เมนู

อรรถกถาชัยทิสชาดก



พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภ
ภิกษุผู้เลี้ยงมารดารูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า จิรสฺสํ วต
เม
ดังนี้.
ก็ในครั้งนั้น พระศาสดาตรัสว่า โปราณกบัณฑิตทั้งหลาย ละเศวต
ฉัตร อันประดับด้วยกาญจนมาลา แล้วเลี้ยงดูมารดาบิดา ดังนี้ อันภิกษุนั้น
ทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสดังต่อไปนี้
ในอดีตกาล มีพระราชาทรงพระนามว่า อุตตรปัญจาลราช เสวยราช
สมบัติอยู่ในกปิลรัฐ พระอัครมเหสีของท้าวเธอทรงตั้งพระครรภ์ แล้วประสูติ
พระราชโอรส ในภพก่อน หญิงคนหนึ่งร่วมสามีกับพระนาง โกรธเคืองกัน
แล้ว ตั้งความปรารถนาว่า ขอให้เราสามารถเคี้ยวกินบุตรของท่านที่คลอด
แล้ว ดังนี้ แล้วได้มาเกิดเป็นนางยักษิณี คราวนั้น นางยักษิณีนั้นได้โอกาส
ทั้ง ๆ ที่พระนางเทวีทอดพระเนตรเห็นอยู่ คว้าเอาพระกุมารผู้มีวรรณะ ดุจ
ชิ้นเนื้อสดไปเคี้ยวกิน เสียงกร้วม ๆ แล้วหลบหลีกไป แม้ในวาระที่ 2 ก็ได้
ทำอย่างนั้น แต่ในวาระที่ 3 ในเวลาที่พระนางเทวีเสด็จเข้าไปสู่เรือนประสูติ
แล้ว พวกราชบุรุษพากันแวดล้อมตำหนัก จัดการถวายอารักขามั่นคง ใน
วันที่พระเทวีประสูติ นางยักษิณี ก็มาจับเอาทารกไปอีก พระนางเทวีจึงส่ง
พระสุรเสียงร้องขึ้นว่า นางยักษ์ ๆ ราชบุรุษทั้งหลายมีอาวุธครบมือ พากัน
วิ่งติดตามนางยักษิณี ตามสัญญาที่พระนางบอกให้ นางยักษิณีไม่ได้โอกาสเพื่อ
จะเคี้ยวกิน หนีไปจากที่นั้น เข้าไปยังท่อน้ำ ส่วนทารก อ้าปากดูดนมนาง
ยักษิณี โดยเข้าใจว่าเป็นมารดา นางยักษิณีก็เกิดความรักเหมือนบุตรของตน

หนีออกจากท่อน้ำได้แล้ว ไปยังสุสานสถาน ทำการประคบประหงมทารกนั้น
อยู่ในถ้ำศิลา ต่อมาเมื่อทารกนั้นเจริญเติบโตขึ้นโดยลำดับ นางยักษิณีก็นำ
เนื้อมนุษย์มาให้กินเป็นอาหาร ทั้งสองก็กินเนื้อมนุษย์อยู่ในที่นั้น ทารกไม่รู้
ตัวว่าเป็นมนุษย์ สำคัญว่าเป็นบุตรนางยักษิณี แต่ก็ไม่อาจที่จะจำแลงกายหาย
ตัวได้ ต่อมานางยักษิณีจึงให้รากไม้อย่างหนึ่ง แก่พระราชกุมาร เพื่อต้องการ
ให้หายตัวได้ ด้วยอานุภาพแห่งรากไม้ พระราชกุมารหายตัวได้ ก็เที่ยวไปกิน
เนื้อมนุษย์ นางยักษิณีไปปรนนิบัติท้าวเวสสวัณมหาราช เลยทำกาลกิริยา
เสีย ณ ที่นั้นเอง ฝ่ายพระนางเทวีประสูติพระโอรสองค์หนึ่ง ในวาระที่ 4
พระราชโอรสจึงปลอดภัย เพราะพ้นจากนางยักษิณี พระชนกชนนีและพระ
ประยูรญาติ ได้ขนานพระนาม ให้พระโอรสนั้นว่า ชัยทิสกุมาร เพราะเกิด
มาชนะนางยักษิณีผู้เป็นปัจจามิตร พระชัยทิสกุมารทรงเจริญวัยแล้ว ได้ทรง
ศึกษาศิลปวิทยาสำเร็จ แล้วให้ยกเศวตฉัตร ครองราชสมบัติสืบสันติวงศ์.
คราวนั้น พระโพธิสัตว์ บังเกิดในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของ
พระเจ้าชัยทิสนั้น พระชนกชนนีและพระประยูรญาติ ขนานพระนามว่า "อลีน
สัตตุกุมาร"
พออลีนสัตตุกุมารเจริญวัยแล้ว ทรงเล่าเรียนศิลปศาสตร์ จน
สำเร็จ ได้เป็นอุปราช ในเวลาต่อมา กุมารผู้เป็นบุตรนางยักษิณีทำรากไม้หาย
เพราะความประมาท ไม่สามารถเพื่อจะหายตัวได้ จึงมีรูปร่างปรากฏเคี้ยวกิน
เนื้อมนุษย์อยู่ที่สุสาน คนทั้งหลายเห็นเข้าก็พากันสะดุ้งตกใจกลัว แล้วเข้ามา
ร้องทุกข์พระราชาว่า ขอเดชะ พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ มียักษ์
ตนหนึ่ง ปรากฏตนเคี้ยวกินเนื้อมนุษย์อยู่ที่สุสาน มันคงเข้ามาพระนครโดย
ลำดับ ๆ จักฆ่ามนุษย์เคี้ยวกินเป็นอาหาร ควรตรัสสั่งให้จับเสีย พระเจ้าข้า
พระราชาทรงรับทราบแล้ว มีพระราชโองการสั่งพลนิกายว่า ท่านทั้งหลายจง

