เมนู

เรื่องพระมหามิตตเถระ


ได้ทราบว่า พระเถระ อาศัยอยู่ในที่ชื่อว่า กัสสกเลณะ และ
มหาอุบาสิกาคนหนึ่ง ในโคจรคาม ของพระเถระนั้น ได้ปฏิบัติพระเถระ
อย่างลูกชาย. วันหนึ่ง นางเมื่อจะเข้าป่าได้บอกลูกสาวว่า แม่หนู ข้าวเก่า
อยู่ในที่โน้น น้ำนมอยู่ที่โน้น เนยใสอยู่ที่โน้น น้ำอ้อยอยู่ที่โน้น ใน
เวลาที่คุณมิตร พี่ชายของเจ้ามา เจ้าจงหุงข้าวถวายพร้อมกับ นม
เนยใส และน้ำอ้อย เจ้าก็ควรกินด้วย ส่วนแม่ เมื่อวานกินข้าวตังกับ
น้ำผักดอง.
ลูกสาวถามว่า กลางวันแม่จะกินอะไรเล่าแม่ ?
เจ้าจงเอาข้าวป่น (ปลายข้าว) ต้มให้เป็นข้าวยาคูเปรี้ยว เติมผักดอง
ลงไป ตั้งไว้เถิดลูก แม่บอก.
พระเถระห่มจีวร แล้วนำบาตรออก ได้ยินเสียงนั้นแล้วกล่าวสอน
ตนว่า ได้ยินว่า มหาอุบาสิกาบริโภคข้าวดังกับน้ำผักดอง แม้ตอน
กลางวัน จักต้องบริโภคข้าวยาคูเติมน้ำผักดองอีก. แม่บอก (ให้หุง)
ข้าวเก่าเป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่เจ้า ก็แลนางไม่ได้ปรารถนา นา สวน
ภัตร ผ้า เพราะอาศัยเธอ แต่ปรารถนาสมบัติ 3 จึงถวาย เจ้าจัก
สามารถให้สมบัติเหล่านั้นแก่เธอ หรือว่าจักไม่สามารถ ก็แลบิณฑบาต
นี้ อันเจ้าผู้ยังมีราคะ โทสะ และโมหะ ไม่สามารถจะรับได้ จึงเก็บ
บาตรเข้าถุง ปล่อยเงื่อนงำไว้ กลับไปยังกัสสกเลณะตามเดิม เก็บ
บาตรไว้ใต้เตียง พาดจีวรไว้บนราวจีวร คิดว่า เรายังไม่บรรลุพระอรหัต
แล้ว จักไม่ออกไป นั่งบำเพ็ญเพียรแล้ว ท่านไม่ประมาท เป็นพระ
เก็บตัวอยู่อย่างไม่ประมาทตลอดกาลนาน เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัต

ก่อนฉันนั่นเอง เป็นพระมหาขีณาสพ ยิ้มแย้มออกมาเหมือนดอกปทุม
ที่แย้มบานฉะนั้น เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ ใกล้ประตูถ้ำ (เห็นท่าน
แล้ว) เปล่งอุทานอย่างนี้ว่า
ข้าแต่บุรุษอาชาไนย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน
ข้าแต่ท่านผู้สูงสุด ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน ข้าแต่
ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านละอาสวะได้แล้ว จึงเป็นผู้สมควร
รับทักษิณา.

ดังนี้แล้ว กล่าวว่า ท่านเจ้าขา พวกหญิงแก่ ถวายภิกษาแด่
พระอรหันต์เช่นท่านผู้เข้าไปรับบิณฑบาตแล้ว จักพ้นทุกข์ได้.
พระเถระลุกขึ้นเปิดประตูดูเวลา ทราบว่ายังเข้าอยู่ จึงอุ้มบาตร
ครองจีวรเข้าไปยังหมู่บ้าน. ฝ่ายลูกสาวเตรียมภัตรแล้ว ( ก็ออกมา ) นั่ง
มองดูที่ประตู ด้วยหวังว่า หลวงพี่ของเราจักมาเดี๋ยวนี้ จักมาเดี๋ยวนี้.
เมื่อพระเถระมาถึงประตูเรือน เธอก็รับบาตร ไปใส่ข้าวก้อนเจือด้วยน้ำนม
ผสมด้วยเนยใสและน้ำอ้อย จนเต็มแล้ว นำมาประเคนที่มือ. พระเถระ
ทำการอนุโมทนาว่า จงมีความสุขเถิด ดังนี้ หลีกไป. ฝ่ายลูกสาวนั้น
ก็ได้ยืนมองท่านเพลินอยู่. เพราะเวลานั้น ฉวีวรรณของพระเถระผุดผ่อง
ยิ่งนัก อินทรีย์ทั้งหลายก็ผ่องใส ดวงหน้าก็แจ่มใสอย่างยิ่ง เหมือนผล
ตาลสุกที่เพิ่งหล่นจากขั้วฉะนั้น.
มหาอุบาสิกากลับมาจากป่า ถามว่า แม่หนู หลวงพี่ของเจ้ามา
แล้วหรือ ?
นางได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง. อุบาสิกาทราบว่า วันนี้ กิจ

