เมนู

อาทิตตปริยายสูตร


[55] ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลา ตามพระ-
พุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกไปโดยมรรคาอันจะไปสู่ตำบลคยาสีสะ พร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ 1000 รูป ล้วนเป็นปุราณชฎิล ได้ยินว่า พระองค์ประทับ
อยู่ที่ตำบลคยาสีสะใกล้แม่น้ำคยานั้น พร้อมด้วยภิกษุ 1000 รูป.
ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ว่าดังนี้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ก็อะไรเล่าชื่อว่า สิ่งทั้ง
ปวงเป็นของร้อน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นของร้อน รูปทั้งหลายเป็น
ของร้อน วิญญาณอาศัยจักษุเป็นของร้อน สัมผัสอาศัยจักษุเป็นของร้อน ความ
เสวยอารมณ์เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัส
เป็นปัจจัยแม้นั้นก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร เรากล่าวว่า ร้อนเพราะไฟ
คือราคะ เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะ
ความแก่และความตาย ร้อนเพราะความโศก เพราะความรำพัน เพราะทุกข์
กาย เพราะทุกข์ใจ เพราะความคับแค้น.
โสตเป็นของร้อน เสียงทั้งหลายเป็นของร้อน. . .
ฆานะเป็นของร้อน กลิ่นทั้งหลายเป็นของร้อน . . .
ชิวหาเป็นของร้อน รสทั้งหลายเป็นของร้อน. . .
กายเป็นของร้อน โผฏฐัพพะทั้งหลายเป็นของร้อน. . .
มนะเป็นของร้อน ธรรมทั้งหลายเป็นของร้อน วิญญาณอาศัยมนะ
เป็นของร้อน สัมผัสอาศัยมนะเป็นของร้อน ความเสวยอารมณ์เป็นสุข เป็น
ทุกข์ หรือมิใช่ทุกข์มิใช่สุข ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย แม้นั้นก็เป็น
ของร้อน ร้อนเพราะอะไร เรากล่าวว่า ร้อนเพราะไฟคือราคะ เพราะไฟคือ

โทสะ เพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่และความตาย
ร้อนเพราะความโศก เพราะความรำพัน เพราะทุกข์กาย เพราะทุกข์ใจ เพราะ
ความคับแค้น .
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อ-
หน่าย แม้ในจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูปทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน
วิญญาณอาศัยจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัมผัสอาศัยจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน
ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือมิใช่ทุกข์มิใช่สุข ที่เกิดขึ้นเพราะ
จักขุสัมผัสเป็นปัจจัย.
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสต ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเสียงทั้งหลาย . . .
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกลิ่นทั้งหลาย . . .
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรสทั้งหลาย . . .
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโผฏฐัพพะทั้งหลาย . . .
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมนะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในธรรมทั้งหลาย ย่อม
เบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณอาศัยมนะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัมผัสอาศัยมนะ ย่อม
เบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือมิใช่ทุกข์มิใช่สุข
ที่เกิดขึ้น เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย.
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น เมื่อจิต
พ้นแล้วก็รู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้
อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี ก็
แล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของภิกษุ 1000 รูป
นั้น พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.

อาทิตตปริยายสูตร จบ
อุรุเวลปาฏิหาริย์ ตติยภาณวาร จบ

อรรถกถาอุรุเวลกัสสปทิวัตถุ


บทว่า ปมุโข ประมุข คือเป็นหัวหน้า.
บทว่า ปาโมกฺโข ปาโมกข์ มีความว่า เป็นผู้สูงสุด คือมีปัญญา
ผ่องแผ้ว.
บทว่า อนุปหจฺจ ไม่ทำลายแล้ว ได้แก่ไม่ให้เสีย.
สองบทว่า เตชสา เตชํ มีความว่า ข่ม เดชแห่งนาคด้วยเดชของคน.
บทว่า ปริยาเทยฺยํ มีความว่า พึงครอบงำเสีย หรือพาให้วอควายไป.
บทว่า มกฺขํ ได้แก่ความโกรธ.
ข้อว่า น เตฺวว จ โข อรหา ยถา อหํ มีความว่า บุคคลผู้เช่น
ดังเราสำคัญตนว่า เราเป็นอรหันต์ อวดอ้างอยู่ฉันใด จะได้เป็นอรหันต์ฉัน
นั้น หาริได้ทีเดียว.
สองบทว่า อชฺชุณฺเห อคฺคิสรณมฺหิ มีความว่า เราพึงอยู่ตลอด
วันหนึ่งในวันนี้.
บทว่า ผาสุกาโม คือมุ่งจะเกื้อกูล.
บทว่า สุมานโส ได้แก่ผู้มีใจประกอบพร้อม ด้วยปีติและ โสมนัส.
บทว่า น วิมโน ได้แก่ผู้มีใจดี อธิบายว่า ใจที่โทสะไม่ครอบงำ.
สองบทว่า อคฺยาคารํ อุทิจฺจเร มีความว่า เรือนไฟลุกโพลง.
บทว่า ชฏิลา เชื่อมกับบทนี้ว่า ภณนฺติ.
หลายบทว่า อหินาคสฺส อจฺจิโย น โหนฺติ มีความว่าเปลวไฟ
แห่งนาคมีแสงไม่รุ่งเรือง มีสีผิดรูป.
บทว่า ผลิกรณฺณาโย คือมีวรรณะเหมือนแก้วผลึก.