เมนู

2. เกฬิสีลชาดก



ว่าด้วยปัญญาสำคัญกว่าร่างกาย


[253] หงส์ก็ดี นกกะเรียนก็ดี นกยูงก็ดี ช้างก็ดี
ฟานก็ดี ย่อมกลัวราชสีห์ทั้งนั้น จะถือเอาร่างกาย
เป็นประมาณไม่ได้ฉันใด.
[254] ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น ถ้าแม้เด็กมีปัญญา
ก็เป็นผู้ใหญ่ได้ คนโง่ถึงร่างกายจะใหญ่โต ก็เป็น
ผู้ใหญ่ไม่ได้.

จบ เกฬิสีลชาดกที่ 2

อรรถกถาเกฬิสีชาดกที่ 2



พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรง
ปรารภท่านพระลกุณฏกภัททิยะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำ
เริ่มต้นว่า หํสา โกญฺจา มยุรา จ ดังนี้.
ได้ยินว่า ท่านลกุณฏกภัททิยะเป็นผู้ปรากฏชื่อเสียงใน
พระพุทธศาสนา มีเสียงเพราะเป็นผู้แสดงธรรมไพเราะ เป็น
พระมหาขีณาสพบรรลุปฏิสัมภิทา แต่ท่านตัวเล็กเตี้ยในหมู่พระ-
มหาเถระ 80 องค์ คล้ายสามเณรถูกล้อเลียน. วันหนึ่งเมื่อท่าน
ถวายบังคมพระตถาคตแล้วไปซุ้มประตูพระเชตวัน. ภิกษุชาว

ชนบทประมาณ 30 รูปไปยังพระเชตวันด้วยคิดว่าจักถวายบังคม
พระตถาคต เห็นพระเถระที่ซุ้มวิหาร จึงพากันจับพระเถระที่
ชายจีวร ที่มือ ที่ศีรษะ ที่จมูก ที่หู เขย่า ด้วยสำคัญว่าท่านเป็น
สามเณร ทำด้วยคะนองมือ ครั้นเก็บบาตรจีวรแล้วก็พากันเข้า
เฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่ง เมื่อพระศาสดาทรงกระทำ
ปฏิสันถารด้วยพระดำรัสอันไพเราะแล้วจึงทูลถามว่า ข้าแต่
พระองค์ ได้ยินว่ามีพระเถระองค์หนึ่งชื่อลกุณฏกภัททิยเถระ
เป็นสาวกของพระองค์ แสดงธรรมไพเราะ เดี๋ยวนี้พระเถระ
รูปนั้นอยู่ที่ไหนพระเจ้าข่า พระศาสดาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย พวกเธอประสงค์จะเห็นหรือ. กราบทูลว่า พระเจ้าข้า
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายใคร่จะเห็น. ตรัสว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุที่พวกเธอเห็นที่ซุ้มประตูแล้วพวกเธอคะนองมือจับที่ชาย
จีวรเป็นต้นแล้วมา ภิกษุรูปนั้นแหละคือ ลกุณฏกภัททิยะละ.
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ พระสาวกผู้ถึงพร้อม
ด้วยอภินิหาร ได้ตั้งความปรารถนาไว้เห็นปานนี้ เพราะเหตุใด
จึงมีศักดิ์น้อยเล่าพระเจ้าข้า. พระศาสดาตรัสว่า เพราะอาศัย
กรรมที่ตนได้ทำไว้ ภิกษุเหล่านั้นทูลอาราธนา ทรงนำเรื่องอดีต
มาตรัสเล่า.
ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน
กรุงพาราณสีพระโพธิสัตว์ได้เป็นท้าวสักกเทวราช. ในกาลนั้น
ใคร ๆ ก็ไม่อาจจะให้พระเจ้าพรหมทัตได้ทรงเห็นช้าง ม้า หรือ