จับยักษ์ตนนั้น พลนิกายเหล่านั้น ไปยืนรายล้อมสุสานประเทศ กุมารบุตรนาง
ยักษิณีมีรูปร่างเปล่าเปลือย น่าสะพรึงกลัว หวาดต่อมรณภัย ร้องขึ้นด้วยเสียง
อันดัง วิ่งผ่าฝูงคนไป ผู้คนทั้งหลาย หวาดหวั่นต่อมรณภัย ร้องบอกกันว่า
ยักษ์ ๆ ดังนี้ แตกกลุ่มออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายกุมารบุตรนางยักษิณี หนีจาก
ที่นั้นได้แล้วก็เข้าไปสู่ป่า ไม่กลับมายังถิ่นมนุษย์อีก ได้ไปอาศัยดงใกล้ทาง
ใหญ่แห่งหนึ่ง คอยจับผู้คนที่เดินทางผ่านมาได้ทีละคน แล้วเข้าไปสู่ป่าฆ่า
เคี้ยวกิน พำนักอาศัยอยู่ที่โคนต้นไม้นิโครธต้นหนึ่ง.
ลำดับนั้น พราหมณ์พ่อค้าเกวียนคนหนึ่ง จ้างคนรักษาดงเป็นราคา
หนึ่งพัน เพื่อพาข้ามดง พร้อมด้วยเกวียน 500 เล่ม มนุษย์ยักษ์ เห็น
แล้วจึงส่งเสียงดังลั่น วิ่งมา ผู้คนทั้งหลายต่างตกใจกลัว พากันนอนราบหมด
มนุษย์ยักษ์จับพราหมณ์พ่อค้าได้แล้ว หนีไป ถูกตอไม้ตำเอาที่เท้า และเมื่อ
พวกมนุษย์รักษาดงวิ่งติดตามมา จึงทิ้งพราหมณ์วิ่งหนี เมื่อมนุษย์ยักษ์นั้น
นอนอยู่ในที่นั้น7วัน พระเจ้าชัยทิสเสด็จออกจากพระนครล่าเนื้อ พราหมณ์ผู้
เลี้ยงดูมารดาคนหนึ่งชื่อนันทะ เป็นชาวเมืองตักกศิลา ได้เรียนสตารหคาถา
4 บาท มาเฝ้าพระเจ้าชัยทิส ซึ่งกำลังจะเสด็จออกจากพระนคร พระเจ้าชัย
ทิส ตรัสสั่งว่า เรากลับมาแล้วจักฟัง พระราชทานบ้านพักแก่พราหมณ์นั้น
แล้วเสด็จไปล่าเนื้อ ตรัสสั่งว่า เนื้อหนีไปทางด้านผู้ใด ผู้นั้นจักต้องมีโทษ.
ลำดับนั้น กวางตัวหนึ่ง ลุกขึ้นแล้ววิ่งหนีผ่านหน้าพระราชาไป อำ-
มาตย์ทั้งหลาย ต่างพากันหัวเราะ พระราชาทรงถือพระขรรค์ ติดตามกวางไป
สิ้นระยะทาง 3 โยชน์จึงตามทัน แล้วเอาพระขรรค์ฟันกวางนั้นขาดออกเป็น
สองท่อนทรงใส่หาบ ๆ เสด็จมาถึงสถานที่มนุษย์ยักษ์นอนอยู่ ประทับนั่งพัก
หน่อยหนึ่ง ที่ลานหญ้าแพรก แล้วเตรียมจะเสด็จต่อไป ลำดับนั้น มนุษย์ยักษ์
ลุกขึ้น กล่าวว่า หยุดนะ ! ท่านจะไปไหน ท่านตกเป็นอาหารของเราแล้ว
ยึดพระหัตถ์ไว้ กล่าวคาถาที่ 1 ความว่า

เป็นเวลานานนักหนา นับแต่เวลาที่เราอดอาหาร
มาครบ 7 วัน อาหารมากมาย พึ่งเกิดขึ้นแก่เราวัน
นี้ ท่านเป็นใคร มาจากไหน เชิญท่านบอก ชาติ
สกุล ตามที่รู้กันมาเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภกฺโข มหา ความว่า อาหารเป็นอัน
มาก. บทว่า สตฺตมิภตฺตกาเล ความว่า นับแต่วันปาฏิบทมา ถึงการที่
เราอดอาหารครบ 7 วัน. บทว่า กุโตสิ ความว่า ท่านมาจากไหน ?
พระราชาทอดพระเนตรเห็นยักษ์ แล้วตกใจกลัว ถึงกับอุรประเทศ
แข็งทื่อดังเสา ไม่ทรงสามารถจะวิ่งหนีไปได้ จึงตั้งพระสติ ตรัสพระคาถาที่
2 ความว่า
เราเป็นพระเจ้าปัญจาลราช มีนามว่าชัยทิส ถ้า
ท่านได้ยินชื่อก็คงรู้จัก เราออกมาล่าเนื้อ เที่ยวมาตาม
ข้างภูเขาและป่า ท่านจงกินเนื้อกวางนี้เถิด วันนี้จง
ปล่อยเราไป.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิควํ ปวิฏฺโฐ ความว่า ออกจาก
แว่นแคว้น เข้าป่า เพื่อล่าเนื้อ. บทว่า คจฺฉานิ ความว่า (เที่ยวลัดเลาะมา)
ริมภูเขาลำเนาไพร. บทว่า ปสทิมํ ความว่า (ท่านจงกิน) กวางนี้.
ยักษ์ได้ยินดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ 3 ความว่า
พระองค์ถูกข้าพเจ้าเบียดเบียน กลับเอาของที่ตก
เป็นของข้าพเจ้านั่นเองมาแลกเปลี่ยน กวางที่พระองค์
ตรัสถึงนั้นเป็นอาหารของข้าพระองค์ ข้าพระองค์กิน
พระองค์แล้ว อยากจะกินเนื้อกวาง ก็จักกินได้ภาย
หลัง เวลานี้มิใช่เวลาขอร้อง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เสเนว ความว่า อันเป็นของ ๆ ข้าพ-
เจ้านั่นเอง. บทว่า ปณสิ ความว่า พระองค์ตรัสเอาของ ๆ ข้าพเจ้า มา
แลกเปลี่ยนตัว. บทว่า สสฺสมาโน แปลว่า ถูกข้าพเจ้าเบียดเบียนอยู่. บทว่า
ตํ ขาทิยาน ความว่า กินเนื้อกวางนั้น. บทว่า ชิฆญฺญํ ความว่า ข้าพ-
เจ้าประสงค์จะเคี้ยวกิน. บทว่า ขาทิสฺสํ ความว่า เพราะข้าพเจ้าจักกินเนื้อ
กวางนั้น ในภายหลัง. บทว่า น วิลาปกาโล ความว่า ยักษ์ทูลว่า พระองค์
อย่าขอร้องเลย เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะขอร้อง.
พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้ว ทรงระลึกถึงนันทพราหมณ์ได้ จึงตรัส
พระคาถาที่ 4 ความว่า
ถ้าความรอดพ้นของเราไม่มีด้วยการแลกเปลี่ยน
ขอให้เราได้กลับไปยังพระนครเสียก่อน เราผัดพราหมณ์
ไว้ว่า จะให้ทรัพย์ เราจักรักษาคำสัตย์ ย้อนกลับมา
หาท่านอีก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น จตฺถิ ความว่า ถ้าว่าการหลุดพ้น
ของเราจะไม่มี แม้ด้วยการแลกเปลี่ยนแล้วไซร้. บทว่า คนฺตฺวาน ความว่า
เมื่อเป็นอย่างนี้ วันนี้ท่านจงกินเนื้อกวางตัวนี้ ขอให้เราได้กลับไปยังพระนคร
ก่อน. บทว่า ปเคเยว แปลว่า ก่อนทีเดียว. อธิบายว่า ท่านจงรับปฏิญญา
เพื่อต้องการให้เรากลับมาทันเวลาบริโภคอาหารเช้าวันพรุ่งนี้เถิด. บทว่า ตํ
สงฺครํ
ความว่า เพราะเราได้ทำความผัดเพี้ยนไว้แก่พราหมณ์ว่า จักให้
ทรัพย์แก่เขา ครั้นเราให้ทรัพย์แก่เขาแล้ว จักตามรักษาซึ่งสัจจะตามที่ข้าพเจ้า
กล่าวไว้นี้ กลับมาหาท่านอีก.

ยักษ์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ 5 ความว่า
ดูก่อนพระราชา พระองค์ใกล้จะถึงสวรรคตอยู่
แล้ว ยังทรงเดือดร้อนถึงกรรมอะไรอยู่ ขอจงตรัส
บอกกรรมนั้น แก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะอนุญาต
ให้กลับไปก่อนได้.

