เมนู

9. โสมนัสชาดก



ว่าด้วยการใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงค่อยทํา



[2165] ใครมาตี มาด่าท่านหรือ ทำไมท่าน
จึงเสียใจ น้อยใจ เศร้าโศกอยู่ วันนี้มารดาบิดาของ
ท่านมาร้องไห้รบกวน ประการใด หรือว่าวันนี้มีใคร
มารังแกท่านให้ท่านต้องนอนเหนือแผ่นดิน.

[2165] (ดาบสตอบว่า) ขอถวายพระพรพระ-
จอมภูมิบาล อาตมาภาพดีใจมาก ที่ได้เห็นมหาบพิตร
อาตมาภาพเข้ามาอาศัยมหาบพิตร มิได้เบียดเบียนใคร
ขอถวายพระพร อาตมาภาพถูกพระราชโอรส ของ
มหาบพิตรเบียดเบียน.

[2166]

(พระราชาทรงพระพิโรธ ตรัสว่า)
เหวยเหล่านายทวารบาล พนักงานตำรวจดาบ และ
นายเพชรฆาตทั้งหลาย พวกเจ้าจงไปทำตามหน้าที่
ของตน ๆ จงไปยังภายในพระราชฐาน ฆ่าเจ้าโสมนัส-
สกุมารเสีย แล้วตัดเอาศีรษะมา ทูตทั้งหลายที่พระราชา
ส่งไป ได้กราบทูลพระกุมารว่า ข้าแต่พระขัตติโยรส
พระองค์เป็นผู้ที่พระอิสราธิบดี ราชบิดาทรงตัดขาด
แล้ว พระองค์ต้องโทษ ถึงประหารชีวิต พระเจ้าข้า.

พระราชโอรส ทรงพระกันแสงอยู่ ทรงประคอง
อัญชลี ยกพระหัตถ์ทั้งสิบนิ้วขึ้นอ้อนวอนว่า ตัวเรา
อยากจะขอเข้าเฝ้าพระราชบิดา ผู้เป็นจอมประชา
ราษฎร์ ขอท่านทั้งหลาย จงนำเราผู้ยังมีชีวิตไปเฝ้า
พระราชบิดาเถิด.

ทูตทั้งหลายได้ฟังพระดำรัสของพระราชกุมาร
แล้ว ได้พาพระราชโอรสเข้าเฝ้าพระราชา ฝ่ายพระ-
ราชโอรส ครั้นเห็นพระราชบิดา จึงกราบทูลไปแต่
ไกลว่า

ข้าแต่พระราชบิดา ผู้เป็นจอมประชาราษฎร์
พวกนายประตู ตำรวจดาบ และเพชฌฆาตทั้งหลาย
พากันมาเพื่อจะฆ่าข้าพระพุทธเจ้าเสีย ข้าพระพุทธเจ้า
ขอกราบทูลถาม ขอได้ทรงพระกรุณาโปรดบอกเนื้อ-
ความนั้นแก่ข้าพระพุทธเจ้า วันนี้ข้าพระพุทธเจ้ามี-
ความผิดในเรื่องนี้เป็นประการใดหรือ พระเจ้าข้า.

[2167] ทิพพจักษุดาบสผู้ไม่ประมาท ทำกิจรด-
น้ำบำเรอไฟ ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้าทุกเมื่อ เหตุไรเจ้า
จึงเรียก ทิพพจักษุดาบสผู้สำรวมอินทรีย์ เป็นพรหม-
จารีเช่นนั้นว่า พราหมณ์คฤหบดี.

[2168] (พระกุมารทูลว่า) ขอเดชะ กุลุปก-
ดาบสผู้นี้มีของเก็บไว้หลายอย่าง คือผลสมอพิเภก
เผือกมัน และผลไม้ทั้งหลาย กุลุปกดาบสผู้นี้เป็นผู้

ไม่ประมาท เก็บรักษาของเหล่านั้นไว้ เพราะเหตุนั้น
ข้าพระพุทธเจ้า จึงเรียกดาบสนั้นว่า " คฤหบดี ".

