เมนู

5. มานสสูตร



ว่าด้วยบ่วงใจ



[458] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ อยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม
ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี.
[459] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปได้เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่
ประทับ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า
บ่วงใดมีใจไปได้ในอากาศ กำลัง
เที่ยวไป ข้าพระองค์จักคล้องพระองค์ไว้
ด้วยบ่วงนั้น สมณะ ท่านไม่พ้นเรา.

[960] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
เราหมดความพอใจในรูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นของรื่นรมย์
ใจแล้ว แน่ะมาร เรากำจัดท่านได้แล้ว.

ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง
รู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง.

อรรถกถามานสสูตร



พึงทราบวินิจฉัยในมานสสูตรที่ 5 ต่อไป :-
บ่วงชื่อว่า จรไปในอากาศ เพราะผูกแม้แต่ผู้จรไปในอากาศ. บทว่า
ปาโส ได้แก่ บ่วงคือ ราคะ. บทว่า มานโส ได้แก่ ประกอบกับใจ.
อรรถกถามานสสูตรที 5

6. ปัตตสูตร



ว่าด้วยบาตร



[461] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม
ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี.
ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้
สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาเกี่ยวด้วยอุปาทานขันธ์ 5 ก็
ภิกษุเหล่านั้นทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึกมาด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสต
ลงสดับธรรมอยู่.
ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปได้มีความคิดว่า พระสมณโคดมนี้แล ยังภิกษุ
ทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาเกี่ยว
ด้วยอุปาทานขันธ์ 5 ก็ภิกษุเหล่านั้นทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึกมา
ด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสตลงสดับธรรมอยู่ ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหาพระ
สมณโคดมถึงที่ประทับ เพื่อประสงค์จะยังปัญญาจักษุให้พินาศ.
ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นได้วางบาตรเป็นอันมากไว้ในที่กลางแจ้ง.
[462] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปแปลงเพศเป็นโคเดินไปยังที่บาตร
เหล่านั้นวางอยู่.
ลำดับนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจึงบอกกะภิกษุอีกรูปหนึ่งว่า ภิกษุ ๆ โคนั้น
พึงทำบาตรทั้งหลายให้แตก.
เมื่อภิกษุนั้นพูดอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะภิกษุนั้นว่า
ภิกษุ นั่นมิใช่โค นั่นเป็นมารผู้มีบาป มาเพื่อประสงค์จะยังปัญญาจักษุของ
พวกเธอให้พินาศ.