เมนู

อรรถกถาขุททกนิกาย ชื่อปรมัตถทีปนี


อิติวุตตกวรณนา



อารัมภกถา


ข้าพเจ้าขอวันทาพระผู้มีพระภาคเจ้า
ผู้ทรงเป็นนาถะ ผู้มีพระทัยเปี่ยมล้นไป
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จถึงฝั่งสาคร
คือไญยธรรมได้แล้ว ทรงมีนัยเทศนาอัน
วิจิตรสุขุมคัมภีรภาพ.
ข้าพเจ้าขอวันทาพระธรรมนั้น อัน
อุดมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรง-
บูชา ที่นำพาพระอริยสาวกทั้งหลายผู้
สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะให้พ้นไปจาก
โลก.
ข้าพเจ้าขอวันทาพระสงฆ์ ผู้เป็น
พระอริยะนั้น สถิตมั่นอยู่ในมรรคและผล
สมบูรณ์แล้วด้วยศีลาทิคุณเป็นนาบุญอย่าง
เยี่ยมยอด.
ด้วยเดชานุภาพแห่งบุญที่เกิดจากการ
วันทาพระรัตนตรัยดังได้พรรณนามานี้

ขอข้าพเจ้าจงปลอดภัยจากอันตรายในที่ทุก
สถาน ในกาลทุกเมื่อเทอญ. พระธรรม
สังคาหกเถระทั้งหลายผู้จำพรรษาอยู่ในบุรี
มีปกติแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้รวบรวม
พระสูตรทั้งหลายที่พระผู้แสวงหาคุณธรรม
อันยิ่งใหญ่ได้ทรงแสดงไว้แล้ว โดยแยก
เป็นนิบาต มีเอกนิบาตเป็นอาทิอันส่อง
แสดงถึงการละซึ่งกิเลสทั้งหลายมีโลภะ
เป็นต้น ไว้อย่างวิเศษเข้าเป็นสายเดียวกัน
แล้วร้อยกรองบทอักษรดังกล่าวมานี้ โดย
เรียกชื่อว่า "อิติวุตตกะ" อันที่จริง การ
แต่งอรรถกถาพรรณนาความลำดับบทที่มี
อรรถอันลึกซึ้ง ในขุททกนิกายเป็นสิ่งที่
ข้าพเจ้าทำได้ยาก เพราะเป็นอรรถที่จะพึง
หยั่งถึงได้ก็ด้วยคัมภีรญาณ แต่เพราะเหตุ
ที่อรรถกถาจะช่วยทรงศาสนาของพระ-
ศาสดาไว้ได้ ทั้งวินิจฉัยของบรรดา
บุรพาจารย์ผู้เปรียบปานด้วยราชสีห์ก็จะยัง
คงดำรงอยู่ด้วย ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักแต่ง
อรรถกถา "อิติวุตตกะ" ไว้ให้ดีตามกำลัง
โดยจะยึดวินิจฉัยของบรรดาบุรพาจารย์นั้น
เป็นหลัก ถือนิกาย 5 เป็นเกณฑ์ อิงอาศัย
นัยจากอรรถกถาเก่า แม้จะเป็นเพียงคำ

บอกกล่าวของนิสิต แต่ก็บริสุทธิ์ ไม่
คลาดเคลื่อน เป็นการวินิจฉัยอรรถที่
ละเอียดของบรรดาบุรพาจารย์คณะมหา-
วิหารแล้วเว้นความที่ซ้ำ ๆ กันเสีย.
สาธุชนทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย
ได้โปรดตั้งใจสดับการพรรณนาความแห่ง
อรรถกถา "อิติวุตตกะ" นั้น ของข้าพเจ้า
ผู้หวังให้พระสัทธรรมดำรงมั่นอยู่ได้นาน
จะได้จำแนกต่อไปนี้.


อธิบายอิติวุตตกะ


ในคาถานั้น ชื่อว่า อิติวุตตกะจัดเป็นนิบาต 4 อย่าง คือ เอกนิบาต
ทุกนิบาต ติกนิบาต จตุกกนิบาต. อิติวุตตกะแม้นั้นนับเนื่องในสุตตันตปิฎก
ในปิฎก 3 อย่าง คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก. นับเนื่องใน
ขุททกนิกาย ในนิกาย 5 อย่าง คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย
อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกาย. จัดเป็นอิติวุตตกะ ในนวังคสัตถุศาสน์ คือ
สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม
เวทัลละ. สงเคราะห์เข้าในธรรมขันธ์จำนวนเล็กน้อย ในธรรมขันธ์ 84,000
ที่พระอานนทเถระผู้เป็นธรรมภัณฑาคาริกปฏิญญาไว้ อย่างนี้ว่า
ธรรมเหล่าใดที่เป็นไปแก่ข้าพเจ้า
ธรรมเหล่านั้น ข้าพเจ้าเรียนจากพระ-
พุทธเจ้า 82,000 จากภิกษุ 2,000 รวมเป็น
84,000 ธรรมขันธ์.