[2169] (พระราชาตรัสว่า) ดูก่อนเจ้าโสมนัสส-
กุมาร เรื่องนี้เจ้าพูดได้จริง ดาบสผู้นี้มีของเก็บไว้
หลายอย่าง ดาบสผู้นี้เป็นผู้ไม่ประมาท เก็บรักษาสิ่ง-
ของเหล่านั้นไว้ เพราะฉะนั้น ดาบสผู้นี้ จึงชื่อว่า
พราหมณ์ คฤหบดี.

[2170] (พระกุมารตรัสว่า) บริษัททั้งหลาย
ทั้งชาวนิคมและชาวชนบทที่มาประชุมกันถ้วนทุกคน
ขอจงฟังข้าพเจ้า พระราชาผู้เป็นจอมประชาราษฎร์นี้
เป็นพาล ได้ฟังคำชฎิลโกงแล้ว ตรัสสั่งให้ฆ่าเราเสีย
โดยหาเหตุมิได้เลย.

[2171] (พระกุมารตรัสว่า) เมื่อรากยังเจริญ
งอกงามแผ่ไพศาลอยู่ ไม้ไผ่ที่แตกเป็นกอใหญ่แล้ว
ก็แสนยากที่จะถอนให้หมดสิ้นไปได้ ข้าแต่พระราช
บิดา ผู้เป็นจอมประชาราษฎร์ ข้าพระพุทธเจ้า ขอถวาย
บังคมพระยุคลบาท ขอพระราชทานพระบรมราชา-
นุญาต ข้าพระพุทธเจ้าจักออกบวช พระเจ้าข้า.

[2172] (พระราชาตรัสว่า) โสมนัสสกุมาร
เอ๋ย เจ้าจงเสวยสมบัติอันไพบูลย์เถิด อนึ่ง บิดาจะมอบ
อิสริยยศทั้งหมดให้แก่เจ้า เจ้าจงเป็นพระราชาของชาว
กุรุรัฐเสียในวันนี้ทีเดียวเถิด อย่าบวชเลย เพราะการ
บวชเป็นทุกข์.

[2173] (พระกุมารทูลว่า) ขอเดชะ บรรดา
โภคสมบัติของพระองค์ ซึ่งมีอยู่ในราชธานีนี้ สิ่ง
ไรเล่าที่ข้าพระพุทธเจ้าควรบริโภคมีอยู่หรือ ? เมื่อ
ชาติก่อนข้าพระพุทธเจ้าเคยรื่นรมย์อยู่ในเทวโลก ด้วย
รูป เสียง กลิ่น รส และผัสสะทั้งหลาย ที่น่ารื่นรมย์ใจ
ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าเคยบริโภคสมบัติมาแล้วใน
ไตรทิพย์ เคยมีหมู่นางอัปสรแวดล้อมมาแล้ว ข้าพระ-
พุทธเจ้ามารู้ว่า พระองค์เป็นพาล อันคนอื่นต้องนำไป
แล้วจะอยู่ในราชสกุลเช่นนั้นไม่ได้เลย.

[2174] (พระราชาตรัสว่า) ดูก่อนพ่อโสมนัสส์
ถ้าหากว่า บิดาเป็นพาลต้องอาศัยผู้อื่นจูงไปไซร้ เจ้าจง
อดโทษให้บิดาสักครั้งหนึ่งเถิด ถ้าแม้ว่าโทษเช่นนี้จะ
พึงมีอีกไซร้ เจ้าจงกระทำตามมติของตนเถิด.

[2175] (พระกุมารตรัสว่า) กรรมที่บุคคลใด
ไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนเสียก่อน แล้วทำลงไป ผลชั่วร้าย
ย่อมมีแก่บุคคลนั้น เหมือนความวิบัติแห่งยาแก้โรค
ฉะนั้น.

