เมนู

อรรถกถาติตถิยาปักกันตกถา


พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ติตฺถิยปกฺกนฺโต ภิกฺขเว เป็นต้นนี้
ดังนี้:-
กุลบุตรที่ชื่อว่าเข้ารีตเดียรถีย์ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่าหลีกไป คือ
ไปเข้าพวกเดียรถีย์. กุลบุตรนั้นไม่ควรให้อุปสมบทอย่างเดียว แต่ที่แท้ไม่ควร
ให้บรรพชาด้วยฉะนั้นแล.
วินิจฉัยในคำนั้น พึงทราบดังต่อไปนี้:-
อุปสัมบันภิกษุคิดว่า เราจักเป็นเดียรถีย์ แล้วไปสู่สำนักแห่งเดียรถีย์
เหล่านั้น ทั้งเพศทีเดียว เป็นอาบัติทุกกฏทุก ๆ ย่างเท้า, เมื่อเพศแห่งเดียรถีย์
นั้น สักว่าอันตนถือเอาแล้ว ย่อมจัดว่าเป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์.
แม้ภิกษุคิดว่า เราจักเป็นเดียรถีย์เอาเอง จึงนุ่งคากรองเป็นต้น
ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้ข้ารีตเดียรถีย์เหมือนกัน.
ฝ่ายภิกษุใดเมื่อเปลือยกายอาบน้ำแลดูตนว่า การที่เราเป็นอาชีวกจะ
งามหรือ เราจะเป็นอาชีวกละ ดังนี้แล้ว ไม่ถือเอาผ้ากาสายะ คงเปลือยกาย
ไปสู่สำนักพวกอาชีวก ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ ย่างเท้า. แต่ถ้าใน
ระหว่างทาง หิริโอตตัปปะเกิดขึ้นแก่เธอ เธอแสดงอาบัติทุกกฏแล้ว ย่อมพ้น.
แม้ไปถึงสำนักพวกอาชีวกเหล่านั้นแล้ว ถูกพวกเขาตักเตือน หรือแม้
เห็นว่า บรรพชาของชนพวกนี้ เป็นทุกข์ยิ่งนัก แล้วกลับด้วยตนเอง ย่อมพ้น
ได้เหมือนกัน.
อนึ่ง ถ้าเธอถามว่า อะไรเป็นสูงสุดแห่งบรรพชาของพวกท่าน ?
อันเขาตอบว่า การถอนผมและหนวดเป็นต้น แล้วให้ถอนแม้ผมเส้นเดียว

ถือวัตรมีความเพียรด้วยความกระโหย่งเท้าเป็นต้นก็ดี นุ่งผ้าแววหางนกยูง
เป็นต้นก็ดี ชื่อว่า ถือเพศแห่งอาชีวกเหล่านั้น ชื่อว่ายอมรับความเป็นลัทธิ
ประเสริฐว่า บรรพชานี้ประเสริฐ เธอย่อมไม่พ้น จัดว่าเป็นผู้เข้ารีดเดียรถีย์.
อนึ่ง ถ้าเธอเพื่อจะลองดูว่า การบวชเป็นเดียรถีย์สำหรับเราจะงาม
หรือไม่งาม จึงนุ่งคากรองเป็นต้น หรือว่า ผูกชฎา หรือว่าฉวยหาบบริขาร
ยังไม่ยอมรับเพียงใด ลัทธิย่อมคุ้มเธอไว้เพียงนั้น ครั้นเมื่อเพศสักว่าเธอยอมรับ
แล้ว ย่อมจัดว่า เป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์.
ส่วนภิกษุผู้มีจีวรอันโจรชิงไป จึงนุ่งคากรองเป็นต้นก็ดี ถือเพศ
เดียรถีย์ เพราะภัยมีราชภัยเป็นต้นก็ดี หาจัดว่าเป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์ไม่เลย
เพราะไม่มีลัทธิ.
แต่ในอรรถกถากุรุนทีแก้ว่า ขึ้นชื่อว่า บุคคลผู้เข้ารีตเดียรถีย์นี้ ท่าน
กล่าวด้วยอุปสัมบันภิกษุ. เพราะเหตุนั้น สามเณรแม้ไปสู่ติตถายตนะแล้วพร้อม
ทั้งเพศ ย่อมได้บรรพชาและอุปสมบทอีก.
ส่วนคนเถยยสังวาสก์ข้างต้น ท่านว่าด้วยอนุปสัมบัน เพราะเหตุนั้น
อุปสัมบันแม้นับพรรษาโกง จะจัดว่าเป็นผู้มีใช่สมณะหามิได้ ภิกษุยังมีอุตสาหะ
ในเพศ แม้ต้องปาราชิกแล้ว นับพรรษาแห่งภิกษุเป็นต้น ก็ยังไม่จัดว่าเป็น
คนเถยยสังวาสก์.

อรรถกถาติตถิยปักกันตกถา จบ

เรื่องนาคแปลงกายเป็นมนุษย์มาบวช


[127] ก็โดยสมัยนั้นแล นาคตัวหนึ่งอึดอัดระอา เกลียดกำเนิดนาค
จึงนาคนั้นได้มีความดำริว่า ด้วยวิธีอะไรหนอ เราจึงจะพ้นจากกำเนิดนาค
และกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์เร็วพลัน ครั้นแล้วได้ดำริต่อไปว่า พระสมณะ
เชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้แล เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ พระพฤติ
พรหมจรรย์ กล่าวแต่คำสัตย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม หากเราจะพึงบวชใน
สำนักพระสมณะ เชื้อสายพระศากยบุตร ด้วยวิธีเช่นนี้ เราก็จะพ้นจากกำเนิด
นาค และกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์เร็วพลัน ครั้นแล้วนาคนั้นจึงแปลงกายเป็น
ชายหนุ่ม แล้วเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอบรรพชา ภิกษุทั้งหลายจึงให้เขาบรรพชา .
อุปสมบท สมัยต่อมา พระนาคนั้นอาศัยอยู่ในวิหารสุดเขตกับภิกษุรูป 1
ครั้นปัจจุสสมัยแห่งราตรีภิกษุรูปนั้น ตื่นนอนแล้วออกไปเดินจงกรมอยู่ใน
ที่แจ้ง ครั้นภิกษุรูปนั้นออกไปแล้ว พระนาคนั้นก็วางใจจำวัด วิหารทั้งหลัง
เต็มไปด้วยงู ขนดยื่นออกไปทางหน้าต่าง ครั้นภิกษุรูปนั้นผลักบานประตูด้วย
ทั้งใจจักเข้าวิหาร ได้เห็นวิหารทั้งหลังเต็มไปด้วยงู เห็นขนดยื่นออกไปทาง
หน้าต่าง ก็ตกใจ จึงร้องเอะอะขึ้น.
ภิกษุทั้งหลายพากัน วิ่งเข้าไปแล้วได้ถามภิกษุรูปนั้นว่า อาวุโส ท่าน
ร้องเอะอะไปทำไม.
ภิกษุรูปนั้นบอกว่า อาวุโสทั้งหลาย วิหารนี้ทั้งหลังเต็มไปด้วยงู
ขนดยื่นออกไปทางหน้าต่าง.
ขณะนั้นพระนาคนั้น ได้ตื่นขึ้นเพราะเสียงนั้น แล้วนั่งอยู่บนอาสนะ
ของตน.