เมนู

อนึ่ง กษัตริย์พระองค์ใด ทรงทราบว่า ควรจะ
ทำฐานะเหล่านี้ กษัตริย์พระองค์นั้น ย่อมทรงพระ
เจริญทุกเมื่อ ดุจพระจันทร์ ในสุกปักษ์ ฉะนั้น.
กษัตริย์พระองค์นั้น ย่อมเป็นที่รักใคร่ของพระ
ประยูรญาติทั้งหลายด้วย ย่อมทรงรุ่งโรจน์ในหมู่มิตร
ด้วย ท้าวเธอมีพระปรีชา เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว ย่อม
เข้าถึงโลกสวรรค์.

จบสัมภวชาดกที่ 5

อรรถกถาสัมภวชาดก



พระบรมศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรง
พระปรารภพระปัญญาบารมี ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า รชฺชญฺจ
ปฏิปนฺนสฺสา
ดังนี้.
เรื่องปัจจุบันจักมีแจ้ง ในมหาอุมมังคชาดก. ส่วนเรื่องในอดีตมีว่า
พระราชาทรงพระนามว่า ธนัญชยโกรัพยะ เสรยราชสมบัติในอินทปัตต-
นคร แคว้นกุรุ
พราหมณปุโรหิต นามว่า สุจีรตะ ได้เป็นผู้กล่าวสอน
อรรถธรรมของพระองค์. พระราชาทรงบำเพ็ญบุญกุศลมีทานเป็นต้น ทรง
ครองราชสมบัติโดยทศพิธราชธรรม ครั้นวันหนึ่ง จะทรงถกปัญหาชื่อธัมม-
ยาคะ
จึงเชิญสุจีรตพราหมณ์ให้นั่งบนอาสนะ ทรงทำสักการะแล้ว เมื่อจะ
ตรัสถาม ได้ตรัสคาถา 4 คาถา ความว่า

ดูก่อนท่านอาจารย์ สุจีรตะ เราทั้งหลายได้
ราชสมบัติและความเป็นใหญ่แล้ว ยังปรารถนาอยาก
ได้ความเป็นใหญ่ยิ่งขึ้น เพื่อปราบดาภิเษกครอบครอง
พื้นปฐพีนี้.
โดยธรรมไม่ใช่โดยอธรรม เราหาชอบใจอธรรม
ไม่ ดูก่อนท่านอาจารย์สุจีรตะ การประพฤติธรรมเป็น
กิจของพระราชาโดยแท้.
ดูก่อนพราหมณ์ เราทั้งหลายจะไม่ถูกนินทาทั้ง
ในโลกนี้และโลกหน้า ด้วยเหตุใด และจะได้รับ
เกียรติยศ ในเทวดาและมนุษย์ด้วยเหตุใด ขอท่านจง
บอกเหตุนั้น ๆ แก่เรา.
ดูก่อนพราหมณ์ เราปรารถนาจะกระทำตามอรรถ
และธรรม เราถามท่านแล้ว ขอจงบอกอรรถและธรรม
นั้นด้วยเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รชฺชํ ความว่า ดูก่อนท่านอาจารย์
เราทั้งหลายได้ราชสมบัติในอินทปัตตนครอันมีปริมณฑลถึง 7 โยชน์นี้ และ
ได้รับความเป็นใหญ่กล่าวคืออิสรภาพในกุรุรัฐ อันมีปริมณฑลถึง300โยชน์
แล้ว.
บทว่า ปฏิปนฺนา แปลว่า บรรลุแล้ว. บทว่า มหนฺตํ ความว่า
คราวนี้เรายังปรารถนาความเป็นใหญ่ยิ่งขึ้น. บทว่า วิเชตุํ ความว่า เรายัง
ปรารถนาความเป็นใหญ่เพื่อปราบดาภิเษกครอบครองแผ่นดินนี้ โดยธรรม.
บทว่า กิจฺโจว ความว่า การประพฤติธรรมเป็นกิจ คือเป็นพระราชกรณีย์

ที่สำคัญกว่าอวเสสชน. อธิบายว่า โลกคล้อยตามพระราชา เมื่อพระราชา
มีธรรม ชาวโลกทั้งหมดก็เป็นผู้มีธรรม เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าธรรมนี้เป็นกิจ
ของพระราชาทีเดียว.
บทว่า อิธ เจวานนฺทิตา ความว่า พระราชาตรัสถามธัมมยาคปัญหา
กะพราหมณ์ปุโรหิตว่า เราทั้งหลายจะไม่ถูกนินทาในโลกนี้และโลกหน้า ด้วย
เหตุใด. บทว่า เยน ปปฺเปมุ ความว่า เราทั้งหลายจะไม่เกิดในนรกเป็นต้น
พึงถึงยศคือความเป็นใหญ่ ได้แก่ ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยความงามในเทวโลก
และมนุษยโลกด้วยเหตุใด ท่านจงบอกเหตุนั้นแก่เรา.
บทว่า โยหํ ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ เราปรารถนาจะกระทำด้วย
สมาทานแล้วประพฤติด้วย ซึ่งอรรถคือผลวิบากและธรรมคือเหตุแห่งผลนั้น
และยังอรรถธรรมนั้นให้เกิดขึ้นด้วย. บทว่า ตํ ตฺวํ ความว่า เมื่อเราปรารถนา
จะขึ้นสู่ทางอันยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพานโดยสะดวกแล้ว เป็นผู้หาปฏิสนธิมิได้
เมื่อท่านถูกถามถึงอรรถและธรรมนั้น จงบอกคือกล่าวกระทำให้ปรากฏเถิด.
ก็ปัญหานี้ ลึกซึ้งเป็นพุทธวิสัย ควรที่จะถามเฉพาะพระสัพพัญญู-
พุทธเจ้าเท่านั้น เมื่อพระสัพพัญญูพุทธเจ้าไม่มี ควรถามพระโพธิสัตว์ ก็เพราะ
สุจีรตปุโรหิต มิใช่พระโพธิสัตว์ จึงไม่สามารถแก้ปัญหาถวายได้ และเมื่อ
ไม่สามารถ ก็ไม่ทำการถือตนว่าเป็นบัณฑิต เมื่อจะกราบทูลความที่ตนไม่
สามารถจึงกล่าวคาถา ความว่า
ขอเดชะพระขัตติยราช พระองค์ทรงปรารถนา
จะปฏิบัติตามอรรถและธรรมใด นอกจากวิธุรพราหมณ์
แล้ว ไม่มีใครอื่นที่จะสมควรชี้แจงอรรถและธรรมนั้น
ได้.

