เมนู

9. คิลานสูตร



ว่าด้วยมีตนเป็นเกาะ


[708] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เวฬุวคาม ใกล้กรุง
เวสาลี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า
มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเข้าจำพรรษาในกรุงเวลีโดยรอบ
ตามมิตร ตามสหาย ตามพวก ( ของตน ๆ) เถิด เราจะเข้าจำพรรษา ณ
เวฬุวคามนี้แล. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
เข้าจำพรรษาในกรุงเวสาลีโดยรอบ ตามมิตร ตามสหาย ตามพวก (ของตนๆ).
[709] ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้าจำพรรษา ณ เวฬุวคาม
นั้นแหละ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้าจำพรรษาแล้ว อาพาธกล้าบังเกิดขึ้น
เวทนาอย่างหนักใกล้มรณะเป็นไปอยู่. ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงดำรงพระสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้น ไม่ทรงพรั่นพรึง. ครั้งนั้น พระองค์
ทรงดำริว่า การที่เรายังไม่บอกภิกษุผู้อุปัฏฐาก ยังไม่อำลาภิกษุสงฆ์ แล้ว
ปรินิพพานเสียนั้น หาสมควรแก่เราไม่ ไฉนหนอ เราพึงขับไล่อาพาธนี้เสีย
ด้วยความเพียร แล้วดำรงชีวิตสังขารอยู่. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง
ขับไล่พระประชวรนั้นด้วยความเพียร แล้วทรงดำรงชีวิตสังขารอยู่. ครั้งนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหายจากพระประชวรแล้ว ทรงหายจากความเจ็บป่วย
ไม่นาน ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ใต้ร่มเงาแห่งวิหาร.
[710] ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึง
ที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอดทน ข้าพระองค์เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยัง
อัตภาพให้เป็นไป กายของข้าพระองค์ประหนึ่งจะงอมระงมไป แม้ทิศทั้งหลาย
ก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์ แม้ธรรมทั้งหลายก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์
เพราะความประชวรของพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ข้าพระองค์มาเบาใจอยู่หน่อย
หนึ่งว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่ทรงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสพระพุทธพจน์
อันใดอันหนึ่ง จักยังไม่เสด็จปรินิพพานก่อน. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
ดูก่อนอานนท์ ก็บัดนี้ภิกษุสงฆ์จะยังมาหวังอะไรในเราเล่า. ธรรมอันเรา
แสดงแล้ว กระทำไม่ให้มีในภายใน ไม่ให้มีในภายนอก. กำมืออาจารย์ในธรรม
ทั้งหลาย มิได้มีแก่ตถาคต. ผู้ใดพึงมีความดำริฉะนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์
หรือว่าภิกษุสงฆ์ยังมีตัวเราเป็นที่เชิดชู ผู้นั้นจะพึงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้ว
กล่าวคำอันใดอันหนึ่งแน่นอน. ดูก่อนอานนท์ ตถาคตมิได้มีความดำริอย่าง
นี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์มีตัวเราเป็นที่เชิดชู ดังนี้.
ตถาคตจักปรารภภิกษุสงฆ์แล้วกล่าวคำอันใดอัน หนึ่งทำไมอีกเล่า. บัดนี้เราก็
แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว วัยของเราเป็นมาถึง 80 ปีแล้ว.
เกวียนเก่ายังจะใช้ไปได้ก็เพราะการซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ ฉันใด กายของ
ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ยังเป็นไปได้ก็คล้ายกับเกวียนเก่าที่ซ่อมแซมแล้ว
ด้วยไม้ไผ่ ฉะนั้น.
[711] ดูก่อนอานนท์ สมัยใด ตถาคตเข้าเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต
เพราะไม่กระทำไว้ในใจซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่าแล้วอยู่
สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมผาสุก เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงมีตน
เป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ จงมีธรรมเป็นเกาะ มี
ธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด.

[712] ดูก่อนอานนท์ ก็ภิกษุเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง
ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็น
ที่พึ่งอยู่. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร
มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย. ย่อมพิจารณา
เห็นเวทนาในเวทนาอยู่. . . ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่. . . ย่อมพิจารณา
เห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา
และโทมนัสในโลกเสีย. ดูก่อนอานนท์ ภิกษุเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็น
ที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่น
เป็นที่พึ่งอยู่ อย่างนั้นแล.
[713] ดูก่อนอานนท์ ก็ผู้ใดผู้หนึ่งในบัดนี้ก็ดี ในเวลาที่เราล่วง
ไปแล้วก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ
มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุเหล่าใดเป็น
ผู้ใคร่ต่อการศึกษา ภิกษุเหล่านั้นจักเป็นผู้เลิศ.
จบคิลานสูตรที่ 9

อรรถกถาคิลานสูตร



พึงทราบวินิจฉัยในคิลานสูตรที่ 9.
บทว่า เวลุวคามเก ความว่า มีปารคามอยู่แห่งหนึ่ง มีชื่ออย่างนี้
ใกล้กรุงเวสาลี. ณ ปารคามนั้น. ในบทว่า ยถามิตฺตํ เป็นต้น ได้แก่
มิตรทั้งหลาย. บทว่า สนฺทิฏฺฐํ ความว่า เพื่อนแรกพบร่วมกันในที่นั้น ๆ
จัดเป็นมิตรที่ไม่มั่นคงนัก. บทว่า สมฺภตฺตํ ความว่า เพื่อนคบกันดี
มีความเยื่อใย จัดเป็นมิตรมั่นคง. อธิบายว่า พวกเธอทั้งหลายจงเข้าจำพรรษา
ในที่มีภิกษุทั้งหลายเห็นปานนั้นอยู่เถิด. ถามว่า ตรัสอย่างนั้น เพราะเหตุไร
ตอบว่า เพื่อยู่ผาสุกของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น.
ได้ยินว่า ในเวฬุวคาม เสนาสนะไม่พอสำหรับภิกษุเหล่านั้น ทั้ง
ภิกษาก็น้อย แต่โดยรอบกรุงเวสาลี มีเสนาสนะมาก ทั้งภิกษาก็หาได้ง่าย
เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสอย่างนี้.
ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร พระองค์จึงไม่ทรงปล่อย
ไปว่า เธอทั้งหลาย จงไปตามสบายเถิด. ตอบว่า เพื่อนุเคราะห์ภิกษุทั้งหลาย
เหล่านั้น. ได้ยินว่า พระองค์ได้มีพระดำริอย่างนี้ว่า เราดำรงอยู่เพียงกึ่งเดือน
จักปรินิพพาน. ถ้าภิกษุทั้งหลาย จักไปไกลเรา เธอทั้งหลายจักไม่อาจเห็นเรา
ในเวลาปรินิพพาน. ครั้งนั้น พวกเธอพึงมีความเดือดร้อนว่า เมื่อพระศาสดา
ปรินิพพานไม่ได้ประทานแม้เพียงสติแก่เราทั้งหลาย ถ้าเราทั้งหลายพึงรู้ ก็
ไม่พึงอยู่ไกลอย่างนี้. แต่เมื่อเธอทั้งหลายอยู่รอบกรุงเวสาลี จักมาฟังธรรม
เดือนละ 8 ครั้ง ก็ได้โอวาทของสุคต ดังนี้ จึงไม่ทรงปล่อย.