เมนู

5. อนภิรติชาดก



ว่าด้วยจิตขุ่นมัว-ไม่ขุ่นมัว


[219] เมื่อน้ำขุ่นมัว ไม่ใส บุคคลย่อมไม่แลเห็น
หอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทรายและฝูงปลาฉันใด
เมื่อจิตขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมไม่เห็นประโยชน์ตน
และประโยชน์ผู้อื่นฉันนั้น.
[220] เมื่อน้ำไม่ขุ่นมัว ใสบริสุทธิ์ บุคคลย่อม
แลเห็นหอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทรายและฝูง
ปลาฉันใด เมื่อจิตไม่ขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมเห็น
ประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นฉันนั้น.

จบ อนภิรติชาดกที่ 5

อรรถกถาอนภิรติชาดกที่ 5



พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรง
ปรารภกุมารพราหมณ์คนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำ
เริ่มต้นว่า ยโถทเก อาวิเล อปฺปสนฺเน ดังนี้.
ได้ยินว่า ในกรุงสาวัตถีมีกุมารพราหมณ์คนหนึ่ง เรียน
จบไตรเพทสอนมนต์พวกกุมารกษัตริย์และกุมารพราหมณ์เป็น
อันมาก. ต่อมาเขาอยู่ครอบครองเรือน ตกอยู่ในอำนาจ ราคะ

โทสะ โมหะ คิดแต่เรื่อง ผ้า เครื่องประดับ ทาส ทาสี นา สวน
โค กระบือ บุตรและภรรยาเป็นต้น จึงมีจิตขุ่นมัว ไม่อาจสอบ
ทานมนต์โดยลำดับได้. มนต์ทั้งหลาย เลอะเลือนไปทั้งข้างหน้า
ข้างหลัง. วันหนึ่งเขาถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นหลายอย่าง
ไปพระเชตวันบูชาพระศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ส่วนหนึ่ง.
พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารกับเขาแล้วตรัสถามว่า ดูก่อน
มาณพ เธอยังสอนมนต์อยู่หรือ มนต์ของเธอยังคล่องอยู่หรือ.
กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ เมื่อก่อนมนต์ของข้าพระองค์ยังคล่อง
ดีอยู่ ตั้งแต่ข้าพระองค์ครองฆราวาส จิตของข้าพระองค์ขุ่นมัว
ด้วยเหตุนั้นมนต์ของข้าพระองค์จึงไม่คล่องแคล่ว. ลำดับนั้น
พระศาสดาตรัสกะเขาว่า ดูก่อนมาณพ มิใช่แต่เวลานี้เท่านั้น
แม้เมื่อก่อนมนต์ของเธอคล่องแคล่วในเวลาจิตของเธอไม่ขุ่นมัว
แต่ในเวลาที่จิตขุ่นมัวด้วยราคะเป็นต้น มนต์ของเธอก็เลอะเลือน
เมื่อเขาทูลอาราธนา จึงทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน
กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล
ครั้นเจริญวัย ได้ไปเรียนมนต์ในเมืองตักกศิลา เป็นอาจารย์
ทิศาปาโมกข์ สอนมนต์กะขัตติยกุมารและพรหมณกุมารเป็น
อันมากในกรุงพาราณสี. พราหมณ์มาณพคนหนึ่งในสำนักของ
พระโพธิสัตว์นั้น ได้ศึกษาไตรเพทจนชำนาญ แม้แต่บทเดียว
ก็ไม่มีสงสัย ได้เป็นอาจารย์สอนมนต์. ต่อมาพราหมณ์มาณพ

