เมนู

อรรถกถาชานสูตร


ในชานสูตรที่ 3 พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ชานโต แปลว่า รู้อยู่. บทว่า ปสฺสโต แปลว่า เห็นอยู่.
ก็ถ้าว่า ทั้งสองบทนี้ มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะ
เท่านั้นไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอาศัยลักษณะแห่งญาณ
แสดงอ้างบุคคล ด้วยบทว่า ชานโต. เพราะว่า ญาณ มีการรู้เป็นลักษณะ.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยอำนาจของญาณ แสดงอ้างบุคคล ด้วยบทว่า
ปสฺสโต. เพราะว่า บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยญาณ อาศัยอำนาจของการเห็น
จึงจะเห็นวิวัฏฏธรรมทั้งหลายด้วยญาณ เปรียบเหมือนคนมีตาดี มองเห็นรูป
ทั้งหลายฉะนั้น. อีกประการหนึ่ง บทว่า ชานโต แปลว่า รู้อยู่ด้วยอนุโพธ-
ญาณ (ญาณเป็นเครื่องรู้ตาม). บทว่า ปสฺสโต แปลว่า เห็นอยู่ด้วย
ปฎิเวธญาณ (ญาณเครื่องแทงตลอด). อีกอย่างหนึ่ง เมื่อว่าโดยปฏิโลม ได้แก่
เห็นอยู่ด้วยทัสสนมรรค รู้อยู่ด้วยภาวนามรรค. ฝ่ายอาจารย์บางพวกกล่าวว่า
รู้อยู่ด้วยญาตปริญญา ติรณปริญญา และปหานปริญญา เห็นอยู่ด้วยวิปัสสนา
ขั้นยอด. อีกประการหนึ่ง รู้ทุกข์โดยการรู้ด้วยการกำหนดรู้ เห็นนิโรธโดย
การรู้ด้วยการทำให้แจ้ง และเมื่อญาณทั้งสองนั้น มีการรู้ด้วยการละและการเจริญ
ก็เป็นอันสำเร็จด้วยทีเดียว ดังนั้น จึงเป็นอันตรัสถึงการบรรลุสัจจะทั้ง 4. แต่
ในเรื่องนี้ เมื่อใด ท่านประสงค์เอาวิปัสสนาญาณ เมื่อนั้น พึงเห็นว่า บททั้งสอง
คือ ชานโต ปสฺสโต เป็นการแสดงถึงเหตุของมรรค แต่เมื่อใด ประสงค์
เอามรรคญาณ เมื่อนั้นพึงเห็นว่า บททั้งสองแสดงกิจของมรรค.