เมนู

5. กัจฉปชาดก



ตายเพราะปาก


[279] เต่าพออ้าปากจะพูด ได้ฆ่าตนเองแล้ว
หนอ เมื่อตนคาบท่อนไม้ไว้ดีแล้ว ก็ฆ่าตนเสีย
ด้วยวาจาของตนเอง.
[280] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐสุดในหมู่นรชน
บุรุษผู้เป็นบัณฑิตเห็นเหตุอันนี้แล้ว ควรเปล่ง
แต่วาจาที่ดี ไม่ควรเปล่งวาจานั้นให้ล่วงเวลาไป
ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตรเต่าผู้ล่วงถึงความ
พินาศเพราะพูดมาก.

จบ กัจฉปชาดกที่ 5

อรรถกถากัจฉปชาดกที่ 5



พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรง
ปรารภภิกษุโกกาสิกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า
อวธิ วต อตฺตานํ ดังนี้. เรื่องราว จักมีแจ้งในมหาตักการิชาดก.
ก็ในครั้งนั้น พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
โกกาลิกะมิใช่ฆ่าตัวเองด้วยวาจาในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อน
ก็ฆ่าตัวตายด้วยวาจาเหมือนกัน จึงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า.

ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน
กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลอำมาตย์ ครั้นเจริญ
วัย ได้เป็นผู้สอนอรรถและธรรมของพระองค์. แต่พระราชา
พระองค์ช่างพูด. เมื่อพระองค์ตรัสคนอื่นไม่มีโอกาสพูดได้เลย.
พระโพธิสัตว์ประสงค์จะปรามความพูดมากของพระองค์ จึงคิด
ตรองหาอุบายพักอย่างหนึ่ง. ก็ในกาลนั้นมีเต่าตัวหนึ่งอาศัยอยู่
ที่สระแห่งหนึ่งในหิมวันตประเทศ. มีลูกหงส์สองตัวหากิน จน
สนิทสนมกับเต่า. ลูกหงส์สองตัวนั้นครั้นสนิทสนมแน่นแฟ้น วัน
หนึ่งจึงพูดกับเต่าว่า เต่าสหายรัก ที่อยู่ในถ้ำทองที่พื้นภูเขา
จิตรกูฏ ในป่าหิมพานต์ของพวกเรา เป็นประเทศน่ารื่นรมย์
ท่านจะไปกับเราไหม. เต่าถามว่า เราจะไปได้อย่างไรเล่า.
ลูกหงส์กล่าวว่า เราจักพาท่านไป หากท่านรักษาปากไว้ได้
ท่านจะไม่พูดอะไรกะใคร ๆ เลย. เต่าตอบว่า ได้ พวกท่านพาเรา
ไปเถิด. ลูกหงส์ทั้งสองจึงให้เต่าคาบไม้อันหนึ่ง ตนเองคาบปลาย
ไม้ทั้งสองข้างบินไปในอากาศ. พวกเด็กชาวบ้านเห็นหงส์นำเต่า
ไปดังนั้น จึงตะโกนขึ้นว่า หงส์สองตัวนำเต่าไปด้วยท่อนไม้.
เต่าอยากจะพูดว่า ถึงสหายของเราจะพาเราไป เจ้าเด็กถ่อย
มันกงการอะไรของเจ้าเล่า จึงปล่อยท่อนไม้จากที่ที่คาบไว้ ใน
เวลาที่ถึงเบื้องบนพระราชนิเวศน์ในนครพาราณสี เพราะหงส์
พาไปเร็วมาก จึงตกในอากาศแตกเป็นสองเสี่ยง. ได้เกิดเอะอะ
อึงคะนึงกันว่า เต่าตกจากอากาศแตกสองเสี่ยง.

พระราชาทรงพาพระโพธิสัตว์ไป มีหมู่อำมาตย์แวดล้อม
เสด็จไปถึงที่นั้น ทอดพระเนตรเห็นเต่า จึงตรัสถามพระโพธิสัตว์
ว่า ดูก่อนท่านบัณฑิต ทำอย่างไรจึงได้ตกมา. พระโพธิสัตว์คิด
ว่า เราคอยมานานแล้ว ใคร่จะถวายโอวาทพระราชา เที่ยวตรอง
หาอุบายอยู่ เต่าตัวนี้คงจะคุ้นเคยกับหงส์เหล่านั้น พวกหงส์จึง
ให้คาบไม้ไปด้วยหวังว่า จะนำไปป่าหิมพานต์ จึงบินไปในอากาศ
ครั้นแล้วเต่าตัวนี้ได้ยินคำของใคร ๆ อยากจะพูดตอบบ้าง เพราะ
ตนไม่รักษาปาก จึงปล่อยท่อนไม้เสีย ตกจากอากาศถึงแก่
ความตาย จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ธรรมดาคนปากกล้า
พูดไม่รู้จบ ย่อมได้รับทุกข์เห็นปานนี้แหละ พระเจ้าข้า แล้วได้
กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-
เต่าพออ้าปากจะพูด ได้ฆ่าตนเองแล้ว
หนอ เมื่อตนคาบท่อนไม้ไว้ดีแล้ว ก็ฆ่าตนเสีย
ด้วยวาจาของตนเอง. ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ
ในหมู่นรชน บุรุษผู้เป็นบัณฑิต เห็นเหตุอันนี้
แล้ว ควรเปล่งแต่วาจาที่ดี ไม่ควรเปล่งวาจานั้น
ให้ล่วงเวลาไป ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตร
เต่าผู้ถึงความพินาศเพราะพูดมาก.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อวธิ วต ได้แก่ ได้ฆ่าแล้วหนอ.
บทว่า ปพฺยาหรํ ได้แก่ อ้าปากจะพูด. บทว่า สุคฺคหิตสฺมึ