คาถานั้นมีอธิบายดังนี้ ขอเดชะพระมหาราชเจ้า ปัญหานี้ ใช่วิสัย
ของคนเช่นข้าพระพุทธเจ้าไม่ ข้าพระพุทธเจ้าไม่เห็นเบื้องต้น เบื้องปลายของ
ปัญหานั้นเลยทีเดียว เป็นเหมือนเข้าสู่ที่มืด แต่ราชปุโรหิตของพระเจ้าพาราณสี
ชื่อวิธุรพราหมณ์มีอยู่ เขาพึงเฉลยปัญหานั้นได้ เว้นเขาเสียแล้วใครอื่นไม่สามารถ
ที่จะแสดงอรรถและธรรมที่พระองค์ทรงปรารถนาจะกระทำได้.
พระราชาทรงสดับถ้อยคำของสุจีรตพราหมณ์แล้วตรัสสั่งว่า ท่าน-
พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงรีบไปยังสำนักของวิธุรพราหมณ์เถิด มีพระประ-
องค์จะส่งเครื่องบรรณาการไปพระราชทาน จึงตรัสพระคาถา ความว่า
ดูก่อนท่านอาจารย์ สุจีรตะ มาเถิดท่าน เราจะ
ส่งท่านไปยังสำนักของวิธุรพราหมณ์ ท่านจงนำเอา
ทองคำแท่งนี้ไปมอบให้ เพื่อรับคําอธิบาย ซึ่งอรรถ
และธรรม.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปนฺติกํ แปลว่า สู่สำนัก. บทว่า นิกฺขํ
ความว่า ทองคําหนัก 5 ชั่งเป็นนิกขะหนึ่ง แต่พระเจ้าธนัญชยโกรัพยะ พระ-
ราชทานทองคำพันลิ่มจึงตรัสอย่างนี้. บทว่า อิมํ ทชฺชา ความว่า เมื่อ
วิธุรพราหมณ์นั้นกล่าวธัมมยาคปัญหานี้แล้ว ท่านพึงนำไปทำการบูชามอบลิ่ม-
ทองคำพันหนึ่งนี้ แก่วิธุรพราหมณ์นั้น เพื่อขอรับคำอธิบายอรรถและธรรม.
พระเจ้าธนัญชยโกรัพยะ ครั้นตรัสสั่งอย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งให้เอาทองคำ
ควรค่าแสนหนึ่งมาแผ่เป็นแผ่น เพื่อจะได้จารึกคำวิสัชนาปัญหา ให้จัดยาน-
พาหนะสำหรับเดินทาง จัดพลนิกายสำหรับเป็นบริวาร แลจัดเครื่องราชบรร-
ณาการเสร็จแล้ว ก็ทรงส่งไปในขณะนั้นทีเดียว ส่วนสุจีรตพราหมณ์ออกจาก
พระนครอินทปัตต์แล้ว หาได้ตรงไปยังพระนครพาราณสีทีเดียวไม่ เหล่า

บัณฑิตอยู่ในที่ใด ๆ ก็เข้าไปยังที่นัน ๆ จนถ้วนทั่ว ไม่ได้รับผลกล่าวคือการ
กล่าวแก้ปัญหาในชมพูทวีปทั้งสิ้น จนลุถึงพระนครพาราณสีโดยลำดับยึดเอาที่
พัก ณ ที่แห่งหนึ่ง ไปยังนิเวศน์ของวิธุรพราหมณ์พร้อมด้วยคนใช้สองสามคน
ในเวลาอาหารเช้า บอกเล่าธุระที่ตนมาให้ทราบ อันวิธุรพราหมณ์เชิญเข้าไป
เห็นวิธุรพราหมณ์กำลังรับประทานอาหารอยู่ในเรือนของตน.
เมื่อพระบรมศาสดาจะทรงประกาศ ทำเนื้อความนั้นให้ชัดขึ้นจึงตรัส
พระคาถาที่ 7 ความว่า
มหาพราหมณ์ผู้ภารทวาชโคตรนั้น ได้ไปถึงสำ-
นักของวิธุรพราหมณ์แล้ว เห็นท่านพราหมณ์ กำลัง
บริโภคอาหารอยู่ในเรือนของตน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สฺวาธิปฺปาคา ความว่า สุจีรตพราหมณ์
ภารทวาชโคตร. มุ่งไปคือบรรลุถึงแล้ว. บทว่า มหาพฺรหฺมา ได้แก่
มหาพราหมณ์. บทว่า อสมานํ แปลว่า กำลังบริโภคอยู่.
ก็สุจีรตพราหมณ์นั้น สมัยเป็นเด็ก เป็นเพื่อนกันกับวิธุรพราหมณ์
เรียนศิลปวิทยาในสำนักอาจารย์เดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงร่วมรับประทานอาหาร
กับท่านวิธุรพราหมณ์ทันที ในเวลารับประทานเสร็จ นั่งพักสบายแล้วถูกถามว่า
สหายรัก ท่านมาธุระอะไร ? เมื่อจะบอกเหตุที่มา จึงกล่าวคาถาที่ 8 ความว่า
พระเจ้าโกรัพยราชผู้เรืองพระยศ ทรงส่งเราให้
เป็นทูตมา พระเจ้าโกรัพยผู้ยุธิฏฐิลโคตร ดำรัสถาม
ถึงอรรถและธรรม ได้ตรัสแล้วดังนี้ วิธุรสหายรัก
ท่านถูกถามถึงอรรถและธรรมนั้นแล้ว กรุณาบอกเรา
ด้วย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รญฺโญหํ ความว่า เราเป็นทูตของ
พระเจ้าโกรัพยะผู้ยิ่งยศ. บทว่า ปหิโต ความว่า เราถูกพระองค์ตรัสสั่งให้
เป็นทูต จึงมาที่นี่. บทว่า ปุจฺเฉสิ ความว่า พระเจ้าธนัญชยราชผู้ยุธิฏฐิล-
โคตรนั้น ตรัสถานปัญหาชื่อธัมมยาคะ เราไม่อาจจะแก้ได้ เรารู้ว่า ท่านจัก
สามารถ จึงกราบทูลพระองค์ท่านให้ทรงทราบ พระองค์พระราชทานเครื่อง-
บรรณาการ เมื่อจะทรงส่งเรามายังสำนักของท่าน เพื่อถามปัญหา ได้ตรัสสั่งว่า
เจ้าจงไปยังสำนักของวิธุรพราหมณ์ ถามถึงแนวอรรถและธรรมแห่งปัญหานี้
บัดนี้เราถามท่านแล้ว ท่านจงบอกอรรถและธรรมนั้น.
ก็ในครั้งนั้น ท่านวิธุรพราหมณ์ คิดว่า เราจักกำหนดจิตของมหาชน
ดังนี้ จึงวุ่นอยู่กับการวินิจฉัยความ คล้ายกับปิดกั้นแม่น้ำคงคา ไม่มีโอกาส
ที่จะแก้ปัญหานั้นได้ เมื่อจะบอกความข้อนั้น จึงกล่าวคาถาที่ 9 ความว่า
ดูก่อนพราหมณ์ เราคิดว่าจักกั้นแม่น้ำคงคา
แต่ไม่อาจจะกั้นแม่น้ำใหญ่นั้นได้ เพราะเหตุนั้นโอกาส
นั้นจักมีได้อย่างไร เมื่อท่านถามถึงอรรถและธรรม
เราจึงไม่อาจจักบอกได้.

