เมนู

ศัพท์ซึ่งมีอยู่ในบทเป็นต้นว่า อภิวาเทติ นี้ ย่อมเป็นไปในอรรถชื่อว่า
วิภาวนะ (คือคำประกาศตามปกติของชาวโลก) ดุจ วา ศัพท์ในประโยคเป็นต้น
ว่า รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง.
เวรัญชพราหมณ์ ครั้นกราบทูลอย่างนั้นแล้ว ลำดับนั้น เห็นพระผู้มี
พระภาคเจ้า ผู้ไม่ทรงทำสามีจิกรรมมีการกราบไหว้เป็นต้นแก่ตน จึงกราบทูล
ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! คำที่ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วนี้นั้น เป็นเช่นนั้นจริง
อธิบายว่า คำนั้นใด ที่ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว, คำนั้น ย่อมเป็นเช่นนั้นจริง
คือข้อที่ข้าพเจ้าได้ฟังมาและได้เห็นมานั้น ย่อมสมกัน คือเสมอกัน ได้แก่
ถึงความเป็นอย่างเดียวกันโดยความหมาย. เวรัญชพราหมณ์ กล่าวย้ำเรื่องที่ตน
ได้ฟังมาพร้อมทั้งที่ตนได้เห็นมา อย่างนี้ว่า ท่านพระโคดมผู้เจริญ ไม่กราบไหว้
ได้ลุกรับพวกพราหมณ์ ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ
หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะเลย เมื่อจะตำหนิ (พระพุทธองค์) จึงกราบทูลว่า
ตยทํ โภ โคตม น สมฺปนฺนเมว ดังนี้, มีอธิบายว่า การที่พระองค์
ไม่ทรงทำสามีจิกรรมมีการกราบไหว้เป็นต้นนั้น ไม่สมควรเลย.

[พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคัดค้าน]


ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ทรงเข้าไปอาศัยโทษคือการกล่าว
ยกตนข่มท่าน แต่มีพระประสงค์จะทรงกำจัดความไม่รู้นั้น ด้วยพระหฤทัยที่
เยือกเย็นเพราะกรุณา แล้วแสดงความเหมาะสมแก่พราหมณ์นั้น จึงตรัส
ว่าดูก่อนพราหมณ์ ! ในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทพดาและมนุษย์ เราไม่เล็งเห็นบุคคลผู้ที่เราควร
กราบไหว้ ควรลุกรับ หรือควรเชื้อเชิญด้วยอาสนะ, เพราะว่าตถาคตพึง

กราบไหว้ พึงลุกรับ หรือพิงเชื้อเชิญบุคคลใดด้วยอาสนะ, แม้ศีรษะของ
บุคคลนั้น ก็พึงตกไป.
ในคำว่า นาหนฺตํ เป็นต้นนั้น มีเนื้อความสังเขปดังนี้คือ :-
ดูก่อนพราหมณ์ ! เราแม้ตรวจดูอยู่ด้วยจักษุคือสัพพัญญุตญาณ ซึ่งไม่มีอะไร
ขัดขวางได้ ก็ไม่เล็งเห็นบุคคลที่เราควรกราบไหว้ ควรลุกรับ หรือควร
เชื้อเชิญด้วยอาสนะ ในโลกต่างโดยประเภทมีเทวโลกเป็นต้นนี้เลย, อีกอย่างหนึ่ง
ข้อที่เราได้บรรลุความเป็นสัพพัญญูในวันนี้ ไม่เล็งเห็นบุคคลผู้ที่ควรทำการ
นอบน้อมเห็นปานนั้น ไม่น่าอัศจรรย์เลย, อีกประการหนึ่งแล แม้ในกาลใด
เราเกิดได้ครู่หนึ่งเท่านั้น ก็ผินหน้าไปทางด้านทิศอุดร เดินไปได้ 7 ก้าว
แล้วได้ตรวจดูหมื่นโลกธาตุทั้งสิ้น, แม้ในกาลนั้น เราก็มิได้เล็งเห็นบุคคลที่
เราควรกราบไหว้ ควรลุกรับ หรือควรเชื้อเชิญด้วยอาสนะ ในโลกต่างโดย
ประเภทมีเทวโลกเป็นต้นนี้เลย, คราวนั้นแล ถึงท้าวมหาพรหมผู้เป็นพระ-
ขีณาสพ ซึ่งมีอายุได้หนึ่งหมื่นหกพันกัป ก็ได้ประคองอัญชลี เกิดความโสมนัส
ต้อนรับเราว่า ท่านเป็นมหาบุรุษในโลก, ท่านเป็นผู้เลิศ เจริญที่สุด และ
ประเสริฐที่สุดแห่งโลก พร้อมทั้งเทวโลก, บุคคลผู้เยี่ยมกว่าตน ย่อมไม่มี,
อนึ่ง แม้ในการนั้น เราเมื่อไม่เล็งเห็นบุคคลผู้เยี่ยมกว่าตน จึงได้เปล่งอาสภิ-
วาจาว่า เราเป็นยอดแห่งโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐ
ที่สุดแห่งโลก* ดังนี้, บุคคลผู้ที่ควรแก่สามีจิกรรมมีการกราบไหว้เป็นต้น
ของเราแม้ผู้เกิดได้ครู่เดียว ยังไม่มี ด้วยประการฉะนี้, บัดนี้ เรานั้นได้บรรลุ
ความเป็นสัพพัญญูแล้ว จะพึงกราบไหว้ พึงลุกรับ หรือพึงเชื้อเชิญใครด้วย
อาสนะเล่า ? ดูก่อนพราหมณ์ ! เพราะเหตุนั้น ท่านอย่าได้ปรารถนาการทำ
ความนอบน้อมเห็นปานนั้น จากตถาคตเลย, ดูก่อนพราหมณ์ ! เพราะว่า
* ที. มหา. 10/17.

