เมนู

อรรถกถาสัมปันนสูตร


ในสัมปันนสูตรที่ 12 พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
ในบทว่า สมฺปนฺนสีลา นี้ สมฺปนฺนํ สมบูรณ์ มี 3 อย่าง คือ
เต็มบริบูรณ์ 1 พรั่งพร้อม 1 หวานอร่อย 1. บรรดาสัมปันนศัพท์ทั้ง 3
อย่างนั้น สัมปันนศัพท์ที่มีความหมายว่า เต็มบริบูรณ์ เช่นในประโยคนี้ว่า
ข้าแต่ท่านท้าวโกสีย์ นกแขกเต้า
ทั้งหลาย พากันจิกกินรวงข้าวสาลีที่ (มี
เมล็ด) เต็มบริบูรณ์ ข่าแต่ท่านท้าวพระ-
พรหม ข้าพเจ้าขอประกาศให้ท่านทราบ
ข้าพเจ้าไม่สามารถจะห้ามพวกมันได้.

สัมปันนศัพท์ที่มีความหมายว่า พรั่งพร้อม เช่นในประโยคนี้ว่า ภิกษุ
เป็นผู้เข้าถึง เข้าถึงพร้อม เข้าไปใกล้ เข้าไปใกล้ชิด พรั่งพร้อมประกอบด้วย
ปาติโมกขสังวรนี้. สัมปันนศัพท์ที่มีความหมายว่า หวานอร่อย เช่นในประโยค
นี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พื้นล่างมหาปฐพีนี้มีรสอร่อย เป็นสิ่งที่ชอบใจ
เหมือนน้ำผึ้งหวานที่ไม่มีโทษ. แต่ในที่นี้ สัมปันนศัพท์เหมาะในความหมาย
ว่า เต็มบริบูรณ์บ้าง ในความหมายว่า พรั่งพร้อมบ้าง. เพราะฉะนั้น พึง
ทราบเนื้อความในที่นี้อย่างนี้ว่า บทว่า สมฺปนฺนสีลา ได้แก่ เป็นผู้มีศีล
บริบูรณ์บ้าง เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยศีลบ้าง. บรรดาความหมายทั้ง 2 อย่างนั้น
ตามความหมายนี้ว่า มีศีลบริบูรณ์แล้ว มีอธิบายว่า ศีลชื่อว่าเป็นศีลสมบูรณ์
แล้ว เหมือนความบริบูรณ์ของนา เพราะปราศจากโทษของนา (วัชพืช).

ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้กล่าวไว้ว่า ความบริบูรณ์ของศีล พระผู้มีพระภาคเจ้า
ตรัสไว้ เพราะปราศจากโทษของศีล เหมือนความบริบูรณ์ของนา เพราะ
ปราศจากโทษของนา (วัชพืช). ส่วนตามความหมายนี้ว่า เป็นผู้พรั่งพร้อม
ด้วยศีล มีพุทธาธิบายไว้ว่า เธอทั้งหลายจงเป็นผู้พรั่งพร้อม ถึงการรวมลง
เป็นผู้ประกอบด้วยศีลอยู่เถิด. ในจำนวน 2 อย่างนั้น ความเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์
มีได้ด้วยเหตุ 2 ประการ คือ ด้วยการเห็นโทษของศีลวิบัติ 1 ด้วยการเห็น
อานิสงส์ของศีลสมบัติ 1. โทษ และอานิสงส์ทั้ง 2 อย่างนั้น พึงทราบตามนัย
ที่ได้กล่าวไว้แล้ว ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค คำใดที่ข้าพเจ้าควรจะกล่าวในที่นี้
โดยนัยมีอาทิว่า บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทเพียงเท่านี้ว่า ผู้มีศีลสมบูรณ์แล้ว
ได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นจะทรงแสดงปาริสุทธศีล 4 จึงทรง
แสดงศีลที่เป็นหลักไว้ด้วยคำนี้ว่า เป็นผู้สำรวมแล้วด้วยปาฏิโมกขสังวร. คำนั้น
ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในหนหลังนั้นแล้ว.
บทว่า กิมสฺส อุตฺตรึ กรณียํ มีเนื้อความว่า ถ้าหากจะมีคำถามว่า
เธอทั้งหลายผู้มีศีลสมบูรณ์แล้วอยู่อย่างนี้ จะพึงมีอะไรที่จะต้องทำ คือจะต้อง
ปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไปเล่า ? ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงประกอบ
ภิกษุทั้งหลายไว้ในศีลสัมปทา พร้อมด้วยอุบายที่จะเป็นเหตุให้ถึงพร้อมด้วยคำ
มีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพากันมีศีลสมบูรณ์อยู่อย่างนี้เถิด
ดังนี้ ได้ทรงเริ่มพระธรรมเทศนา ยกบุคคลจำนวนมากขึ้นเป็นที่ตั้งแล้ว บัดนี้
เมื่อจะทรงแสดงพระธรรมเทศนานั้น ด้วยสามารถแห่งการยกบุคคลคนเดียว
ขึ้นเป็นที่ตั้ง เพราะเหตุที่พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงจะเป็น
ไปแล้ว โดยการยกบุคคลคนเดียวขึ้นเป็นที่ตั้ง แต่ก็เป็นพระธรรมเทศนาที่ยก
บุคคลเป็นอเนกขึ้นเป็นที่ตั้ง เพราะเป็นสาธารณะแก่สรรพสัตว์ จึงตรัสคำ
มีอาทิไว้ว่า จรโต เจปิ ภิกฺขเว ภิกฺขุโน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าหากว่า. . .
แก่ภิกษุผู้กำลังเดินไปไซร้.