คาถานั้นมีอรรถาธิบายดังนี้ ดูก่อนสหายพราหมณ์ เราเกิดความกังวล
ขวนขวายว่า จักปิดกั้นแม่น้ำคงคา คือคติจิตต่าง ๆ กันของมหาชน ก็ไม่
สามารถจะกั้นเสียงอันดังนั้นได้ เพราะฉะนั้น จักมีโอกาสได้อย่างไรกัน เมื่อ
โอกาสไม่มี เราก็วิสัชนาชี้แจ้งแก่ท่านไม่ได้ เมื่อไม่ได้ความที่จิตแน่วแน่
และไม่มีโอกาส ถึงจะถูกท่านถามก็ไม่สามารถจะบอกอรรถและธรรมแก่ท่านได้.
ครั้นวิธุรพราหมณ์ กล่าวอย่างนี้แล้ว จึงบอกว่า บุตรชายของเราเป็น
คนฉลาด มีปัญญาปราดเปรื่องกว่าเรา เขาจักพยากรณ์ได้ ท่านจงไปสำนัก
ของเขาเถิด ดังนี้แล้ว กล่าวคาถาที่ 10 ความว่า

แต่ภัทรการะ ผู้เป็นบุตรเกิดแต่อกของเรามีอยู่
เชิญท่านไปถามอรรถและธรรมกะเธอดูเถิด ท่าน-
พราหมณ์.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอรโส ได้แก่ ผู้เจริญแล้วในอก. บทว่า
อตฺรโช แปลว่า เกิดเพราะตน.
สุจีรตพราหมณ์ ฟังดังนั้น จึงออกจากเรือนของวิธุรพราหมณ์ ไปยัง
นิเวศน์ของภัทรการมาณพ ในเวลาที่เธอรับประทานอาหารเสร็จแล้ว นั่งอยู่
ท่ามกลางบริษัทของตน.
พระบรมศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถา
ที่ 11 ความว่า
มหาพราหมณ์ผู้ภารทวาชโคตรนั้น ได้ไปถึง
สำนักของภัทรการะ ได้เห็นเธอกำลังนั่งอยู่ในเรือน
ของตน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวสฺมนิ แปลว่า ในเรือน.
สุจีรตพราหมณ์ไปที่นั้นแล้ว อันภัทรการมาณพจัดการต้อนรับ และ
ทำสักการะเคารพ นั่งแล้วถูกถามถึงเหตุที่มา จึงกล่าวคาถาที่ 12 ความว่า
เราเป็นราชทูตของพระเจ้าโกรัพยราช ผู้ยงยศ
ทรงส่งมา พระองค์ผู้ยุธิฏฐิลโคตร ตรัสถามถึงอรรถ
และธรรม ได้ตรัสแล้วอย่างนี้ ดูก่อนภัทรการมาณพ
เธอจงบอกอรรถและธรรมนั้นแก่เราด้วย.

ลำดับนั้น ภัทรการมาณพจึงกล่าวกะ สุจีรตพราหมณ์ว่า ข้าแต่คุณพ่อ
ข้าพเจ้าเคลิบเคลิ้มอยู่ในปรทาริกกรรมทุก ๆ วัน จิตของข้าพเจ้ามัวหมอง

ด้วยเหตุนั้น จึงไม่สามารถจะวิสัชนาแก่ท่านได้ แต่น้องชายของข้าพเจ้า
ชื่อว่า สัญชยกุมาร มีญาณประเสริฐกว่าข้าพเจ้ายิ่งนัก เชิญท่านถามเขาเถิด
เขาจักแก้ปัญหาของท่านได้ ดังนี้แล้ว เมื่อจะส่งไปยังสำนักของน้องชาย ได้
กล่าวคาถา 2 คาถา ความว่า
ข้าพเจ้าเป็นเหมือนคนทิ้งหาบเนื้อ แล้ววิ่งตาม
เหี้ยไป ถึงจะถูกถามอรรถและธรรม ก็ไม่อาจจะบอก
แก่ท่านได้ ข้าแต่ท่านพราหมณ์สุจีรตะ น้องชายของ
ข้าพเจ้าชื่อว่า สัญชัย มีอยู่ เชิญท่านไปถามอรรถและ
ธรรมกะเธอดูเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มํสกาชํ ความว่า บุรุษหาบก้อนเนื้อ
เดินทางไป พบลูกเหี้ยเข้าในระหว่างทาง จึงทิ้งหาบเนื้อเสีย ไล่ติดตามลูกเหี้ย
นั้น ฉันใด ข้าพเจ้าก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทอดทิ้งภรรยาผู้อยู่ในอำนาจ ใน
เรือนของตัว มัวติดพันหญิงที่ผู้อื่นรักษาคุ้มครอง เมื่อภัทรการมาณพจะแสดง
ดังนี้ จึงกล่าวอย่างนั้น.
ในขณะนั้นเอง สุจีรตพราหมณ์จึงไปยังนิเวศน์ของสัญชยกุมาร อัน
สัญชยกุมารทำสักการะเคารพแล้ว ถูกถามถึงเหตุที่มา จึงแจ้งให้ทราบ.
พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ได้ตรัสพระคาถา
2 คาถา ความว่า
มหาพราหมณ์ผู้ภารทวาชโคตรนั้น ได้ไปถึงยัง
สำนักสัญชยกุมารแล้ว ได้เห็นสัญชยกุมารนั่งอยู่ใน
นิเวศน์ของตน จึงพูดว่า

เราเป็นราชทูตของพระเจ้าโกรัพยราช ผู้ยงยศ
ทรงส่งมา พระองค์ผู้ยุธิฏฐิลโคตร ดำรัสถามอรรถ
และธรรม ได้ตรัสว่าดังนี้ ดูก่อนสัญชยกุมาร เจ้าถูก
ถามแล้วจงบอกอรรถและธรรมนั้นเถิด.