ส่วนกรรมที่บุคคลใดพิจารณาถี่ถ้วนก่อนแล้วทำ
ลงไป ผลอันเจริญย่อมมีแก่บุคคลนั้นเหมือนความ
ถึงพร้อมแห่งยาแก้โรคฉะนั้น.

คฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม เป็นคนเกียจคร้านไม่ดี
บรรพชิตไม่สำรวมไม่งาม พระราชาไม่ใคร่ครวญเสีย
ก่อนแล้วทำลงไป ไม่ดี บัณฑิตมีความโกรธเป็น
เจ้าเรือน ก็ไม่ดี.

ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอธิบดีแห่งทิศ กษัตริย์ทรง
ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงค่อยทำ ยังไม่ได้พิจารณา
ใคร่ครวญก่อนแล้ว ไม่ควรทำกิจการอะไร พระเกียรติ-
ยศของพระราชาผู้ทรงใคร่ครวญเสียก่อนแล้ว จึงทำ
ลงไป ย่อมเจริญยิ่ง ๆ ขึ้น.

ข้าแต่พระภูมิบาล อิสรชนควรพิจารณาเสียก่อน
แล้วจึงลงอาชญา กรรมที่ทำด้วยความรีบร้อนย่อม
เดือดร้อน อนึ่ง ความตั้งตนไว้โดยชอบ และประโยชน์
ของนรชน ย่อมไม่ตามเดือดร้อนในภายหลัง.

อนึ่ง ชนเหล่าใด จำแนกแจกแจงด้วยปัญญา
แล้วกระทำกรรมทั้งหลาย ที่ไม่ตามเดือดร้อนในภาย-
หลัง ในโลก กรรมของชนเหล่านั้น ท่านผู้รู้สรรเสริญ
มีความสุขเป็นกำไร พุทธาทิบัณฑิตอนุมัติแล้ว.

ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งประชาชน
นายประตู ตำรวจดาบ และพวกเพชฌฆาต พากัน ไป
จะฆ่าข้าพระพุทธเจ้า พวกนั้นพากันฉุดคร่าข้าพระพุทธ
เจ้า ผู้กำลังนั่งอยู่ บนพระเพลาแห่งพระราชมารดา
มาโดยพลัน.

ข้าแต่พระราชบิดา แท้จริงข้าพระพุทธเจ้า ถึง
ความหวั่นกลัวต่อมรณภัย คับแคบ ฝืดเคืองเหลือเกิน
วันนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้มีชีวิตอันเป็นที่รัก หวานซาบ-
ซึ้งใจ รอดพ้นจากการถูกประหารมาได้แสนยาก จึง
น้อมใจไปในบรรพชาอย่างเดียว.

[2176] (พระราชาตรัสว่า) ดูก่อนสุธรรมาเทวี
โสมนัสสกุมารโอรสของเธอนี้ ยังรุ่นหนุ่ม น่าเอ็นดู

วันนี้เราอ้อนวอนเขาไว้ ก็ไม่ได้สมปรารถนา แม้เธอ
ก็ควรจะอ้อนวอนโอรสของเธอดูบ้าง.

[2177] (พระนางสุธรรมาเทวีตรัสว่า) ดูก่อน
พระลูกรัก เจ้าจงยินดีด้วยภิกขาจาริยวัตรเถิด จงใคร่-
ครวญในธรรมทั้งหลายแล้วละเว้นบรรพชาของคนมิจ-
ฉาทิฏฐิเสียเถิด เจ้าจงวางอาชญาในสรรพสัตว์ นักบวช
ละวางอาชญาในสรรพสัตว์ทั้งหลายแล้ว เป็นผู้ไม่ถูก
ติเตียน ย่อมเข้าถึงพรหมสถาน.

