้น ๆ ไม่ เพราะฉะนั้น บัณฑิตควรทำ
ความพยายามเรื่อยไป. ที่กล่าวมานี้เป็นอธิบายของพญานาคราช. ครั้นสองสัตว์
(คือพญาครุฑ และพญานาคราช) เจรจากันอย่างนี้แล้ว ก็สมัครสโมสร
รื่นเริง บันเทิงกัน พากันไปยังอาศรมชีเปลือย.
พระบรมศาสดาเมื่อจะประกาศความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
สัตว์ทั้งสอง มีเพศพรรณดังเทวดา สุขุมาลชาติ
เช่นเดียวกัน อาจผจญได้ดี มีบุญบารมีได้ทำไว้
เคล้าคลึงกันไปราวกะว่า ม้าเทียมรถ พากันเข้าไปหา
กรัมปิยอเจลก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมา ความว่า สัตว์ทั้งสองมี
ทรวดทรงสัณฐาณ ทัดเทียมกัน. บทว่า สุชยา ความว่า มีวัยเป็นสุข คือ
บริสุทธิ์. ปาฐะพระบาลีก็อย่างเดียวกันนี้เหมือนกัน. บทว่า ปุญฺญกฺขนฺธา
ความว่า ราวกะว่ากองบุญ เพราะมีกุศลอันกระทำไว้แล้ว. บทว่า มิสฺสีภูตา
ความว่า สัตว์ทั้งสองจับมือกันและกัน เข้าถึงความเคล้าคลึงกันด้วยกาย. บทว่า
อสฺสวาหาว นาคา ความว่า เป็นบุรุษผู้ประเสริฐ คล้ายกับอัสดรสองตัว
เทียมที่แอกนำรถไป เข้าไปยังอาศรมของชีเปลือยนั้น.

ครั้นไปถึงแล้ว พญาครุฑคิดว่า พญานาคนี้คงจักไม่ให้ชีวิตแก่
ชีเปลือย เราก็จักไม่ไหว้มันผู้ทุศีล. พญาครุฑจึงยืนอยู่ข้างนอก ปล่อยให้
พญานาคเข้าไปยังสำนักชีเปลือยแต่ผู้เดียว.
พระบรมศาสดาทรงหมายเหตุนั้น จึงตรัสพระคาถานอกนี้ ความว่า
ลำดับนั้น ปัณฑรกนาคราชเข้าไปหาชีเปลือย
แต่ลำพังตนเท่านั้น แล้วได้กล่าวว่า วันนี้เรารอดพ้น
ความตาย ล่วงภัยทั้งปวงแล้ว คงไม่เป็นที่รักที่พอใจ
ท่านเสียเลยเป็นแน่.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปิยมฺหา ความว่า ปัณฑรกนาคราช
กล่าวบริภาษว่า เฮ้ย ! ชีเปลือยทุศีล ชอบพูดเท็จ เราคงไม่เป็นที่รักใคร่
พึงใจของท่านเลยนะ.
ลำดับนั้น ชีเปลือยจึงกล่าวคาถานอกนี้ ความว่า
พญาครุฑเป็นที่รักของเรายิ่งกว่าปัณฑรกนาคราช
อย่างแท้จริง โดยไม่ต้องสงสัย เรามีความรักใคร่ใน
พญาครุฑ ทั้งที่รู้ก็ได้กระทำกรรมอันลามก ไม่ใช่ทำ
เพราะความลุ่มหลงเลย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปณฺฑรเกน ความว่า พญาครุฑนั้น
เป็นผู้ที่เรารักกว่าท่านปัณฑรกนาคราช ข้อนี้เป็นความจริง. บทว่า โส
ความว่า เรานั้นเป็นผู้ลำเอียงเพราะรักพญาครุฑนั้น จึงได้กระทำบาปกรรมนั้น
ทั้งที่รู้ ใช่จะทำเพราะโมหาคติก็หามิได้.
พญานาคราชได้ฟังดังนั้นแล้ว ได้กล่าวคาถาสองคาถา ความว่า
ความถือว่า สิ่งนี้เป็นที่รักของเรา หรือสิ่งนี้
ไม่เป็นที่รักของเรา ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่บรรพชิต ผู้

พิจารณาเห็นโลกนี้และโลกหน้า ก็ท่านเป็นคนไม่
สำรวม แต่ประพฤติลวงโลก ด้วยเพศของผู้สำรวมดี.
ท่านไม่เป็นอริยะ แต่ปลอมตัวเป็นอริยะ ไม่ใช่
คนสำรวม แต่ทำคล้ายคนสำรวม ท่านเป็นคนชาติ
เลวทราม ไม่ใช่คนประเสริฐ ได้ประพฤติบาปทุจริต
เป็นอันมาก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น เม ความว่า แน่ะท่านชีเปลือยทุศีล
นักพูดเท็จผู้เจริญ ความจริงสำหรับบรรพชิต ผู้เล็งเห็นโลกนี้และโลกหน้า
ย่อมไม่ถือว่า สิ่งนี้เป็นที่รักของเรา สิ่งนี้ไม่เป็นที่รักของเราเลย แต่ท่านเป็น
คนไม่สำรวม ประพฤติลวงโลกนี้ ด้วยเพศบรรพชิตของผู้มีศีลสำรวมดี. บทว่า
อริยาวกาโสสิ ความว่า มิใช่อริยะ ก็ปลอมตัวเป็นอริยะ. บทว่า อสญฺญโต
ความว่า มิใช่เป็นผู้สำรวมด้วยกายเป็นต้น. บทว่า กณฺหาภิชาติโก ความว่า
เป็นคนมีสภาพเลวทราม. บทว่า อนริยรูโป ความว่า ขาดหิริความละอาย
ต่อบาป. บทว่า อจริ ได้แก่ ได้กระทำ (บาปทุจริตมากมาย).
ครั้นปัณฑรกนาคราช ติเตียนชีเปลือยอย่างนี้แล้ว เมื่อจะสาปแช่ง
จึงกล่าวคาถานี้ ความว่า
แน่ะเจ้าคนเลวทราม เจ้าประทุษร้ายต่อผู้ไม่
ประทุษร้าย ทั้งเป็นคนส่อเสียด ด้วยคำสัตย์นี้ ขอศีรษะ
ของเจ้าจงแตกออกเป็นเจ็ดเสี่ยง.