กรรม ในคาถานั้น ก็ได้แก่กรรมนั่นเอง. บทว่า อนุตปฺปตี ตํ
ความว่า ยังจะตามร้อนใจถึงกรณียกิจอะไร ? บทว่า ปตฺตํ แปลว่า เข้าถึง.
บทว่า อปิ สกฺกุเณมุ ความว่า เออก็ ถ้าข้าพระเจ้าได้ฟังเหตุแห่งความเศร้า
โศกของท่านแล้ว อาจจะอนุญาตให้ท่านมาตอนเช้าตรู่ได้.
พระราชาเมื่อจะตรัสบอกเหตุนั้น จึงตรัสพระคาถาที่ 6 ความว่า
ความหวังในทรัพย์ เราได้ทำไว้แก่พราหมณ์
ความผัดเพี้ยนเป็นข้อผูกมัดตัว ยังพ้นไปไม่ได้ เพราะ
เราผัดไว้ว่า จะให้ทรัพย์แก่พราหมณ์ เราจักรักษา
คำสัตย์ กลับมาหาท่านอีก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฏิโมกฺกํ น มุตฺตํ ความว่า ข้าพเจ้า
ตั้งความผัดเพี้ยนเป็นสัญญามัดตัว โดยปฏิญญาแก่พราหมณ์ว่า ฟังสตารห-
คาถา 4 บาท แล้วจักให้ทรัพย์แก่เขา เพราะข้าพเจ้ายังมิได้ให้ทรัพย์แก่พราหมณ์
จึงหาพ้นไปได้ไม่.
ยักษ์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ 7 ความว่า
ความหวังในทรัพย์พระองค์ได้ทำไว้แก่พราหมณ์
ความผัดเพี้ยนเป็นข้อผูกมัดตัว ยังพ้นไปไม่ได้ เพราะ

ได้ผัดเพี้ยนไว้แก่พราหมณ์ว่า จะพระราชทานทรัพย์
พระองค์จงรักษาคำสัตย์ไว้เสด็จกลับมาเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุนราวฏฺฏสฺสุ ความว่า จงเสด็จกลับ
มาอีก.
ก็แลครั้นยักษ์กล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ปล่อยพระราชาไป. พระราชาอัน
ยักษ์ปล่อยแล้ว จึงตรัสว่า ท่านอย่าวิตกเลย ข้าพเจ้าจักมาแต่เช้าตรู่ทีเดียว
แล้วทรงสังเกตเครื่องหมายตามทาง เสด็จเข้าไปหาพลนิกายของพระองค์
แวดล้อมด้วยพลนิกาย เสด็จเข้าสู่พระนคร ตรัสสั่งให้หานันทพราหมณ์มาเฝ้า
เชิญให้นั่งบนอาสนะอันมีค่ามาก ทรงสดับคาถาเสร็จแล้ว พระราชทานทรัพย์
5 พัน เชิญพราหมณ์ให้ขึ้นยานพาหนะแล้วตรัสสั่งว่า ท่านจงนำทรัพย์นี้ไปยัง
เมืองตักกศิลาเถิด ทรงมอบคนให้แล้วก็ส่งพราหมณ์ไป ทรงพระประสงค์จะ
เสด็จกลับคืนไปหายักษ์ในวันรุ่งขึ้น จึงตรัสสั่งให้หาพระโอรสมาทรงสั่งสอน
พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงได้ตรัสพระคาถา 2 คาถา
ความว่า
พระเจ้าชัยทิสทรงพ้นเงื้อมมือยักษ์แล้ว รีบเสด็จ
กลับไปยังพระราชมณเฑียรของพระองค์ เพราะได้
ทรงผัดเพี้ยนไว้แก่พราหมณ์ว่าจะพระราชทานทรัพย์ได้
ตรัสสั่งให้หาพระราชโอรสพระนามว่า อลีนสัตตุมา.
ตรัสว่า เจ้าจงอภิเษกปกครองรัฐสีมาในวันนี้
จงประพฤติธรรมในรัฐสีมาและในประชาชนทั้งหลาย
บุคคลไม่ประพฤติธรรม อย่าได้มีในแว่นแคว้นของ
เจ้า เราจะไปในสำนักแห่งยักษ์.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อลีนสตฺตุํ ได้แก่ พระราชกุมารผู้มี
พระนามอย่างนี้. แต่ในพระบาลี ท่านเขียนไว้ว่า " อลีนสัตตะ ". บทว่า
อชฺเชว รชฺชํ ความว่า ลูกรัก พ่อจะมอบราชสมบัติให้แก่เจ้า เจ้าจงสนาน
มุรธาภิสิตในวันนี้แหละ. บทว่า ญนฺเต ได้แก่ ตฺยนฺเต แปลว่า ในสำนัก.
พระราชกุมารทรงสดับดังนั้น ตรัสคาถาที่ 10 ความว่า
ขอเดชะ ข้าแต่พระราชบิดาผู้ทรงพระคุณอันประ
เสริฐ ข้าพระองค์ได้ทำความไม่พอพระทัยอะไรไว้ใน
ใต้ฝ่าพระบาท ข้าพระองค์ปรารถนาจะได้สดับความ
ที่พระองค์จะให้ขึ้นครองราชสมบัติในวันนี้ เพราะข้า
พระพุทธเจ้า ขาดพระราชบิดาเสียแล้ว หาปรารถนา
แม้ราชสมบัติไม่.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุพฺพํ แปลว่า กระทำอยู่. บทว่า ยมชฺช
ความว่า พระราชบิดาให้ข้าพระพุทธเจ้าขึ้นครองราชสมบัติในวันนี้ เพราะ
กระทำการที่ไม่พอพระทัยอันใด. บทว่า อุทสฺสเย ความว่า พระราชบิดา
ทรงยกขึ้น คือ แต่งตั้งให้ข้าพระพุทธเจ้าดำรงอยู่ในราชสมบัติ เพราะการ
กระทำที่ไม่พอพระทัยอันใด พระองค์จงตรัสบอกการกระทำอันนั้น เพราะ
ข้าพระพุทธเจ้าขาดพระองค์เสียแล้ว ย่อมไม่ปรารถนาแม้ราชสมบัติ.
พระราชาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสพระคาถาต่อไปว่า
ลูกรัก พ่อไม่ได้เพ่งถึงความผิดทางกายกรรม
และวจีกรรมของเธอเลย แต่พ่อได้ทำความตกลงไว้
กับยักษ์ พ่อต้องรักษาคำสัตย์ จึงต้องกลับไปอีก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปราธิโต ความว่า เราไม่คำนึงถึง
ความผิดทางไตรทวารนี้ของเจ้าเลย. บทว่า ตุริยํ แปลว่า อันเป็นของเจ้า.

