เมนู

อรรถกถาสัลเลขสูตร


[100] สัลเลขสูตรมีคำเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ (พระสูตรนี้
ข้าพเจ้า (พระอานนท์) ได้ฟังมาแล้วอย่างนี้) ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มหาจุนทะ เป็นนามของพระเถระ
รูปนั้น.
บทว่า สายณฺหสมยํ ( ในสายัณหสมัย) คือในเพลาเย็น.
ที่หลบหลีก คือแอบหลบออกจากสัตว์และสังขารทั้งหลายเหล่านั้นๆ
ชื่อว่า ที่ซ่อนเร้น ในคำว่า ปฏิสลฺลานา วุฏฺฐิโต (ออกจากที่ซ่อนเร้น)
นี้ มีคำอธิบายไว้ว่า ได้แก่ความโดดเดี่ยว คือ ความสงัด. ผู้ที่ออก
จากที่นั้น ชื่อว่า เป็นผู้ออกจากที่เร้น. แต่ท่านจุนทเถระนี้ เพราะ
ออกจากผลสมาบัติที่สูงสุด กว่าการหลีกเร้น (ธรรมดา) เพราะฉะนั้น
ท่านพระอานนท์จึงได้กล่าวว่า ออกจากที่เร้นแล้ว.
บทว่า ภควนฺตํ อภิวาเทตฺวา (ครั้นถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้ว) ความว่า ครั้นไหว้พระผู้มีพระภาคเจ้าโดยเคารพ ด้วยเศียรเกล้า
ประกอบกับการยกมือครบทั้ง 10 นิ้วขึ้นประณมแล้ว หรือครั้นถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระองค์ทรงเปล่งพระดำรัสอย่างนี้ว่า จงเป็น
สุข ๆ เถิด จุนทะ.

ธรรมเนียมของพระพุทธเจ้า


ได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อมีผู้ถวายบังคม จะทรง
ชูพระศอซึ่งคล้ายกับกลองทองขึ้นแล้ว ทรงเปล่งพระสุระเสียง ดุจเสียง
พระพรหม ที่เสนาะโสต เป็นที่จับใจ คล้ายกับโสรจสรง ด้วยน้ำอมฤต
ตรัสระบุชื่อของผู้นั้น ๆ ว่า จงเป็นสุข ๆ เถิด ดังนี้ ข้อนี้เป็นธรรมเนียม
ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
ในเรื่องนั้นมีพระสูตรที่ยกมาเป็นข้ออ้างอิงได้ ดังต่อไปนี้ (คือ
สักกปัญหสูตร) ว่า เมื่อปัญจสิขเทพบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้
เจริญ ท้าวสักกะจอมเทพ พร้อมด้วยเทพอำมาตย์ เทพบริวาร ขอถวาย
บังคมพระยุคลบาทของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า ดูก่อน
ปัญจสิขเทพบุตร ขอให้ท้าวสักกะจอมทวยเทพพร้อมด้วยเทพอำมาตย์
พร้อมด้วยเทพบริวาร จงทรงพระเกษมสำราญ เพราะว่าเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย อสูร นาค คนธรรพ์ และสัตว์เหล่าอื่น ที่มีกายหยาบ ปรารถนา
ความสุขกัน เพราะฉะนั้น ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย
จะทรงถวายพระพรเทพเจ้าประเภทนั้น ผู้มีศักดามาก ผู้ควรบูชาดังที่
กล่าวมาแล้วนั้น.
บทว่า ยา อิมา ความว่า ท่านพระจุนทะ ได้กล่าวถึงทิฏฐิที่
ต้องพูดถึง ในบัดนี้ เหมือนทำให้อยู่เฉพาะหน้า.
บทว่า อเนกวิหิตา (มีมากอย่าง) ได้แก่มีนานาประการ.
บทว่า ทิฏฺฐิโย (ทิฏฐิทั้งหลาย) ได้แก่มิจฉาทิฏฐิ.
บทว่า โลเก อุปฺปชฺชนฺติ (เกิดขึ้นในโลก) ความว่า ปรากฏอยู่
ในหมู่สัตวโลก.