พึงทราบวินิจฉัยในคำเหล่านั้นต่อไป. กิเลสชาติ ชื่อว่า อภิชฌา
เพราะเป็นเหตุเพ่งเล็ง. คำว่า อภิชฺฌาย นี้ เป็นชื่อของโลภะที่มีลักษณะเพ่งเล็ง
สิ่งของ ๆ ผู้อื่น. อกุศลธรรมชื่อว่าพยาบาท เพราะเป็นเหตุให้จิตถึงความพินาศ
คือเป็นจิตเสีย. คำนี้เป็นชื่อของโทสะที่มีอาฆาตวัตถุ 19 อย่างเป็นอารมณ์
เป็นไปแล้วโดยนัยมีอาทิว่า เขาได้ประพฤติอนัตถะแก่เราแล้ว. พึงทราบความ
พิสดารของอภิชฌาและพยาบาททั้ง 2 อย่างนั้น โดยนัยมีอาทิว่า บรรดาธรรม
เหล่านั้น กามฉันท์คืออะไร ? ความพอใจกาม ความเสน่หากาม ความ
ระหายกาม ความร้อนรนเพราะกาม ความสยบอยู่กับกาม การหยั่งลงสู่กาม
ในกามทั้งหลายดังนี้ อนึ่ง คือ ความโลภ ความละโมบ ภาวะของผู้ละโมบ
แล้ว ความกำหนัดมาก ความกำหนัดจัด ภาวะของผู้กำหนัดมาก ความเพ่งเล็ง
โลภะ อกุศลมูล ดังนี้ และโดยนัยมีอาทิว่า ความพยาบาท คือ ความร้ายกาจ
ความใจร้าย ภาวะของผู้มีจิตถูกโทสะประทุษร้ายแล้ว ความพยาบาท ความถึง
ความพินาศแห่งจิต ภาวะของผู้พยาบาท ความพิโรธ ความพิโรธตอบ ความ
ดุร้าย การให้ผู้อื่นหลั่งน้ำตา ความไม่พอใจแห่งจิตดังนี้. บทว่า วิคโต โหติ
ความว่า ทั้งอภิชฌา ทั้งพยาบาทนี้ เป็นของปราศไปแล้ว คือ ไปปราศแล้ว
อธิบายว่า ละได้แล้ว. ด้วยคำเพียงเท่านี้ เป็นอันพระองค์ทรงแสดงถึงการ
ละกามฉันทนิวรณ์ และพยาบาทนิวรณ์ได้แล้ว .
บทว่า ถีนมิทฺธํ ได้แก่ ทั้งถีนะทั้งมิทธะ. บรรดาถีนะและมิทธะ
ทั้ง 2 อย่างนั้น ภาวะที่จิตไม่ควรแก่การงาน ชื่อว่าถีนะ. คำว่า ถีนะ นี้
เป็นชื่อของความเกียจคร้าน. ความที่ขันธ์ทั้ง 3 มีเวทนาขันธ์เป็นต้น ไม่ควร
แก่การงานชื่อว่า มิทธะ. คำว่า มิทธะ นี้เป็นชื่อของความเป็นผู้ปั่นป่วน.
ผู้ศึกษาพึงทราบความพิสดารของถีนะและมิทธะทั้ง 2 ศัพท์ โดยนัย
มีอาทิว่า บรรดาถีนะและมิทธะทั้ง 2 นั้น ถีนะคืออะไร ? คือ ความที่จิต

