เมนู

3. ปุฏภัตตชาดก



ว่าด้วยการคบ


[295] บุคคลควรนอบน้อมต่อผู้ที่นอบน้อมตน
ควรคบกับผู้ที่คบตน ควรทำกิจตอบแทนแก่ผู้ที่
ช่วยทำกิจของตน ไม่ควรทำประโยชน์แก่ผู้
ปรารถนาความฉิบหายให้ และไม่ควรคบกับผู้
ที่ไม่คบตน.
[296] บุคคลควรละทิ้งผู้ที่ละทิ้งตน ไม่ควรทำ
ความอาลัยรักใคร่ในบุคคลเช่นนั้น ไม่ควร
สมาคมกับผู้ที่เขาไม่ใฝ่ใจกับตน นกรู้ว่าต้นไม้
หมดผลแล้วก็ละทิ้งไปหาต้นไม้อื่น เพราะโลก
เป็นของกว้างใหญ่.

จบ ปุฏภัตตชาดกที่ 3

อรรถกถาปุฏภัตตชาดกที่ 3



พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรง
ปรารภกุฎุมพีคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า
นเม นมนฺตสฺส ดังนี้.
ได้ยินว่า กุฎุมพีชาวกรุงสาวัตถีผู้หนึ่ง ได้ทำการค้าขาย
กับกุฎุมพีชาวชนบทผู้หนึ่ง. กุฎุมพีชาวกรุงนั้นได้พาภรรยาของ

ตนไปหาผู้เก็บเงินของกุฎุมพีชาวชนบทนั้น. ผู้เก็บเงินบอกว่า
เราไม่สามารถจะให้ได้ จึงไม่ให้อะไรไป. กุฎุมพีชาวกรุงโกรธ
ไม่ยอมบริโภคอาหารออกไปเลย. ครั้งนั้นบุรุษผู้เดินทางทั้งหลาย
เห็นกุฎุมพีชาวกรุงผู้นั้นหิวโหยในระหว่างทาง จึงให้ห่อข้าวด้วย
บอกว่า ท่านจงแบ่งให้ภรรยาด้วย แล้วบริโภคเถิด. กุฎุมพีชาว
กรุงรับห่อข้าวแล้ว ไม่อยากให้ภรรยา จึงกล่าวว่า แน่ะน้อง
ตรงนี้เป็นถิ่นโจร น้องจงล่วงหน้าไปก่อน ส่งภรรยาไปแล้ว จึง
บริโภคอาหารจนหมด แล้วเอาห่อเปล่า ๆ มาพูดว่า น้องพวก
บุรุษเดินทางให้ห่อเปล่า ๆ ไม่มีข้าวเลย. ภรรยารู้ว่าสามีบริโภค
แต่ผู้เดียว ก็มีความน้อยใจ. ทั้งสองสามีภรรยาผ่านไปทางหลัง
พระเชตวันมหาวิหาร จึงแวะเข้าไปเชตวันมหาวิหารด้วยคิดว่า
จักดื่มน้ำ. แม้พระศาสดาก็ประทับนั่งคอยดูการมาของสามีภรรยา
นั้น ใต้ร่มเงาพระคันธกุฏี ดุจพราหมณ์ดักเนื้อฉะนั้น. สามีภรรยา
พบพระศาสดาแล้ว จึงเข้าไปถวายบังคมนั่งแล้ว. พระศาสดา
ทรงกระทำการปฏิสันถารกับสามีภรรยานั้น ตรัสถามว่า อุบาสิกา
สามีท่านเอาใจใส่ห่วงใยท่านดีอยู่หรือ. ภรรยากราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ ข้าพระองค์มีความห่วงใยต่อเขา แต่เขาไม่มีความ
ห่วงใยต่อข้าพระองค์เลย วันอื่นยกไว้เถิด วันนี้เองสามีของ
ข้าพระองค์นี้ได้ข้าวห่อมาห่อหนึ่งในระหว่างทาง ไม่แบ่งให้
ข้าพระองค์ บริโภคเฉพาะตน. พระศาสดาตรัสว่า อุบาสิกา
ท่านเป็นผู้เอาใจใส่ห่วงใยสามีเสมอมา สามีของท่านนั้นไม่

