เมนู

นาฬันทวรรคที่ 2



นาฬันทสูตร


พึงทราบอธิบายในนาฬันทสูตรที่ 2 แห่งทุติยวรรค.
คำว่าในนาฬันทา ได้แก่ในนครที่มีชื่ออย่างนี้ว่า นาฬันทา. ทรง
กระทำนครนั้นให้เป็นโคจรคาม.
คำว่า ปาวาริกอัมพวัน ได้แก่ ที่สวนมะม่วงของเศรษฐีชื่อว่า
ทุสสปาวาริกะ. นัยว่า ป่ามะม่วงนั้นได้เป็นอุทยานของเศรษฐีนั้น. ปาวา-
ริกเศรษฐีนั้น ฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเลื่อมใสในพระผู้มี
พระภาคเจ้าแล้ว สร้างวิหารถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ประกอบด้วยกุฏี ที่
หลีกเร้นและมณฑปเป็นต้นในอุทยานนั้น วิหารนั้นถึงการนับว่า ปาวาริ-
กัมพวัน เหมือนชีวกัมพวัน อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่
ในปาวาริกัมพวันนั้น.
บทว่า เลื่อมใสแล้วอย่างนี้ ความว่า มีความเชื่อถึงพร้อมแล้ว
อย่างนั้น อธิบายว่า เราเธออย่างนี้. บทว่า โดยยิ่งกว่า ๆ ความว่า ผู้มีชื่อ
เสียงอย่างยิ่ง อธิบายว่า หรือว่าผู้มีความรู้ยิ่งกว่าโดยความรู้.
บทว่า ในการตรัสรู้พร้อม ความว่า ในสัพพัญญุตญาณหรือใน
อรหัตมรรคญาณ. เพราะว่า พระพุทธคุณทั้งหลายทั้งหมดเป็นอันท่านถือ
เอาแล้วด้วยยอรหัตมรรคทีเดียว. ถึงแม้พระอัครสาวกทั้งสอง ก็ได้เฉพาะ
สาวกบารมีญาณด้วยยอรหัตมรรคเท่านั้น. พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อม
ได้โดยเฉพาะพระปัจเจกโพธิญาณ. พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมได้เฉพาะพระ

ัสัพพัญญุตญาณ และพระพุทธคุณทั้งสิ้น อรหัตมรรคญาณแม้ทั้งสิ้น ย่อม
สำเร็จแก่ท่านเหล่านั้น ด้วยอรหัตมรรคนั่นเอง เพราะฉะนั้น อรหัตมรรค
ญาณจึงชื่อว่าเป็นคุณเครื่องตรัสรู้พร้อม. เพราะเหตุนั้น จึงไม่มีผู้ที่ยิ่งกว่าพระ-
ผู้มีพระภาคเจ้า. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าสภาพที่ยิ่งกว่าคือ
คุณเป็นเครื่องตรัสรู้.
บทว่า อุฬาร คือประเสริฐ. ก็อุฬารศัพท์นี้ย่อมมาในอรรถว่า
อร่อย ในบทเป็นต้นว่า ย่อมเคี้ยวกินของที่ควรเคี้ยวอร่อย. ย่อมมาในอรรถ
ว่า ประเสริฐ ในบทเป็นต้นว่า ได้ยินว่า วัจฉายนะ พราหมณ์ผู้เจริญ
ย่อมสรรเสริญพระสมณโคดม โดยความประเสริฐ อย่างประเสริฐ. มาใน
อรรถว่า ไพบูลย์ ในบทเป็นต้นว่า และแสงสว่างอันโอฬารหาประมาณไม่
ได้. อุฬาร ศัพท์นี้นั้นมาแล้วในอรรถว่าประเสริฐในที่นี้. เพราะเหตุนั้น
ท่านจึงกล่าวว่า บทว่า อุฬาร ได้แก่ ประเสริฐ. บทว่า องอาจ ความ
ว่า ไม่หวั่นไหว คือไม่คลอนแคลน เหมือนเสียงโคอุสภะ.
บทว่า ถือเอาโดยส่วนเดียว ความว่า ไม่กล่าวโดยสืบ ๆ ต่อแห่ง
อาจารย์ตามที่ได้ยินมาบ้าง ตามที่ได้ยินมาอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง ด้วยการอ้างตำรา
บ้าง ด้วยอาการตรึกตามอาการบ้าง ด้วยทนต่อความเพ่งแห่งทิฏฐิบ้าง เพราะ
เหตุแห่งการคาดคะเนบ้าง เพราะเหตุเดาบ้าง ถือเอาโดยส่วนเดียว เหมือนแทง
ตลอดด้วยญาณโดยประจักษ์. อธิบายว่า การกล่าวด้วยการตกลงใจท่านกล่าว
ไว้แล้ว. บทว่า บันลืออย่างสีหะ ความว่า บันลืออย่างประเสริฐ อธิบายว่า
บันลือแล้วอย่างสูงสุด เหมือนกันสีหะ ไม่เล่น ไม่เหลวไหลเปล่งแล้ว.
บทว่า สารีบุตร ประโยชน์อะไรแก่ท่าน ความว่า ปรารภทำ
เทศนานี้ เพื่อให้การตามประกอบ เพราะว่า บุคคลบางพวกเปล่งสีหนาทแล้ว
ไม่อาจเพื่อจะให้การตามประกอบในการบันลือของตนได้ไม่อดทนต่อการเสียดสี

