เมนู

อรรถกถาปสาทสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในปสาทสูตรที่ 4 ดังต่อไปนี้ :-
ชื่ออัคคัปปสาทะเพราะอรรถว่าเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ หรือความ
เลื่อมใสอันเลิศ. บทว่า ยาวตา คือ ประมาณเท่าใด. บทว่า อปทา ได้แก่
พวกสัตว์ไม่มีเท้ามีงูและปลาเป็นต้น. บทว่า ทฺวิปทา ได้แก่ พวกสัตว์ 2
เท้ามีมนุษย์และนกเป็นต้น. บทว่า จตุปฺปทา ได้แก่ สัตว์ 4 เท้ามีช้าง
และม้าเป็นต้น. บทว่า พหุปฺปทา ได้แก่ พวกสัตว์เท้ามากมีตะขาบเป็นต้น.
บทว่า เนวสญฺญีนาสญฺญิโน ได้แก่พวกสัตว์ที่เกิดในภวัคคพรหม. บทว่า
อคฺคมกฺขายติ ความว่า พระตถาคตปราชญ์กล่าวว่า เป็นยอด คือประเสริฐ
สูงสุด โดยคุณทั้งหลาย. บทว่า อสงฺขตา ความว่า ท่านกล่าวถือเอา
พระนิพพานเท่านั้น. บทเป็นอาทิว่า วิราโค เป็นชื่อของพระนิพพานแท้.
เพราะว่า มาถึงพระนิพพานนั้นแล้ว กิเลสทั้งหลายก็คลายไปหมด ความเมา
ทั้งหลาย มีความเมาเพราะราคะเป็นต้น ก็หายเมาไปหมด คือ ไม่มี ความ
กระหายทั้งหลายก็หายไปหมด อาลัยทั้งหลายก็เพิกถอนไปหมด วัฏฏะทั้งหลาย
ก็ขาด ตัณหาก็สิ้น วัฏฏทุกข์ก็ดับ ความเร่าร้อนทั้งปวง ก็ดับไป เพราะ-
ฉะนั้น นิพพาน จึงได้ชื่อเหล่านั้น. บทที่เหลือในสูตรนี้ ง่ายทั้งนั้นแล.
จบอรรถกถาปสาทสูตรที่ 4

5. วัสสการสูตร


ว่าด้วยบุคคลประกอบด้วยธรรม 4 เป็นมหาบุรุษ


[35] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ วิหารเวฬุวัน
กลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พราหมณ์ชื่อวัสสการะ เป็น
อำมาตย์ผู้ใหญ่แห่งประเทศมคธ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นไปถึงแล้ว
ก็ชื่นชมกับพระผู้มีพระภาคเจ้า กล่าวถ้อยคำที่ทำให้เกิดความยินดีต่อกัน เป็น
ที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่งลง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายบัญญัติบุคคลที่ประกอบพร้อม
ด้วยธรรม 4 ประการ ว่าเป็นมหาปราชญ์ มหาบุรุษ ธรรม 4 ประการ
คืออะไร คือ
1. บุคคลเป็นพหูสูต (ได้สดับมาก คือเรียนมาก)
2. รู้ความแห่งข้อที่ได้ฟังแล้วนั้น ๆ แห่งภาษิตนั้น ๆ ว่า นี่เป็น
ความแห่งภาษิตนี้ นี่เป็นความแห่งภาษิตนี้
3. เป็นผู้มีสติ ระลึกสืบสาวการที่ทำคำที่พูดแล้วแม้นาน ๆ ได้
4. กิจการเหล่าใดเป็นของคฤหัสถ์จะต้องจัดต้องทำ เป็นผู้ฉลาด
ไม่เกียจคร้านในกิจการเหล่านั้น ประกอบด้วยปัญญาพิจารณาสอบสวน อันเป็น
อุบาย (คือวิธีที่จะให้กิจการอันนั้นสำเร็จด้วยดี) สามารถที่จะทำเอง สามารถ
ที่จะจัดการ ในกิจการเหล่านั้น
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายบัญญัติบุคคลที่
ประกอบพร้อมด้วยธรรม 4 ประการเหล่านี้แลว่า เป็นมหาปราชญ์ มหาบุรุษ
ถ้าควรทรงอนุโมทนา ก็ขอจงทรงอนุโมทนา ถ้าควรทรงคัดค้าน ก็ขอจงทรง
คัดค้านเถิด.