ห่วงใยท่านเลย แต่พอรู้คุณของท่าน เพราะอาศัยบัณฑิต ครั้งนั้น
จึงได้มอบความเป็นใหญ่ทั้งปวงให้ นางทูลอาราธนาขอให้เล่า
จึงทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน
กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลอำมาตย์ ครั้นเจริญ
วัย ได้เป็นผู้สอนอรรถและธรรมของพระเจ้าพรหมทัต. ครั้งนั้น
พระราชาทรงระแวงโอรสของพระองค์ว่าจะกบฎต่อพระองค์
จึงทรงเนรเทศออกเสียจากอาณาจักรนั้น. พระโอรสนั้นพาชายา
ของตนออกจากนครไปอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแคว้นกาสีแห่งหนึ่ง.
ครั้นต่อมาพระโอรสนั้นทราบข่าวว่า พระบิดาสวรรคตแล้ว
คิดว่า เราจักไปครองราชสมบัติอันเป็นสมบัติของตระกูล จึง
กลับมาสู่เมืองพาราณี ได้ข้าวห่อในระหว่างทาง โดยผู้ให้สั่งว่า
จงแบ่งให้ภรรยาบ้าง แล้วบริโภคเถิด ไม่ยอมให้ชายานั้น บริโภค
เสียเองทั้งหมด. นางเสียใจว่า บุรุษนี้ใจคอโหดร้ายจริงหนอ.
พระโอรสนั้นครองราชสมบัติในกรุงพาราณสีแล้ว ตั้งนาง
ไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี มิได้ประทานเครื่องสักการะและยกย่อง
อย่างอื่น โดยทรงเห็นว่า เท่านั้นก็พอแล้วสำหรับนาง แม้แต่คำว่า
เจ้าเป็นอยู่อย่างไร ก็มิได้ตรัสถามนางเลย. พระโพธิสัตว์คิดว่า
พระเทวีนี้มีอุปการะมาก มีความจงรักภักดีต่อพระราชา. แต่
พระราชามิได้สนพระทัยถึงพระนางแม้แต่น้อย. เราจักให้พระองค์
ทรงประทานเครื่องสักการะและยกย่องพระนาง จึงเข้าไปเฝ้า

พระเทวี ไว้ระยะพอสมควรแล้วยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง เมื่อตรัส
ถามว่า อะไรเล่าพ่อ จึงทูลเพื่อต่อเรื่องราวขึ้นว่า ข้าแต่พระเทวี
ข้าพระองค์รับราชการบำรุงพระองค์ไม่ควรจะให้ท่อนผ้าหรือ
ก้อนข้าวแก่มารดาบิดาผู้แก่เฒ่าบ้างเทียวหรือ. พระเทวีตรัสว่า
แม้ตัวเราเองยังไม่ได้อะไรเลย เราจะเอาอะไรให้ท่านเล่า ในเวลา
ที่ได้เราก็ให้ท่านมิใช่หรือ. แต่บัดนี้พระราชามิได้พระราชทาน
อะไรให้เรา. การพระราชทานอย่างอื่นจงยกไว้เถิด พระองค์
เมื่อกำลังเสด็จเพื่อจะรับราชสมบัติ ได้ข้าวห่อหนึ่งในระหว่าง
ทาง ยังมิได้ประทานแม้แต่อาหารแก่เรา พระองค์เสวยเสียเอง
หมด. พระโพธิสัตว์ทูลถามว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พระองค์จักกล้า
ทูลอย่างนี้ในสำนักพระราชาหรือ ตรัสว่า กล้าซิ พ่อคุณ จึงทูลว่า
ถ้าเช่นนั้น ในเวลาที่ข้าพระองค์เฝ้าอยู่ในราชสำนักวันนี้แหละ
เมื่อข้าพระองค์ทูลถามขึ้น ขอพระนางจงตรัสอย่างนี้ วันนี้แหละ
ข้าพระองค์จักให้พระราชารู้สึกคุณของพระองค์. ครั้นทูลอย่างนี้
แล้วพระโพธิสัตว์จึงล่วงหน้าไปก่อน ยืนเฝ้าพระราชา. ฝ่าย
พระเทวีก็ไปยืนเฝ้าพระราชา.
ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์กราบทูลพระเทวีว่า ข้าแต่พระแม่
อยู่หัว พระแม่เจ้าทรงมีพระทัยจืดเหลือเกิน การที่พระแม่เจ้า
จะให้ท่อนผ้าหรือเพียงก้อนข้าวแก่มารดาบิดาไม่สมควรหรือ.
พระเทวีตรัสว่า เราเองยังไม่ได้อะไรจากพระราชา จักเอาอะไร
ให้ท่านเล่า. พระโพธิสัตว์ทูลถามว่า พระองค์ได้ตำแหน่งอัคร-

มเหสีมิใช่หรือ. พระเทวีตรัสว่า แน่ะพ่อ เมื่อไม่มีการยกย่อง
ตำแหน่งอัครมเหสีจักทำอะไรได้ พระราชาของท่านจักพระ-
ราชทานอะไรแก่เราในบัดนี้เล่า พระองค์ได้ข้าวห่อระหว่างทาง
ยังไม่พระราชทานให้สักหน่อย เสวยเสียเอง. พระโพธิสัตว์ทูล
ถามว่า ข้าแต่พระมหาราชได้ยินว่าอย่างนั้นหรือ. พระราชา
ทรงรับ พระโพธิสัตว์ทราบว่า พระราชาทรงรับแล้วจึงทูลว่า
ข้าแต่พระแม่เจ้า ถ้าเช่นนั้นพระองค์จะมีประโยชน์อะไร ด้วย
การประทับอยู่ที่นี้ ตั้งแต่กาลไม่เป็นที่รักของพระราชา เพราะ
การร่วมกับผู้ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ในโลก เมื่อพระองค์ประทับ
อยู่ที่นี้ การร่วมกับความไม่เป็นที่รักของพระราชาจักเป็นทุกข์.
ธรรมดาว่าสัตว์เหล่านี้ย่อมคบผู้ที่คบด้วย รู้ผู้ที่ไม่คบว่าเขาไม่
อยากคบ ก็พึงไปเสียที่อื่น ด้วยว่าที่อาศัยคือ โลกกว้างใหญ่
แล้วได้กล่าวคาถาว่า :-
บุคคลควรนอบน้อมต่อผู้ที่นอบน้อมตน
ควรคบกับผู้ที่คบตน ควรทำกิจตอบแทนแก่ผู้ที่
ช่วยทำกิจของตน ไม่ควรทำประโยชน์แก่ผู้
ปรารถนาความฉิบหายให้และไม่ควรคบกับผู้
ที่ไม่คบตน.