ก็ในครั้งนั้น สัญชยกุมารกำลังคบหาภรรยาของผู้อื่นอยู่ทีเดียว.
ลำดับนั้น เธอจึงบอกสุจีรตพราหมณ์ว่า พ่อคุณ ข้าพเจ้ากำลังคบหาภรรยา
ผู้อื่นอยู่ และเมื่อคบหาก็ต้องข้ามแม่น้ำไปฝั่งโน้น มฤตยูคือความตาย ย่อม
กลืนกินข้าพเจ้า ซึ่งกำลังข้ามแม่น้ำอยู่ทั้งเช้าทั้งเย็น ด้วยเหตุนั้น จิตของ
ข้าพเจ้าจึงขุ่นมัว ไม่สามารถบอกอรรถธรรมแก่ท่านได้ แต่ข้าพเจ้ามีน้องชาย
อยู่คนหนึ่ง ชื่อว่า สัมภวกุมาร แต่เกิดมาอายุได้เพียงเจ็ดปี มีญาณความรู้
เหนือข้าพเจ้า ตั้งร้อยเท่า พันเท่า แสนเท่า เธอจักบอกแก่ท่านได้ เชิญท่าน
ไปถามดูเถิด เมื่อจะประกาศความนั้น ได้กล่าวคาถา 2 คาถา ความว่า
ข้าแต่ท่านสุจีรตพราหมณ์ มัจจุราชย่อมกลืนกิน
ข้าพเจ้า ทั้งเช้าและเย็นถึงถูกท่านถาม ไม่สามารถ
จะบอกอรรถและธรรมแก่ท่านได้.
ท่านพราหมณ์สุจีรตะ น้องชายของข้าพเจ้ามีอยู่
ชื่อว่า สัมภวกุมาร เชิญท่านไปถามอรรถและธรรม
กะเธอดูเถิด.

สุจีรตพราหมณ์ได้ฟังดังนั้น จึงคิดว่า ปัญหานี้จักเป็นของอัศจรรย์
ในโลกนี้ ชะรอยจะไม่มีใครที่ชื่อว่าสามารถเพื่อจะวิสัชนาปัญหานี้ แล้วได้
กล่าวคาถา 2 คาถา ความว่า

ชาวเราเอ๋ย ปัญหานี้เป็นธรรม น่าอัศจรรย์จริง
เราไม่พอใจเลย ชนทั้ง 3 คน คือ บิดาและบุตรสองคน
ยังไม่มีปัญญารู้แจ้งธรรมนี้.
ท่านทั้งหลายถูกถามแล้ว ยังไม่สามารบอก
อรรถและธรรมนั้นได้ เด็กเจ็ดขวบถูกถามถึงอรรถ
และธรรม จะรู้เรื่องได้อย่างไร ?

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นายํ ความว่า นี้เป็นปัญหาธรรมที่น่า
อัศจรรย์ ชื่อว่าคนผู้สามารถบอกปัญหาธรรมนี้ไม่มีเลย เพราะเหตุนั้น เด็ก
ที่ท่านพูดว่า จักบอกได้นี้ เราไม่พอใจเลย. สุ อักษรในบทว่า เต สุ นี้
เป็นเพียงนิบาต. อธิบายว่า วิธุรพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี ภัทรการมาณพ
และสัญชยกุมารบุตรก็ดี รวมเป็น 3 คนทั้งบิดาและบุตร ยังไม่รู้แจ้ง คือยัง
ไม่ทราบชัด ซึ่งธรรมนี้ด้วยปัญญาได้ คนอื่นใครเล่าจักรู้. บทว่า น นํ
ความว่า ท่านทั้ง 3 คนถูกถามแล้ว ยังไม่สามารถบอกได้ เด็กอายุ 7 ขวบ
ถูกถามแล้ว จักรู้ได้อย่างไรกัน คือ จักสามารถรู้ได้ด้วยเหตุไฉน ?
สัญชยกุมารได้ฟังดังนั้น จึงชี้แจงว่า ท่านอย่าเข้าใจว่า สัมภวกุมาร
เป็นเด็ก ถ้าท่านมีความต้องการด้วยการวิสัชนาปัญหา ท่านจงไปถามเขา
ดูเถิด เมื่อจะประกาศเกียรติคุณของกุมารน้องชาย โดยแสดงใจความให้เข้าใจ
ได้กล่าวคาถา 12 คาถา ความว่า
ดูก่อนท่านพราหมณ์ ท่านยังไม่ได้ถาม สัมภว-
กุมาร อย่าเพิ่งเข้าใจว่าเธอเป็นเด็ก ท่านถามสัมภว
กุมารแล้ว จะพึงรู้อรรถและธรรมได้.
พระจันทร์ปราศจากมลทิน โคจรไปในอากาศ
ย่อมสว่างไสวล่วงหมู่ดาวทั้งปวง ในโลกนี้ด้วยรัศมี
ฉันใด