ไม่เหมาะสม ความที่จิตไม่ควรแก่การงาน ความหดหู่ ความหวั่นไหวแห่งจิต
บรรดาถีนะและมิทธะ 2 อย่างนั้น มิทธะคืออะไร ? คือ ความที่กายไม่
เหมาะสม ความที่กายไม่ควรแก่การงาน ความล้า ความเมื่อยขบแห่งกาย.
บทว่า อุทฺธจฺจกุกฺกุจฺจํ ได้แก่ ทั้งความฟุ้งซ่านทั้งความรำคาญใจ.
บรรดาอุทธัจจะและกุกกุจจะนั้น อาการของจิตที่ฟุ้งซ่าน ชื่อว่า อุทธัจจะ.
ความเดือดร้อนเพราะบาปที่ทำไว้เป็นปัจจัย ของผู้ไม่ได้ทำความดีไว้ ทำแต่
ความชั่วไว้ ชื่อว่า กุกกุจจะ ผู้ศึกษาพึงทราบความพิสดารของอุทธัจจะ และ
กุกกุจจะทั้ง 2 นั้น โดยนัยมีอาทิว่า บรรดาอุทธัจจะและกุกกุจจะทั้ง 2 นั้น
อุทธัจจะคืออะไร ? คือ ความฟุ้ง ความไม่สงบแห่งจิต ความซัดส่ายแห่งจิต
ความหมุนเวียนแห่งจิต. พึงทราบอาการที่เป็นไป (พฤติการณ์ของนิวรณ์ทั้ง 2
นั้น) โดยนัยมีอาทิว่า เราไม่ได้ทำความดีไว้ เราไม่ได้ทำกุศลไว้ เราไม่ได้
ทำการต้านทานสิ่งที่น่ากลัวไว้ เราทำบาปไว้แล้ว เราทำกรรมชั่วช้าไว้แล้ว
เราทำความผิดไว้แล้ว ดังนี้.
บทว่า วิจิกิจฺฉา ได้แก่ ความสงสัยในพระพุทธเจ้าเป็นต้น. ผู้ศึกษา
พึงทราบความพิสดารของวิจิกิจฉานั้น โดยนัยมีอาทิว่า ย่อมสงสัยคือแคลงใจ
ได้แก่ไม่น้อมใจเชื่อ หมายความว่า ไม่เลื่อมใสในพระศาสดาดังนี้ และโดยนัย
มีอาทิว่า บรรดานิวรณ์เหล่านั้น วิจิกิจฉาคืออะไร ? คือ ความกังขา ความ
กินแหนง ภาวะของผู้กินแหนง ความเคลือบแคลง ความแคลงใจ ความ
สองเงื่อน ทางสองแพร่ง ความสงสัย ความยึดถือหลายอย่าง ความสับสน.
ความกระเสือกกระสน ความยึดถือไม่รอบคอบ ความหวาดสะดุ้งแห่งจิต
รอยขีดเขียนในใจ ดังนี้.
และในที่นี้ พระองค์ทรงประสงค์เอาการข่มอภิชฌา และพยาบาท
เป็นต้นเหล่านั้นเท่านั้น ด้วยอำนาจแห่งการพรากออกไป และด้วยอำนาจแห่ง