โคที่แก่ชรา พระองค์ชอบเล่นสนุก ทอดพระเนตรเห็นสัตว์เช่นนั้น
จึงรับสั่งให้พวกมนุษย์ต้อนไล่แข่งกัน เห็นเกวียนเก่า ๆ ก็ให้
แข่งกันจนพัง เห็นสตรีแก่รับสั่งให้เรียกมากระแทกที่ท้องให้
ล้มลง แล้วจับให้ลุกขึ้น ให้ขับร้องเพลง เห็นชายแก่ ๆ ก็ให้
หกคะเมนตีลังกาเป็นต้น บนพื้นดินดุจนักเล่นกระโดด เมื่อไม่
ทรงพบเห็นเอง เป็นแต่ได้สดับข่าวว่า คนแก่มีที่บ้านโน้น ก็รับสั่ง
ให้เรียกตัวมาบังคับให้เล่น. พวกมนุษย์ต่างก็ละอาย ส่งมารดา
บิดาของตนไปอยู่นอกแคว้น. ขาดการบำรุงมารดาบิดา. พวก
ราชเสวกก็พอใจในการเล่นสนุก. พวกตายไป ๆ ก็ไปบังเกิด
เต็มในอบาย 4. เทพบริษัททั้งหลายก็ลดลง. ท้าวสักกะไม่ทรง
เห็นเทพบุตรเกิดใหม่ ทรงรำพึงว่า เหตุอะไรหนอ ครั้นทรงทราบ
เหตุนั้นแล้วดำริว่า เราจะต้องทรมานพระเจ้าพรหมทัต จึงทรง
แปลงเพศเป็นคนแก่ บรรทุกตุ่มเปรียง 2 ใบ ใส่ไปบนยานเก่า ๆ
เทียมโคแก่ 2 ตัว ในวันมหรสพวันหนึ่ง เมื่อพระเจ้าพรหมทัต
ทรงช้างพระที่นั่งตกแต่งด้วยเครื่องอลังการ เสด็จเลียบพระนคร
อันตกแต่งแล้ว ทรงนุ่งผ้าเก่าขับยานนั้นตรงไปเฉพาะพระพักตร์
พระราชา. พระราชาทอดพระเนตรเห็นยานเก่าเทียมด้วยโคแก่
จึงตรัสให้นำยานนั้นมา. พวกมนุษย์พากันกราบทูลว่า ข้าแต่
เทวะยานอยู่ที่ไหน พวกข้าพระองค์มองไม่เห็น. ท้าวสักกะทรง
แสดงให้พระราชาเท่านั้นเห็น ด้วยอานุภาพของตน.

ลำดับนั้นเมื่อเกวียนไปถึงหมู่คนแล้ว ท้าวสักกะจึงทรง
ขับเกวียนนั้นไปข้างบน ทุบตุ่มใบหนึ่งรดบนพระเศียรของ
พระราชา แล้วกลับมาทุบใบที่สอง. ครั้นแล้วเปรียงก็ไหลลง
เปรอะเปื้อนพระราชาตั้งแต่พระเศียร. พระราชาทรงอึดอัด
ละอาย ขยะแขยง. ครั้นท้าวสักกะทรงทราบว่า พระราชาทรงวุ่นวาย
พระทัย ก็ทรงขับเกวียนหายไป เนรมิตพระองค์เป็นท้าวสักกะ
อย่างเดิม พระหัตถ์ทรงวชิราวุธ ประทับยืนบนอากาศ ตรัส
คุกคามว่า ดูก่อนอธรรมิกราชผู้ชั่วช้า ชะรอยท่านจะไม่แก่ละ
หรือ ความชราจักไม่กล้ำกรายสรีระของท่านหรือไร ท่านมัวแต่
เห็นแก่เล่นเบียดเบียนคนแก่มามากมาย เพราะอาศัยท่านผู้เดียว
คนที่ตายไป ๆ เพราะทำกรรมนั้นจึงเต็มอยู่ในอบาย พวกมนุษย์
ไม่ได้บำรุงมารดาบิดา หากท่านไม่งดทำกรรมนี้ เราจะทำลาย
ศีรษะของท่านด้วยจักรเพชรนี้ ตั้งแต่นี้ไปท่านอย่าได้ทำกรรม
นี้อีกเลย แล้วตรัสถึงคุณของมารดาบิดา ทรงชี้แจงอานิสงส์
ของการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้สูงอายุ ครั้นทรงสอนแล้วก็เสด็จ
กลับไปยังวิมานของพระองค์. ตั้งแต่นั้นมาพระราชาก็มิได้
แม้แต่คิดที่จะทำกรรมนั้นอีกต่อไป. พระศาสดา ตรัสรู้แล้วได้
ตรัสคาถาเหล่านี้ว่า :-
หงส์ก็ดี นกกะเรียนก็ดี ช้างก็ดี ฟานก็ดี
ย่อมกลัวราชสีห์ทั้งนั้น จะถือเอาร่างกายเป็น
ประมาณมิได้ ฉันใด.

ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น ถ้าแม้เด็กมีปัญญา
ก็เป็นผู้ใหญ่ได้ คนโง่ถึงร่างกายจะใหญ่โต ก็
เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า ปสทา มิคา ได้แก่เนื้อฟาน. อธิบาย
ว่า ทั้งเนื้อฟาน ทั้งเนื้อที่เหลือบ้าง. บาลีว่า ปสทมิคา ก็มี ได้แก่
เนื้อฟานนั่นเอง. บทว่า นตฺถิ กายสฺมิ ตุลฺยตา ความว่า ขนาด
ของร่างกายไม่สำคัญ ถ้าสำคัญไซร้ พวกช้างและเนื้อฟานซึ่งมี
ร่างกายใหญ่โต ก็จะพึงฆ่าราชสีห์ได้ ราชสีห์ก็จะพึงฆ่าได้แต่
สัตว์เล็ก ๆ เท่านั้น เช่น หงส์และนกยูงเป็นต้น. เมื่อเป็นเช่นนั้น
สัตว์ที่ตัวเล็กเท่านั้นพึงกลัวราชสีห์ แต่สัตว์ใหญ่ไม่กลัว. แต่
เพราะข้อนี้เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นสัตว์เหล่านั้นทั้งหมด จึงกลัว
ราชสีห์. บทว่า สรีรวา ได้แก่ คนโง่ แม้ร่างกายใหญ่โต ก็ไม่
ชื่อว่าเป็นใหญ่. เพราะฉะนั้น ลกุณฏกภัททิยะ แม้จะมีร่างกาย
เล็ก ก็อย่าเข้าใจว่า เล็กโดยญาณ.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศ
สัจธรรม ทรงประชุมชาดก. เมื่อจบสัจธรรมบรรดาภิกษุ
เหล่านั้น บางพวกได้เป็นพระโสดาบัน บางพวกได้เป็นพระ-
สกทาคามี บางพวกได้เป็นพระอนาคามี บางพวกได้เป็นพระ-
อรหันต์. พระราชาในครั้งนั้นได้เป็นลกุณฏกภัททิยะ เธอได้
เป็นที่เล่นล้อเลียนของผู้อื่น เพราะค่าที่ตนชอบเล่นสนุกครั้งนี้.
ส่วนท้าวสักกะ คือเราตถาคตนี้แล.
จบ อรรถกถาเกฬิสีลชาดกที่ 2

3. ขันธปริตตชาดก



ว่าด้วยพระปริตป้องกันสัตว์ร้ายต่าง ๆ


[255] ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับตระกูลพญางู
ชื่อว่า วิรูปักขะ ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับ
ตระกูลพญางูชื่อว่า เอราปถะ ขอไมตรีจิตของ
เราจงมีกับตระกูลพญางูชื่อว่าฉัพยาปุตตะและ
ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับตระกูลพญางูชื่อว่า
กัณหาโคตมกะ ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับสัตว์
ที่ไม่มีเท้า ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับสัตว์ที่มี
2 เท้า ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับสัตว์ที่มี 4 เท้า
ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับสัตว์ที่มีเท้ามาก ขอ
สัตว์ที่ไม่มีเท้า สัตว์ที่มี 2 เท้า สัตว์ที่มี 4 เท้า
สัตว์ที่มีเท้ามาก อย่าได้เบียดเบียนเราเลย ขอ
สัตว์ผู้ข้องอยู่ สัตว์ผู้มีลมปราณ สัตว์ผู้เกิดแล้ว
หมดทั้งสิ้นด้วยกัน จงประสบพบแต่ความเจริญ
ทั่วกัน ความทุกข์อันชั่วช้าอย่าได้มาถึงสัตว์ผู้ใด
ผู้หนึ่งเลย.
[256] พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีพระคุณ
หาประมาณมิได้ บรรดาสัตว์เลื้อยคลาน คือ งู