เมนู

เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ
ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและ
อุปายาสต่อไปจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการ
อย่างนี้.
จบทุติยเจตนาสูตรที่ 9

อรรถกถาทุติยเจตนาสูตรที่ 9



ในทุติยเจตนาสูตรที่ 9 มีอธิบายว่า ระหว่างวิญญาณกับนามรูป
เป็นสนธิอันหนึ่ง ระหว่างเวทนากับตัณหาเป็นสนธิอันหนึ่ง ระหว่างภพ
กับชาติเป็นสนธิอันหนึ่ง ฉะนี้แล.
จบอรรถกถาทุติยเจตนาสูตรที่ 9

10. ตติยเจตนาสูตร



ว่าด้วยความเกิดและดับกองทุกข์



[149] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัส
ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมจงใจ ย่อมดำริ และย่อมครุ่นคิดถึง
สิ่งใด สิ่งนั้นย่อมเป็นอารัมมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อมี
อารัมมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว
เจริญขึ้นแล้ว ตัณหาจึงมี เมื่อมีตัณหา คติในการเวียนมาจึงมี เมื่อมีคติ
ในการเวียนมา จุติและอุปบัติจึงมี เมื่อมีจุติและอุปบัติ ชาติชราและมรณะ

โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงมี ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวล
นี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่จงใจ ไม่ดำริ
แต่ยังครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมเป็นอารัมมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่ง
วิญญาณ เมื่อมีอารัมมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณ
นั้นตั้งมั่นแล้ว เจริญขึ้นแล้ว ตัณหาจึงมี เมื่อมีตัณหา คติในการเวียน
มาจึงมี เมื่อมีคติในการเวียนมา จุติและอุปบัติจึงมี เมื่อมีจุติและอุปบัติ
ชาติชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงมี ความเกิดขึ้น
แห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้.
[150] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่จงใจ ไม่ดำริ และ
ไม่ครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมไม่เป็นอารัมมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่ง
วิญญาณ เมื่อไม่มีอารัมมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงไม่มี เมื่อ
วิญญาณนั้นไม่ตั้งมั่นแล้ว ไม่เจริญขึ้นแล้ว ตัณหาจึงไม่มี เมื่อไม่มีตัณหา
คติในการเวียนมาจึงไม่มี เมื่อไม่มีคติในการเวียนมา จุติและอุปบัติจึง
ไม่มี เมื่อไม่มีจุติและอุปบัติ ชาติ ชราและมรณะ โสกปริเทวทุกข-
โทมนัสและอุปายาสต่อไปจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมี
ด้วยประการอย่างนี้.
จบตติยเจตนาสูตรที่ 10
กฬารขัตติยวรรคที่ 4 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ


1. ภูตมิทสูตร 2. กฬารขัตติยสูตร 3. ปฐมญาณวัตถุสูตร
4. ทุติยญาณวัตถุสูตร 5. ปฐมอวิชชาปัจจยสูตร 6. ทุติยอวิชชา-
ปัจจยสูตร 7. นตุมหากังสูตร 8. ปฐมเจตนาสูตร 9. ทุติยเจตนา-
สูตร 10. ตติยเจตนาสูตร.

อรรถกถาตติยเจตนาสูตรที่ 10



พึงทราบวินิจฉัยในตติยเจตนาสูตรที่ 10 ต่อไป.
บทว่า นติ แปลว่า ตัณหา. ก็ตัณหานั้น เรียกว่า นติ เพราะอรรถว่า
น้อมไปในอารมณ์มีรูปเป็นต้น อันเป็นปิยรูป รูปที่น่ารัก. ข้อว่า อาคติคติ
โหติ
แปลว่า คติในการเวียนมาจึงมี. เมื่อกรรม กรรมนิมิต หรือคตินิมิต
มาปรากฏ คติแห่งวิญญาณย่อมมีด้วยอำนาจปฏิสนธิ. บทว่า "จุตูปปาโต
จุติและอุปบัติจึงมี" หมายความว่า เมื่อคติอันเป็นอารมณ์แห่งปฏิสนธิมา
ปรากฏแก่วิญญาณ มีอยู่ จุติ กล่าวคือการเคลื่อนจากภพนี้จึงมี. อุปบัติ
กล่าวคือการบังเกิดขึ้นในภพนั้นจึงมี. ชื่อว่าจุติและอุปบัติ (การตายและ
การเกิด) นี้จึงมี. ระหว่างตัณหากับคติในการเวียนมา จึงเป็นอัน
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นสนธิอันหนึ่งในพระสูตรนี้ ด้วยประการ
ฉะนี้แล.
จบตติยเจตนาสูตรที่ 10

จบอรรถกถากฬารขัตติยวรรคที่ 4