พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต 2. อนุสสติวรรค 1. ปฐมมหานามสูตร
เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีพยาบาท
อยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรม เจริญ
สังฆานุสสติอยู่
4. พระองค์พึงระลึกถึงศีลของพระองค์ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย
เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ
มหานามะ สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงศีล สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น
ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น
จิตของอริยสาวกนั้นย่อมปรารภศีลดำเนินไปตรงทีเดียว มหานามะ ก็
อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงแล้ว ย่อมได้ความปลาบปลื้มอิงอรรถ
ย่อมได้ความปลาบปลื้มอิงธรรม ย่อมได้ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรม
เมื่อมีปราโมทย์ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติกายย่อมสงบ เธอมีกายสงบ
ย่อมได้รับสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น มหานามะ อริยสาวกนี้ ตถาคต
กล่าวว่า เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มี
พยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรม
เจริญสีลานุสสติอยู่
5. พระองค์พึงระลึกถึงจาคะของพระองค์ว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดี
แล้วหนอ ที่เรามีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันสละแล้ว
มีฝ่ามือชุ่ม1 ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการแจกทาน อยู่
ครองเรือน มหานามะ สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงจาคะ สมัยนั้น จิต
ของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะ
กลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมปรารภจาคะดำเนินไปตรง
ทีเดียว มหานามะ ก็อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงแล้ว ย่อมได้ความ
ปลาบปลื้มอิงอรรถ ย่อมได้ความปลาบปลื้มอิงธรรม ย่อมได้ปราโมทย์ที่
เชิงอรรถ :
1 มีฝ่ามือชุ่มอรรถกถาอธิบายว่า คนที่ไม่มีศรัทธา แม้จะล้างมือถึง 7 ครั้ง ก็ชื่อว่ามีมือยังไม่ล้าง มีมือสกปรก
อยู่นั่นเอง แต่คนที่มีศรัทธา แม้จะมีมือสกปรก ก็ชื่อว่ามีมือที่ได้ล้างสะอาดแล้ว (องฺ.ติก.อ. 2/42/148)
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต 2. อนุสสติวรรค 1. ปฐมมหานามสูตร
ประกอบด้วยธรรม เมื่อมีปราโมทย์ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติกายย่อม
สงบ เธอมีกายสงบย่อมได้รับสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น มหานามะ
อริยสาวกนี้ ตถาคตกล่าวว่า เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความ
ไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อม
ด้วยกระแสธรรม เจริญจาคานุสสติอยู่
6. พระองค์พึงระลึกถึงเทวดาทั้งหลายว่า มีเทวดาชั้นจาตุมหาราช เทวดา
ชั้นดาวดึงส์ เทวดาชั้นยามา เทวดาชั้นดุสิต เทวดาชั้นนิมมานรดี เทวดา
ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี เทวดาชั้นพรหมกาย เทวดาชั้นสูงขึ้นไปกว่านั้น
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปเกิดใน
เทวโลกนั้น แม้เราเองก็มีศรัทธาเช่นนั้น เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีล
เช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปเกิดในเทวโลกนั้น แม้เราเองก็มีศีลเช่นนั้น
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยสุตะเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปเกิดในเทวโลกนั้น
แม้เราเองก็มีสุตะเช่นนั้น เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยจาคะเช่นใด จุติ
จากโลกนี้แล้วไปเกิดในเทวโลกนั้น แม้เราเองก็มีจาคะเช่นนั้น เทวดา
เหล่านั้นประกอบด้วยปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปเกิดในเทวโลกนั้น
แม้เราเองก็มีปัญญาเช่นนั้น มหานามะ สมัยใด อริยสาวกระลึกถึง
ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาของตนและของเทวดาเหล่านั้น
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะ
กลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมปรารภ
เทวดาทั้งหลายดำเนินไปตรงทีเดียว มหานามะ ก็อริยสาวกผู้มีจิตดำเนิน
ไปตรงแล้ว ย่อมได้ความปลาบปลื้มอิงอรรถ ย่อมได้ความปลาบปลื้ม
อิงธรรม ย่อมได้ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรม เมื่อมีปราโมทย์ย่อม
เกิดปีติ เมื่อใจมีปีติกายย่อมสงบ เธอผู้มีกายสงบย่อมได้รับสุข เมื่อมีสุข
จิตย่อมตั้งมั่น มหานามะ อริยสาวกนี้ ตถาคตกล่าวว่า เป็นผู้ถึงความ
สงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มี
พยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรม เจริญเทวตานุสสติอยู่
ปฐมมหานามสูตรที่ 1 จบ