บุคคลควรละทิ้งผู้ที่ละทิ้งตน ไม่ควรทำ
ความอาลัยรักใคร่ในบุคคลเช่นนั้น ไม่ควร
สมาคมกับคนที่เขาไม่ใฝ่ใจกับตน นกรู้ว่าต้นไม้

หมดผลแล้ว ก็ละทิ้งไปหาต้นไม้อื่น เพราะโลก
เป็นของกว้างใหญ่

ในบทเหล่านั้นบทว่า นเม นมนฺตสฺส ภเช ภชนฺตํ ความว่า
บุคคลควรนอบน้อมตอบผู้ที่นอบน้อมตน คือควรคบผู้ที่คบตน
เท่านั้น. บทว่า กิจฺจานุกุพฺพสฺส กเรยฺย กิจฺจํ ความว่า บุคคล
ควรช่วยทำกิจที่เกิดขึ้นแก่ผู้ที่ช่วยทำกิจอันเกิดแก่ตน. บทว่า
จเช จชนฺตํ วนถํ น กยิรา. ได้แก่ ควรละทิ้งผู้ที่ละทิ้งตน ไม่ควร
ทำความอาลัย กล่าวคือความเยื่อใยในผู้นั้นแม้แต่น้อย. บทว่า
อเปตจิตฺเตน ได้แก่ ผู้มีจิตเลื่อนลอย. บทว่า น สมฺภเชยฺย คือ
ไม่ควรสมาคมกับคนเช่นนั้น. บทว่า ทิโช ทุมํ ได้แก่ เหมือนนก
เมื่อก่อนต้นไม้ผลิผล เมื่อสิ้นผลแล้วก็รู้ว่าต้นไม้นี้ไม่มีผลแล้ว
ก็ทิ้งต้นไม้นั้นไปหาต้นไม้อื่น ฉันใดพึงแสวงต้นไม้อื่นฉันนั้น.
เพราะโลกนี้กว้างใหญ่ พระองค์จักได้บุรุษคนหนึ่งผู้มีความ
เสน่หาในพระองค์แน่แท้.
พระเจ้าพาราณสีทรงสดับดังนั้นแล้ว ได้พระราชทาน
อิสริยยศทั้งปวงแก่พระเทวี. ตั้งแต่นั้นมาก็อยู่กันอย่างพร้อม
เพรียงชื่นชม.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศ
สัจธรรม ทรงประชุมชาดก. เมื่อจบสัจธรรม สามีภรรยา
ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล. สามีภรรยาในครั้งนั้นได้เป็นสองสามีภรรยา
ในครั้งนี้ ส่วนอำมาตย์บัณฑิต คือเราตถาคตนี้แล.
จบ อรรถกถาปุฏภัตตชาดกที่ 3

4. กุมภีลชาดก



คุณธรรมเครื่องให้เจริญ


[297] ผู้ใดมีคุณธรรม อันเป็นเครื่องให้เจริญ
อย่างยิ่ง 4 ประการนี้ คือ สัจจะ 1 ธรรม 1
ธิติ 1 จาคะ 1 ผู้นั้นย่อมล่วงพ้นศัตรูได้.
[298] ส่วนผู้ใด ไม่มีคุณธรรมอันเป็นเครื่อง
ให้เจริญอย่างยิ่ง 4 ประการนี้ คือ สัจจะ 1
ธรรม 1 ธิติ 1 จาคะ 1 ผู้นั้นย่อมล่วงพ้นศัตรู
ไม่ได้.

จบ กุมภีลชาดกที่ 4

อรรถกถากุมภีลชาดกที่ 4



พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ทรง
ปรารภพระเทวทัต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า
ยสฺเสเต จตุ โร ธมฺมา ดังนี้.
พระโพธิสัตว์ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-
ผู้ใดมีคุณธรรมอันเป็นเครื่องให้ความ
เจริญอย่างยิ่ง 4 ประการนี้ คือ สัจจะ 1 ธรรม 1
ธิติ 1 จาคะ 1 ผู้นั้นย่อมล่วงพ้นศัตรูได้.