สัมภวกุมารแม้ยังเป็นเด็กก็ฉันนั้น ย่อมไพโรจน์ล่วง
บัณฑิตทั้งหลาย เพราะประกอบด้วยปัญญา ดูก่อนท่าน
พราหมณ์ ท่านยังไม่ได้ถามสัมภวกุมาร อย่าเพิ่งเข้าใจ
ว่า เธอเป็นเด็ก ท่านถามสัมภวกุมารแล้วจะพึงรู้อรรถ
และธรรมได้.
ดูก่อนท่านพราหมณ์ เดือน 5 ในคิมหันตฤดู
ย่อมสวยงามยิ่งกว่าเดือนอื่น ๆ ด้วยต้นไม้และดอกไม้
ฉันใด สัมภวกุมารแม้ยังเป็นเด็กก็ฉันนั้น ย่อมไพโรจน์
ล่วงบัณฑิตทั้งหลาย เพราะประกอบด้วยปัญญา
ดูก่อนพราหมณ์ ท่านยังไม่ได้ถามสัมภวกุมาร อย่า
เพิ่งเข้าใจว่าเธอเป็นเด็ก ท่านถามสัมภวกุมารแล้ว
จะพึงรู้อรรถและธรรมได้.
ดูก่อนท่านพราหมณ์ หิมวันตบรรพต ชื่อว่า
คันธมาทน์ ดารดาษไปด้วยไม้ต่าง ๆ พันธุ์ เป็นที่อยู่
อาศัยแห่งทวยเทพ ย่อมสง่างามและหอมตลบไป
ทั่วทิศ ด้วยทิพยโอสถ ฉันใด สัมภวกุมารแม้ยังเป็น
เด็กก็ฉันนั้น ย่อมไพโรจน์ล่วงบัณฑิตทั้งหลาย เพราะ
ประกอบด้วยปัญญา ดูก่อนท่านพราหมณ์ ท่านยังไม่ได้
ถามสัมภวกุมาร อย่าเพิ่งเข้าใจว่าเธอเป็นเด็ก ท่านถาม
สัมภวกุมารแล้วจะพึงรู้อรรถและธรรมได้.

ไฟป่ามีเปลวรุ่งเรือง ไหม้ลามไปในป่าไม่อิ่ม
มีแนวทางดำ คุเรื่อยไป มีเปรียงเป็นอาหาร มีควัน
เป็นธง ไหม้แนวไพรสูง ๆ เวลากลางคืนสว่างลุกโชน
อยู่บนยอดภูเขา ฉันใด มภวกุมารแม้ยังเป็นเด็กก็ฉัน
นั้น ย่อมไพโรจน์ล่วงบัณฑิตทั้งหลาย เพราะประกอบ
ด้วยปัญญา ดูก่อนพราหมณ์ ท่านยังไม่ได้ถามสัมภว-
กุมาร อย่าเพิ่งเข้าใจว่าเธอเป็นเด็ก ท่านถามสัมภวกุมาร
แล้ว จะพึงรู้อรรถและธรรมได้.
ม้าดีจะรู้ได้เพราะฝีเท้า โคพลิพัทธ์จะรู้ได้
เพราะเข็นภาระไป แม่โคนมจะรู้ได้เพราะน้ำนมดี
และบัณฑิตจะรู้ได้เมื่อเจรจา ฉันใด สัมภวกุมารแม้ยัง
เป็นเด็กก็ฉันนั้น ย่อมไพโรจน์ล่วงบัณฑิตทั้งหลาย
เพราะประกอบด้วยปัญญา ดูก่อนท่านพราหมณ์ ท่าน
ยังไม่ได้ถามสัมภวกุมาร อย่าเพิ่งเข้าใจว่าเธอเป็นเด็ก
ท่านถามสัมภวกุมารแล้ว จะพึงรู้อรรถและธรรมได้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชญฺญา แปลว่า จักได้รู้. บทว่า จนฺโท
ได้แก่ พระจันทร์ในวันเพ็ญ. บทว่า วิมโล ความว่า ปราศจากมลทินมี
หมอกเป็นต้น. บทว่า เอวมฺปิ ทหรูเปโต ความว่า สัมภวกุมารแม้เข้าถึง
ความเป็นเด็กก็ฉันนั้น ย่อมงามเกิน คือไพโรจน์ล่วงได้แก่สว่างไสว ล่วง
บัณฑิตที่เหลือ ในพื้นชมพูทวีปทั้งสิ้น เพราะประกอบด้วยปัญญา.

บทว่า รมฺมโก ได้แก่ เดือน 5. บทว่า อเตวญฺเญหิ ความว่า
งามกว่าเดือนทั้ง 11 เดือน อื่น ๆ ยิ่งนัก. บทว่า เอวํ ความว่า แม้
สัมภวกุมาร ก็ฉันนั้น ย่อมงดงาม เพราะประกอบด้วยปัญญา. บทว่า หิมวา
ความว่า ภูเขา มีชื่อว่า หิมะ เพราะประกอบไปด้วยหิมะ ในสมัยหิมะตก
อนึ่ง ชื่อว่า คายหิมะ เพราะคายหิมะ ในคิมหฤดู ภูเขาชื่อว่า คันธมาทน์
เพราะย่ำยีชนผู้มาประจวบเข้าด้วยของหอม. บทว่า มหาภูตคณาลโย แปลว่า
เป็นที่อยู่อาศัยของทวยเทพ. บทว่า ทิสา ภาติ ความว่า ภูเขาคันธมาทน์
นั้นย่อมทำทิศทั้งปวงให้สว่างไสว เป็นอันเดียวกัน. บทว่า ปวาติ ความว่า
ย่อมฟุ้งไปตลอดทิศ ทั้งปวงด้วยของหอม.
บทว่า เอวํ ความว่า สัมภวกุมารแม้ยังเป็นเด็กฉันนั้น ย่อมสว่าง
ไสวและหอมฟุ้งไปทั่วทิศทั้งปวง เพราะประกอบด้วยปัญญา. บทว่า ยสสฺสิมา
ความว่า ไฟป่าชื่อว่า ยสสฺสิมา มีเปลว เรื่องโรจน์ เพราะถึงพร้อมด้วย
เดช. บทว่า อจฺจิมาลี ความว่า ไฟป่าประกอบไปด้วยเปลว. บทว่า ชลมา-
โน วเน คจฺเฉ
ความว่า ย่อมลามไหม้ไปในป่าใหญ่ กล่าวคือ กอไม้.
บทว่า อนโล แปลว่า ไม่อิ่ม. ชื่อว่า เป็นแนวดำ เพราะทางที่ไฟไหม้ไป
แล้วดำ. ชื่อว่า มีเปรียงเป็นอาหาร เพราะกินเปรียง ด้วยสามารถแห่งเครื่อง
บูชา ในยัญพิธี. ชื่อว่า มีควันเป็นธง เพราะยังกิจแห่งธงให้สำเร็จ. บทว่า
อุตฺตมาเหวนนฺทโห ความว่า ไฟป่า ย่อมไหม้ไพรสณฑ์สูง ๆ ที่เรียก
กันว่า ป่าทึบ. บทว่า นิสฺสิเว แปลว่า ในเวลาค่ำคืน. บทว่า ปพฺพตคฺคสฺมึ
แปลว่า บนยอดภูเขา. บทว่า พหุเตโช แปลว่า มีฤทธิ์เคชมากมาย. บทว่า
วิโรจติ ความว่า ย่อมส่องสว่างทวีทิศทั้งปวง. บทว่า เอวํ ความว่า
สัมภวกุมารน้องชายของข้าพเจ้า แม้จะเป็นเด็ก ก็ฉันนั้น ย่อมไพโรจน์ล่วง
บัณฑิตทั้งหลาย เพราะประกอบด้วยปัญญา. บทว่า ภทฺรํ ความว่า ชน