มีคำอธิบายว่า ลูกรัก พ่อมิได้คำนึงถึงความผิดอันไม่เป็นที่โปรดปรานของพ่อ
อะไร ๆ ของเจ้าทั้งทางกายและทางวาจาเลย. บทว่า สทฺธิญฺจ กตฺวา ความว่า
แต่เพราะยักษ์ตนหนึ่ง จับพ่อไว้ คราวไปป่าล่าเนื้อ จักกินเป็นอาหาร เมื่อ
เป็นเช่นนั้น พ่อจึงให้สัตยสาบานไว้กับยักษ์นั้นว่า เมื่อเราได้ฟังธรรมกถาของ
พราหมณ์ กระทำสักการะแก่เขาแล้ว จักมาให้ทันเวลาอาหารเช้า พรุ่งนี้
จึงกลับมาได้ เพราะเหตุนั้น เพื่อจะตามรักษาความสัตย์ไว้ พ่อจักต้องไปใน
ที่นั้นอีก เจ้าจงเสวยราชสมบัติเถิด.
อลีนสัตตุราชกุมาร ทรงฟังพระราชดำรัสของพระราชบิดาแล้ว ตรัส
คาถา ความว่า
ข้าพระพุทธเจ้าจักไปแทน ขอพระราชบิดาจง
ประทับอยู่ ณ ที่นี้ เมื่อทางที่จะรอดชีวิตจากสำนักแห่ง
ยักษ์ ไม่มี ข้าแต่สมเด็จพระราชบิดา ถ้าพระองค์มี
พระประสงค์จะเสด็จให้ได้ ข้าพระพุทธเจ้าก็จักตาม
เสด็จด้วย เราทั้งสองจะไม่ยอมอยู่.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิเธว ความว่า ขอพระองค์จงประทับ
อยู่ ณ ที่นี้เถิด. บทว่า ตโต ความว่า ขึ้นชื่อว่าความรอดชีวิตจากสำนัก
ของยักษ์นั้น ไม่มีทางเลย. บทว่า อุโภ ความว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็น
อันว่าจักไม่ต้องอยู่กันทั้งสองคน.
พระราชาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสพระคาถา ความว่า
ลูกรัก นั้นเป็นธรรมของสัตบุรุษ โดยแท้จริง
แต่เมื่อไรยักษ์ข่มขี่ทำลายเผาเธอกินเสียที่โคนไม้ นั่น
เป็นความด่างพล้อยของพ่อ ข้อนี้แหละ เป็นทุกข์ยิ่ง
กว่าความตายของพ่อเสียอีก.

พระคาถานั้นมีอธิบายว่า นั้นเป็นธรรม คือ ธาตุแท้ของสัตบุรุษ
คือบัณฑิตทั้งหลาย โดยแน่แท้ เจ้าพูดคำที่ถูกต้องแล้ว ก็แต่ว่าจะเป็นความ
ทุกข์ยิ่งกว่าความตายของพ่อเอง ข้อนั้นจะเป็นความด่างพร้อยผูกพันพ่อ.
บทว่า ภิทารุกฺขมูเล ความว่า เมื่อยักษ์ข่มขี่ทำลายเผาเจ้ากินโดย
พลการ ที่โคนต้นไม้อันกล้าแข็ง.
พระราชกุมารทรงสดับดังนั้น จึงตรัสคาถา ความว่า
ข้าพระพุทธเจ้า ขอเอาชีวิตของข้าพระพุทธเจ้า
แลกพระชนมชีพของพระราชบิดาไว้ พระราชบิดา
อย่าเสด็จไปในสำนักของยักษ์เลย ข้าพระพุทธเจ้าจะ
ขอเอาชีวิตของข้าพระพุทธเจ้า แลกพระชนมชีพของ
พระราชบิดานี้แหละไว้ เพราะฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้า
ขอยอมตายแทนพระราชบิดา พระเจ้าข้า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิมิสฺสํ ความว่า ข้าพระพุทธเจ้าจัก
แลกชีวิตของตน กับพระชนมชีพของพระราชบิดาในคราวนี้แหละ. บทว่า
ตสฺมา ความว่า เพราะข้าพระพุทธเจ้าจักแลกพระชนมชีพ ของพระราชบิดา
ไว้ ฉะนั้น จึงเลือกเอาความตาย เพื่อต้องการให้พระราชบิดามีพระชนมชีพ
อยู่ ข้าพระพุทธเจ้าสรรเสริญความตายอย่างเดียวเท่านั้น จึงเลือกคือปรารถนา
ความตาย.
พระเจ้าชัยทิส ได้ทรงสดับดังนั้น ก็ทรงทราบกำลังของพระโอรส
จึงตรัสสั่งว่า ดีละลูกรัก เจ้าจงไปเถิด. อลีนสัตตุราชกุมาร ถวายบังคมลา
พระราชมารดาและพระราชบิดาแล้วก็เสด็จออกจากพระนคร.
เมื่อพระบรมศาสดาจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถากึ่ง
คาถา ความว่า

ลำดับนั้นแล พระราชโอรสผู้ทรงพระปรีชา
ถวายบังคมพระยุคบาท พระชนกชนนีแล้วเสด็จไป.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาเท ความว่า ถวายบังคมพระยุคลบาท
พระชนกชนนีเสด็จไปแล้ว.
ลำดับนั้น พระชนกชนนีก็ดี พระภคินีก็ดี พระชายาก็ดี ของพระราช
กุมารนั้น พร้อมด้วยหมู่อำมาตย์ และบริวารชนก็เสด็จออกไปด้วย. ครั้น
พระราชกุมารนั้นออกจากพระนครแล้ว ก็ทูลถามหนทางกะพระราชบิดากำหนด
ไว้ด้วยดีแล้ว ถวายบังคมพระชนกชนนี ประทานโอวาทแก่ชนที่เหลือ แล้ว
มิได้สะด้งตกพระทัยกลัว เสด็จขึ้นสู่ทางดำเนินไปสู่ที่อยู่ของยักษ์ ประหนึ่งว่า
ไกรสรสีหราชฉะนั้น. พระมารดาทอดพระเนตรเห็นพระกุมารกำลังทรงดำเนิน
ไป ไม่สามารถจะดำรงพระองค์อยู่ได้ ก็ล้มลง ณ พื้นปฐพี. พระราชบิดา
ก็ทรงประคองพระพาหา คร่ำครวญด้วยเสียงอันดัง.
เมื่อพระบรมศาสดาจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงทรงตรัสพระคาถา
กึ่งคาถา ความว่า
พระชนนีของพระราชกุมารนั้น ทรงมีทุกข์
โทมนัสล้มลงเหนือพื้นปฐพี พระชนกนาถเล่า ก็ทรง
ประคองสองพระพาหา คร่ำครวญด้วยเสียงอันดัง.

ครั้นตรัสกึ่งพระคาถาดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงประกาศสัจจกิริยา อัน
พระราชบิดาของพระกุมารนั้นทรงประกอบ และอันพระราชมารดาพระภคินี
และพระชายาทรงกระทำแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาต่อไปอีก 4 คาถา ความว่า
พระราชบิดา ทรงทราบชัดว่า พระโอรสกำลัง
มุ่งหน้าเสด็จไป ทรงเบือนพระพักตร์ประคองอัญชลี

กราบไหว้เทวดาทั้งหลาย คือ พระโสมราชา พระ-
วรุณราช พระปชาบดี พระจันทร์และพระอาทิตย์
ขอเทพยเจ้าเหล่านี้ ช่วยคุ้มครองโอรสของเรา จาก
อำนาจแห่งยักษ์ อลีนสัตตุลูกรัก ขอยักษ์นั้นจงอนุญาต
ให้เจ้ากลับมาโดยสวัสดี.
มารดาของรามบุรุษ ผู้ไปสู่แคว้นของพระเจ้า
ทัณฑกิราช ได้คุ้มครองทำความสวัสดี แก่รามะผู้เป็น
บุตรอย่างใด แม่ขอทำความสวัสดีอย่างนั้นแก่เจ้า
ด้วยคำสัตย์นั้น ขอทวยเทพจงช่วยคุ้มครอง ขอให้เจ้า
ได้รับอนุญาต กลับมาโดยสวัสดีเถิด ลูกรัก.
น้องนึกไม่ออกเลย ถึงความคิดประทุษร้าย ใน
อลีนสัตตุผู้พระเชษฐา ทั้งในที่แจ้งหรือที่ลับ ด้วย
ความสัตย์นี้ ขอเทพยเจ้าโปรดระลึกถึงพระเชษฐาที่
เคารพ ขอพระเชษฐาจงได้รับอนุญาตให้กลับมาโดย
สวัสดี.
ข้าแต่พระสวามี พระองค์ไม่เคยประพฤตินอกใจ
หม่อมฉันเลย ฉะนั้น จงเป็นที่รักของหม่อมฉันด้วย
ใจจริง ด้วยความสัตย์นี้ ขอเทพยเจ้าโปรดระลึกถึง
พระสวามีที่เคารพ ข้าแต่พระสวามี ขอพระองค์ จง
ได้รับอนุญาตให้กลับมาโดยสวัสดี.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปรมฺมุโข ความว่า พระราชบิดา
ทรงทราบชัดว่า พระโอรสของเรานี้ กำลังมุ่งหน้าเสด็จไป. บทว่า ปญฺชลีโก

