เมนู

8. วิสาขสูตร


ว่าด้วยวิสาขาปัญจาลิบุตรแสดงธรรมมิกถา


[48] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ วิหารพระเชตวัน
อารามของอนาถบิณฑิกคฤหบดี กรุงสาวัตถี คราวนั้นท่านวิสาขะ ปัญจาลิบุตร
แสดงธรรมิกถาให้ภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้งให้สมาทานให้อาจหาญให้ร่าเริงอยู่
ในอุปัฏฐานศาลา ด้วยถ้อยคำของชาวเมือง สละสลวยปราศจากโทษ ทำให้
เข้าใจความได้ชัดเจน นับเนื่องในนิพพานไม่อิงวัฏฏะ
ครั้งนั้น เวลาเย็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่ประทับหลีกเร้น
ไปอุปัฏฐานศาลา ประทับนั่ง ณ อาสนะที่จัดไว้แล้ว ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า
ใครหนอแสดงธรรมิกถาให้ภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้งให้สมาทานให้อาจหาญ
ให้ร่าเริง ด้วยคำของชาวเมือง สละสลวย ปราศจากโทษ ทำให้เข้าใจความ
ได้ชัดเจน นับเนื่องในนิพพานไม่อิงวัฏฏะ.
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ท่านวิสาขะ ปัญจาลิบุตร พระพุทธเจ้าข้า...
พ. จึงตรัสประทานสาธุการกะท่านวิสาขะว่า สาธุ สาธุ วิสาขะ เธอ
แสดงธรรมิกถาให้ภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้งให้สมาทานให้อาจหาญให้ร่าเริง
ด้วยถ้อยคำของชาวเมือง สละสลวย ปราศจากโทษ ทำให้เข้าใจความได้ชัดเจน
นับเนื่องในนิพพานไม่อิงวัฏฏะ ดีนักแล.
คนฉลาดปนกับหมู่คนเขลา เมื่อไม่
พูดออกมา ก็ไม่มีใครรู้จัก ต่อเมื่อพูด
แสดงอมตบท คนทั้งหลายจงรู้ บุคคล
พึงส่องธรรมให้สว่าง พึงยกธงของฤษีไว้
ฤษีทั้งหลายมีสุภาษิตเป็นธง แท้จริง ธรรม
เป็นธงของพวกฤษี.

จบวิสาขสูตรที่ 8

อรรถกถาวิสาขสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในวิสาขสูตรที่ 8 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ปญฺจาลิปุตฺโต คือเป็นบุตรของนางพราหมณี ชื่อปัญจาลี.
บทว่า โปริยา วาจาย คือ ด้วยวาจาที่บริบูรณ์. บทว่า วิสฺสฏฺฐาย คือ
ลิ้นไม่พัน. บทว่า อเนฬคลาย ความว่า ไม่มีโทษ ไม่ตุกุกตะกัก พยัญชนะ
ไม่เพี้ยน. บทว่า ปริยาปนฺนาย คือ ที่นับเนื่องในวิวัฏฏะ. บทว่า อนิสฺสิ-
ตาย
คือ ไม่อาศัยวัฏฏะ. อธิบายว่า กล่าวถ้อยคำให้อาศัยวิวัฏฏะเท่านั้น
ไม่กล่าวถ้อยคำให้อาศัยวัฏฏ.
บทว่า นาภาสมานํ คือเมื่อไม่พูดก็ไม่มีใครรู้จัก บทว่า อมตํ ปทํ
ได้แก่ บทคือพระนิพพาน. บทว่า ภาสเย ได้แก่ พึงทำให้กระจ่าง (พูด).
บทว่า โชตเย เป็นไวพจน์ของบทว่า ภาสเย นั้นเอง. บทว่า ปคฺคณฺเห
อิสีนํ ธชํ
ความว่า โลกุตรธรรม 9 อย่าง เรียกชื่อว่า ธงของพวกฤษี เพราะ
อรรถว่า ฟุ้งขจรไป. อธิบายว่า พึงยกย่องโลกุตรธรรมนั้น คือ พึงกล่าว
ยกให้สูง. พวกฤษี ชื่อว่ามีสุภาษิตเป็นธง เพราะอรรถว่า มีสุภาษิตที่แสดง
โลกุตรธรรม 9 เป็นธง. บทว่า อิสิโย ได้แก่ พระอริยะทั้งหลาย มี
พระพุทธเจ้าเป็นต้น . บทว่า ธมฺโม หิ อิสีนํ ธโช ความว่า โลกุตรธรรม
ชื่อว่า เป็นธงของพวกฤษี โดยนัยอันกล่าวแล้วในหนหลังแล.
จบอรรถกถาวิสาขสูตรที่ 8