ทั้งหลาย รู้จักม้าอาชาไนยตัวเจริญ เพราะประกอบไปด้วยฝีเท้า มิใช่เพราะ
รูปร่าง หน้าตา. บทว่า วาหิเย ความว่า ชนทั้งหลายรู้จักโคพลิพัทธ์
ว่าโคนี้ ประเสริฐแท้ เพราะนําภาระไปได้ ในเมื่อมีภาระที่จะพึงนำไป.
บทว่า โทเหน ความว่า รู้จักแม่โคนมว่ามีน้ำนมดี เพราะถึงพร้อมด้วย
น้ำนม. ในบทว่า ภาสมานํ นี้ ความว่า รู้จักว่าเป็นบัณฑิต เมื่อพูด
เรื่องราวต่าง ๆ. นักปราชญ์พึงนําสูตรว่าด้วยบัณฑิตกับคนพาลมาแสดงประกอบ.
เมื่อสัญชยกุมาร สรรเสริญสัมภวกุมารอยู่อย่างนี้ สุจีรตพราหมณ์
คิดว่า เราถามปัญหาดูแล้ว จักรู้กัน ดังนี้ แล้วจึงถามว่า ดูก่อนกุมาร
น้องชายของเจ้าอยู่ไหนเล่า ลำดับนั้น สัญชยกุมารจึงเปิดสีหบัญชร ชี้มือ
บอกสุจีรตพราหมณ์ว่า นั่น สัมภวกุมาร คนที่มีผิวพรรณผ่องใสคล้ายทองคำ
กำลังเล่นอยู่กับเพื่อนเด็ก ๆ ระหว่างถนนริมประตูปราสาท นี้คือน้องชายของ
ข้าพเจ้า เชิญท่านไปหาแล้วไต่ถามเขาดู เขาจักบอกปัญหาแก่ท่านได้ โดย
ลีลาแห่งพระพุทธเจ้า สุจีรตพราหมณ์ ฟังคำของสัญชยกุมารแล้ว ลงจาก
ปราสาท ไปยังสำนักของสัมภวกุมาร. มีคำถามสอดเข้ามาว่า ไปเวลาไหน ?
แก้ว่า ไปในเวลาที่สัมภวกุมาร ยืนเปลื้องผ้านุ่งออกพาดไว้ที่ตอ เอามือทั้งสอง
กอบฝุ่นเล่น.
เมื่อพระบรมศาสดา จะทรงกระทำเนื้อความนั้นให้แจ่มแจ้ง จึงตรัส
พระคาถา ความว่า
มหาพราหมณ์ ภารทวาชโคตร นั้นได้ไปยัง
สำนักของสัมภวกุมาร เห็นเธอกำลังเล่นอยู่นอกบ้าน.

ฝ่ายพระมหาสัตว์เจ้า เห็นพราหมณ์มายืนอยู่ข้างหน้า จึงถามว่า ข้า
แต่ท่านพ่อ ท่านมาด้วยประสงค์สิ่งไร เมื่อสุจีรตพราหมณ์บอกว่า พ่อกุมาร

เราเที่ยวไปในพื้นชมพูทวีป ก็ไม่พบผู้ที่สามารถจะแก้ปัญหาที่เราถามได้ จึง
ได้มายังสำนักของเจ้าดังนี้แล้ว จึงคิดว่า ทราบว่า ปัญหาที่ใคร ๆ วินิจฉัย
ไม่ได้ในสกลชมพูทวีป ตกมาถึงสำนักของเรา เราเป็นคนแก่ด้วยความรู้ ดังนี้
รู้สึกละอายใจ จึงทิ้งฝุ่นที่อยู่ในกำมือเสีย ดึงผ้าที่ตอมามานุ่ง แล้วปวารณา
โดย สัพพัญญุตญาณว่า เชิญถามเถิดท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าจักบอกท่านโดย
ลีลาแห่งพระพุทธเจ้า.
ลำดับนั้น สุจีรตพราหมณ์ ถามปัญหาด้วยคาถา ความว่า
เราเป็นราชทูตของพระเจ้า โกรัพยราช ผู้ยงยศ
ทรงส่งมา พระองค์ผู้ยุธิฏฐิลโคตร ดำรัสถามถึงอรรถ
และธรรม ได้ตรัสแล้วดังกล่าวมา ดูก่อนสัมภวกุมาร
ท่านถูกถามแล้ว ขอจงบอกอรรถและธรรมนั้นเถิด.

ใจความแห่งปัญหานั้นว่า เกียรติคุณแห่งสัมภวบัณฑิต ได้ปรากฏ
เหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญ ท่ามกลางแห่งดวงดาวฉะนั้น.
ลำดับนั้น สัมภวกุมาร จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นท่านจงคอยฟัง เมื่อ
จะวิสัชนาธัมมยาคปัญหา กล่าวคาถา ความว่า
เชิญฟัง ข้าพเจ้า จักแก้ปัญหาแก่ท่าน อย่างนัก
ปราชญ์ อนึ่ง พระราชาย่อมทรงทราบอรรถ และ
ธรรมนั้นได้ แต่จักทรงทำตามหรือไม่ ไม่ทราบ.

