เมนู

อรรถกถาชัมพาลีสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในชัมพาลีสูตรที่ 8 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า สนฺตํ เจโตวิมุตฺตึ ได้แก่ สมาบัติ 8 อย่างใดอย่างหนึ่ง
บทว่า สกฺกายนิโรธํ ได้แก่ ดับสักกายะอันได้แก่วัฏฏะที่เป็นไปในภูมิ 3
อธิบายว่า นิพพาน. บทว่า น ปกฺขนฺทติ ได้แก่ ไม่แล่นไปด้วยอำนาจ
อารมณ์. แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน บทว่า น ปาฏิกงฺโข ได้แก่
ไม่พึงหวังได้. บทว่า ลปคเตน ได้แก่ เปื้อนยางเหนียว.
ก็และในความนี้ ควรนำมาเปรียบด้วยบุรุษผู้ประสงค์จะข้ามไปฝั่งโน้น.
เขาว่าบุรุษผู้หนึ่งประสงค์จะข้ามไปฝั่งโน้นของแม่น้ำ ซึ่งมีกระแสเชี่ยวจัดมาก
เต็มไปด้วยปลาร้าย คิดว่า ฝั่งในน่ารังเกียจ มีภัยเฉพาะหน้า ฝั่งนอกเป็นที่เกษม
ปลอดภัย เราจะทำอย่างไรดีหนอ จึงจักข้ามไปฝั่งโน้นได้ เห็นต้นกุ่ม 8 ต้น
ตั้งอยู่เรียงกัน จึงแน่ใจว่าเราน่าจะไปตามลำดับของต้นไม้นี้ได้ ขึ้นชื่อว่า
ต้นกุ่มมีกิ่งเกลี้ยง มือจะจับกิ่งยึดไว้ไม่ได้ จึงเอายางของต้นไทรและต้นเลียบ
เป็นต้น ต้นใดต้นหนึ่งทามือและเท้า เอามือขวาจับกิ่งหนึ่งไว้. มือก็ติดที่กิ่ง
นั้นเอง. เอามือซ้าย เท้าขวา เท้าซ้าย จับเกาะก็ติดอีก เพราะเหตุนั้น มือ
และเท้าแม้ทั้ง 4 ก็ติดอยู่ที่กิ่งนั้นนั่นเอง. เขาห้อยหัวลง เมื่อฝนตกลงบน
แม่น้ำ เขาก็จมลงในกระแสแม่น้ำที่เต็ม กลายเป็นเหยื่อจระเข้เป็นต้น . ในข้อ
นั้น กระแสแห่งสงสารพึงเห็นดุจกระแสน้ำ. พระโยคาวจรดุจบุรุษประสงค์จะ
ข้ามฝั่งกระแสน้ำ สักกายะดุจฝั่งใน นิพพานดุจฝั่งนอก สมาบัติ 8 ดุจต้นกุ่ม
8 ต้นที่ตั้งเรียงอยู่ การไม่ชำระธรรมที่เป็นอันตรายต่อฌานและวิปัสสนาให้
หมดจดแล้ว เข้าสมาบัติดุจเอามือที่เปื้อนยางเหนียวจับกิ่งไม้ เวลาที่ถูกความ

