เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [5. จัมมขันธกะ] 147. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ลำดับนั้น ท่านพระสาคตะ เมื่อกุลบุตรในหมู่บ้าน 80,000 คนกำลังเพ่ง
มองอยู่เฉพาะหน้า ได้ดำลงใต้แผ่นหินไปผุดขึ้นตรงพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค
แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “กุลบุตรในหมู่บ้าน 80,000 คนนี้พากัน
เข้ามาที่นี้เพื่อขอเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดทรงทราบเวลา
อันควรในบัดนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “สาคตะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงปูอาสนะใต้ร่มเงา
ที่มุมสุดวิหาร”
ท่านพระสาคตะรับสนองพระพุทธดำรัสแล้วถือตั่ง ดำลงเบื้องพระพักตร์ของ
พระผู้มีพระภาค ผุดขึ้นที่แผ่นหินต่อหน้ากุลบุตรในหมู่บ้าน 80,000 คนที่กำลัง
เพ่งมองอยู่แล้วปูอาสนะใต้ร่มเงาที่มุมสุดพระวิหาร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากพระวิหาร ไปประทับนั่งบนพุทธ
อาสน์ที่จัดไว้ใต้ร่มเงาที่มุมสุดพระวิหาร
ลำดับนั้น กุลบุตรในหมู่บ้าน 80,000 คนนั้นได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ
ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร พากันสนใจแต่ท่านพระสาคตะ
เท่านั้น ไม่สนใจพระผู้มีพระภาคเลย
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบด้วยพระทัยถึงความคิดคำนึงในจิต
ของกุลบุตรในหมู่บ้าน 80,000 คนนั้น จึงรับสั่งกับท่านพระสาคตะว่า “สาคตะ
ถ้าอย่างนั้น เธอจงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นอุตตริมนุสสธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป”
ท่านพระสาคตะทูลรับสนองพระพุทธาณัติแล้วเหาะขึ้นสู่อากาศ จงกรมบ้าง
ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง บังหวนควันบ้าง โพลงไฟบ้าง หายตัวบ้าง ในอากาศ
กลางท้องฟ้า ลำดับนั้น ครั้นท่านพระสาคตะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นอุตตริ-
มนุสสธรรมหลายอย่างในอากาศกลางท้องฟ้าแล้ว จึงกลับลงมาซบศีรษะแทบ
พระบาทของพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดา
ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์
ข้าพระองค์เป็นสาวก”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :3 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [5. จัมมขันธกะ] 147. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ครั้งนั้น กุลบุตรในหมู่บ้าน 80,000 คนนั้น ต่างสรรเสริญว่า “น่าอัศจรรย์จริง
ไม่เคยปรากฏ พระสาวกยังมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากถึงเพียงนี้ พระศาสดา
จะต้องมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก(กว่านี้)แน่นอน” แล้วหันมาสนใจพระผู้มีพระภาค
เท่านั้น ไม่ยอมสนใจท่านพระสาคตะอีกเลย

ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ 4
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบด้วยพระทัยถึงความคิดคำนึงในจิตของ
กุลบุตรในหมู่บ้าน 80,000 คนนั้น จึงตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
1. ทานกถา (เรื่องทาน)
2. สีลกถา (เรื่องศีล)
3. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์)
4. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)1
5. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม)2
เมื่อทรงทราบว่ากุลบุตรเหล่านั้นมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนา3ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่กุลบุตร
ในหมู่บ้าน 80,000 คนนั้น ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้น
เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาด
ปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

เชิงอรรถ :
1 แปลจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สํกิเลสํ
2 อานิสงส์แห่งการออกจากกาม ในที่นี้หมายถึงอานิสงส์แห่งการออกจากกามสัญญา การออกจากกาม
วิตก การออกจากกามปริฬาหะ(ความเร่าร้อนเพราะกาม) การออกจากความขวนขวาย ได้แก่คุณในการ
บรรพชาและในฌานเป็นต้น (สารตฺถ.ฏีกา 3/26/236-237)
3 สามุกกังสิกธรรมเทศนา หมายถึงธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงเห็น
ด้วยสยัมภูญาณ ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น คือมิได้รับแนะนำจากผู้อื่น ทรงตรัสรู้ลำพังพระองค์เองก่อนใครในโลก
(วิ.อ. 3/292/181, สารตฺถ.ฏีกา 3/26/237, ที.สี.ฏีกา (อภินว) 2/298/350)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :4 }