เป็นเหมือนลิงตกไปในยางเหนียว. ถ่านไฟย่อมเผาไหม้โลหะที่ไม่บริสุทธิ์ โดย
ธรรมดาฉันใด บุคคลก็เป็นเหมือนถ่านเพลิงไหม้อยู่ฉันนั้น. คนหนึ่งถูกเขา
ให้ตามประกอบในการบันลือดุจสีหะ ไม่อาจเพื่อจะให้ได้ทั้งอดทนต่อการเสียดสี
ผู้นี้ชื่อว่าย่อมงามยิ่งกว่า ดุจเงินที่ไม่มีสนิมตามธรรมดา. พระเถระก็เป็นเช่น
นั้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบพระเถระนั้นว่าผู้นี้เป็น
ผู้อดทนต่ออนุโยค ดังนี้แล้ว ทรงปรารภเทศนาน เพื่อให้ตามประกอบในการ
เปล่งสีหนาท.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เหล่านั้น ทุกพระองค์ ความว่า พระผู้มี
พระภาคเจ้าเหล่านั้นทั้งปวง อันท่าน (กำหนดรู้แล้ว).
บทว่า มีศีลอย่างนี้ ความว่า มีศีลอย่างนั้นด้วยมรรคศีล ผลศีล
โลกิยศีลและโลกุตรศีล. ธรรมที่เป็นฝักฝ่ายแห่งสมาธิท่านประสงค์เอาในบทนี้
ว่า ผู้มีธรรมอย่างนี้ อธิบายว่าผู้มีสมาธิอย่างนี้ ด้วยมรรคสมาธิ ผลสมาธิ
ที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ.
บทว่า ผู้มีปัญญาอย่างนี้ ความว่า และผู้มีปัญญาอย่างนี้ด้วยอำนาจ
มรรคปัญญาเป็นต้น. ก็ในบทนี้ว่า ผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ ดังนี้ หาก
มีคำถามว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ชื่อว่าท่านถือเอาแล้ว เพราะธรรมที่เป็นฝ่าย
สมาธิท่านถือเอาแล้วในหนหลัง เพราะเหตุไร จึงไม่ถือเอาธรรมเป็นเครื่อง
อยู่ที่ถือเอาแล้ว. ตอบว่า คำนี้พระเถระถือเอาแล้ว. ก็คำนี้ท่านกล่าวไว้
เพื่อแสดงนิโรธสมาบัติ. เพราะฉะนั้น พึงเห็นเนื้อความในบทนี้อย่างนี้ว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้น ได้ทรงเป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยนิโรธสมาบัติอย่างนี้.
ในบทว่า ผู้มีวิมุตติอย่างนี้ ได้แก่ วิมุตติ 5 คือ วิกขัมภน-
วิมุตติ ตทังควิมุตติ สมุจเฉทวิมุตติ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ นิสสรณ
วิมุตติ.