คาถานั้น มีอธิบายว่า เฮ้ย ! เจ้าคนเลวทราม ด้วยอันกล่าวคำสัตย์
นี้ว่า เจ้าเป็นคนมักประทุษร้ายต่อมิตร ผู้ไม่ประทุษร้าย ทั้งเป็นคนส่อเสียด
ด้วย ขอศีรษะของเจ้า จงแตกออกเป็นเจ็ดภาค.

เมื่อพญานาคราชสาปแช่งอยู่อย่างนี้ ศีรษะของชีเปลือย ก็แตกออก
เป็นเจ็ดภาค. พื้นแผ่นดินตรงที่ชีเปลือยนั่งอยู่นั่นเอง ก็ได้แยกออกเป็นช่อง.
ชีเปลือยนั้นเข้าสู่แผ่นดิน บังเกิดในอเวจีมหานรก. พญานาคราชและพญาครุฑ
ทั้งสอง ก็ได้ไปยังพิภพของตน ๆ ตามเดิม.
พระบรมศาสดาเมื่อจะประกาศความที่ชีเปลือยนั้นถูกแผ่นดินสูบ จึง
ตรัสพระคาถาสุดท้าย ความว่า
เพราะเหตุนั้นแล บุคคลไม่พึงประทุษร้ายต่อ
มิตร เพราะผู้ประทุษร้ายมิตร เป็นคนเลวทรามที่สุด
จะหาคนอื่นที่เลวกว่าเป็นไม่มี ชีเปลือยถูกอสรพิษ
กำจัดแล้วในแผ่นดิน ทั้งที่ได้ปฏิญญาว่า เรามีสังวร
ก็ได้ถูกทำลายลง ด้วยคำของพญานาคราช.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเหตุที่ผลแห่ง
กรรม คือการประทุษร้ายมิตร เป็นของเผ็ดร้อน. บทว่า อาสิตฺตสตฺโต
ความว่า ชีเปลือยถูกอสรพิษกำจัดแล้ว. บทว่า อินฺทสฺส ความว่า ด้วยคำ
ของพญานาคราช. บทว่า สํวโร ความว่า อาชีวกผู้ปรากฏด้วยปฏิญญาว่า
เราเป็นผู้ตั้งอยู่ในสังวร ก็ได้ถูกทำลายลง.
พระบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงจบแล้ว ตรัสว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ก็หามิได้ แม้ในชาติก่อน พระเทวทัต
ก็กระทำมุสาวาทจนถูกแผ่นดินสูบ แล้วทรงประชุมชาดกว่า ชีเปลือยได้มา
เป็นพระเทวทัต นาคราชได้มาเป็นพระสารีบุตร ส่วนสุบรรณราช
ได้มาเป็นเราผู้ตถาคต ฉะนี้แล.
จบอรรถกถาปัณฑรกชาดก

9. สัมพุลาชาดก



ว่าด้วยความซื่อสัตย์ ของพระนางสัมพุลาชาดก



[2406] ดูก่อนแม่นาง ผู้มีช่วงขาอันอวบอัด
เธอเป็นใครมายืนสั่นอยู่ผู้เดียวที่ลำธาร ดูก่อนแม่นาง
ผู้มีลำตัวอันน่าเล้าโลมด้วยมือ เราขอถาม เธอจงบอก
ชื่อ และเผ่าพันธุ์แก่เรา.
ดูก่อนแม่นาง ผู้มีเอวอันกลมกลึง ท่านเป็นใคร
หรือว่าเป็นลูกเมียของใคร เป็นผู้มีร่างอันสะคราญ
ทำป่าเป็นที่อยู่อาศัยแห่งสีหะ และเสือโคร่ง ให้น่า
รื่นรมย์สว่างไสวอยู่ ดูก่อนนางผู้เจริญ เราคืออสูร
ตนหนึ่งขอไหว้ท่าน ขอความนอบน้อมจงมีแก่ท่าน.
[2407] คนทั้งหลายรู้จักโอรสของพระเจ้ากาสี
มีนามว่า โสตถิเสนกุมาร เราชื่อสัมพุลา เป็นชายา
ของโสตถิเสนกุมารนั้น ดูก่อนอสูร ท่านจงรู้อย่างนี้
ดูก่อนท่านผู้เจริญ เราชื่อสัมพุลาขอไหว้ท่าน ขอความ
นอบน้อมจงมีแก่ท่าน.
ดูก่อนท่านผู้เจริญ พระโอรสของพระเจ้าวิเทห-
ราช เดือดร้อนอยู่ในป่า เรามาพยาบาลพระองค์ผู้ถูก
โรคเบียดเบียนอยู่ตัวต่อตัว.
อนึ่ง เราเที่ยวแสวงหา รวงผึ้ง และเนื้อมฤค
เราหาอาหารอย่างใดไป พระสวามีของเรา ก็ได้เสวย