ตถาคตพึงกราบไหว้ พึงลุกรับ หรือพึงเชื้อเชิญบุคคลใดด้วยอาสนะ, แม้ศีรษะ
ของบุคคลนั้น พึงขาดจากคอตกลงไปบนพื้นดิน โดยเร็วพลันทีเดียว ดุจ
ผลตาลที่มีเครื่องผูกหย่อนเพราะแก่หง่อม หล่นจากขั้วในสุดแห่งราตรี ฉะนั้น.

[เวรัญชพราหมณ์กล่าวตู่พระพุทธเจ้าว่าเป็นคนไม่มีรส]


แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ก็กำหนดไม่ได้
ถึงข้อความที่พระตถาคตเจ้าเป็นเชษฐบุรุษในโลก เพราะทรามปัญญา ไม่ยอม
อดกลั้นพระดำรัสนั้นถ่ายเดียว จึงกล่าวว่า พระโคดมผู้เจริญ ! เป็นคนไม่มีรส.
ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นมีความประสงค์ดังนี้ว่า สามีจิกรรมคือการกราบไหว้
การลุกรับ และประนมมือไหว้อันใด ที่ประชาชนเรียกอยู่ในโลกว่า สามัคคีรส
สามีจิกรรมมีการกราบไหว้เป็นต้นนั้น ของพระโคดมผู้เจริญ ย่อมไม่มี,
เพราะฉะนั้น พระโคดมผู้เจริญ จึงเป็นคนไม่มีรส คือมีพระชาติไม่มีรส
มีสภาพไม่มีรส.
ลำดับนั้น พระผู้พระภาคเจ้า เพื่อจะให้พราหมณ์นั้นเกิดใจอ่อน
จึงทรงหลีกหนีความเป็นข้าศึกโดยตรงเสีย ทรงรับสมเนื้อความแห่งคำนั้นโดย
ประการอื่นในพระองค์ จึงตรัสว่า พราหมณ์ ! บรรยายนี้มีอยู่แล ดังนี้เป็นต้น.

[ปริยายศัพท์ลงในอรรถ 3 อย่าง]


ในคำว่า ปริยาโย เป็นต้นนั้น พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ การณะชื่อว่า
ปริยาย. จริงอยู่ ปริยายศัพท์นี้ ย่อมเป็นไปในเทศนา วาระและการณะ.
ความจริง ปริยายศัพท์นั่น ย่อมเป็นไปในเทศนา ในคำทั้งหลายมี
อาทิว่า ท่านจงทรงจำพระสูตรนั้นไว้ว่า มธุปิณฑิกเทศนา* ดังนี้นั่นเทียว.
* ม. ม. 12/230.