ในวิมุตติเหล่านั้น สมาบัติ 8 ถึงการนับว่า วิกขัมภนวิมุตติ
(พ้นได้ด้วยการข่ม) เพราะพ้นจากนิวรณ์เป็นต้น ที่ตนเองข่มได้แล้ว
อนุปัสสนา 7 มีการตามเห็นว่าไม่เที่ยงเป็นต้น ถึงการนับว่า
ตทังควิมุตติ (พ้นได้ด้วยองค์นั้น) เพราะพ้นจากความสำคัญว่าเที่ยงเป็นต้น
ที่ตนเองละสละได้ด้วยอำนาจเป็นข้าศึกต่อนิวรณ์เป็นต้นนั้น.
อริยมรรค 4 ถึงการนับว่า สมุจเฉทวิมุตติ (พ้นเด็ดขาด) เพราะ
พ้นจากกิเลสทั้งหลาย ที่ตนถอนขึ้นแล้ว.
สามัญญผล 4 ย่อมถึงการนับว่า ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ (พ้นได้ด้วย
การสงบระงับ) เพราะเกิดขึ้นในที่สุดแห่งการสงบระงับกิเลสทั้งหลาย ด้วย
อานุภาพมรรค.
นิพพาน ถึงการนับว่า นิสสรณวิมุตติ (พ้นได้ด้วยการสลัดออก)
เพราะสลัดจากกิเลสทั้งหลาย คือเพราะปราศจาก ได้แก่ตั้งอยู่ในที่ไกล. พึง
เห็นเนื้อความในคำนี้ว่า ชื่อว่าพ้นแล้วอย่างนี้ ด้วยอำนาจวิมุตติ 5 เหล่านี้
ด้วยประการฉะนี้.
บทว่า สารีบุตร ก็ประโยชน์ ก็ประโยชน์อะไรแก่ท่าน พระพุทธเจ้า
เหล่านั้นใด จักมีอยู่ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสถามว่า พระ-
พุทธเจ้าทั้งหลาย ล่วงไปแล้ว คือดับแล้ว โดยไม่เหลือ ได้แก่ถึงความเป็น
ผู้หาบัญญัติมิได้ ดับไปแล้วเหมือนเปลวประทีป ชื่อว่า ดับแล้วอย่างนั้น ท่าน
ถือเอาความเป็นผู้หาบัญญัติมิได้ จักรู้ได้อย่างไร ก็พระคุณของพระพุทธเจ้า
ที่ยังไม่ถึงทั้งหลาย เธอจะกำหนดรู้ด้วยใจของตนหรือ แล้วจึงตรัสอย่างนี้ว่า
สารีบุตร ก็เรามีประโยชน์อะไรแก่เธอในบัดนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อ
จะทรงถามว่า พระพุทธเจ้าแม้ที่ยังไม่มาแล้ว ยังไม่มีพระชาติ ยังไม่เกิด
ยังไม่อุบัติ เธอจักรู้พระพุทธเจ้าเหล่านั้นได้อย่างไร. ก็การที่จะรู้พระพุทธเจ้า

