เมนู

6. มหิลามุขชาดก



ว่าด้วยการเสี้ยมสอน



[26] พระยาช้างชื่อมหิลามุข ได้เที่ยวทุบตีคน
เพราะได้คำของพวกโจรมาก่อน พระยาช้างผู้อุดมตั้ง
อยู่ในคุณทั้งปวง เพราะได้ฟังคำของท่านผู้สำรวมดี
แล้ว.

จบมหิลามุขชาดกที่ 6

6. อรรถกถามหิลามุขชาดก



พระศาสดาเมื่อประทับ อยู่ในพระวิหารเวฬุวัน ทรงปรารภพระเทวทัต
จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า โปราณโจราน วโจ นิสมฺม
ดังนี้
ความพิศดารว่า พระเทวทัตทำให้อชาตศัตรูกุมารเลื่อมใสแล้ว ยัง
ลาภสักการะให้เกิดขึ้น อชาตศัตรูกุมารให้สร้างวิหารที่ตำบลคยาสีสะเพื่อพระ-
เทวทัต แล้วนำไปเฉพาะโภชนะข้าวสาลีมีกลิ่นหอมซึ่งเก็บไว้ 3 ปี วันละ 500
สำรับ โดยรสเลิศต่างๆ เพราะอาศัยลาภสักการะ. บริวารของพระเทวทัตจึง
ใหญ่ขึ้น พระเทวทัตพร้อมทั้งบริวารอยู่ในวิหารนั่นแหละ. สมัยนั้น มีสหาย 2
คนผู้เป็นชาวเมืองราชคฤห์ ในสองสหายนั้น คนหนึ่งบวชในสำนักของพระ-
ศาสดา คนหนึ่งบวชในสำนักของพระเทวทัต สหายทั้งสองนั้นย่อมเห็นกัน

และกันแม้ในที่นั้นๆ แม้ไปวิหารก็ยังเห็นกัน อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นนิสิต
ของพระเทวทัตกล่าวกะภิกษุนอกนี้ว่า ผู้มีอายุ ท่านจะเที่ยวบิณฑบาตมีเหงื่อ
ไหลอยู่ทุกวัน ๆ ทำไม ท่านนั่งในวิหารที่ตำบลคยาสีสะเท่านั้น จะได้บริโภค
โภชนะดีด้วยรสเลิศต่างๆ ข้าวปายาสเห็นปานนี้ไม่มีในวิหารนี้ ท่านจะมัวเสวย
ทุกข์อยู่ทำไม ประโยชน์อะไรแก่ท่านการมายังคยาสีสะแต่เช้าตรู่แล้วดื่มข้าวยาคู
พร้อมด้วยแกงอ่อม เคี้ยวของควรเคี้ยว 18 ชนิด แล้วบริโภคโภชนะดีด้วย
รสเลิศต่าง ๆ ไม่ควรหรือ ภิกษุนั้นถูกพูดบ่อย ๆ เป็นผู้ประสงค์จะไป จำเดิม
แต่นั้น จึงไปยังคยาสีสะบริโภคแล้วก็มายังพระเวฬุวันต่อเมื่อเวลาสาย ภิกษุนั้น
ไม่อาจปกปิดไว้ได้ตลอดไป ไม่ช้านัก ข่าวก็ปรากฏว่า ภิกษุนั้นไปคยาสีสะ
บริโภคภัตที่เขาอุปัฏฐากพระเทวทัต. ลำดับนั้น สหายทั้งหลายพากันถามภิกษุ
นั้น ว่าผู้มีอายุ ได้ยินว่า ท่านบริโภคภัตที่เขาอุปัฏฐากแก่พระเทวทัตจริงหรือ ?
ภิกษุนั้น กล่าวว่า ใครกล่าวอย่างนี้ สหายเหล่านั้นกล่าวว่า คนโน้นและคน
โน้นกล่าว ภิกษุนั้นกล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ผมไปยังคยาสีสะบริโภคจริง
แต่พระเทวทัตไม่ได้ให้ภัตแก่ผม คนอื่น ๆ ให้. ภิกษุผู้สหายกล่าวว่า ผู้มีอายุ
พระเทวทัตเป็นเสี้ยนหนามต่อพระพุทธเจ้า เป็นผู้ทุศีล ยังพระเจ้าอชาตศัตรู
ให้เลื่อมใส แล้วยังลาภสักการะให้เกิดแก่คนโดยไม่ชอบธรรม ท่านบวชใน
ศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์เห็นปานนี้ แล้วบริโภคโภชนะอันเกิดขึ้น
แก่พระเทวทัตโดยไม่ชอบธรรมเลย มาเถอะ เราทั้งหลายจักน้ำท่านไปยัง
สำนักของพระศาสดา แล้วพาภิกษุนั้นมายังโรงธรรมสภา พระศาสดาพอทรง
เห็นภิกษุนั้นเท่านั้นจึงตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพาภิกษุนี้ ผู้ไม่
ปรารถนา มาแล้วหรือ ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ภิกษุนี้บวชในสำนักของพระองค์ แล้วบริโภคโภชนะอันเกิดขึ้นแก่
พระเทวทัต โดยไม่ชอบธรรม พระศาสดาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่า

