เมนู

อรรถกถาอุบลวรรณาสูตร



ในอุบลวรรณาสูตรที่ 5 มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า สุสุปฺผิตคฺคํ ความว่า ต้นสาละดอกบานสะพรั่งตั้งแต่ยอด.
ด้วยคำว่า น จตฺถิ เต ทุติยา วณฺณธาตุ มารกล่าวว่าวรรณธาตุที่ 2 อัน
เสมือนกับวรรณธาตุของท่าน ย่อมไม่มี คือไม่มีภิกษุณีอื่นเสมือนกับท่าน. บทว่า
อิธาคตา ตามิสิกา ภเวยฺยุํ ความว่า ท่านมาในที่นี้ย่อมไม่ได้ความ
สนิทสนมหรือความรักอะไร ฉันใด แม้ชนเหล่านั้นก็เป็นเสมือนท่านฉันนั้น
เหมือนกัน. บทว่า ปขุมนฺตริกายํ ความว่า แม้เราจะยืนอยู่บนดั้งจมูก
ระหว่างนัยน์ตาทั้งสอง ท่านก็ไม่เห็น. บทว่า วสีภูตมฺหิ แปลว่า ย่อมเป็น
ผู้ชำนาญ.
จบอรรถกถาอุบลวรรณสูตรที่ 5

6. จาลาสูตร



ว่าด้วยมารรบกวนจาลาภิกษุณี



[537] สาวัตถีนิทาน.
ครั้งนั้น เวลาเช้า. จาลาภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในกรุงสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัต
กลับจากบิณฑบาตแล้วเข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักกลางวัน ครั้นถึงป่าอันธวัน
แล้วจึงนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง.
[538] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้จาลาภิกษุณีบังเกิดความกลัว
ความหวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไป
หาจาลาภิกษุณีถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้วได้กล่าวกะจาลาภิกษุณีว่า ดูก่อนภิกษุณี
ท่านไม่ชอบใจอะไรหนอ.
จาลาภิกษุณีตอบว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ เราไม่ชอบความเกิดเลย.
[539] มารผู้มีบาปกล่าวว่า
เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงไม่ชอบ
ความเกิด ผู้เกิดมาแล้วย่อมบริโภคกาม
ใครหนอให้ท่านยึดถือเรื่องนี้ อย่าเลย
ภิกษุณี ท่านจงชอบความเกิด.

[540] จาลาภิกษุณีกล่าวว่า
ผู้เกิดมาก็ต้องตาย ผู้ที่เกิดมาย่อมพบ
เห็นทุกข์ คือ การจองจำ การฆ่า ความ
เศร้าหมอง เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ชอบ
ความเกิด.