เมนู

6. สมุททชาดก


ว่าด้วยสมุทรสาคร


[487] ใครนี้หนอมาเที่ยววนเวียนอยู่ในน้ำ
ทะเลอันเค็ม ย่อมห้ามปลาและมังกร
ทั้งหลาย และย่อมเดือดร้อนในกระแสน้ำ
ที่มีคลื่น.
[488] ข้าพเจ้าเป็นนกชื่อว่าอนันตปายี ปรากฏ
ไปทั่วทิศว่า เป็นผู้ไม่อิ่ม เราปรารถนาจะดื่ม
น้ำในมหาสมุทรสาครใหญ่ ว่าแม่น้ำทั้งหลาย.
[489] สมุทรสาครนี้พร่องก็ดี เต็มเปี่ยมอยู่ก็ดี
ใคร ๆ จะดื่มน้ำในสมุทรสาครนั้น ก็หาพร่อง
ไปไม่ ได้ยินมาว่า สาครอันใคร ๆ ไม่อาจ
จะดื่มกินให้หมดสิ้นไปได้.

จบ สมุททชาดกที่ 6

อรรถกถาสมุททชาดกที่ 6


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระมหาวิหารเชตวัน ทรงปรารภ
พระอุปนันทเถระ จึงตรัสเรื่องนี้มีคำเริ่มต้นว่า โก นฺวายํ ดังนี้.
ได้ยินว่า พระอุปนันทะนั้นบริโภคมาก มีความทะเยอ-
ทะยานมาก ใคร ๆ ไม่อาจให้พระอุปนันทะนั้นอิ่มหนำแม้ด้วยปัจจัย

เต็มเล่มเกวียน. ในวันใกล้เข้าพรรษา พระอุปนันทะนั้นวางรองเท้าไว้
ในวิหารหนึ่ง วางลักจั่นไว้ในวิหารหนึ่ง วางไม้เท้าไว้ในวิหารหนึ่ง
ตนเองอยู่ในวิหารหนึ่ง คราวหนึ่ง ไปยังวิหารในชนบท เห็นภิกษุ
ทั้งหลายมีบริขารประณีต จึงกล่าวอริยวังสกถาพรรณนาถึงความเป็น
วงศ์ของอริยะ ให้ภิกษุเหล่านั้นถือผ้าบังสุกุล แล้วถือเอาจีวรของ
ภิกษุเหล่านั้น ให้ภิกษุเหล่านั้นถือบาตรดินแล้ว ตนเองเอาบาตร
ที่ชอบ ๆ และภาชนะมีถาดเป็นต้น บรรทุกเต็มยานน้อยแล้วมาสู่
พระเชตวันมหาวิหาร. อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันใน
โรงธรรมสภาว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระอุปนันทะ ศากยบุตร
บริโภคมาก มักมาก แสดงข้อปฏิบัติแก่ภิกษุเหล่าอื่น แล้วเอาสมณ-
บริขารบรรทุกเต็มยานน้อยมา. พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า
ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ เมื่อ
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย อุปนันทะกล่าวอริยวังสกถาแก่ผู้อื่น แล้วกระทำกรรมอัน
ไม่สมควร เพราะควรที่ตนจะต้องเป็นผู้มักน้อยก่อนแล้ว จึงกล่าว
อริยวังสกถาแก่ผู้อื่นในภายหลัง แล้วทรงแสดงคาถาในพระธรรมบท
ดังนี้ว่า :-
บุคคลควรตั้งตนไว้ในคุณอันสมควร
ก่อน แล้วพึงสั่งสอนผู้อันในภายหลัง บัณฑิต
จะไม่พึงเศร้าหมอง.

ครั้นแล้วจึงทรงติเตียนพระอุปนันทะ แล้วตรัสว่า ดูก่อน
ภิกษุ พระอุปนันทะเป็นผู้มักมากในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ใน
กาลก่อนก็ยังสำคัญน้ำแม้ในมหาสมุทรว่า ตนควรจะรักษา แล้วทรง
นำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ใน
พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นเทวดารักษาสมุทร.
ครั้งนั้นมีกาน้ำตัวหนึ่งบินเที่ยวอยู่ ณ ส่วนเบื้องบนมหาสมุทร เที่ยว
ห้ามฝูงปลาและฝูงนกว่า ท่านทั้งหลายจงดื่มน้ำในมหาสมุทรแต่พอ
ประมาณ จงช่วยกันรักษา ดื่มเถิด. สมุทรเทวดาเห็นดังนั้น จึงกล่าว
คาถาที่ 1 ว่า
ใครนี่หนอ มาเที่ยววนเวียนอยู่ในน้ำ
ทะเลอันเค็ม ย่อมห้ามปลาและมังกร
ทั้งหลาย และย่อมเดือดร้อนในกระแสน้ำ
ที่มีคลื่น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โก นฺวายํ ตัดเป็น โก นุ อยํ
แปลว่า นี่ใครหนอ.
กาน้ำได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ 2 ว่า
ข้าพเจ้าเป็นนกชื่อว่าอนันตปายี ปรากฏ
ไปทั่วทิศว่า เป็นผู้ไม่อิ่ม เราปรารถนาจะดื่ม

น้ำมหาสมุทรสาครเป็นใหญ่กว่าแม่น้ำทั้ง
หลาย.

