เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [3. ตติยปัณณาสก์] 2. ปัจโจโรหณิวรรค 3. ตติยอธัมมสูตร
3. ตติยอธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สูตรที่ 3
[115] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม
ควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติ
ตามสิ่งที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตครั้นตรัสพระพุทธพจน์นี้
แล้วจึงเสด็จลุกขึ้นจากพุทธอาสน์เข้าไปยังพระวิหาร
ลำดับนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงหลีกไปไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นจึงได้ปรึกษา
กันว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุทเทส1นี้โดยย่อว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบ
ทั้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้วควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็น
ธรรมและเป็นประโยชน์’ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความไว้โดยพิสดาร เสด็จลุกขึ้นจาก
พุทธอาสน์เข้าไปยังพระวิหาร ใครหนอ จะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มี
พระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ทรงจำแนกไว้โดยพิสดารนี้ให้พิสดารได้”
ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นมีความเห็นร่วมกันว่า “ท่านอานนท์นี้แล พระศาสดา
ทรงสรรเสริญแล้ว และเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็ยกย่อง ท่านสามารถจะจำแนก
เนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ทรงจำแนกไว้โดย
พิสดารนี้ให้พิสดารได้ ทางที่ดี พวกเราควรจะเข้าไปหาท่านอานนท์ถึงที่อยู่แล้วเรียน
ถามเนื้อความนี้กับท่าน และจักทรงจำเนื้อความนั้นไว้ตามที่ท่านตอบแก่พวกเรา”
ครั้นแล้ว ภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัย
พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควรได้เรียนว่า
“ท่านอานนท์ พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุทเทสนี้โดยย่อว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบทั้ง
สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็น
ธรรมและเป็นประโยชน์’ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความไว้โดยพิสดาร เสด็จลุกขึ้นจาก
พุทธอาสน์เข้าไปยังพระวิหาร

เชิงอรรถ :
1 อุทเทส ในที่นี้หมายถึง บทมาติกา-หัวข้อธรรม (องฺ.ทสก.อ. 3/115/374)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :261 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [3. ตติยปัณณาสก์] 2. ปัจโจโรหณิวรรค 3. ตติยอธัมมสูตร
ผู้มีอายุ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงหลีกไปไม่นาน พวกกระผมได้ปรึกษากันว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุทเทสนี้โดยย่อว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบทั้ง
สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็น
ธรรมและเป็นประโยชน์’ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความไว้โดยพิสดาร เสด็จลุกขึ้นจาก
พุทธอาสน์เข้าไปยังพระวิหาร ใครหนอจะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มี
พระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ทรงจำแนกไว้โดยพิสดารนี้ให้พิสดารได้
ผู้มีอายุ พวกกระผมได้มีความเห็นร่วมกันว่า ‘ท่านอานนท์นี้แล พระศาสดา
ทรงสรรเสริญแล้ว และเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็ยกย่อง ท่านสามารถจะจำแนก
เนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ทรงจำแนกไว้โดย
พิสดารนี้ให้พิสดารได้ ทางที่ดี พวกเราควรจะเข้าไปหาท่านอานนท์ถึงที่อยู่แล้ว
เรียนถามเนื้อความนี้กับท่าน และจักทรงจำเนื้อความนั้นไว้ตามที่ท่านตอบแก่
พวกเรา’ ขอท่านอานนท์จงจำแนกเถิด”
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อพระศาสดาประทับอยู่เฉพาะ
หน้าผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายละเลยพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสีย สำคัญ
เนื้อความนี้ว่าควรถามข้าพเจ้า เปรียบเหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้
เที่ยวแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นมีอยู่ ก็มองข้ามรากและลำต้นไปเสีย
สำคัญกิ่งและใบว่าเป็นแก่นไม้ที่ตนพึงแสวงหา พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้มี
พระจักษุ1 มีพระญาณ มีพระธรรม2 เป็นผู้ประเสริฐ3 ตรัสบอกได้4 ทรงให้เป็นไปได้5

เชิงอรรถ :
1 มีพระจักษุ หมายถึงมีพระปัญญาจักษุโดยทรงเป็นผู้นำของชาวโลกในการเห็นธรรมด้วยพระสยัมภูญาณ
2 มีพระธรรม หมายถึงทรงแสดงธรรมให้ปริยัติธรรมเป็นไปได้ หรือทรงให้โพธิปักขิยธรรม (ธรรมอันเป็น
ฝ่ายแห่งการตรัสรู้) 37 ประการ ได้แก่ (1) สติปัฏฐาน 4 (2) สัมมัปปธาน 4 (3) อิทธิบาท 4 (4) อินทรีย์
5 (5) พละ 5 (6) โพชฌงค์ 7 (7) มรรคมีองค์ 8 (องฺ.ทสก.ฏีกา 3/133-116/438)
3 เป็นผู้ประเสริฐ หมายถึงทรงบรรลุพระสยัมภูญาณแล้วแสดงอริยมรรคแก่ชาวโลก (องฺ.ทสก.ฏีกา 3/133-
116/439)
4 ตรัสบอกได้ ในที่นี้หมายถึงตรัสบอกอริยสัจ 4 ได้ (องฺ.ทสก.ฏีกา 3/113-116/439)
5 ทรงให้เป็นไปได้ หมายถึงตรัสบอกให้รู้แจ้งอริยสัจ 4 (องฺ.ทสก.ฏีกา 3/113-116/439)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :262 }