บรรพชิตของพระลูกชายเรา ถึงที่สุดแล้ว จึงพูดว่า ลูกเอ๋ย หลวงพี่
ของเจ้า ยังอภิรมย์ ไม่เบื่อหน่ายในพระพุทธศาสนา.
วิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเกิดแม้แก่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นความยิ่งใหญ่
แห่งมรดก ก็แลมรดกของพระศาสดานี้ คือ อริยทรัพย์ 7 เป็นของ
ใหญ่หลวง ผู้เกียจคร้านไม่สามารถจะรับมรดกนั้นไว้ได้ เหมือนอย่างว่า
มารดาบิดาย่อมขจัดบุตรผู้เกเรให้ออกจากกองมรดก ด้วยสำคัญว่า เจ้านี่
ไม่ใช่ลูกของเรา (อีกต่อไป) เพราะปัจจัย ( คือการตัดขาด) ของ
พ่อแม่นั้น บุตรผู้เกเรนั้นย่อมไม่ได้รับมรดกฉันใด ถึงภิกษุผู้เกียจคร้าน
ก็ฉันนั้น จะไม่ได้รับมรดก คืออริยทรัพย์นี้ ภิกษุผู้ปรารภความเพียร
เท่านั้นจึงจะได้รับ.
วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้แม้พิจารณาถึงความยิ่งใหญ่
ของพระศาสดาอย่างนี้ว่า ก็แลพระศาสดาของเจ้ายิ่งใหญ่นัก เพราะว่าใน
เวลาที่พระศาสดาทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์พระมารดาก็ดี ในเวลา
เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ก็ดี ในเวลาตรัสรู้พระอนุตตรสัมโพธิญาณก็ดี
ในเวลาแสดงพระธรรมจักรก็ดี ในเวลาทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ เสด็จ
ลงจากเทวโลก และปลงพระชนมายุสังขารก็ดี หมื่นโลกธาตุก็หวั่นไหว
แล้ว ควรแล้วหรือที่เจ้าบวชในศาสนาของพระศาสดาเห็นปานนี้ แล้วจะ
มาเกียจคร้านอยู่.
วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดแก่ภิกษุผู้แม้พิจารณาถึงความยิ่งใหญ่แห่ง
ชาติ (กำเนิด) อย่างนี้ว่า แม้ว่าโดยกำเนิด บัดนี้ เจ้าก็ไม่ใช่คนที่มี
กำเนิดต่ำ เจ้ามาจากเชื้อสายของพระเจ้ามหาสมมต ไม่เจือปน (กับ
คนวรรณะอื่น) ทั้งได้เกิดในราชวงศ์ของพระเจ้าโอกากราช ได้เป็น

พระนัดดาของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช กับ พระนางมหามายาเทวี
(และ) เป็นพระกนิษฐภาดาของพระเจ้าพี่ราหุล อันธรรมดาว่าเจ้าได้
เป็นชินบุตรเห็นปานนี้ จะมามัวเกียจคร้านอยู่ ไม่สมควรเลย.
วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้แม้พิจารณาถึงความยิ่งใหญ่
ของเพื่อนสพรหมจารีอย่างนี้ว่า พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ และ
พระอสีติมหาสาวก แทงตลอดโลกุตตรธรรม ด้วยความเพียรโดยแท้
เจ้าจักดำเนินไปตามทางของเพื่อนสพรหมจารีเหล่านั้น หรือจักไม่ดำเนิน
ตาม.
วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้หลีกเว้นบุคคลผู้เกียจคร้าน
สลัดทิ้งความเพียรทางกายและทางจิต ผู้เป็นเช่นกับงูเหลือม อึดอัด
เพราะกินเหยื่อจนเต็มท้อง แก่ภิกษุผู้คบหาบุคคลผู้มีตนตั้งมั่น ปรารภ
ความเพียร ทั้งแก่ภิกษุผู้มีจิตน้อม โน้ม นำไป เพื่อให้เกิดความเพียร
ในอิริยาบถทั้งหลาย มีอิริยาบถยืนและนั่งเป็นต้น.
ก็เมื่อวิริยสัมโพชฌงค์นั้นเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ภิกษุย่อมทราบชัดว่า
ความเจริญเต็มที่ (แห่งวิริยสัมโพชฌงค์) มีได้ด้วยพระอรหัตตมรรค.

การเกิดขึ้นของปีติสัมโพชฌงค์


ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ คือ มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ธรรม
ทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งปีติสัมโพชฌงค์ การทำไว้ในใจโดยแยบคาย
และการทำให้มากในธรรม นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย ) เพื่อให้ปีติสัม-
โพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือเป็นไปเพื่อให้ปีติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้น
แล้ว ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่