ความว่า ทรงเบือนพระพักตร์ประดิษฐานอัญชลีเหนือเศียรเกล้า ในกาลนั้น
ทรงไหว้วิงวอน นอบน้อมเทพยเจ้าทั้งหลาย. บทว่า โปริสาทกมฺหา ความว่า
ขอเทพเจ้าจงช่วยคุ้มครองโอรสของเราจากอำนาจแห่งยักษ์ ดูก่อนอลีนสัตตุลูก
รัก ยักษ์นั้นจงอนุญาตให้เจ้ากลับมาโดยความสวัสดี.
บทว่า รามสฺสกา ความว่า มารดาของรามบุรุษได้กระทำความ
คุ้มครอง. เล่ากันมาว่า มีบุรุษคนหนึ่งเป็นชาวเมืองพาราณสี ชื่อรามะ เป็นผู้
เลี้ยงดูมารดา ปฏิบัติมารดาบิดา คราวหนึ่งไปค้าขายถึงเมืองกุมภวดี ใน
แว่นแคว้นของพระเจ้าทัณฑกิราช เมื่อแคว้นทั้งสิ้นต้องพินาศลง ด้วยฝน
เก้าประการ เขาได้ระลึกถึงคุณของมารดาบิดา. ครั้งนั้น ด้วยผลแห่งมาตาปิตุ-
ปัฏฐานธรรม เทพยเจ้าทั้งหลายได้นำเขามามอบให้แก่มารดาด้วยความสวัสดี.
พระชนนีของอลีนสัตตุราชกุมาร ทรงนำเหตุการณ์นั้นมาตรัสอย่างนี้ ก็โดยที่
ได้ยินได้ฟังมา.
บทว่า โสตฺถานํ ได้แก่ ความสวัสดี. ถึงเทพยเจ้าทั้งหลาย จะ
กระทำความสวัสดีได้ก็จริง แต่ท่านกล่าวว่า มารดาได้กระทำแล้ว เพราะเกิด
แล้วโดยอาศัยมาตาปิตุอุปัฏฐานธรรม. บทว่า ตนฺเต อหํ ความว่า (มารดา
ของรามบุรุษทำความสวัสดี แก่รามะผู้บุตรฉันใด) แม้แม่ก็ทำความสวัสดีนั้น
แก่เจ้าเหมือนกัน คือ เพราะอาศัยแม่ ขอความสวัสดีจงมีแก่ลูกของแม่ฉันนั้น
เหมือนกัน. อีกนัยหนึ่ง บทว่า กโรมิ แปลว่า จะไป. บทว่า เอเตน
สจฺจน
ความว่า ถ้าว่ารามบุรุษนั้นเป็นผู้อันเทพยเจ้า นำมาแล้วโดยความ
สวัสดี เป็นความจริงไซร้ ด้วยอํานาจคำสัตย์นั้น ขอเทพยเจ้าทั้งหลายจงระลึก
ถึงเจ้า เพื่อชนกชนนี คือขอเทพยเจ้าจงนำเจ้ามาแสดงแก่แม่ เหมือนรามบุรุษ
ฉะนั้น.

บทว่า อนุญฺญาโต ความว่า ลูกรัก อันยักษ์อนุญาตว่าไปได้ คือ พระชนนี
ตรัสว่า ดูก่อนลูกรัก ขอเจ้าจงกลับมาโดยสวัสดี ด้วยเทวานุภาพเถิด.
บทว่า ชาตุมลีนสตฺเต ความว่า พระกนิษฐภคินีของอลีนสัตตุราช
กุมารนั้น ได้ตั้งสัตยาธิษฐานอย่างนี้ว่า น้องระลึกไม่ได้ ซึ่งความคิดประทุษร้าย
ทั้งต่อหน้าหรือลับหลัง ในอลีนสัตตุผู้พระเชษฐา โดยส่วนเดียวเป็นแน่แท้.
บทว่า ยสฺมา จ เม อนธิมโนสิ สามิ ความว่า พระอัครมเหสีของ
อลีนสัตตุราชกุมารนั้น ได้ตั้งสัตยาธิษฐานอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระอลีนสัตตุผู้
พระสวามี พระองค์มิได้ประพฤตินอกใจหม่อมฉันเลย คือพระองค์มิได้ข่มขี่
ล่วงเกินหม่อมฉัน ถึงกับเอาพระทัยใฝ่ปรารถนาหญิงอื่นเลย. บทว่า น จาปิ
เม มนสา อปฺปิโยสิ
ความว่า พระองค์จะไม่เป็นที่รัก ด้วยใจจริงของ
หม่อมฉันก็หามิได้ เราทั้งสองอยู่ร่วมกันมาด้วยความรักใคร่ทีเดียว.
พระราชกุมาร เสด็จดำเนินไปสู่ทางที่อยู่ของยักษ์ ตามคำแนะนำที่
พระราชบิดาตรัสบอก. ฝ่ายยักษ์คิดว่า ธรรมดากษัตริย์มีมายามาก ใครจะรู้ว่า
จักเกิดอะไรขึ้น จึงขึ้นต้นไม้นั่งแลดูทางที่พระเจ้าชัยทิสจะเสด็จมา เหลือบเห็น
พระกุมารกำลังดำเนินมา คิดว่า ชะรอยพระโอรสจักให้พระราชบิดากลับแล้ว
ตัวมาแทน ภัยคงไม่มีแก่เรา จึงลงจากต้นไม้นั่งผินหลังให้. พระราชกุมาร
เสด็จมาถึงแล้ว เข้าไปยืนอยู่ตรงหน้ายักษ์.
ลำดับนั้น ยักษ์กล่าวคาถา ความว่า
ท่านผู้มีร่างกายอันสูงใหญ่ มีหน้าอันงดงามมา
จากไหน ท่านไม่รู้หรือว่า เราอยู่ในป่านี้ ชะรอยจะ
ไม่รู้ว่า เราเป็นคนดุร้าย กินเนื้อมนุษย์กระมังจึงได้มา
ที่ไม่รู้ความสวัสดีของตนดอกจึงได้มาในที่นี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โก โสตฺถิมาชานมิธาวเชยฺย ความว่า
ดูก่อนกุมาร บุรุษไรเล่ารู้ความสวัสดีของตน เดินไปจะกล้ามาในที่นี้ ชะรอย
ท่านจะไม่รู้จึงได้มา.
พระราชกุมารทรงสดับดังนั้น จึงตรัสคาถา ความว่า
เรารู้ว่าท่านเป็นคนหยาบช้า กินมนุษย์ แต่หารู้ว่า
ท่านอยู่ในป่านี้ไม่ เราคือโอรสของพระเจ้าชัยทิส
วันนี้ท่านจงกินเราแทนพระชนก เพื่อปลดเปลื้องให้
พระองค์พ้นไป.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปโมกฺขา ความว่า เพราะเหตุที่จะ
ปลดเปลื้องภาระเสีย เราจึงยอมมอบชีวิตแทนพระราชบิดามาในที่นี้ เพราะ
ฉะนั้น ท่านจงปล่อยพระชนกเราเถิด เชิญกินเราแทนพระองค์.
ลำดับนั้น ยักษ์กล่าวคาถา ความว่า
เรารู้ว่าท่านเป็นโอรสของพระเจ้าชัยทิส ดูพระ-
พักตร์และผิวพรรณ ของท่านทั้งสองคล้ายคลึงกัน
การที่บุคคลยอมตายแทน เพื่อเปลื้องบิดาให้พ้นไปนี้
เป็นกรรมที่ทำได้ยากทีเดียว แต่ท่านก็ทำได้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตาทิโส โว ความ ว่า พระพักตร์และ
ผิวพรรณของท่านทั้งสองคล้าย ๆ กัน คือเหมือนกันแท้. บทว่า กตํ ตเวทํ
ความว่า กรรมของท่านทั้งนี้ เป็นกรรมที่ทำได้โดยยากแท้.
ลำดับนั้น พระราชกุมารตรัสคาถา ความว่า
มิใช่ของทำยากเลยในเรื่องนี้ เราไม่เห็นสำคัญ
อะไร ผู้ใดยอมตายแทนเพื่อเปลื้องบิดา หรือเพราะ

