เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 4. อุปาลิวรรค 10. ทุติยอานันทสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ บุคคลผู้ทำลายสงฆ์ซึ่งสามัคคีกันนั้น
จะเสวยผลกรรมอยู่ในนรกตลอดกัปหนึ่ง”
บุคคลผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ยินดีในการแตกกัน
อยู่ในอธรรม เป็นผู้เข้าถึงอบาย อยู่ในนรกตลอดกัป
พลาดจากนิพพานอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ1
เสวยผลกรรมอยู่ในนรกตลอดกัป
เพราะทำลายสงฆ์ที่สามัคคีกันให้แตกแยกกัน
ปฐมอานันทสูตรที่ 9 จบ

10. ทุติยอานันทสูตร
ว่าด้วยพระอานนท์ทูลถามปัญหา สูตรที่ 2
[40] ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า
‘สังฆสามัคคี สังฆสามัคคี’ สงฆ์จะเป็นผู้สามัคคีกันด้วยเหตุเท่าไรหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อานนท์ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
1. แสดงอธรรมว่า ‘เป็นอธรรม’
2. แสดงธรรมว่า ‘เป็นธรรม’
3. แสดงสิ่งที่มิใช่วินัยว่า ‘มิใช่วินัย’
4. แสดงวินัยว่า ‘เป็นวินัย’
5. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้กล่าวไว้ว่า ‘ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้
ไม่ได้กล่าวไว้’
6. แสดงสิ่งที่ตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้กล่าวไว้ว่า ‘ตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้
กล่าวไว้’
7. แสดงกรรมที่ตถาคตไม่ได้ประพฤติมาว่า ‘ตถาคตไม่ได้ประพฤติมา’
8. แสดงกรรมที่ตถาคตได้ประพฤติมาว่า ‘ตถาคตได้ประพฤติมา’

เชิงอรรถ :
1 ธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล (องฺ.ทสก.อ. 3/39-40/345)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :91 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 4. อุปาลิวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
9. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ‘ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้’
10. แสดงสิ่งที่ตถาคตได้บัญญัติไว้ว่า ‘ตถาคตได้บัญญัติไว้’
ภิกษุเหล่านั้นไม่แตกกัน ไม่แยกกัน ไม่ทำสังฆกรรมแยกกัน ไม่สวดปาติโมกข์
แยกกัน ด้วยเหตุ 10 ประการนี้ อานนท์ สงฆ์จะเป็นผู้สามัคคีกันด้วยเหตุเท่านี้แล
ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “บุคคลผู้สมานสงฆ์ซึ่งแตกกันแล้วให้สามัคคีกัน
จะประสพผลอะไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ บุคคลผู้สมานสงฆ์ซึ่งแตกกันแล้วให้
สามัคคีกันนั้น จะประสพบุญอันประเสริฐ”
ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “บุญอันประเสริฐคืออะไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ บุคคลผู้สมานสงฆ์ซึ่งแตกกันแล้วให้
สามัคคีกัน จะบันเทิงในสวรรค์ตลอดกัป”
ความพร้อมเพรียงแห่งสงฆ์ เป็นเหตุให้เกิดสุข
และบุคคลผู้อนุเคราะห์สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันแล้ว
ผู้ยินดีแล้วในความพร้อมเพรียงกัน อยู่ในธรรม
ย่อมไม่พลาดจากธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
ย่อมบันเทิงในสวรรค์ตลอดกัป
เพราะสมานสงฆ์ให้สามัคคีกัน
ทุติยอานันทสูตรที่ 10 จบ
อุปาลิวรรคที่ 4 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. อุปาลิสูตร 2. ปาติโมกขัฏฐปนาสูตร
3. อุพพาหิกาสูตร 4. อุปสัมปทาสูตร
5. นิสสยสูตร 6. สามเณรสูตร
7. สังฆเภทสูตร 8. สังฆสามัคคีสูตร
9. ปฐมอานันทสูตร 10. ทุติยอานันทสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :92 }