เมื่อสัมภวกุมารยืนแสดงธรรมอยู่ระหว่างถนน ด้วยเสียงอันไพเราะ
เสียงกึกก้องไปทั่วพระนครพาราณสี ประมาณ 12 โยชน์ ลำดับนั้น พระ
ราชาและอุปราชเป็นต้นทั้งหมด มาประชุมกันแล้ว พระมหาสัตว์เจ้า จึงเริ่ม
แสดงธรรมเทศนา ในท่ามกลางมหาชน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตคฺฆ เป็นคำเชิญให้สดับการพยากรณ์
ปัญหาแง่เดียว. บทว่า ยถาปิ กุสโล ความว่า พระมหาสัตว์เจ้า แสดง
ธรรมแก่สุจีรตพราหมณ์ว่า พระสัพพัญญูผู้ทรงฉลาดยิ่ง ตรัสบอกฉันใด
ข้าพเจ้าก็จักบอกแก่ท่านโดยส่วนเดียวฉันนั้น. บทว่า ราชา จ โข ตํ
ความว่า ข้าพเจ้าจักบอกปัญหานั้น โดยประการที่พระราชาของท่านจะทรง
ทราบได้ ยิ่งกว่านั้น พระราชา ย่อมทรงทราบอรรถธรรมนั้นได้อย่างนี้ พระ
องค์จะทรงกระทำตาม หรือไม่ทรงกระทำตามก็ตาม ปัญหานั้นจักเกิดมีแก่
ท้าวเธอ ผู้ทรงกระทำตาม หรือไม่ทรงกระทำตามทีเดียว แต่โทษผิดของเรา
ไม่มี.
ครั้นสัมภวกุมาร ปฏิญาณณการกล่าวแก้ปัญหา ด้วยคาถาอย่างนี้แล้ว
บัดนี้ เมื่อจะกล่าวธัมมยาคปัญหาต่อไป จึงกล่าวคาถา ความว่า
ข้าแต่สุจีรตพราหมณ์ บุคคลผู้ถูกพระราชา
ตรัสถามแล้ว พึงทูลกิจที่ควรทำในวันนี้ ให้ทำในวัน
พรุ่งนี้ พระเจ้ายุธิฏฐิละ อย่าได้ทรงทำตาม ในเมื่อ
ประโยชน์เกิดขึ้น.
ข้าแต่ท่านสุจีรตะ เมื่อบุคคลถูกพระราชาดำรัส
ถาม พึงกราบทูลธรรมภายในเท่านั้น ไม่พึงให้เสด็จ
ไปยังหนทางผิด ดุจคนโง่หาความคิดมิได้ฉะนั้น.
กษัตริย์ไม่ควรลืมพระองค์ ไม่ควรประพฤติ
อธรรม ไม่ควรข้ามไปในที่มิใช่ท่า ไม่พึงทรงขวนขวาย
ในสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์.

อนึ่ง กษัตริย์พระองค์ใด ทรงทราบว่า ควรจะ
ทำฐานะเหล่านี้ กษัตริย์พระองค์นั้น ย่อมทรงพระเจริญ
ทุกเมื่อ ดุจพระจันทร์ ในสุกปักษ์ ฉะนั้น.
กษัตริย์พระองค์นั้น ย่อมเป็นที่รักใคร่ของพระ-
ประยูรญาติทั้งหลายด้วย ย่อมทรงรุ่งโรจน์ในหมู่มิตร
ด้วย ท้าวเธอมีพระปรีชา เมื่อสวรรคตแล้วย่อมเข้าถึง
โลกสวรรค์.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สํเสยฺย ได้แก่ พึงกราบทูล. ท่านกล่าว
คำอธิบายไว้ดังนี้ ข้าแต่ท่านสุจีรตะ ถ้าหากใครถูกพระราชาของท่านดำรัสถามว่า
วันนี้เราจะให้ทาน รักษาศีล กระทำอุโบสถดังนี้ไซร้ พึงกราบทูลว่า
ขอเดชะ ข้าแต่มหาราชเจ้า วันนี้พวกข้าพระพุทธเจ้าจะฆ่าสัตว์ จะบริโภคกาม
จะดื่มสุราก่อน ต่อพรุ่งนี้จึงจักทำบุญทำกุศล พระราชาผู้ยุธิฏฐิลโคตรของท่าน
ถึงจะทรงกระทำตามคำของอำมาตย์ แม้ผู้ยิ่งใหญ่นั้นแล้ว ก็อย่าได้อยู่อย่าง
ยังวันนั้นให้ล่วงไปด้วยความประมาท ในเมื่อประโยชน์เช่นนั้นเกิดขึ้น อย่า
ทรงกระทำตามคำของเขา รักษากุศลจิตที่เกิดขึ้นแล้วอย่าให้เสื่อม จงทรง
บำเพ็ญกรรมอันปฏิสังยุตด้วยกุศลอย่างเดียว ท่านควรกราบทูลคำนี้แด่พระราชา
ของท่าน.
ด้วยคาถานี้ พระมหาสัตว์เจ้า แสดงภัทเทกรัตตสูตรว่า อชฺเชว
กิจฺจมาตปฺปํ โกชญฺญา มรณํ สุเว
เป็นอาทิ ความว่า ควรทำความเพียร
เสียในวันนี้ ใครเล่าจะรู้ความตายว่าจะมีในวันพรุ่งนี้ และแสดงโอวาทเกี่ยวด้วย
ความไม่ประมาทว่า อปฺปมาโท อมตํ ปทํ ปมาโท มจฺจุโน ปทํ
เป็นอาทิความว่า ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่ง
ความตาย ด้วยประการฉะนี้. บทว่า อชฺชตญฺเญว ความว่า ท่านสุจีรตะ

ท่านถูกพระราชาดำรัสถามว่า สัมภวบัณฑิตถูกท่านถามในธัมมยาคปัญหา
กล่าวแก้อย่างไร ? พึงกราบทูลอัชฌัตธรรมอย่างเดียว แด่พระราชา คือ
พึงกราบทูลถึงเบญจขันธ์อันเป็นนิยกัชฌัตธรรมว่า เป็นของไม่เที่ยงโดยความ
เป็นของไม่มี.
ด้วยคำเพียงเท่านี้ พระมหาสัตว์เจ้า ทรงแสดงอนิจจตาธรรมแจ่มแจ้ง
ด้วยคาถาอย่างนี้ ความว่า
เมื่อใดบัณฑิตพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขาร
ทั้งหลายไม่เที่ยง เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ สังขาร
ทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็น
ธรรมดา ครั้นเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความเข้าไประงับ
สังขารเหล่านั้นเสียได้เป็นสุข.