เหล่านั้น เป็นเหมือนการแลดูรอยเท้าในอากาศ ที่ไม่ปรากฏรอยเท้า บัดนี้
เธออยู่วิหารเดียวกับเรา เที่ยวไปเพื่อภิกษาด้วยกัน เวลาแสดงธรรมก็นั่ง
ข้างขวา ก็คุณทั้งหลายของเรา เธอกำหนดรู้ด้วยใจของตนหรือ แล้วจึง
ตรัสอย่างนั้น. พระเถระย่อมปฏิเสธปัญหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามแล้ว ๆ
ว่า เป็นอย่างนั้นหามิได้ พระพุทธเจ้าข้า. ก็สิ่งที่พระเถระรู้แล้วก็มี ไม่รู้
แล้วบ้างก็มี.
ถามว่า ท่านย่อมคัดค้านในที่ที่ตนรู้แล้ว หรือในที่ที่ตนไม่รู้แล้ว.
ตอบว่า ย่อมคัดค้านในที่ที่ตนไม่รู้แล้วเท่านั้น ได้ยินว่า เมื่อเริ่ม
คำถามแล้ว พระเถระได้รู้แล้วอย่างนั้นว่า นี่ไม่ใช่คำถาม คำถามต้องถามใน
สาวกบารมีญาณ จึงไม่ทำการคัดค้านด้วยสาวกบารมีญาณของตน ย่อมคัดค้าน
ในพระสัพพัญญุตญาณในฐานะที่ตนไม่เข้าใจ เพราะเหตุนั้น พระเถระจึง
แสดงคำแม้นี้ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ย่อมไม่มีสัพพัญญุตญาณ
ที่สามารถจะรู้เหตุแห่งศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้.
บทว่า นี้ ได้แก่ พระพุทธเจ้า ต่างด้วยพระพุทธเจ้าในอดีตเป็นต้น
เหล่านี้.
บทว่า ก็ทำไมเล่า ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามว่า ก็เมื่อ
ไม่มีความรู้อย่างนั้น ทำไมเธอจึงกล่าวอย่างนี้.
บทว่า คล้อยตามธรรม ได้แก่ การถือเอานัยแห่งญาณโดยอนุมาน
อัน พระเถระผู้ไปตามการประกอบแห่งญาณ อันเกิดขึ้นแล้วโดยประจักษ์
แก่ธรรม และดำรงอยู่ในสาวกบารมีญาณรู้แล้ว พระเถระกราบทูลว่า ข้าแต่
พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ย่อมรู้ด้วยเหตุนี้. เพราะว่า การถือเอาโดยนัย
ของพระเถระไม่มีประมาณ ไม่มีที่สุด สัพพัญญุตญาณย่อมไม่มีประมาณ หรือ

ที่สุดรอบฉันใด การถือเอาโดยนัยของพระธรรมเสนาบดี ก็ไม่มีประมาณ
หรือที่สุดรอบฉันนั้น เพราะเหตุนั้น พระเถระนั้น ย่อมรู้ว่า พระศาสดานั้น
ทรงเป็นอย่างนี้ ด้วยเหตุนี้ ๆ ทรงเป็นผู้ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่าด้วยเหตุนี้ ๆ เพราะว่า
การถือเอาโดยนัยของพระเถระ. คือคติแห่งพระสัพพัญญุตญาณนั่นเอง บัดนี้
พระเถระเมื่อจะแสดงอุปมา เพื่อทำให้การถือเอาโดยนัยนั้นปรากฏ จึงกล่าว
คำเป็นต้นว่า แม้ฉันใด พระเจ้าข้า.
เพราะในมัชฌิมประเทศนั้น ป้อมหรือกำแพงเป็นต้นของเมืองจะ
แข็งแรงหรือไม่แข็งแรงก็ตาม ไม่ต้องวิตกอะไรทั้งหมด. เรื่องโจรไม่ต้อง
ระแวง เพราะฉะนั้น พระเถระไม่ถือเอาเรื่องนั้นเป็นสำคัญจึงกล่าวว่า
เมืองชายแดนเป็นต้น.
บทว่า มีเชิงเทินมั่นคง ความว่า มีเชิงกำแพงมั่นคง.
บทว่า มีกำแพงและเสาระเนียดหนาแน่น ความว่า มีกำแพง
หนาแน่น และมีประตูหน้าต่างมั่นคง. ถามว่า เพราะเหตุไร พระเถระจึง
กล่าวว่า มีประตูเดียว. ตอบว่า เพราะว่าในเมืองที่มีประตูมาก จะต้องมีคน
เฝ้าประตูที่ฉลาดหลายคน ส่วนในเมืองที่มีประตูเดียวใช้คนเดียวก็พอ ไม่มีผู้อื่น
เสมอด้วยปัญญาของพระเถระ เพราะฉะนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า มีประตูเดียว
เพื่อจะแสดงคนเฝ้าประตูคนเดียวเท่านั้น เพื่อจะเปรียบความที่คนเป็นผู้ฉลาด.
บทว่า ปณฺฑิโต เป็นผู้ฉลาด คือประกอบด้วยความเป็นผู้ฉลาด.
บทว่า พฺยตฺโต ผู้สามารถ คือประกอบความเป็นผู้สามารถ ได้แก่
เป็นผู้มีความรู้คล่องแคล่ว.
บทว่า เมธาวี มีปัญญา คือประกอบด้วยเมธา กล่าวคือปัญญา ํพิจารณาการเกิดขึ้นแห่งสถานการณ์. บทว่า ทางรอบพระนคร ได้แก่
ทางรอบกำแพง ชื่อว่า สำหรับเดินตรวจ.