อยู่ครองฆราวาส กลับมีจิตขุ่นมัว ไม่สามารถร่ายมนต์ได้ เพราะ
คิดแต่การครองเรือน. ครั้นอาจารย์ถามว่า มาณพ มนต์ของท่าน
ยังคล่องแคล่วอยู่หรือ เมื่อเขาตอบว่า ตั้งแต่ครองฆราวาสจิต
ของข้าพเจ้าขุ่นมัว ไม่สามารถร่ายมนต์ได้ จึงกล่าวว่า เมื่อจิต
ขุ่นมัวแล้ว มนต์ที่เรียนแม้เชี่ยวชาญก็เลือนได้ แต่เมื่อจิตไม่
ขุ่นมัว จะไม่มีเลอะเลือนเลย แล้วกล่าวคาถาสองคาถาว่า :-
เมื่อน้ำขุ่นมัว ไม่ใส บุคคลย่อมไม่แลเห็น
หอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทราย และฝูงปลา
ฉันใด เมื่อจิตขุ่นมัวบุคคลก็ย่อมไม่เห็นประโยชน์
ตนและประโยชน์ผู้อื่นฉันนั้น.

เมื่อน้ำไม่ขุ่น ใสบริสุทธิ์ บุคคลย่อมเห็น
หอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทรายและฝูงปลา
ฉันใด เมื่อจิตไม่ขุ่นมัว บุคคลย่อมเห็นประโยชน์
ตนและประโยชน์ผู้อื่นฉันนั้น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อาวิเล คือขุ่นด้วยเปือกตม. บทว่า
อปฺปสนฺเน คือไม่ใสเพราะขุ่นนั่นเอง. บทว่า สิปฺปิกสมฺพุกํ
ได้แก่ หอยกาบและหอยโข่ง. บทว่า มจฺฉคุมฺพํ ได้แก่ ฝูงปลา.
บทว่า เอวํ อาวิลมุหิ ความว่า เมื่อจิตขุ่นมัวด้วยราคะเป็นต้น
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. บทว่า อตฺตทตฺถํ ปรตฺถํ ได้แก่ ไม่เห็น
ประโยชน์ตน ไม่เห็นประโยชน์ผู้อื่น. บทว่า โส ปสฺสติ ความว่า

เมื่อจิตไม่ขุ่นมัว บุรุษนั้นย่อมเห็นประโยชน์ตนและประโยชน์
ผู้อื่นฉันนั้นเหมือนกัน.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศ
อริยสัจ ทรงประชุมชาดก. เมื่อจบอริยสัจ พราหมณ์กุมารตั้งอยู่
ในโสดาปัตติผล. มาณพในครั้งนั้นได้เป็นมาณพนี้แล ในครั้งนี้
ส่วนอาจารย์ คือเราตถาคตนี้แล.
จบ อรรถกถาอนภิรติชาดกที่ 5

6. ทธิวาหนชาดก



ว่าด้วยพระเจ้าทธิวาหนะ


[221] (พระเจ้าทธิวาหนะตรัสถามว่า) แต่ก่อน
มะม่วงต้นนี้บริบูรณ์ด้วยสี กลิ่น และรส ได้รับ
การบำรุงอยู่เช่นเดิม เหตุไรจึงมีผลขื่นขมไปเล่า.
[222] (พระโพธิสัตว์ทูลว่า) ข้าแต่พระเจ้า-
ทธิวาหนะ มะม่วงของพระองค์มีต้นสะเดาล้อม
อยู่ รากต่อรากเกี่ยวพันกัน กิ่งต่อกิ่งเกี่ยวประ-
สานกัน เหตุที่อยู่ร่วมกันกับต้นสะเดาที่มีรสขม
มะม่วงจึงมีผลขมไปด้วย.

จบ ทธิวาหนชาดกที่ 6

อรรถกถาทธิวาหนชาดกที่ 6



พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรง
ปรารภภิกษุคบพวกผิด ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้น
ว่า วณฺณคนฺธรโสเปโต ดังนี้. เรื่องราวข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้ว
ในหนหลัง.
ก็ในเรื่องนี้ พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ขึ้นชื่อว่าการอยู่ร่วมกับอสัตบุรุษ เป็นสิ่งเลวทราม ทำแต่ความ