การละอภิชฌาและพยาบาทเป็นต้น ซึ่งพระองค์ตรัสหมายเอาว่า เธอละความ-
โลภคืออภิชฌาแล้ว มีจิตปราศจากอภิชฌาอยู่ ชื่อว่า ชำระจิตให้ผ่องใสจาก
อภิชฌา ละความประทุษร้ายคือพยาบาทแล้ว เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาทอยู่ ชื่อว่า
ชำระจิตให้ผ่องใสจากความประทุษร้ายคือพยาบาท ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้
ปราศจากถิ่นมิทธะ มีอาโลกสัญญา (หมายรู้แสงสว่าง) มีสติสัมปชัญญะอยู่
ชื่อว่า ชำระจิตให้ผ่องใสจากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะได้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิต
สงบอยู่ในภายใน ชื่อว่า ชำระจิตให้ผ่องใสจากอุทธัจจกุกกุจจะ ละความสงสัย
ได้แล้ว เป็นผู้ข้ามความสงสัยได้ เป็นผู้หายสงสัย ไม่สงสัยในกุศลธรรม
ทั้งหลาย ชื่อว่า ชำระจิตให้ผ่องใสจากความสงสัย. บรรดาการละและการเกิด
ขึ้นนั้น การละนิวรณ์มีอยู่โดยวิธีใด ควรทราบวิธีนั้น (ต่อไป).
ก็การละนิวรณ์เหล่านั้น มีอย่างไร ? การละกามฉันท์ มีโดยการทำ
ไว้ในใจโดยแยบคายในอสุภนิมิต. ส่วนการเกิดขึ้น (แห่งกามฉันท์) มีโดยการ
ทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายในสุภนิมิต ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึง
ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุภนิมิตมีอยู่ การทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการ
ในสุภนิมิตนั้น เป็นเหตุนำผลมาให้ (อาหารปัจจัย) เพื่อกามฉันท์ที่ยังไม่เกิด
ได้เกิดขึ้นบ้าง เพื่อความเจริญยิ่งขึ้น เพื่อความไพบูลย์แห่งกามฉันท์ที่เกิดขึ้น
แล้วบ้าง. การละกามฉันท์ที่เกิดขึ้นโดยอโยนิโสมนสิการ ในสุภนิมิตอย่างนี้
มีอยู่โดยโยนิโสมนสิการในอสุภนิมิต โดยตรงกันข้ามกับอโยนิโสมนสิการ ใน
สุภนิมิตนั้น. บรรดานิมิตทั้ง 2 อย่างนั้น อสุภบ้าง อสุภารมณ์บ้าง ชื่อว่า
อสุภนิมิต. การมนสิการโดยอุบาย คือมนสิการในทาง ได้แก่มนสิการว่า
ไม่เที่ยงในสิ่งที่ไม่เที่ยงบ้าง ว่าเป็นทุกข์ในสิ่งที่เป็นทุกข์บ้าง ว่าเป็นอนัตตา
ในสิ่งที่เป็นอนัตตาบ้าง ว่าไม่งามในสิ่งที่ไม่งามบ้าง ชื่อว่า โยนิโสมนสิการ.
เมื่อให้มนสิการนั้นเป็นไปมากครั้งในนิมิตนั้น ย่อมละกามฉันท์ได้. ด้วยเหตุนั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย อสุภนิมิต การทำให้มาก
ซึ่งโยนิโสมนสิการ ในอสุภนิมิตนั้น นี้เป็นเหตุนำผลมา (อาหารปัจจัย) เพื่อ
ความไม่เกิดขึ้นแห่งกามฉันท์ที่ยังไม่เกิดบ้าง เพื่อละกามฉันท์ที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.

ธรรมสำหรับละกามฉันท์ 6 ข้อ


อีกอย่างหนึ่ง ธรรม 6 ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อละกามฉันท์ คือ
1. การเรียนเอาอสุภนิมิต
2. การประกอบความเพียรเนือง ๆ ในอสุภภาวนา
3. ความเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้ว ในอินทรีย์ทั้งหลาย
4. ความเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ
5. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
6. ถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ.
อธิบายว่า ผู้กำลังเรียนอสุภนิมิต 10 อย่างอยู่ ย่อมละกามฉันท์ได้
ผู้กำลังเจริญอสุภนิมิตอยู่ ก็ละกามฉันท์ได้ ผู้ปิดทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
แล้วก็ละได้ ผู้รู้ประมาณในการฉันอาหาร เพราะความเป็นผู้มีปกติยังอัตภาพ
ให้เป็นไปได้โดยดื่มน้ำ (ก่อน) ทั้ง ๆ ที่ยังมีโอกาส (ฉันได้อีก) 4-5 คำ
ก็ละกามฉันท์ได้. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า
ควรงดฉันข้าว 4-5 คำไว้แล้วดื่มน้ำ
เพียงพอเพื่อจะอยู่อย่างสบายสำหรับภิกษุ
ผู้มีใจเด็ดเดี่ยว.

ผู้กำลังคบหากัลยาณมิตร เช่นกับพระติสสเถระ. ผู้เจริญอสุภกรรมฐาน
ละกามฉันท์ได้ก็มี. ละได้ด้วยกถาที่เป็นสัปปายะอาศัยอสุภ 10 ในสถานที่ยืน
และที่นั่งเป็นต้น ก็มี. ด้วยเหตุนั้น พระผู้นี้พระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า
ธรรม 6 อย่าง ย่อมเป็นไปเพื่อละกามฉันท์.