บทว่า ที่ต่อกำแพง ได้แก่ ที่ที่อิฐสองก้อนเชื่อมติดกัน. บทว่า
ช่องกำแพง ได้แก่ ที่ทำเป็นช่องกำแพง.
บทว่า เครื่องเศร้าหมองแห่งใจ ได้แก่ นิวรณ์ 5 ทำจิตให้
เศร้าหมอง คือทำความเศร้าหมอง ได้แก่ให้เข้าไปเร่าร้อน เบียดเบียนอยู่
เพราะฉะนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า เครื่องเศร้าหมองแห่งใจ. บทว่า ทอน-
กำลังปัญญา ความว่า นิวรณ์ทั้งหลาย เมื่อเกิดขึ้น ย่อมไม่ให้ปัญญาที่ยัง
ไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น พระเถระจึงเรียกว่า บั่นทอนกำลังปัญญา.
บทว่า ผู้มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ความว่า เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วใน
สติปัฏฐาน 4.
บทว่า ในโพชฌงค์ 7 ตามความเป็นจริง ได้แก่ เจริญแล้ว
ตามภาวะของตน.
ด้วยบทว่า อนุตตรสัมมาสัมโพธิ พระเถระแสดงว่า แทงตลอด
ความเป็นพระอรหันต์ และสัพพัญญุตญาณ.
ก็อีกอย่างหนึ่ง คำว่า สติปัฏฐาน นี้คือ วิปัสสนาโพชฌงค์
มรรคก็คือพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แสะความเป็นพระอรหันต์ อีก
อย่างหนึ่ง คำว่า สติปัฏฐาน ก็คือวิปัสสนาเจือด้วยโพชฌงค์ ได้แก่ความ
เป็นพระอรหันต์ คือ สัมมาสัมโพธิญาณมั่นคง. ส่วนพระทีฆภาณกมหา-
สิวเถระ
กล่าวแล้วว่า เมื่อถือเอาวิปัสสนาในสติปัฏฐานแล้ว ถือเอาโพชฌงค์
ว่า เป็นมรรคและเป็นสัพพัญญุตญาณ ก็จะพึงเป็นปัญหาที่สวย แต่ว่า อย่าไป
ถือเอาอย่างนั้น. พระเถระเมื่อจะแสดงความไม่มีความแตกต่างกัน เหมือน
ทองและเงินแตกแล้วในท่ามกลาง ในการละนิวรณ์ ในการเจริญสติปัฏฐาน
และใจการตรัสรู้เอง ของพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้
หยุดแค่นี้ก่อน ควรเปรียบเทียบข้ออุปมา ก็ท่านพระสารีบุตรแสดงถึงเมือง