(พระราชาตรัสว่า) ดูก่อนสุธรรมาเทวี เธอพูดคำ
เช่นใด คำเช่นนั้น น่าอัศจรรย์จริงหนอ เราได้รับ
ทุกข์อยู่แล้ว เธอยังกลับเพิ่มทุกข์ให้อีก ฉันขอร้องเธอ
ให้ช่วยอ้อนวอนลูก เธอกลับสนับสนุนให้โสมนัสส-
กุมารเกิดอุตสาหะยิ่งขึ้น.

[2178] (พระนางสุธรรมาเทวีตรัสว่า) พระ-
อริยเจ้าเหล่าใดพ้นวิเศษแล้ว บริโภคปัจจัยอันหาโทษ
มิได้ ดับรอบแล้ว เที่ยวไปในโลกนี้ หม่อมฉันไม่
อาจจะห้ามโอรสผู้ดำเนินไปตามมรรคา ของพระอริย-
เจ้า เหล่านั้นได้.

[2179] (พระราชาตรัสว่า) ชนเหล่าใดมีปัญญา
เป็นพหูสูต ตรึกตรองเหตุการณ์ถี่ถ้วนมาก พระนาง
สุธรรมาเทวีนี้ เป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ปราศจาก
ความโศกเศร้า ได้สดับคำสุภาษิตของชนเหล่าใด
ชนเหล่านั้นควรจะสมาคมคบหาทีเดียว.

จบโสมนัสสชาดกที่ 9

อรรถกถาโสมนัสสชาดก



พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภ
ความที่พระเทวทัตพยายาม เพื่อจะปลงพระชนม์พระองค์ ตรัสพระธรรม
เทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า โก ตํ หืสติ เหเฐติ ดังนี้.
ก็ในกาลครั้งนั้น พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใช่แต่ใน
บัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในปางก่อนพระเทวทัตนี้ ก็พยายามเพื่อจะฆ่าเราตถาคต
เหมือนกัน แล้วทรงนำอดีตนิทานมาตรัสดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล มีพระราชาทรงพระนามว่า เรณุราช เสวยราชสมบัติ
ในอุตตรปัญจาลนคร แคว้นกุรุ. ครั้งนั้น พระดาบสชื่อ มหารักขิตะ
มีดาบส 500 เป็นบริวาร อยู่ในหิมวันตประเทศเที่ยวจาริกไป เพื่อจะเสพ
อาหารรสเค็มและรสเปรี้ยว จนลุถึงอุตตรปัญจาลนคร พักอยู่ในพระราชอุทยาน
รุ่งขึ้นพร้อมด้วยบริวารเที่ยวไปบิณฑบาตจนถึงราชทวาร. พระเจ้าเรณุราช
ทรงเห็นหมู่ฤาษี ทรงเลื่อมใสในอิริยาบถ จึงตรัสสั่งให้นิมนต์มานั่ง ณ ท้อง
พระโรง มีพื้นกว้างใหญ่อันประดับตกแต่งแล้ว ทรงอังคาสด้วยอาหารอัน
ประณีต แล้วตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย อยู่
จำพรรษาที่อุทยานของข้าพเจ้าตลอดฤดูฝนนี้เถิด แล้วเสด็จไปพระราชอุทยาน
พร้อมด้วยดาบสเหล่านั้น ตรัสสั่งให้สร้างที่อยู่พระราชทานบรรพชิตบริขาร
ทรงนมัสการแล้วเสด็จกลับพระราชวัง. นับแต่นั้นมา ดาบสเหล่านั้นแม้ทั้งหมด
ก็รับพระราชทานฉัน ในพระราชนิเวศน์เป็นประจำ. ก็พระราชามิได้มีพระ-
โอรส จึงทรงปรารถนาจะได้พระโอรส. ราชโอรสก็หาได้มาอุบัติสมพระราช
ประสงค์ไม่ ล่วงกาลฤดูฝน 3 เดือนแล้ว ท่านมหารักขิตดาบส จึงเข้า