เมนู

อรรถกถาอสุรินทกสูตร



ในอสุรินทกสูตรที่ 3 มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อสุรินฺทกภารทฺวาโช ได้แก่ น้องชายของอักโกสกภาร-
ทวาชพราหมณ์. บทว่า กุปิโต ความว่า เป็นผู้โกรธ เพราะเหตุนั้นนั่นแล.
บทว่า ชยญฺเจวสฺส ตํ โหติ ความว่า นั้นเป็นชัยชนะของผู้นั้นนั่นเอง.
อธิบายว่า นั้นเป็นชัยชนะ. ถามว่า เป็นชัยชนะของบุคคลเช่นไร. ตอบว่า
ความอดกลั้นอันใดของผู้รู้แจ้ง ความอดกลั้น คือ ความอดทนของผู้รู้แจ้ง
คุณด้วยความอดกลั้นอันนั้น นี้เป็นชัยชนะของผู้รู้แจ้งนั้นนั่นแล. ส่วนชนพาล
กล่าวคำหยาบ ย่อมสำคัญชัยชนะอย่างเดียวว่า เป็นชัยชนะของเรา.
จบอรรถกถาอสุรินทกสูตรที่ 3

4. พิลังคิกสูตร



ว่าด้วยบาปกลับสนองผู้ประทุษร้าย



[638] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน
อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต กรุงราชคฤห์.
พิลังคิกภารทวาชพราหมณ์ได้สดับมาว่า ได้ยินว่า พราหมณภาร-
ทวาชโคตร ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในสำนักของพระสมณโคดม ดังนี้
โกรธ ขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ยืนนิ่งอยู่
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

[639] ลำดับนั้นแล. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความปริวิตก
แห่งใจของพิลังคิกภารทวาชพราหมณ์ด้วยพระหฤทัยแล้ว ได้ตรัสกะพิลังคิก
ภารทวาชพราหมณ์ด้วยพระคาถาว่า
ผู้ใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษ-
ร้ายซึ่งเป็นบุรุษผู้หมดจด ไม่มีกิเลสเป็น
เครื่องยั่วยวน บาปย่อมกลับสนองผู้นั้น
เป็นพาลนั่นเอง เปรียบเหมือนธุลีอัน
ละเอียด ที่บุคคลซัดไปสู่ที่ทวนลม ฉะนั้น

[640] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว พิลังคิกภารทวาช-
พราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิต
ของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง
นัก พระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศพระธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบ
เหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่อง
ประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า คนมีจักษุย่อมเห็นรูปได้ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึง
พระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอข้าพระองค์
พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระโคดมผู้เจริญ.
พิลังคิกภารทวาชพราหมณ์ ได้บรรพชา ได้อุปสมบทแล้วในสำนัก
ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ท่านพิลังคิกภารทวาชะอุปสมบทแล้วไม่นานแล
หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร จิตมั่นคงอยู่ ไม่นานเท่าไรนัก
ก็กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ซึ่งกุลบุตร
ทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ มีความต้องการด้วยปัญญา
เป็นเครื่องรู้ยิ่งเองในปัจจุบันนี้ เข้าถึงอยู่ ได้ทราบว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์

อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
ก็แหละท่านภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์
ทั้งหลาย ดังนี้แล.

อรรถกถาพิลังคิกสูตร



ในพิลังคิกสูตรที่ 4 มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า พิลงฺคิกภารทฺวาโช ได้แก่ พราหมณ์นั้น ชื่อว่า ภารทวาชะ.
แต่เขาให้การทำน้ำข้าวล้วน ๆ และปรุงด้วยเครื่องปรุง มีประการต่าง ๆ ไว้ขาย
รวบรวมทรัพย์ไว้เป็นอันมาก เพราะฉะนั้น พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย จึง
ตั้งชื่อเขาว่า พิลังคิกภารทวาชะ. บทว่า ตุณฺหีภูโต ความว่า เขาคิดว่า
ผู้นี้ให้พี่ชายทั้ง 3 ของเราบวช ก็โกรธอย่างยิ่ง เมื่อไม่อาจพูดอะไรได้ จึงได้
หยุดนิ่งเสีย ท่านกล่าวคาถาไว้แล้ว ในเทวตาสังยุตแล.
จบอรรถกถาพิลังคิกสูตรที่ 4