เหตุแห่งมารดา ผู้นั้นไปสู่ปรโลกแล้ว ย่อมเป็นผู้
เพรียบพร้อมด้วยสุข และอารมณ์อันงามเลิศ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กิญฺจิมเหตฺถ มญฺเญ ความว่า ใน
ข้อนี้ เราไม่เห็นสำคัญอะไรเลย. ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า บุคคลใดปรารถนา
จะตาย เพื่อปลดเปลื้องบิดา หรือเพราะเหตุแห่งมารดา. บทว่า ปรโลกคมฺยา
ความว่า เขาไปสู่ปรโลกแล้ว. บทว่า สุเขน สคฺเคน ความว่า ย่อมเป็น
ผู้ประกอบด้วยสุขอันบังเกิดในสวรรค์. บทว่า มตฺตุมิจฺเฉ ความว่า เพราะ
ฉะนั้น ในการสละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่มารดาบิดานี้ เราไม่สำคัญว่าเป็นสิ่ง
ที่ทำได้ยากอะไรเลย.
ยักษ์ฟังดังนั้นแล้วจึงถามว่า พ่อกุมาร ธรรมดาว่าสัตว์บุคคลที่จะไม่
กลัวตายไม่มีเลย เหตุไฉนท่านจึงไม่กลัวเล่า ? เมื่อพระราชกุมารจะบอก
ความแก่ยักษ์ ได้กล่าวคาถา 2 คาถา ความว่า
เราระลึกไม่ได้เลยว่า เราจะกระทำความชั่วเพื่อ
ตนเอง ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ เพราะว่าเราเป็นผู้มี
ชาติและมรณะ อันกำหนดไว้แล้วว่า ในโลกนี้ของเรา
ฉันใด โลกหน้าก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
เชิญท่านกินเนื้อเราในวันนี้ เสียบัดนี้เถิด เชิญ
ท่านทำกิจเถิด สรีระนี้เราสละแล้ว เราจะทำเป็น
พลัดตกมาจากยอดไม้ ท่านชอบใจเนื้อส่วนใด ๆ
ก็เชิญท่านกินเนื้อส่วนนั้น ๆ ของเราเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สเร น ชาตุ ความว่า เราระลึกไม่ได้
เลย แม้เพียงส่วนเดียว. บทว่า สงฺขาตชาตี มรโณหมสฺมิ ความว่า

เรารู้ว่าสัตว์ที่เกิดมาแล้ว มีความเกิดและความตาย อันญาณกำหนดไว้แล้ว
ด้วยดี ที่จะชื่อว่ามีความไม่ตายเป็นธรรมดาไม่มี. บทว่า ยเถว เม อิธ
ความว่า ข้อนี้ญาณของเรากำหนดไว้แล้วเป็นอย่างดีทีเดียวว่า โลกนี้ของเรา
ฉันใด โลกหน้าก็ฉันนั้น โลกหน้าฉันใด แม้โลกนี้ก็ฉันนั้น ชื่อว่าการพ้น
จากความตายไม่มี. บทว่า กรสฺสุ กิจฺจานิ ความว่า ท่านจงทำกิจที่ควรทำ
ด้วยสรีระนี้ สรีระนี้เราสละแก่ท่านแล้ว. บทว่า ฉาทมาโน มยฺหํ ตฺวเม
เทสิ มํสํ
ความว่า เมื่อเราตกจากยอดไม้ตายแล้ว เมื่อท่านจะกิน ชอบใจ
ปรารถนาเนื้อส่วนใดจากสรีระของเรา ก็ควรบริโภคเนื้อส่วนนั้น.
ยักษ์ฟังถ้อยคำของพระกุมารแล้ว ตกใจกลัว คิดว่า เราไม่อาจที่จะ
กินเนื้อพระกุมารนี้ได้ จักต้องหาอุบายไล่ให้เธอหนีไปเสีย จึงกล่าวคาถานี้
ความว่า
ดูก่อนพระราชโอรส เรื่องนี้ท่านเต็มใจจริง จึง
สละชีวิตเพื่อปลดเปลื้องพระชนกได้ เพราะเหตุนั้น
แหละ ท่านจงรีบไปหักไม้มาก่อไฟเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชเลหิ ความว่า ท่านจงเข้าไปสู่ป่า หา
ฟืนไม้แก่น มาก่อไฟขึ้น ทำให้เป็นถ่าน ที่ปราศจากควัน เราจักปิ้งเนื้อของ
ท่านในถ่านเพลิงนั้นกิน.
อลีนสัตตุราชกุมาร ได้กระทำตามที่ยักษ์บอกทุกประการ เสร็จแล้ว
ไปยังสำนักของยักษ์ พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเหตุนั้น จึงตรัสพระ
คาถานอกนี้ ความว่า
ลำดับนั้นแล พระราชโอรสผู้มีปัญญา ได้นำ
เอาฟืนมาก่อไฟกองใหญ่ขึ้นแล้ว แจ้งให้ยักษ์ทราบว่า
บัดนี้ได้ก่อไฟเสร็จแล้ว.

