เมนู

ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็วเป็นไฉน ? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ได้ปฐมฌาน ฯลฯ ได้ทุติยฌาน
ฯลฯ ได้ตติยฌาน ฯลฯ ได้จตุตถฌาน ฯลฯ ภิกษุนั้นอาศัยเสขพละ 5
ประการ คือ สัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา นี้อยู่ ทั้งอินทรีย์ 5
คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของเธอก็แก่กล้า เพราะอินทรีย์ 5
นี้แก่กล้า เธอย่อมบรรลุอนันตริยคุณเพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว นี้เรียกว่า
ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว.
ภิกษุทั้งหลาย นี้แลปฏิปทา 4.
จบอสุภสูตรที่ 3

อรรถกถาอสุภสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในอสุภสูตร 3 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อสุภานุปสฺสี กาเย วิหรติ ความว่า ภิกษุพิจารณาเห็น
ในกรชกายของตนว่าไม่งาม ด้วยการเข้าไปเปรียบเทียบกับอสุภะ 10 ที่ตน
เห็นแล้วในภายนอกโดยนัยนี้ว่า นั่นฉันใด นี้ก็ฉันนั้น อธิบายว่า เห็นกาย
ของตนด้วยญาณ โดยเป็นสิ่งไม่งาม โดยเป็นสิ่งปฏิกูล. บทว่า อาหาเร
ปฏิกฺกุลสญฺญี
ความว่า มีความสำคัญในกวฬีการาหาร ว่าเป็นปฏิกูลด้วย
อำนาจปฏิกูล 9. บทว่า สพฺพโลเก อนภิรตสญฺญี ความว่า ประกอบ
ด้วยความไม่น่ายินดี คือด้วยสัญญาว่าน่าเอือมระอา ในโลกสันนิวาสอันเป็น
ไตรธาตุ แม้ทั้งหมด. บทว่า สพฺพสํขาเรสุ อนิจฺจานุปสฺสี ความว่า
พิจารณาเห็นสังขารอันเป็นไปในภูมิ 3 แม้ทั้งหมด โดยความเป็นของไม่เที่ยง.