เธอบริโภคโภชนะอันเกิดแก่พระเทวทัต โดยไม่ชอบธรรมจริงหรือ ? ภิกษุนั้น
กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเทวทัต ไม่ได้ให้ภัตแก่ข้าพระองค์
คนอื่น ๆ ให้แก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์จึงบริโภคภัตนั้น พระศาสดาตรัสว่า
ภิกษุ เธออย่ากระทำการหลีกเลี้ยงในเรื่องนี้ พระเทวทัตเป็นผู้ไม่มีอาจาระ
เป็นผู้ทุศีล เธอบวชในศาสนานี้แล้ว คบหาศาสนาของเราอยู่นั้นแล ยังบริโภค
ภัตของพระเทวทัตได้อย่างไรเล่า เธอมีปกติคบหาอยู่แม้เป็นนิคยกาล ก็ยังคบ
หาพวกคนที่เห็นแล้ว ๆ ครั้นตรัสแล้วจึงทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี
พระโพธิสัตว์ได้เป็นอำมาตย์ของพระเจ้าพรหมทัตนั้น ในกาลนั้น ช้างมงคล
ของพระเจ้าพรหมทัตชื่อว่ามหิลามุข เป็นช้างมีศีล สมบูรณ์ด้วยอาจาระมารยาท
ไม่เบียดเบียนใครๆ อยู่มาวันหนึ่ง โจรทั้งหลายมา ณ ที่ใกล้โรงช้างนั้น ใน
ลำดับกาลอันเป็นส่วนราตรี นั่งปรึกษาการลักอยู่ในที่ไม่ไกลช้างนั้นว่าต้อง
ทำลายอุโมงค์อย่างนี้ ต้องกระทำการตัดช่องย่องเบาอย่างนี้ การกระทำอุโมงค์
และการตัดช่องย่องเบาให้ปราศจากรกชัฏ ให้ปราศจากพุ่มไม้ เช่นกับหนทาง
เช่นกับท่าน้ำ แล้วลักเอาสิ่งของไปจึงจะควร บุคคลผู้เมื่อจะลัก ต้องฆ่า และ
ต้องประหารแล้วจึงลัก เมื่อเป็นอย่างนี้ ชื่อว่าผู้สามารถเพื่อจะลุกขึ้น (ต่อสู้)
จักไม่มี อันธรรมดาว่า โจรต้องเป็นผู้ไม่ประกอบด้วยศีลและอาจาระต้องเป็น
คนกักขฬะ หยาบช้า ป่าเถื่อน ครั้นปรึกษากันอย่างนี้แล้ว จึงให้กันและกัน
เรียนเอาแล้วได้พากันไป พวกโจรพากันมาปรึกษาในที่นั้น โดยนัยนี้นั่นแหละ
หลายวัน คือ แม้ในวันรุ่งขึ้น แม้ในวันรุ่งขึ้น. ช้างได้ฟังคำของโจรเหล่านั้น
สำคัญว่า ให้เราสำเหนียก จึงคิดว่าบัดนี้ เราต้องเป็นผู้กักขฬะ หยาบช้า.
ป่าเถื่อน จึงได้เป็นผู้เห็นปานนั้น เอางวงจับคนเลี้ยงช้างผู้มาแต่เช้าตรู่ฟาดที่

