เมนู

พราหมณสังยุต



อุปาสกวรรคที่ 2



1. กสิสูตร



ว่าด้วยการทำนาทางธรรม



[671] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับ อยู่ ณ พราหมณคามชื่อว่า
เอกนาลา ในทักขิณาคีรีชนบท แคว้นมคธ ก็ในสมัยนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์
เทียมไถมีจำนวน 500 ในกาล (ฤดู) หว่านข้าว.
[672] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตร
และจีวร เสด็จเข้าไปยังที่ทำการงานของกสิภารทวาชพราหมณ์ในเวลาเช้า.
สมัยนั้นแล กสิภารทวาชพราหมณ์กำลังเลี้ยงอาหาร (มื้อเช้า).
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปยังที่เลี้ยงอาหาร (ของเขา)
ครั้นแล้วประทับยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
กสิภารทวาชพราหมณ์ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนบิณฑบาต
อยู่ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระสมณะ ข้าพเจ้าไถ
และหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว ย่อมบริโภค ข้าแต่พระสมณะ แม้พระองค์
ก็จงไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว จงบริโภคเถิด.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนพราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน
ครั้นไถและหว่านแล้วก็บริโภค.

กสิภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า ก็ข้าพเจ้าไม่เห็นแอก ไถ ผาล
ประตักหรือโคทั้งหลายของท่านพระโคดมเลย เมื่อเช่นนี้ท่านพระโคดมยังกล่าว
อย่างนี้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้วก็
บริโภค.
[673] ครั้งนั้นแล กสิภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าด้วยคาถาว่า
พระองค์ปฏิญาณว่าเป็นชาวนา แต่
ข้าพเจ้าไม่เห็นการไถของพระองค์ พระ-
องค์ผู้เป็นชาวนา ข้าพเจ้าถามแล้วขอจง
ตรัสบอก ไฉน ข้าพเจ้าจะรู้การทำนาของ
พระองค์นั้นได้.

[674] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
ศรัทธาเป็นพืช ความเพียรเป็นฝน
ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ หิริเป็น
งอนไถ ใจเป็นเชือก สติของเราเป็นผาล
และประตัก เรามีกายคุ้มครองแล้ว มี
วาจาคุ้มครองแล้ว เป็นผู้สำรวมแล้วใน
การบริโภคอาหาร เราทำการดายหญ้า
(คือวาจาสับปรับ) ด้วยคำสัตย์ โสรัจจะ
ของเราเป็นเครื่องให้แล้วเสร็จงาน ความ
เพียรของเราเป็นเครื่องนำธุระไปให้
สมหวัง นำไปถึงความเกษมจากโยคะ

ไปไม่ถอยหลัง ยังที่ซึ่งบุคคลไปแล้วไม่
เศร้าโศก.
เราทำนาอย่างนี้ นาที่เราทำนั้นย่อม
มีผลเป็นอมตะ บุคคลทำนาอย่างนี้แล้ว
ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้.

กสิภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า ท่านพระโคดมผู้เป็นชาวนา ขอจง
บริโภคอมฤตผลที่ท่านพระโคดมไถนั้นเถิด.
[675] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
เราไม่พึงบริโภคโภชนะ ซึ่งได้
เพราะความขับกล่อม ดูก่อนพราหมณ์
นี่เป็นธรรมของบุคคลผู้เห็นอรรถและ
ธรรมอยู่ ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ย่อมรังเกียจ
โภชนะที่ได้เพราะการขับกล่อม ดูก่อน
พราหมณ์ เมื่อธรรมมีอยู่ ความเป็นไป
(อาชีวะ) นี้ก็ยังมีอยู่ แต่ท่านจงบำรุง
ซึ่งพระขีณาสพทั้งสิ้น ผู้แสวงหาคุณใหญ่
มีความคะนองระงับแล้ว ด้วยข้าวน้ำอัน
อื่น ด้วยว่าการบำรุงนั้นเป็นนาบุญของผู้
มุ่งบุญ.

[676] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเช่นนี้แล้ว กสิภารทวาชพราหมณ์
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง
นัก ข้าแต่พระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศ-

ธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คน
หลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักมองเห็นได้ ข้าแต่
พระโคดม ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์
ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึง
พระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

อุปาสกวรรคที่ 2



อรรถกถาสิสูตร



ในกสิสูตรที่ 1 มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า มคเธสุ ได้แก่ ในชนบทมีชื่ออย่างนั้น. บทว่า ทกฺขิณา
คิริสฺมึ
นั้นแล เป็นชื่อแม้แห่งวิหารในชนบทที่มีอยู่ด้านทิศใต้ แห่งภูเขา
ที่ตั้งล้อมกรุงราชคฤห์อยู่. บทว่า เอกนาลา ในคำว่า เอกนาลายํ
พฺราหฺมณคาเม
นี้เป็นชื่อของบ้านนั้น. ส่วนพวกพราหมณ์อาศัยอยู่ในบ้าน
นั้นเป็นอันมาก มีความร่าเริง ด้วยการปกครองของพราหมณ์ เพราะฉะนั้น
ท่านจึงเรียกว่า พราหมณคาม.
บทว่า เตนโข ปน สมเยน ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอาศัย
พราหมณคาม ชื่อว่า เอกนาล ในมคธรัฐ ทรงรอคอยความแก่กล้าแห่งอินทรีย์
ของพราหมณ์ ในทักขิณาคิรีวิหาร ตลอดสมัยใด โดยสมัยนั้น. บทว่า
กสิภารทฺวาชสฺส ความว่า พราหมณ์นั้นอาศัยกสิกรรมเลี้ยงชีพ และโคตร