เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต 2. อนุสสติวรรค 2. ทุติยมหานามสูตร
2. ทุติยมหานามสูตร
ว่าด้วยเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ สูตรที่ 2
[12] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุง
กบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ สมัยนั้น เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะทรงหายจาก
พระประชวรได้ไม่นาน สมัยนั้นแล ภิกษุจำนวนมากทำจีวรกรรมเพื่อถวายพระผู้มี
พระภาคด้วยหวังว่า “พระผู้มีพระภาคผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว ล่วงไป 3 เดือนก็จักเสด็จ
จาริกไป”
เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะได้ทรงทราบข่าวอย่างนั้นเหมือนกัน ลำดับนั้น
เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ทราบข่าวอย่างนี้ว่า ‘ได้ทราบว่า ภิกษุ
จำนวนมากทำจีวรกรรมเพื่อถวายพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคมี
จีวรสำเร็จแล้ว ล่วงไป 3 เดือนก็จักเสด็จจาริกไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉัน
เมื่อจะอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่ต่าง ๆ จะต้องอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อะไร
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ มหานามะ การที่พระองค์เสด็จมาหา
ตถาคตแล้วตรัสถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเมื่อจะอยู่ด้วยธรรมเป็น
เครื่องอยู่ต่าง ๆ จะต้องอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อะไร” นี้เป็นการสมควรแก่พระองค์
ผู้เป็นกุลบุตร มหานามะ กุลบุตรผู้มีศรัทธาเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ผู้ไม่มีศรัทธา
ไม่ประสบความสำเร็จ 1 ผู้ปรารภความเพียรเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ผู้เกียจคร้าน
ไม่ประสบความสำเร็จ 1 ผู้มีสติตั้งมั่นเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ผู้หลงลืมสติไม่
ประสบความสำเร็จ 1 ผู้มีจิตตั้งมั่นเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นไม่
ประสบความสำเร็จ 1 ผู้มีปัญญาเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ผู้มีปัญญาทรามไม่
ประสบความสำเร็จ 1
มหานามะ พระองค์พึงตั้งอยู่ในธรรม 5 ประการนี้ แล้วเจริญธรรม 6 ประการ
ให้ยิ่งขึ้นไปเถิด


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :415 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต 2. อนุสสติวรรค 2. ทุติยมหานามสูตร
ธรรม 6 ประการนี้ คือ
1. พระองค์พึงระลึกถึงตถาคตว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระ
องค์นั้น ฯลฯ1 เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระ
พุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค” มหานามะ สมัยใด อริยสาวกระลึกถึง
ตถาคตแล้ว สมัยนั้น จิตของพระอริยสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม
ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น
ย่อมปรารภตถาคตดำเนินไปตรงทีเดียว มหานามะ ก็อริยสาวกผู้มีจิต
ดำเนินไปตรงแล้ว ย่อมได้ความปลาบปลื้มอิงอรรถ2 ย่อมได้ความ
ปลาบปลื้มอิงธรรม ย่อมได้ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรม เมื่อมี
ปราโมทย์ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติกายย่อมสงบ เธอผู้มีกายสงบย่อมได้
รับสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น มหานามะ พุทธานุสสตินี้แล พระองค์
แม้กำลังเสด็จดำเนินก็เจริญได้ กำลังประทับยืนก็เจริญได้ กำลังประทับ
นั่งก็เจริญได้ กำลังบรรทมก็เจริญได้ กำลังประกอบการงานก็เจริญได้
กำลังประทับบนที่บรรทมซึ่งเบียดเสียดด้วยพระโอรสและพระธิดาก็เจริญได้
2. พระองค์พึงระลึกถึงพระธรรม ...
3. พระองค์พึงระลึกถึงพระสงฆ์ ...
4. พระองค์พึงระลึกถึงศีลของพระองค์ ...
5. พระองค์พึงระลึกถึงจาคะของพระองค์ ...
6. พระองค์พึงระลึกถึงเทวดาทั้งหลายว่า “มีเทวดาชั้นจาตุมหาราช ...
เทวดาชั้นสูงขึ้นไปกว่านั้น เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติ
จากโลกนี้แล้วไปเกิดในเทวโลกนั้น แม้เราเองก็มีศรัทธาเช่นนั้น เทวดา
เหล่านั้นประกอบด้วยศีล ... สุตะ ... จาคะ ... ปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้

เชิงอรรถ :
1 ดูความเต็มในข้อ 11 (ปฐมมหานามสูตร) ในเล่มนี้
2 ดูเชิงอรรถที่ 1,2 ข้อ 11 หน้า 410 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :416 }