พื้นดินให้ตาย ฆ่าคนที่มาแล้ว ๆ คือ แม้คนหนึ่งๆ พวกราชบุรุษจึงกราบทูล
แด่พระราชาว่า ช้างมหิลามุขเป็นบ้า ฆ่าคนที่พบเห็นแล้ว ๆ พระเจ้าข้า. พระ
ราชาทรงส่งพระโพธิสัตว์ไปด้วยพระดำรัสว่า ดูก่อนบัณฑิต เธอจงไป จงรู้
ว่า ช้างนั้น ดุร้าย เพราะเหตุไร. พระโพธิสัตว์ไปแล้วรู้ว่าช้างนั้นไม่มีโรคใน
ร่างกายจึงคิดว่า เพราะเหตุไรหนอ ช้างนี้จึงเกิดเป็นช้างดุร้าย เมื่อใคร่ครวญ
ไปจึงสันนิษฐานว่า ช้างนี้ได้ฟังคำของใครๆ ในที่ไม่ไกล สำคัญว่าคนเหล่านี้
ให้เราสำเหนียก จึงเป็นช้างดุร้ายแน่นอนจึงถามพวกคนเลี้ยงช้างว่าคนบางพวก
เคยกล่าวคำอะไรในตอนกลางคืน ณ ที่ใกล้ช้าง มีอยู่หรือหนอ ? พวกคนเลี้ยง
ช้างกล่าวว่า ขอรับ นาย พวกโจรพากันมากล่าว. พระโพธิสัตว์จึงไปกราบทูล
แด่พระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพ ความพิการไม่มีในร่างกายแห่งช้างของหลวง
ช้างนั้นเกิดเป็นช้างดุร้าย เพราะได้พึงถ้อยคำของพวกโจรพะยะค่ะ. พระราชา
ตรัสถามว่า บัดนี้ควรจะทำอย่างไร ? พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า นิมนต์สมณ-
พราหมณ์ผู้มีศีลให้นั่งในโรงช้างแล้วกล่าวถึงศีลและอาจาระ จงจะควรพะยะค่ะ
พระราชาตรัสว่า จงการทำอย่างนั้นเถิด พ่อ. พระโพธิสัตว์จึงนิมนต์สมณ-
พราหมณ์ทั้งหลายผู้มีศีลไห้นั่งในโรงช้างแล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ขอท่าน
ทั้งหลายจงกล่าวศีลกถาว่าด้วยเรื่องศีล สมณพราหมณ์เหล่านั้นนั่งในที่ไม่ไกล
ช้าง พากันกล่าวศีลกถาว่า ไม่พึงปรามาสจับต้อง ไม่พึงด่าใคร ๆ ควรเป็น
ผู้เพียบพร้อมด้วยศีลและอาจาระ เป็นผู้ประกอบด้วยขันติ เมตตา และความ
เอ็นดู ช้างนั้นได้ฟังดังนั้นคิดว่า สมณพราหมณ์เหล่านี้ให้เราศึกษาสำเหนียก
จำเดิมแต่บัดนี้ไป เราควรเป็นผู้มีศีล แล้วได้เป็นผู้มีศีลแล้วหรือ ? พระโพธิ-
สัตว์กราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่สมมติเทพ พระราชาตรัสว่า ช้างดุร้ายชื่อ
เห็นปานนี้ อาศัยบัณฑิตทั้งหลายจึงตั้งอยู่ในธรรมอันเป็นของเก่าได้ แล้วได้
กล่าวคาถานี้ว่า

พระยาช้างชื่อมหิลามุขได้เที่ยวทุบตีคนเพราะ
ได้ฟังคำของพวกโจรมาก่อน พระยาช้างผู้อุดมตั้งอยู่
ในคุณทั้งปวงก็เพราะได้ฟังคำของท่านผู้สำรวมดีแล้ว.