ยักษ์มองดูพระราชกุมาร ซึ่งก่อไฟเสร็จแล้วเดินมาหา เกิดขนพอง
สยองเกล้าว่า บุรุษนี้เป็นดุจราชสีห์ ไม่กลัวความตายเลย ตลอดกาลมีประมาณ
เท่านี้ เราไม่เคยพบเห็นคนที่ไม่กลัวตายอย่างนี้เลย จึงนั่งชำเลืองดูพระกุมาร
บ่อย ๆ พระราชกุมารเห็นกิริยาของยักษ์แล้ว จึงตรัสคาถา ความว่า
เมื่อครู่นี้ ท่านทำการขู่เข็ญว่า จะกินเราในวันนี้
ทำไมจึงหวาดระแวงเกรงเรา มองดูอยู่บ่อย ๆ เราได้
ทำตามคำของท่านเสร็จแล้ว เมื่อพอใจจะกินก็เชิญ
กินได้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มุหุํ แปลว่า บ่อย ๆ . บทว่า ตถา
ตถา ตุยฺหมหํ
ความว่า ท่านพอใจปรารถนาจะบริโภคเคี้ยวกินเราโดยวิธีใด
เราการทำตามคำของท่านโดยวิธีนั้นแล้ว คราวนี้จักให้เราทำอย่างไร เพราะ
ฉะนั้น เชิญท่านกินเราเสียวันนี้เถิด.
ยักษ์ฟังคำของพระกุมารแล้ว กล่าวคาถา ความว่า
ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม มีวาจาสัตย์ รู้ความประสงค์
ของผู้ขอเช่นท่าน ใครจะนำมากินเป็นภักษาหารได้
ผู้ใดกินผู้มีวาจาสัตย์เช่นท่าน ศีรษะของผู้นั้น จะพึง
แตกออกเป็นเจ็ดเสี่ยง.

พระราชกุมารได้สดับดังนั้น จึงพูดว่า ถ้าท่านไม่ประสงค์จะกินเรา
เหตุไรจึงบอกให้เราหักฟืนมาก่อไฟ เมื่อยักษ์บอกว่า เพื่อต้องการลองดูว่า
ท่านจะหนีหรือไม่ จึงตรัสว่า ท่านจักเข้าใจเราในบัดนี้ได้อย่างไร ครั้งเรา
บังเกิดในกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน ยังไม่ยอมให้ท้าวสักกเทวราชดูหมิ่นตน
ได้ จึงตรัสคาถา ความว่า

แท้จริง สสบัณฑิตนั้น สำคัญท้าวสักกเทวราชนี้
ว่าเป็นพราหมณ์ จึงได้ให้อยู่ เพื่อให้สรีระของตน
เป็นทาน ด้วยเหตุนั้นแล จันทิมเทพบุตร จึงมีรูปกระ-
ต่ายปรากฏ สมประสงค์ของโลกอยู่จนทุกวันนี้.

คาถานั้น มีอธิบายว่า สสบัณฑิตนั้น สำคัญสักกพราหมณ์ แม้
นี้ว่า ผู้นี้เป็นพราหมณ์ จึงพูดว่า วันนี้เชิญท่านเคี้ยวกินสรีระของเราในที่นี้
แห่งเดียวเถิด แล้วให้อาศัย คือให้อยู่พักเพื่อให้สรีระของตนเป็นทานอย่างนี้
และแล้วได้ให้สรีระเพื่อเป็นอาหารแก่สักกพราหมณ์นั้น ท้าวสักกเทวราช
จึงบีบเอารสอันเกิดแต่บรรพต มาเขียนเป็นภาพกระต่ายไว้ในมณฑลพระจันทร์
นับแต่นั้นมา เพราะภาพกระต่ายนั้นเอง จันทิมเทพบุตรนั้น ชาวโลกจึงรู้กัน
ทั่วว่า กระต่าย กระต่าย ดังนี้ จันทิมเทพบุตรมีรูปกระต่ายปรากฏ แจ่ม
กระจ่างอย่างนี้ สมประสงค์ คือยังความพอใจของโลกให้เจริญ รุ่งโรจน์อยู่
จนทุกวันนี้ และเรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องอัศจรรย์ อยู่ตลอดกัป.
ยักษ์ได้ฟังดังนั้น เมื่อจะปล่อยพระราชกุมาร จึงกล่าวคาถา ความว่า
พระจันทร์ พระอาทิตย์ พ้นจากปากแห่งราหู
แล้ว ย่อมไพโรจน์ในวันเพ็ญฉันใด ดูก่อนท่านผู้มี
อานุภาพมาก ท่านก็ฉันนั้นหลุดพ้นจากเรา ผู้กินเนื้อ
มนุษย์เป็นอาหารแล้ว ยังพระชนกชนนีให้ปลื้มพระ-
ทัย จงรุ่งโรจน์ในกบิลรัฐ อนึ่ง พระประยูรญาติของ
ท่านจงยินดีกันทั่วหน้า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภาณุมา ได้แก่พระอาทิตย์ ท่านอธิบาย
ว่า พระจันทร์หรือพระอาทิตย์ พ้นจากปากราหูแล้วย่อมสว่างไสว ในดิถี

15 ค่ำฉันใด ดูก่อนท่านผู้มีอานุภาพมาก แม้ท่านพ้นไปจากสำนักของเรา
แล้ว ก็รุ่งโรจน์ในกบิลรัฐฉันนั้นเถิด. บทว่า นนฺทตุ ความว่า ขอพระ
ประยูรญาติทั้งหลาย จงทรงยินดี ร่าเริง.
ยักษ์กล่าวว่า ดูก่อนท่านมหาวีรเจ้า เชิญท่านไปเถิด แล้วส่งเสด็จ
พระมหาสัตว์เจ้า ฝ่ายพระมหาสัตว์เจ้า ครั้นทรงทำให้ยักษ์สิ้นพยศแล้วให้ศีล
5 กำหนดดูว่า ผู้นี้จะมิใช่ยักษ์กระมัง จึงทรงพระดำริว่า ธรรมดายักษ์ย่อม
มีนัยน์ตาแดงและไม่กระพริบ เขาก็ไม่ปรากฏ เป็นผู้ดุร้าย อาจหาญ ผู้นี้
ชะรอยจะมิใช่ยักษ์ คงเป็นมนุษย์แน่ เขาเล่ากันว่า พระเชษฐาแห่งพระราช
บิดาของเรา ถูกนางยักษิณีจับไปถึงสามองค์ ในจำนวนนั้น นางยักษิณีกินเสีย
สององค์ แต่ประคบประหงมเลี้ยงดูด้วยรักใคร่เหมือนบุตรองค์เดียว ชะรอยจะ
เป็นองค์นี้แน่ เราจักนำไปทูลชี้แจง แก่พระราชบิดาของเรา ให้ท่านผู้นี้ครอง
ราชสมบัติแล้ว จึงตรัสชักชวนว่า มาเถิด ท่านผู้เจริญ ท่านไม่ใช่ยักษ์ ท่านเป็น
พระเชษฐาแห่งพระราชบิดาของเรา เชิญท่านมาไปกับเรา แล้วให้ยกเศวตฉัตร
เสวยราชสมบัติ สืบสันตติวงศ์เถิด เมื่อยักษ์ค้านว่า เราไม่ใช่มนุษย์ จึงตรัสว่า
ท่านไม่เชื่อเรา แต่มีผู้ที่ท่านพอจะเชื่อถืออยู่บ้างหรือ ? เมื่อยักษ์ตอบว่ามีอยู่
คือพระดาบสผู้มีจักษุเป็นทิพย์ ณ ที่โน้น จึงทรงพายักษ์นั้นไปสำนักพระดาบส
นั้น พระดาบสเห็นคนทั้งสองแล้ว ทักขึ้นว่า ท่านทั้งสองคือลุงกับหลาน เที่ยวทำ
อะไรอยู่ในป่า แล้วชี้แจงความที่ชนเหล่านั้นเป็นญาติกันให้ทราบ ยักษ์เชื่อ
ถ้อยคำของพระดาบส จึงกล่าวว่า พ่อหลานชาย เจ้าจงกลับไปเถิด ลุงเกิดมา
ชาติเดียวเป็นถึงสองอย่าง ลุงไม่ต้องการราชสมบัติดอก ลุงจักบวช แล้วบวช
เป็นฤาษีอยู่ในสำนักของพระดาบส. ลำดับนั้น พระอลีนสัตตุราชกุมารถวาย
บังคมลาพระเจ้าลุงแล้ว ได้เสด็จกลับไปยังพระนคร.

พระบรมศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถา
ความว่า
ลำดับนั้นแล พระราชโอรสอลีนสัตตุ ผู้มีพระ-
ปัญญา ทรงประคองอัญชลีไหว้ยักษ์โปริสาท ได้รับ
อนุญาตแล้ว มีความสุขสวัสดี หาโรคมิได้เสด็จกลับ
มายังกบิลรัฐ.

พระบรมศาสดา ครั้นตรัสพระคาถานี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงกรณียกิจ
อันชาวพระนคร และชาวนิคมเป็นต้นกระทำ จึงตรัสโอกาสคาถาความว่า
ชาวนิคม ชาวชนบท ถ้วนหน้าทั้งพลช้าง พลรถ
และพลเดินเท้า ต่างพากันมาถวายบังคมพระราช
โอรสนั้น พร้อมกับกราบทูลขึ้นว่า ข้าพระองค์ทั้ง
หลาย ถวายบังคมพระองค์ พระองค์ทรงกระทำกิจ
ซึ่งยากที่จะกระทำได้.

พระเจ้าชัยทิส ทรงสดับข่าวว่า พระราชกุมารกลับมาได้ทรงจัดการ
สมโภชต้อนรับ. พระราชกุมารแวดล้อมด้วยมหาชน ไปถวายบังคมพระราช
บิดา. ลำดับนั้น พระราชาตรัสถามว่า ลูกรัก เจ้าพ้นมาจากยักษ์เช่นนั้นได้
อย่างไร. พระราชกุมารทูลว่า ขอเดชะ พระราชบิดาเจ้า ผู้นี้มิใช่ยักษ์ แต่เป็น
พระเชษฐาธิราชของพระราชบิดา ผู้นี้เป็นพระปิตุลาของข้าพระพุทธเจ้า แล้ว
กราบทูลเรื่องราวทั้งปวงให้ทรงทราบ แล้วทูลว่า ควรที่พระราชบิดาจะเสด็จ
เยี่ยมพระปิตุลาของข้าพระพุทธเจ้าบ้าง. ทันใดนั้น พระเจ้าชัยทิส จึงตรัสสั่ง
ให้พนักงานเภรีตีกลองประกาศให้ทราบทั่วกัน แล้วเสด็จไปยังสำนักแห่งดาบส
ทั้งหลาย ด้วยราชบริพารเป็นอันมาก. พระมหาดาบสจึงทรงเล่าเรื่องนางยักษิณี

นำพระองค์ไปเลี้ยงดูไว้ไม่กินเสีย เรื่องที่พระองค์มิใช่ยักษ์ และเรื่องที่พระองค์
เป็นพระประยูรญาติของราชสกุลเหล่านั้น แด่พระเจ้าชัยทิสหมดทุกอย่างโดย
พิสดาร พระเจ้าชัยทิสทรงเชื้อเชิญว่า ข้าแต่พระเชษฐาธิราชเจ้า ขอเชิญ
พระองค์ เสด็จเสวยราชสมบัติเถิด พระมหาดาบส ถวายพระพรห้ามว่า อย่า
เลย มหาราชเจ้า พระเจ้าชัยทิส ตรัสเชิญชวนว่า ถ้ากระนั้น ขอเชิญพระ
เชษฐาธิราชเจ้าไปอยู่ในพระอุทยานเถิด กระหม่อมฉันจักบำรุงด้วยปัจจัย 4
พระมหาดาบสถวายพระพรว่า อาตมาภาพจะยังไม่ไปก่อน มหาบพิตร พระ
เจ้าชัยทิส ตรัสสั่งให้ขุดคลองใหญ่ เหยียดยาวไประหว่างภูเขาลูกหนึ่ง ไม่ห่าง
จากอาศรมบท ของเหล่าพระดาบส แล้วให้หักล้างถางพงทำไร่นา โปรดให้
มหาชนพันตระกูลอพยพมาตั้งครอบครัว เป็นตำบลใหญ่ ตั้งไว้เป็นภิกขาจาร
ของพระดาบสทั้งหลาย บ้านตำบลนั้น ปรากฏชื่อว่า " จุลลกัมมาสทัมมนิคม "
ส่วนประเทศที่พระมหาสัตว์เจ้า สุตตโสมบัณฑิต ทรมานพระยาโปริสาท
พึงทราบว่า ชื่อมหากัมมาสทัมมนิคม.
พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงจบแล้ว ทรง
ประกาศอริยสัจจธรรม ในเวลาจบอริยสัจจกถา พระเถระผู้เลี้ยงดูมารดา ได้
ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วทรงประชุมชาดกว่า พระราชมารดาบิดา ได้มา
เป็นตระกูลแห่งพระมหาราชเจ้า พระดาบสได้มาเป็นพระสารีบุตร ยักษ์
ได้มาเป็นพระองคุลิมาล พระกนิษฐภคินี ได้มาเป็น นางอุบลวรรณาเถรี
พระอัครมเหสี
ได้มาเป็นราหุลมารดา ส่วนอลีนสัตตุราชกุมาร ได้มาเป็น
เราผู้ตถาคต ฉะนี้แล.
จบอรรถกถาชัย ทิสชาดก

4. ฉัททันตชาดก



ว่าด้วยพญาช้างฉันทันต์



[2327] ดูก่อนพระน้องนาง ผู้มีพระสรีระ
อร่ามงามดังทอง มีผิวพรรณผ่องเหลืองเรืองรอง พระ-
เนตรทั้งสองแจ่มใส เหตุไรหนอ พระน้องจึงดูเศร้าโศก
ซูบไป ดุจดอกไม้ที่ถูกขยี้ ฉะนั้น
[2328] ข้าแต่พระมหาราชเจ้า หม่อมฉันแพ้
พระครรภ์ โดยการแพ้พระครรภ์เป็นเหตุให้หม่อมฉัน
ฝันเห็นสิ่งที่หาไม่ได้ง่าย.
[2329] กามสมบัติของมนุษย์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
ในโลกนี้ และในสวนนันทนวัน กามสมบัติทั้งหมดนั้น
เป็นของเราทั้งสิ้น เราหาให้เธอได้ทั้งนั้น.
[2330] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ นายพราน
ป่าเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในแว่นแคว้นของพระองค์ จง
มาประชุมพร้อมกัน หม่อมฉันจะแจ้งเหตุ ที่แพ้พระ
ครรภ์ของหม่อมฉัน ให้นายพรานป่าเหล่านั้นทราบ.
[2331] ดูก่อนเทวี นายพรานป่าเหล่านี้ ล้วน-
แต่มีฝีมือ เป็นคนแกล้วกล้า ชำนาญป่า รู้จักชนิดของ
เนื้อ ยอมสละชีวิตเพื่อประโยชน์ของเราได้.
[2332] ท่านทั้งหลายผู้เป็นเชื้อแถวของนาย-
พราน ที่มาพร้อมกันอยู่ ณ ที่นี้ จงฟังเรา เราฝันเห็น