เมนู

10. ทุทททชาดก



ว่าด้วยคติของคนดีคนชั่ว


[209] เมื่อสัตบุรุษทั้งหลายให้สิ่งของที่หายาก
ทำกรรมที่ทำได้ยาก อสัตบุรุษทั้งหลายย่อม
ทำตามไม่ได้ ธรรมของอสัตบุรุษรู้ได้ยาก.
[210] เพราะเหตุนั้น คติจากโลกนี้ของสัตบุรุษ
และอสัตบุรุษจึงต่างกัน อสัตบุรุษย่อมไปสู่นรก
สัตบุรุษย่อมมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

จบ ทุทททชาดกที่ 10

อรรถกถาทุทททชาดกที่ 10



พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรง
ปรารภการถวายทานเป็นคณะ. ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำ
เริ่มต้นว่า ทุทททํ ททมานานํ ดังนี้.
ได้ยินว่าในกรุงสาวัตถี บุตรกุฎุมพีสองสหายร่วมกัน
จัดแจงทานมีเครื่องบริขารครบ นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประมุข ถวายมหาทานตลอด 7 วัน ในวันที่ 7 ได้ถวาย
บริขารทุกชนิด. ในคนเหล่านั้น คนที่เป็นหัวหน้าคณะ ถวาย
บังคมพระศาสดา นั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง แล้วมอบถวายทานว่า

ข้าแต่พระองค์ในการถวายทานนี้ มีทั้งผู้ถวายน้อย ขอการถวาย
นี้ จงมีผลมากแก่ชนเหล่านั้นทั่วกันเถิดพระเจ้าข้า. พระศาสดา
ตรัสว่า อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย พวกท่านถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์
มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขแล้วมอบให้อย่างนี้ เป็นการทำที่ยิ่งใหญ่
แล้ว แม้โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย ก็ถวายทานมอบให้อย่างนี้
เหมือนกัน เมื่อเขาทูลอาราธนา จึงทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า
ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ ณ
กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลพราหมณ์แคว้นกาสี
ครั้นเจริญวัยได้เรียนศิลปะทุกอย่าง สำเร็จแล้วละฆราวาสบวช
เป็นฤๅษี เป็นครูประจำคณะอยู่ในหิมวันตประเทศเป็นเวลานาน
เที่ยวจาริกไปยังชนบท เพื่อเสพของเค็มและของเปรี้ยว ได้ไปถึง
กรุงพาราณสี พักอยู่ ณ พระราชอุทยาน รุ่งขึ้นจึงออกบิณฑบาต
พร้อมด้วยบริษัทตามประตูบ้าน. พวกมนุษย์พากันถวายภิกษา.
วันรุ่งขึ้นออกบิณฑบาต ณ กรุงพาราณสี. พวกมนุษย์พากัน
รักใคร่ ครั้นถวายภิกษาแล้ว จึงร่วมใจกันเป็นคณะเตรียมทาน
ถวายมหาทานแก่คณะฤๅษี. เมื่อเสร็จการถวาย ผู้เป็นหัวหน้า
คณะกล่าวอย่างนี้แล้วถวายทานโดยทํานองนี้. พระโพธิสัตว์กล่าว
ว่า พวกท่านทั้งหลาย เมื่อมีจิตเลื่อมใส ทานชื่อว่าเล็กน้อยไม่มี
เมื่อจะทำอนุโมทนา ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-
เมื่อสัตบุรุษทั้งหลายให้สิ่งที่ให้ยาก ทำ
กรรมที่ทำได้ยาก อสัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมทำ

ตามไม่ได้ ธรรมของสัตบุรุษรู้ได้ยาก. เพราะ
เหตุนั้น คติจากโลกนี้ของสัตบุรุษ และอสัตบุรุษ
จึงต่างกัน อสัตบุรุษย่อมไปสู่นรก สัตบุรุษย่อม
มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

ในบทเหล่านั้น บทว่า ทุทฺททํ ความว่า ชื่อว่าทานอันผู้
มิใช่บัณฑิต ประกอบด้วยอำนาจโทสะ มีโลภเป็นต้น ไม่อาจให้ได้
เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าว ทุทฺททํ ให้สิ่งที่ให้ได้ยาก. บทว่า
กุพฺพตํ ความว่า กรรมคือการให้นั้นก็เหมือนกัน ไม่สามารถ
ทําได้. บทว่า ทุกฺกรํ ได้แก่ ทําสิ่งที่ทําได้ยากนั้น. บทว่า อสนฺโต
ได้แก่ ชนผู้มิใช่บัณฑิต คือคนพาล. บทว่า นานุกุพฺพนฺติ คือ ทำ
ตามกรรมนั้นไม่ได้. บทว่า สตํ ธมฺโม ได้แก่ สภาพธรรมของบัณฑิต
ทั้งหลาย. นี้ท่านกล่าวหมายถึงการให้. บทว่า ทุรนนฺโย ได้แก่
ยากที่จะรู้ด้วยความเกี่ยวพันถึงผล ยากที่จะแนะนำ คือยากที่จะ
รู้ตามได้ว่า สภาพอย่างนี้เป็นผลวิบากของทานชนิดนี้. อีกประ-
การหนึ่ง บทว่า ทุรนฺนโย ได้แก่ ยากที่จะได้บรรลุ. อธิบายว่า
ชนผู้มิใช่บัณฑิตไม่ให้ทานแล้ว ไม่สามารถจะได้ผลทาน. บทว่า
นานา โหติ อิโต คติ ได้แก่ การถือปฏิสนธินั้นของสัตว์ผู้เคลื่อน
จากโลกนี้แล้วไปสู่ปรโลก ย่อมต่าง ๆ กัน. บทว่า อสนฺโต นิรยํ
อนฺติ
. ได้แก่ ชนที่ไม่ใช่บัณฑิต เป็นคนทุศีลไม่ให้ทาน ไม่รักษา
ศีล ย่อมไปสู่นรก. บทว่า สนฺโต สคฺคปรายนา ความว่า ส่วน
ผู้เป็นบัณฑิต ให้ทานรักษาศีล กระทำอุโบสถ บำเพ็ญสุจริต 3

ย่อมมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า คือย่อมเสวยสุขสมบัติอัน
ยิ่งใหญ่.
พระโพธิสัตว์ครั้นการทำอนุโมทนาอย่างนี้แล้ว พักอยู่
ณ ที่นั้นตลอดฤดูฝน เมื่อพ้นฤดูฝนก็ไปป่าหิมพานต์ ยังฌาน
ให้เกิด ไม่เสื่อมฌาน ก็ได้เข้าถึงพรหมโลก.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุม
ชาดก. หมู่ฤๅษีในครั้งนั้น ได้เป็นพุทธบริษัทในครั้งนี้ ส่วน
ครูประจำคณะ คือ เราตถาคตนี้แล.
จบ อรรถกถาทุทททชาดกที่ 10

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ


1. กัลยาณธรรมชาดก 2. ทัททรชาดก 3. มักกฏชาดก
4. ทุพภิยมักกฏชาดก 5. อาทิจจุปัฏฐานชาดก 6. กฬายมุฏฐิ-
ชาดก 7. ตินทุกชาดก 8. กัจฉปชาดก 9. สตธรรมชาดก
10. ทุทททชาดก.
จบ กัลยาณธรรมวรรคที่ 3