บทว่า กุมฺมคฺคํ ความว่า ข้าแต่ท่านพราหมณ์ อันธพาลปุถุชน
คนงมงายไม่มีความคิด ย่อมซ่องเสพทางผิดคือทิฏฐิ 62 ประการฉันใด พระ-
ราชาของท่านไม่ควรซ่องเสพทางผิดฉันนั้น จงซ่องเสพเฉพาะกุศลกรรมบถ 10
อันเป็นนิยยานิกธรรม ท่านควรกราบทูลพระองค์อย่างนี้. บทว่า อตฺตานํ
ความว่า กษัตริย์ไม่ควรละเลยอัตภาพอันดำรงอยู่ในสุคติ ชนทั้งหลายละเลย
กุศลสมบัติ 3 ประการในกามภพ แล้วบังเกิดในอบายเพราะกรรมใด กษัตริย์
ไม่ควรทำกรรมนั้น. บทว่า อธมฺมํ ความว่า ไม่ควรประพฤติอธรรมกล่าวคือ
ทุจริต 3 อย่าง. บทว่า อติตฺเถ ความว่า ไม่ควรข้าม คือ ไม่ควรหยั่งลง
ในที่มิใช่ท่า กล่าวคือทิฏฐิ 62 ประการ. ปาฐะว่า น ตาเรยฺย ดังนี้ก็มี.
ความก็ว่า ไม่ควรยังชนผู้ถึงทิฏฐานุคติของของตนให้หยั่งลง. บทว่า อนตฺเถ
ได้แก่ ในสิ่งที่มิใช่เหตุ. บทว่า น ยุโต ความว่า ไม่ควรขวนขวาย
(ในสิ่งไร้เหตุผล). ในข้อนี้มีคำอธิบายว่า ถ้าว่าพระราชาของท่านทรงประสงค์

จะประพฤติในธัมมยาคปัญหา ก็จงทรงประพฤติในโอวาทนี้ ท่านควรกราบทูล
ท้าวเธอด้วยประการฉะนี้.
บทว่า สทา ได้แก่ ตลอดกาลเป็นไปติดต่อ. ท่านกล่าวอธิบาย
ไว้ดังนี้ พระขัตติยราชพระองค์ใดทรงทราบเพื่อจะทำเหตุเหล่านี้ พระขัตติย-
ราชพระองค์นั้นย่อมทรงเจริญทุกเมื่อ ดุจพระจันทร์ในข้างขึ้นฉะนั้น. บทว่า
วิโรจติ ความว่า ย่อมทรงงดงามไพโรจน์ท่ามกลางมิตรและอำมาตย์ของ
พระองค์ ด้วยคุณทั้งหลายมีศีล มรรยาท และญาณ เป็นต้น.
พระมหาสัตว์เจ้า กล่าวแก้ปัญหาแก่พราหมณ์โดยลีลาแห่งพระพุทธเจ้า
ดุจยังพระจันทร์ให้ปรากฏขึ้น ณ พื้นอากาศ ด้วยอาการอย่างนี้. มหาชน
ต่างบันลือโห่ร้องตบมือ กระทำสาธุการพันครั้ง ยังการยกธงและการดีดนิ้วมือ
ให้เป็นไป ทั้งซัดไปซึ่งวัตถุมีเครื่องประดับมือเป็นต้น. ทรัพย์สินที่มหาชน
ซัดไปแล้วอย่างนี้ นับได้ถึงโกฏิ. แม้พระราชาก็ทรงโปรดปรานพระราชทาน
ยศใหญ่ แก่สัมภวกุมารนั้น ฝ่ายสุจีรตพราหมณ์ ทำการบูชาด้วยทองคำพันลิ่ม
แล้วจารึกคำวิสัชนาปัญหาลงในแผ่นทองคำด้วยชาดกับหรดาล แล้วเดินทาง
ไปยังอินทปัตตนครกราบทูลธัมมยาคปัญหาแด่พระราชา. พระราชาทรงประ-
พฤติในธรรมนั้น แล้วยังเมืองสวรรค์ให้แน่นบริบูรณ์.
พระบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่าดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ก็หามิได้ แม้ในปางก่อน ตถาคตก็มี
ปัญญามากเหมือนกัน ดังนี้แล้ว ทรงประชุมชาดกว่าพระเจ้าธนัญชยโกรัพย-
ราช
ในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอานนท์ สุจีรตพราหมณ์ ได้มาเป็นพระอนุ-
รุทธะ วิธุรพราหมณ์
ได้มาเป็นพระอริยกัสสป ภัทรการกุมารได้มาเป็น
พระโมคคัลลานะ สัญชยมาณพ ได้มาเป็นพระสารีบุตร สัมภวบัณฑิต
ได้มาเป็นเราผู้ตถาคต ฉะนี้แล.
จบอรรถกถาสัมภวชาดก

6. มหากปิชาดก



ว่าด้วยผลกรรมของผู้ที่ทำร้ายผู้มีคุณ



[2370] พระราชาแห่งชนชาวกาสี ผู้ทรงยัง
รัฐสีมามณฑลให้เจริญ ในพระนครพาราณสี ทรง-
แวดล้อมไปด้วยมิตร และอำมาตย์ผู้มีความภักดีมั่นคง
เสด็จไปยังมิคาชินอุทยาน.
ณ ที่นั้นได้ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์ ซึ่งเป็น
โรคเรื้อน ขาวพราวเป็นจุด ๆ ตามตัว มากไปด้วย
กลากเกลื้อนเรี่ยราดด้วยเนื้อที่หลุดออกมาจากปากแผล
เช่นกับดอกทองกวาวที่บานในเรือนร่างทุกแห่งมีเพียง
กระดูก ซูบผอม สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น.
ครั้นทอดพระเนตรเห็นคนที่ตกยาก ถึงความ
ลำบากน่าสงสารยิ่งนักแล้ว ทรงหวั่นหวาดพระทัย จึง
ตรัสถามว่า ท่านเป็นยักษ์ประเภทไหน ในจำนวน
ยักษ์ทั้งหลาย.
อนึ่ง มือและเท้าของท่านขาว ศีรษะยิ่งขาว
กว่านั้น ตัวของท่านก็ด่างพร้อย มากไปด้วยเกลื้อน-
กลาก.
หลังของท่านก็เป็นปุ่ม เป็นปม ดุจเถาวัลย์อันยุ่ง
อวัยวะของท่านบ้างก็ดำ บ้างก็หงิกงอ คล้ายเถาวัลย์
มีข้อดำ ดูไม่เหมือนคนอื่น ๆ.