ชายแดน กำแพง ทางรอบพระนคร คนเฝ้าประตูที่ฉลาด เหล่าสัตว์ที่คับคั่ง
เข้าออกเมือง. แสดงสัตว์เหล่านั้นปรากฏแก่คนเฝ้าประตู. ในคำนั้นหากมีคำ
ถามว่า อะไรเหมือนอะไร. ตอบว่า เพราะว่า พระนิพพานเหมือนนคร ศีล
เหมือนกำแพง ความละอายแก่ใจเหมือนทางรอบพระนคร อริยมรรค
เหมือนประตู พระธรรมเสนาบดีเหมือนคนเฝ้าประตูที่ฉลาด พระพุทธเจ้า
ทั้งหลาย ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เหมือนเหล่าสัตว์จำนวนมาก
เข้าออกพระนคร ข้อที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และ
ปัจจุบันปรากฏโดยความมีศีลเสมอกันเป็นต้น แก่ท่านพระสารีบุตร เหมือน
ข้อที่สัตว์เหล่านั้นปรากฏแก่คนเฝ้าประตู. พระเถระได้กราบทูลอย่างนี้ แด่
พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าพระองค์ดำรงอยู่ในสาวกบารมีญาณ ย่อมรู้การถือ
เอาโดยนัยที่คล้อยตามธรรม ดังนี้ การตามประกอบสีหนาทของตน ก็เป็น
อันพระเถระถวายแล้ว .
บทว่า เพราะฉะนั้น ความว่า เพราะพระเถระกราบทูลว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมไม่มีญาณเครื่องกำหนดรู้พระทัยในพระ-
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบันแล ก็
แต่ว่า การคล้อยตามธรรมข้าพระองค์รู้แล้ว ฉะนั้น.
บทว่า พึงกล่าวเนือง ๆ ความว่า เธอพึงกล่าวบ่อย ๆ.
บทว่า เรากล่าวแล้วในเวลาเช้า ความว่า ไม่กล่าวในเวลาเย็น
และเวลาเที่ยงเป็นต้น อธิบายว่า ไม่กล่าวแล้วในวันอื่นเป็นต้นว่า เรากล่าวแล้ว
ในวันนี้.
บทว่า จักละความสงสัยนั้น ความว่า นี้ชื่อว่า พระสาวกที่ถึง
พร้อมด้วยความแล่นไปแห่งความรู้ แม้เช่นกับพระสารีบุตร ก็ไม่อาจจะรู้การ
เที่ยวไปแห่งจิตของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.

บทว่า พระตถาคตเจ้าอันใครพึงเปรียบไม่ได้อย่างนี้ ความว่า
ความเคลือบแคลง สงสัยในพระตถาคตเจ้า เขาจักละได้.
จบอรรถกถานาฬันทสูตรที่ 2

3. จุนทสูตร



ว่าด้วยการปรินิพพานของพระสารีบุตร


[733] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหาร
เชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้กรุงสาวัตถี. ก็ในสมัยนั้น ท่าน
พระสารีบุตรอยู่ ณ บ้านนาลกคาม ในแคว้นมคธ อาพาธ เป็นไข้หนัก
ได้รับทุกขเวทนา. สามเณรจุนทะเป็นอุปัฏฐากของท่าน. ครั้งนั้น ท่านพระ-
สารีบุตรปรินิพพานด้วยอาพาธนั่นแหละ.
[734] ครั้งนั้น สามเณรจุนทะถือเอาบาตรและจีวรของท่านพระ-
สารีบุตร เข้าไปหาพระอานนท์ยังพระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณ-
ฑิกเศรษฐี ใกล้กรุงสาวัตถี นมัสการท่านพระอานนท์แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควร
ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ
ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว นี้บาตรและจีวรของท่าน. ท่านพระอานนท์
กล่าวว่า ดูก่อนอาวุโสจุนทะ นี้เป็นมูลเรื่องที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า มีอยู่
มาไปกันเถิด เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลเนื้อความนั้น
แด่พระองค์. สามเณรจุนทะรับคำของท่านพระอานนท์แล้ว.