ติดใจคล้องไว้ในปฐมฌาน ดุจเอามือและเท้าเกี่ยวติดไว้ที่กิ่งไม้ห้อยหัวลง
เวลาที่กิเลสเกิดในทวาร 6 ดุจฝนตกกระแสน้ำ เวลาที่ผู้จมอยู่ในกระแส
สงสาร เสวยทุกข์ในอบาย 4 ดุจเวลาที่ผู้จมลงในกระแสแม่น้ำที่เต็ม เป็น
เหยื่อของจระเข้เป็นต้น.
บทว่า สุทฺเธน หตฺเถน ได้แก่ ด้วยมือที่ล้างสะอาดดีแล้ว. แม้ใน
ความข้อนี้ก็พึงเปรียบเทียบเช่นนั้นเหมือนกัน. บุรุษผู้ประสงค์จะข้ามฝั่ง คิดว่า
ขึ้นชื่อว่าต้นกุ่มกิ่งเกลี้ยง ผู้ที่จับ ด้วยมือที่สกปรกมือก็พึงคิด จึงล้างมือและเท้า
ให้สะอาด แล้วจับกิ่งหนึ่งขึ้นต้นที่ 1 ลงจากต้นที่ 1 ขึ้นต้นที่ 2 ฯลฯ ลง
จากต้นที่ 7 ขึ้นต้นที่ 8 ลงจากต้นที่ 8 แล้วก็ถึงพื้นที่ปลอดภัย ณ ฝั่งโน้น .
ในข้อนั้น เวลาที่พระโยคีคิดว่า เราจักเข้าสมาบัติ 8 ครั้นออกจากสมาบัติแล้ว
จักยึดเอาพระอรหัตให้ได้ดังนี้ พึงทราบดุจเวลาที่บุรุษนั้นคิดว่า เราจักข้ามไป
ฝั่งโน้นด้วยต้นไม้เหล่านี้ การชำระธรรมอันเป็นอันตรายต่อฌานและวิปัสสนา
แล้วเข้าสมาบัติ ดุจการยึดกิ่งไม้ด้วยมือสะอาด เวลาเข้าปฐมฌาน ดุจเวลา
ขึ้นต้นไม้ต้นที่ 1 ในต้นไม้เหล่านั้น เวลาที่ไม่ถูกความติดใจผูกไว้ในปฐมฌาน
ออกจากปฐมฌานนั้นแล้วเข้าทุติยฌาน ฯลฯ ดุจเวลาลงจากต้นไม้ต้นที่ 1 แล้ว
ขึ้นต้นที่ 2 ฯลฯ เวลาที่ไม่ถูกความติดใจผูกไว้ในอากิญจัญญายตนสมสมาบัติ
ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้นแล้ว เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ
ดุจลงจากต้นไม้ต้นที่ 7 แล้วขึ้นต้นที่ 8 เวลาที่ไม่ถูกความติดใจผูกไว้ใน
เนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากสมาบัติแล้ว พิจารณาสังขารบรรลุพระ-
อรหัต ดุจเวลาที่บุรุษลงจากต้นไม้ต้นที่ 8 แล้วก็ไปถึงฝั่งโน้นอันเป็นพื้นที่
มีความปลอดภัย.
บทว่า อวิชฺชาปฺปเภทํ มนสิกโรติ ได้แก่ภิกษุมนสิการพระอรหัต
กล่าวคือธรรมเครื่องทำลายอวิชชาใหญ่หนาทึบ อันเป็นความไม่รู้ในฐานะ 8

อวิชชา 8. บทว่า น ปกฺขนฺทติ ได้แก่ ไม่แล่นไปโดยอารมณ์. บทว่า
ชมฺพาลี ได้แก่ บ่อน้ำขนาดใหญ่เป็นที่ขังน้ำซึ่งไหลออกจากหมู่บ้าน. บทว่า
อเนกวสฺสคณิกา ได้แก่ บ่อน้ำชื่อว่า อเนกวสฺสคณิกา เพราะมีบ่อน้ำ
เกิดขึ้นนับได้หลายปี เพราะบ่อน้ำนั้นเกิดขึ้นในเวลาที่หมู่บ้านหรือนครเกิดขึ้น.
บทว่า อายมุขานิ ได้แก่ ลำรางไหลเข้า 4 แห่ง. บทว่า อปายมุขานิ
ได้แก่ ช่องไหลออก.
บทว่า น ปาลิปฺปเภโท ปาฏิกงฺโข ได้แก่ ไม่พึงหวังที่จะมีน้ำ
ล้นขอบออกไปได้ เพราะว่า น้ำที่เอ่อขึ้นจากนั้น หาทำลายขอบแล้วพัดเอา
หยากเยื่อไปลงสู่มหาสมุทรได้ไม่ เพื่อไขความนี้ให้แจ่มแจ้ง ควรนำเรื่องคน
แสวงหาสวนมาเปรียบ. มีเรื่องเล่าว่า กุลบุตรชาวเมืองคนหนึ่ง แสวงหาสวน
ได้เห็นบ่อใหญ่ไม่ไกลไม่ใกล้จากเมืองนัก. เขาเข้าใจว่า ณ ที่นี้จักเป็นสวน
น่ารื่นรมย์ จึงถือเอาจอบปิดทาง 4 ด้านแล้ว เปิดช่องให้น้ำไหล. ฝนไม่
ตกเพิ่ม. น้ำที่เหลือก็ไหลไปตามช่องน้ำไหล ชิ้นหนังและผ้าขี้ริ้วเป็นต้น ก็
เกิดเน่าในที่นั้นเอง. ชนทั้งหลายก็หยุดอยู่รอบ ๆ ไม่ยอมเข้าไป. แม้ที่
เข้าไปก็ต้องปิดจมูกเดินหลีกไป. ล่วงไป 2-3 วัน เขามาถอยไปฝืนแลดู
ไม่อาจเข้าไปได้แล้ว ก็หลีกไป. ในข้ออุปมานั้น โยคาวจรพึงเห็นดุจกุลบุตร
ชาวเมือง. กายคือมหาภูตรูป 4 ดุจเวลาที่กุลบุตรผู้แสวงหาสวนเห็นบ่อน้ำใหญ่
ใกล้ประตูบ้าน เวลาที่ตนไม่ได้น้ำคือการฟังธรรม ดุจเวลาที่ปิดทางน้ำไหลเข้า
เวลาที่สละความสำรวมในทวาร 6 ดุจเวลาที่เปิดทางน้ำไหลออก เวลาที่ไม่ได้
กรรมฐานเป็นที่สบาย ดุจเวลาที่ฝนไม่ตกถูกต้องตามฤดูกาล เวลาที่คุณภายใน
เสื่อม ดุจเวลาที่น้ำที่เหลือไหลไปทางน้ำไหลออก เวลาที่ไม่สามารถทำลายขอบ
คันคืออวิชชาได้ด้วยอรหัตมรรคแล้ว กำจัดกองกิเลสเสียทำพระนิพพานให้แจ้ง