กฏฺฐสฺมึ ความว่า เมื่อท่อนไม้อันตนคาบไว้ดีแล้ว. บทว่า วาจาย
สกิยา วธิ
ความว่า เต่าเมื่อเปล่งวาจาในเวลาไม่ควร เพราะ
ความที่ตนปากกล้าเกินไป จึงปล่อยที่ที่คาบไว้แล้ว ฆ่าตนเอง
ด้วยวาจาของตนนั้น. เต่าได้ถึงแก่ความตายอย่างนี้แหละ มิใช่
อย่างอื่น. บทว่า เอตมฺปิ ทิสฺวา คือเห็นเหตุนี้แหละ. บทว่า
นรวีรเสฏฺฐ ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ. มีความเพียรสูง
เป็นพระราชาผู้ประเสริฐด้วยความเพียรในนรชนทั้งหลาย.
บทว่า วาจํ ปมุญฺเจ กุสลํ นาติเวลํ ความว่า บุรุษผู้เป็นบัณฑิต
พึงเปล่งวาจาที่เป็นกุศลอย่างเดียว ประกอบด้วยสัจจะเป็นต้น
คือพึงกล่าววาจาที่เป็นประโยชน์ ประกอบด้วยกาล ไม่พึงกล่าว
วาจาเกินเวลา เกินกาลไม่รู้จักจบ. บทว่า ปสฺสสิ ความว่า
พระองค์ทอดพระเนตรเห็นประจักษ์แล้วมิใช่หรือ. บทว่า
พหุภาณเนน แปลว่า เพราะพูดมาก. บทว่า กจฺฉปํ พฺยสนํ คตํ
คือ เต่าถึงแก่ความตายอย่างนี้.
พระราชาทรงทราบว่า พระโพธิสัตว์กล่าวหมายถึง
พระองค์ จึงตรัสว่า ท่านพูดหมายถึงเราใช่ไหม ท่านบัณฑิต.
พระโพธิสัตว์กราบทูลให้ชัดเจนว่า ข้าแต่มหาราช ไม่ว่าจะเป็น
พระองค์หรือใคร ๆ อื่น เมื่อพูดเกินประมาณย่อมถึงความพินาศ
อย่างนี้. พระราชาตั้งแต่นั้นมาก็ทรงงดเว้นตรัสแต่น้อย.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุม
ชาดก เต่าในครั้งนั้นได้เป็นโกกาลิกะในครั้งนี้ ลูกหงส์สองตัว

ได้เป็นพระมหาเถระสองรูป พระราชาได้เป็นอานนท์ ส่วน
อำมาตย์บัณฑิตได้เป็นเราตถาคตนี้แล.
จบ อรรถกถากัจฉปชาดกที่ 5

6. มัจฉชาดก



ไฟราคะร้อนกว่าไฟอย่างอื่น


[281] ไฟนี้ก็ไม่เผาเราให้เร่าร้อน แม้หลาวที่
นายพรานแหเสี้ยมเป็นอย่างดีแล้ว ก็ไม่ยังความ
ทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่เรา แต่การที่นางปลาเข้าใจว่า
เราไปหานางปลาตัวอื่นด้วยความยินดี อันนี้แหละ
จะเผาเราให้เร่าร้อน.
[282] ไฟคือราคะนั้นแลย่อมเผาเราให้เร่าร้อน
อนึ่ง จิตของเราเองย่อมเผาเราให้เร่าร้อน พราน
แหทั้งหลาย ขอได้ปล่อยเราเถิด สัตว์ผู้ตกยาก
อยู่ในกาม ท่านไม่ควรฆ่าโดยแท้.

จบ มัจฉชาดกที่ 6

อรรถกถามัจฉชาดกที่ 6



พระศาสดาเมื่อประ ทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรง
ปรารภการเล้าโลมของภรรยาเก่า ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำ
เริ่มต้นว่า น มายมคฺคิ ตปติ ดังนี้.
เรื่องย่อมีว่า พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ
ได้ยินว่า เธอกระสันจริงหรือ ภิกษุนั้นกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า