เนื้อความแห่งคาถานั้นว่า เราปรารถนาจะดื่มน้ำในสาครอัน
หาที่สุดมิได้ ด้วยเหตุนั้น เราจึงเป็นนกชื่อว่าอนันตปายี. อนึ่ง เราอัน
บุคคลได้ยินได้ฟังปรากฏแล้วว่า ชื่อว่าเป็นผู้ไม่รู้จักอิ่ม เพราะ
ประกอบด้วยความอยากอันไม่รู้จักเต็มมากมาย เรานั้นปรารถนาจะดื่ม
น้ำมหาสมุทรนี้ทั้งสิ้น ที่ชื่อว่าสาคร เพราะเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะ
อันงดงาม และเพราะอันสาครขุดเซาะ ชื่อว่าเป็นใหญ่กว่าสระทั้งหลาย
เพราะเป็นเจ้าแห่งสระทั้งหลาย.
สมุทรเทวดาได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวคาถาที่ 3 ว่า :-
ทะเลใหญ่นี้นั้น ย่อมลดลงและกลับ
เต็มอยู่ตามเดิม บุคคลดื่มกินอยู่ก็หาทำให้
น้ำทะเลนั้นพร่องลงไป ได้ยินว่า น้ำทะเล
ใหญ่นั้น ใคร ๆ ไม่อาจดื่มกินให้หมดสิ้นไป.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โสยํ ตัดเป็น โส อยํ แปลว่า
นี้นั้น. บทว่า หายตี เจว ความว่า น่าทะเลย่อมพร่องในเวลา
น้ำลง และย่อมเต็มในเวลาน้ำไหลขึ้น. บทว่า นาสฺส นายติ
ความว่า ถ้าแม้ชาวโลกทั้งสิ้นจะดื่มน้ำมหาสมุทรนั้น แม้ถึงเช่นนั้น
มหาสมุทรนั้นก็ไม่ปรากฏความพร่องแม้ว่าชาวโลกดื่มน้ำชื่อมีประมาณ

เท่านี้ จากน้ำนี้. บทว่า อเปยฺโย กิร ความว่า ได้ยินว่าสาครนี้
ใคร ๆ ไม่อาจดื่มให้น้ำหมด.
ก็แหละรุกขเทวดาครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วแสดงรูปารมณ์อันน่า
กลัวให้กาสมุทรนั้นหนีไป.
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรง
ประชุมชาดกว่า กาสมุทรในครั้งนั้น ได้เป็นพระอุปนันทะในบัดนี้
ส่วนรุกขเทวดา คือเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาสมุททชาดกที่ 6

7. กามวิลาปชาดก


ว่าด้วยผู้พิลาปถึงกาม


[490] ดูก่อนนกผู้มีปีกเป็นยาน บินทะยานไป
ในเวหา บินไปในอากาศอันสูง ท่านช่วย
บอกกะภรรยาของข้าพเจ้าผู้มีลำขาเสมอด้วย
ต้นกล้วย ว่าข้าพเจ้าถูกเสียบอยู่บนหลาว
ภรรยาของข้าพเจ้านั้น เมื่อไม่รู้ข่าวคราวอัน
นี้ ก็จักทำการรอคอยข้าพเจ้าเป็นเวลานาน.
[491] ภรรยาของข้าพเจ้านั้นยังไม่รู้ว่าหลาว
และหอกนี้เขาวางไว้ เพื่อเสียบประจาน
นางเป็นคนดุร้าย ก็จะโกรธข้าพเจ้า ความ
โกรธแห่งภรรยาของข้าพเจ้านั้น จะทำให้
ข้าพเจ้าเดือดร้อนไปด้วย อนึ่ง หลาวนี้มิได้
ทำให้ข้าพเจ้าเดือดร้อนเลย.
[492] หอกและเกราะนี้ข้าพเจ้าเก็บไว้ที่หัวนอน
อนึ่ง แหวนก้อยที่ทำด้วยทองคำสุก และ
ผ้าแคว้นกาสีเนื้ออ่อน ข้าพเจ้าก็เก็บไว้ที่หัว
นอน ขอภรรยาที่รักของข้าพเจ้า ผู้มีความ
ต้องการทรัพย์ จงยินดีด้วยทรัพย์นี้เถิด.

จบ กามวิลาปชาดกที่ 7