ดุจเวลาที่น้ำเอ่อ แล้วไม่สามารถทำลายขอบคันพัดพาหยากเยื่อลงไปมหาสมุทร
ได้ เวลาที่เต็มไปด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้นในภายใน ดุจชิ้นหนังและผ้าขี้ริ้ว
เป็นต้น เน่าอยู่ในบ่อน้ำนั่นเอง เวลาที่บุคคลผู้มีความพร้อมเพรียงในวัฏฏะ
เพลิดเพลินในวัฏฏะ ดุจเวลาที่เขามาเห็น (บ่อน้ำ) แล้วมีความร้อนใจกลับไป.
บทว่า ปาลิปฺปเภโท ปาฏิกงฺโข ได้แก่ พึงหวังน้ำล้นขอบบ่อ
ไปได้. อธิบายว่า จริงอยู่ น้ำที่เอ่อจากนั้นจักสามารถทำลายขอบบ่อแล้วพัด
หยากเยื่อลงไปสูมหาสมุทรได้. แม้ในข้อนี้ก็พึงนำข้อเปรียบเทียบนั้นมาได้.
เวลาที่ได้ฟังธรรมเป็นที่สบาย พึงทราบดุจเวลาที่เปิดทางน้ำไหลออกในบ่อน้ำ
นั้น เวลาสำรวมในทวาร 6 ตั้งมั่นแล้ว ดุจเวลาที่ปิดทางไหลออก เวลาที่คน
ได้กรรมฐานเป็นที่สบาย ดุจเวลาที่ฝนตกต้องตามฤดูกาล เวลาคนทำลาย
อวิชชาเสียได้ด้วยอรหัตมรรคแล้วกำจัดกองกิเลส ทำนิพพานให้แจ้ง ดุจเวลา
น้ำไหลเอ่อขึ้นทำลายขอบคันพัดเอาหยากเยื่อลงไปสู่มหาสมุทร เวลาที่เต็มเปี่ยม
ด้วยโลกุตรธรรมในภายใน ดุจเวลาที่สระเต็มเปี่ยมด้วยน้ำที่เข้าไปทางน้ำ
ไหลเข้า เวลาที่ขึ้นสู่ธรรมปราสาท นั่งเอิบอิ่มผลสมาบัติมีนิพพานเป็นอารมณ์
ดุจการที่บุคคลสร้างรั้วไว้โดยรอบ แล้วปลูกต้นไม้ สร้างปราสาทในท่ามกลาง
สวน หานักฟ้อนมาบำรุงบำเรอแล้วนั่งบริโภคอาหารที่ดี. คำที่เหลือในบทนี้
มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น. ก็เทศนาตรัสคละกันทั้งโลกิยะและโลกุตระ.
จบอรรถกถาชัมพาลีสูตรที่ 8

9. นิพพานสูตร


ว่าด้วยสัญญา 4


[179] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึง
ที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้งผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกัน
ไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า
ดูก่อนอาวุโสสารีบุตร อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกใน
โลกนี้ ไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน ? ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูก่อนอาวุโส
อานนท์ สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า นี้หาน-
ภาคิยสัญญา
(สัญญาฝ่ายเสื่อม) นี้ฐิติภาคิยสัญญา (สัญญาฝ่ายดำรงอยู่)
นี้วิเสสภาคิยสัญญา (สัญญาฝ่ายวิเศษ) นี้นิพเพธภาคิยสัญญา (สัญญาฝ่าย
ชำแรกกิเลส) ดูก่อนอาวุโสอานนท์ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวก
ในโลกนี้ ไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน
อา. ดูก่อนอาวุโสสารีบุตร ก็อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์
บางพวกในโลกนี้ ปรินิพพานในปัจจุบัน ?
สา. ดูก่อนอาวุโสอานนท์ สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมทราบชัดตาม
ความเป็นจริงว่า นี้หานภาคิยสัญญา นี้ฐิติภาคิยสัญญา นี้วิเสสภาคิยสัญญา.
นี้นิพเพธภาคิยสัญญา ดูก่อนอาวุโสอานนท์ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์
บางพวกในโลกนี้ ปรินิพพานในปัจจุบัน.
จบนิพพานสูตรที่ 9