ก็เพราะได้ฟังคำของท่านผู้สำรวมดีแล้ว บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า
โปราณโจรานํ ได้แก่พวกโจรรุ่นเก่าก่อน บทว่า นิสมฺม ได้แก่ เพราะ
ฟัง อธิบายว่า เพราะได้ฟังคำของพวกโจรมาก่อน. บทว่า มหิลามุโข
แปลว่า มีหน้าเช่นกับหน้าช้างพัง อีกอย่างหนึ่ง. ช้างพังเมื่อแลดูข้างหน้าจึง
จะงาม แลดูข้างหลังไม่งามฉันใด ช้างแม้นั้นก็ฉันนั้น เมื่อแลดูข้างหน้า
จึงจะงาม เพราะฉะนั้น ชนทั้งหลายจึงตั้งชื่อช้างนั้นว่า มหิลามุข. บทว่า
โปถยมานุจารี ความว่า เที่ยวติดตามโบยอยู่ คือ ฆ่าอยู่ อีกอย่างหนึ่ง
พระบาลีก็อย่างนี้แหละ. บทว่า สุสญฺญตานํ ได้แก่ ผู้สำรวมด้วยดี คือ
มีศีล. บทว่า คชุตฺตโม ได้แก่ ช้างอุดม คือ ช้างมงคล. บทว่า
สพฺพคุเณสุ อฏฺฐ ได้แก่ ตั้งอยู่เฉพาะในคุณเก่าทั้งปวง.
พระราชาทรงพระดำริว่า พระโพธิสัตว์รู้อัธยาศัยแม้ของสัตว์ดิรัจ-
ฉานทั้งหลาย จึงได้พระราชทานยศใหญ่ให้ พระราชานั้นทรงดำรงอยู่ตราบชั่ว
พระชนมายุ ได้ไปตามยถากรรมพร้อมกับพระโพธิสัตว์.
พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ แม้ในกาลก่อน เธอก็คบหาคนที่พบ
เห็นแล้ว ๆ เหมือนกัน เพราะได้ฟังถ้อยคำของสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม
จึงได้คบหาท่านผู้ตั้งอยู่ในธรรม ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาสืบต่อ
อนุสนธิแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า ช้างมหิลามุขในครั้งนั้น ได้เป็นภิกษุ
ผู้ซ่องเสพฝ่ายตรงข้ามในบัดนี้ พระราชาในครั้งนั้น ได้เป็นพระ-
อานนท์ ในบัดนี้ ส่วนอำมาตย์ในครั้งนั้น ได้เป็นเราคือพระสัมมา-
สัมพุทธเจ้าแล.

จบมหิลามุขชาดกที่ 6

7. อภิณหชาดก



ว่าด้วยการเห็นกันบ่อย ๆ



[27] พระยาช้างไม่สามารถจะรับเอาคำข้าว
ไม่สามารถจะรับเอาก้อนข้าว ไม่สามารถจะรับเอาหญ้า
ทั้งหลาย ไม่สามารถจะขัดสีกาย ข้าพระบาทสำคัญ
ว่า พระยาช้างตัวประเสริฐ ได้ทำความรักใคร่ในสุนัข
เพราะได้เห็นกันเนื่อง ๆ.

จบอภิณหชาดกที่ 7

7. อรรถกถาอภิณหชาดก



พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันวิหาร ทรงปรารภอุบาสกคน
หนึ่งกับพระเถระแก่ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า นาลํ กพลํ
ปทาตเว
ดังนี้.
ได้ยินว่า ในนครสาวัตถีมีสหาย 2 คน บรรดาสหายทั้งสองนั้น
คนหนึ่งบวชแล้วได้ไปยังเรือนของสหายนอกนี้ทุกวัน สหายนั้นได้ถวายภิกษา
แก่ภิกษุผู้สหายนั้น แม้ตนเองก็บริโภคแล้ว ได้ไปวิหารพร้อมกับภิกษุผู้สหาย
นั้นนั่นแหละ นั่งสนทนาปราศัยอยู่จนพระอาทิตย์อัสดง จึงกลับเข้าเมือง.
ฝ่ายภิกษุผู้สหายนอกนี้ก็ตามสหายนั้นไปจนถึงประตูเมืองแล้วก็กลับ. ความ
คุ้นเคยของสหายทั้งสองนั้น เกิดปรากฏในระหว่างภิกษุทั้งหลาย. อยู่มาวันหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลายนั่งกล่าวถึงความคุ้นเคยของสหายทั้งสองนั้น ในโรงธรรมสภา.