เมนู

13. อักขรุกขเปตวัตถุ



ภุมมเทวดาตนหนึ่งได้กล่าวเตือนอุบาสกคนหนึ่งว่า



[133] บุคคลให้สิ่งใด สิ่งนั้นย่อมไม่มี แต่ผล
อย่างอื่นที่น่าปรารถนา น่าใคร่มีมาก เพราะฉะนั้น
ท่านจงให้ทาน แล้วท่านจักพ้นจากทุกข์และความ
ฉิบหาย ทั้งจักได้ประสบสุขอันเป็นไปในปัจจุบัน
และสัมปรายภพ เพราะทานนั้น ขอท่านจงตื่น
เถิดอย่าได้ประมาท.
จบ อักขรุกขเปตวัตถุที่ 13

อรรถกถาอักขรุกขเปตวัตถุที่ 13



เรื่องอักขทายกเปรตนี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยํ ททาติ น ตํ โหติ
ดังนี้. เรื่องนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี มีอุบาสก
ชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง เอาเกวียนหลายเล่มบรรทุกสินค้าไปขาย
ต่างประเทศ ขายสินค้าของตนในประเทศนั้นแล้ว ก็ซื้อเอาสินค้า
ต่างประเทศกลับมา เดินทางมุ่งไปกรุงสาวัตถี. เมื่ออุบาสกนั้น
กำลังเดินทางเพลาเกวียนเล่มหนึ่งหักในดง. ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่ง
ได้เอาผึ่งและขวาน เพื่อจะตัดไม้ ออกจากบ้านตน เที่ยวไปในป่า
ถึงที่นั้น พบอุบาสกนั้น ผู้ถึงความโทมนัส เพราะเพลาเกวียนหัก

จึงคิดว่า พ่อค้านี้มาลำบากในดง เพราะเพลาเกวียนหัก อาศัย
ความอนุเคราะห์ จึงตัดท่อนไม้มาดามเพลาเกวียนให้มั่นคงแล้ว
ประกอบเกวียน ให้ไป.
สมัยต่อมา บุรุษนั้น ทำกาละแล้ว บังเกิดเป็นภุมมเทวดา
อยู่ในดงนั้นนั่นแหละ พิจารณาถึงกรรมของตน ในเวลาราตรี
จึงไปเรือนของอุบาสกนั้น ยืนอยู่ที่ประตูเรือนกล่าวคาถาว่า :-
บุคคลให้สิ่งใด สิ่งนั้นย่อมไม่มี แต่ผล
อย่างอื่นที่น่าปรารถนา น่าใคร่มีมาก เพราะ
ฉะนั้น ท่านจงให้ทานแล้ว ท่านจักพ้นจากทุกข์
และความฉิบหาย ทั้งจักได้ประสบสุขอันเป็นไป
ในปัจจุบันและสัมปรายภพ เพราะทานนั้น ขอ
ท่านจงตื่นเถิด อย่าประมาทเลย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ ททาติ น ตํ โหติ ความว่า
ทายกย่อมให้ไทยธรรมใด ไทยธรรมนั้นแหละ ย่อมไม่มีโดยความ
เป็นผลแห่งทานนั้น ในปรโลก, โดยที่แท้ นามอย่างอื่น ที่มีผล
น่าปรารถนา น่าใคร่ ก็มีอยู่มากทีเดียว เพราะฉะนั้น พวกท่าน
จงให้ทานนั่นแหละ คือ จงให้ทานโดยประการใดประการหนึ่ง
ทีเดียว. ภุมมเทวดา กล่าวเหตุในข้อนั้นว่า ครั้นให้แล้ว ย่อมพ้น
จากทุกข์และความฉิบหายทั้งสอง, อธิบายว่า ครั้นให้ทานแล้ว
ย่อมพ้นทุกข์และความพินาศ ทั้งปัจจุบัน ทั้งสัมปรายภพ. ในข้อว่า
อุภยํ เตน ทาเนน คจฺฉติ นี้ พึงประกอบความดังนี้ว่า เพราะการ

ให้นั้น เขาย่อมเข้าถึง คือ ย่อมประสบสุขทั้ง 2 คือ สุขในปัจจุบัน
และสุขในสัมปรายภพ ทั้งย่อมประกอบด้วยอำนาจหิตสุขทั้งแก่ตน
และสังคม. บทว่า ชาครถ มา ปมชฺชถ ความว่า จงตื่นเพื่อยัง
อันห้ามอนัตถะทั้งสอง ยังประโยชน์ทั้งสองให้สำเร็จอย่างนี้ และ
จงจัดเตรียมอุปกรณ์ แล้วจงอย่าประมาทในทานนั้น. ก็ในที่นี้
เพื่อจะแสดงถึงความเอื้อเฟื้อ ท่านจึงกล่าวซ้ำ.
พ่อค้าพิจารณาถึงกิจของตนแล้ว กลับถึงกรุงสาวัตถี โดย
ลำดับ ในวันที่ 2 จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ
ที่สมควรข้างหนึ่ง จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
พระศาสดาทรงกระทำเรื่องนั้น ให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุ แล้วทรง
แสดงธรรมแก่บริษัทผู้ถึงพร้อมแล้ว. เทศนานั้น ได้มีประโยชน์
แก่มหาชน ฉะนี้แล.
จบ อักขรุกขเปตวัตถุที่ 13

14. โภคสังหรณเปติวัตถุ



ในเวลาราตรี หญิงเปรต 4 ตน ถูกทุกข์ครอบงำ จึงพากัน
ร้องรำพันด้วยเสียงดังอย่างน่ากลัวว่า :-
[134] พวกเรารวบรวมโภคทรัพย์ไว้โดยชอบ
ธรรมบ้าง โดยไม่ชอบธรรมบ้าง แต่คนอื่น ๆ
พากันใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้น ส่วนพวกเรา
กลับมีส่วนแห่งทุกข์.

จบ โภคสังหรณเปติวัตถุที่ 14

อรรถกถาโภคสังหรณเปติวัตถุที่ 14



เรื่องนางโภคสังหรณเปรตนี้ มีคำเริ่มต้นว่า มยํ โภเค สํหริมฺหา
ดังนี้. เรื่องนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ได้ยินว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ในพระเวฬุวัน
มหาวิหาร หญิง 4 คน ในกรุงราชคฤห์ ทำการค้าขายด้วยเนยใส
น้ำผึ้ง น้ำมัน และข้าวเปลือกเป็นต้น ด้วยเครื่องนับโกงเป็นต้น
รวบรวมโภคะเลี้ยงชีพโดยไม่แยบคาย. เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ
กายแตก หญิงเหล่านั้นไปบังเกิดเป็นนางเปรต อยู่ที่หลังคูนอกเมือง
ในเวลากลางคืน นางเปรตเหล่านั้น ถูกความทุกข์เข้าครอบงำ
ร้องบ่นเพ้อด้วยเสียงขรมน่าสะพึงกลัว ด้วยคาถาว่า :-